บันทึกการประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ ๒๖ (สมัยสามัญทั่วไป)

ข่าวการเมือง Friday May 14, 2004 14:38 —รัฐสภา

                         บันทึกการประชุมวุฒิสภา
ครั้งที่ ๒๖ (สมัยสามัญทั่วไป)
วันอังคารที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๔๗
ณ ตึกรัฐสภา
เริ่มประชุมเวลา ๐๙.๔๐ นาฬิกา
เมื่อสมาชิกฯ มาประชุมครบองค์ประชุม นายสุชน ชาลีเครือ ประธานวุฒิสภา
นายนิพนธ์ วิสิษฐยุทธศาสตร์ รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง และนายสหัส พินทุเสนีย์
รองประธานวุฒิสภาคนที่สอง ขึ้นบัลลังก์
ประธานวุฒิสภาได้กล่าวเปิดประชุม แล้วแจ้งให้ที่ประชุมรับทราบเรื่อง คำวินิจฉัย
ศาลรัฐธรรมนูญที่ ๓๖/๒๕๔๗ ลงวันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ เรื่อง คณะกรรมการป้องกัน
และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ
มาตรา ๒๖๖ เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่า
ประธานวุฒิสภามีหน้าที่ตรวจสอบว่า ผู้เข้าชื่อร้องขอให้ถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญสี่คน
ออกจากตำแหน่งเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งโดยไม่เป็นผู้เสียสิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๖๘ วรรคสอง
ซึ่งเสียสิทธิเข้าชื่อร้องขอให้วุฒิสภามีมติถอดถอนบุคคลตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย
การป้องกันและปราบปราบการทุจริต มีครบจำนวน ๕๐,๐๐๐ คน ตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๐๔
บัญญัติไว้ ก่อนที่จะส่งคำร้องขอดังกล่าวให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวนตามรัฐธรรมนูญ
มาตรา ๓๐๕ ต่อไป และคำร้องขอให้ถอดถอนฯ ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะดำเนินการไต่สวน
ข้อเท็จจริงได้ ต้องเป็นคำร้องขอที่ถูกต้องและครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๐๔
และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ มาตรา ๖๓
ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงตามคำร้อง ปรากฏการโต้แย้งเกี่ยวกับความไม่ครบจำนวนของผู้เข้าชื่อร้องขอ
ให้ถอดถอน ในขั้นตอนการไต่สวนคำร้องขอของคณะกรรมการ ป.ป.ช. การที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.
จะดำเนินการไต่สวนต่อไปได้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็จะต้องดำเนินการตรวจสอบความถูกต้องและ
ครบถ้วนของคำร้องขอในส่วนที่มีการโต้แย้งให้เป็นที่ยุติก่อน
ต่อมา ประธานวุฒิสภาได้ปรึกษาที่ประชุมเพื่อขอนำเรื่อง คณะกรรมาธิการวิสามัญ
พิจารณาศึกษากรณีการหายตัวไปของนายสมชาย นีละไพจิตร ขอขยายเวลาการพิจารณาศึกษากรณีดังกล่าวออกไปอีก ๖๐ วัน
นับแต่วันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๔๗ ตามข้อบังคับฯ ข้อ ๙๒
ให้ที่ประชุมพิจารณา ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบ และมีมติให้ขยายเวลาได้ตามที่คณะกรรมาธิการ
วิสามัญฯ ร้องขอ
จากนั้น ประธานวุฒิสภา รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง และรองประธานวุฒิสภา
คนที่สอง ได้ผลัดเปลี่ยนกันทำหน้าที่ประธานของที่ประชุม โดยประธานของที่ประชุมได้เสนอให้
ที่ประชุมพิจารณาเรื่องด่วน คือ ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน พ.ศ. ....
ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว ที่ประชุมได้พิจารณาในวาระที่ ๒ เริ่มต้นด้วย
ชื่อร่าง คำปรารภ แล้วเรียงตามลำดับมาตราจนจบร่าง และลงมติในวาระที่ ๓ ให้แก้ไขเพิ่มเติม
เลิกประชุมเวลา ๑๖.๕๐ นาฬิกา
(นายมนตรี รูปสุวรรณ)
เลขาธิการวุฒิสภา
สรุปผลการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ
ให้แก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติ จำนวน ๑ ฉบับ คือ
- ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน พ.ศ. ....
กลุ่มงานรายงานการประชุม
สำนักรายงานการประชุมและชวเลข
โทร. ๐ ๒๘๓๑ ๙๑๒๗
โทรสาร ๐ ๒๘๓๑ ๙๑๒๓

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ