ฉบับที่ ๑
สรุปการประชุมสภาผู้แทนราษฎร
การอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล
วันพุธที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๔๗
เวลา ๐๙.๓๐ - ๑๐.๓๐ นาฬิกา
การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ ๒๑ ปีที่ ๔ ครั้งที่ ๒๘ (สมัยสามัญทั่วไป)
เวลา ๙.๓๐ นาฬิกา เมื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครบองค์ประชุม นายอุทัย พิมพ์ใจชน
ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุมได้แจ้งต่อที่ประชุมให้พิจารณาเรื่องด่วน
ญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล โดยมีสมาชิก
สภาผู้แทนราษฎร จำนวน ๑๕๘ คน เป็นผู้เสนอ ก่อนการอภิปรายประธานฯ ขอให้การอภิปราย
อยู่ในกรอบของรัฐธรรมนูญว่าด้วยการอภิปรายไม่ไว้วางใจ จากนั้น นายบัญญัติ บรรทัดฐาน
ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายถึงเหตุผลและที่มาของ
การขอยื่นญัตติการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลประกอบด้วย
๑. นายอดิศัย โพธารามิก
๒. นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา
๓. พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ
๔. ร้อยเอก สุชาติ เชาว์วิศิษฐ
๕. นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์
๖. นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ
๗. นายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี
๘. นายวัฒนา เมืองสุข
โดยรัฐมนตรีทั้งหมดนี้ได้บริหารราชการแผ่นดินอันก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ
กล่าวคือ บริหารราชการแผ่นดินบกพร่อง ล้มเหลว ไร้ประสิทธิภาพ ขาดคุณธรรม ขาดจริยธรรม
ขัดหลักนิติธรรม มุ่งประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้องมากกว่าการปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติ
ทั้งมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ จงใจกระทำผิดรัฐธรรมนูญและตัวบทกฎหมายหลายประการ
หากปล่อยให้บริหารราชการแผ่นดินต่อไปจะเกิดความเสียหายแก่ราชการและบ้านเมืองไม่มี
ที่สิ้นสุด
จากนั้นผู้นำฝ่ายค้านได้อภิปรายสนับสนุนการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ
ในประเด็นที่ก่อให้เกิดความเสียหายของรัฐมนตรีตามลำดับดังนี้ คือ
๑. นายอดิศัย โพธารามิก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
- การปฏิรูปการศึกษาที่ไม่มีความคืบหน้า เนื่องจากบุคลิกภาพการ
เป็นรัฐมนตรีที่ขาดมนุษยสัมพันธ์ ขาดสัมมาวาจา การไม่ให้เกียรติ
ต่อผลงานการบริหารงานรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาก่อนหน้านี้ทั้งที่เป็น
รัฐบาลชุดเดียวกัน
- การนำหลักการบริหารแบบ ซีอีโอ มาใช้บริหารราชการในกระทรวง
ศึกษา โดยไม่คำนึงถึงวัฒนธรรมองค์กรเดิมของกระทรวงมาร่วม
ในการวางรูปแบบการบริหารทำให้การปฏิรูปการศึกษาไม่บรรลุ
เป้าหมายตามรัฐธรรมนูญ
- การสร้างความแตกแยกให้กับบุคลากรทางการศึกษา กรณีการ
แต่งตั้งผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา การโยกย้ายผู้บริหาร
ระดับสูงของกระทรวงศึกษา
- การยกเลิกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปการศึกษาทำให้เกิด
ความไม่คล่องตัวในการปฏิรูปการศึกษา
๒. นายวัฒนา เมืองสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
- การมุ่งปกป้องผลประโยชน์พวกพ้องโดยเฉพาะผู้ประกอบการค้า
เหล็กเส้น
- การสร้างความขัดแย้งระหว่างผู้ประกอบการค้ารายใหญ่กับรายย่อย
- การปล่อยปละละเลยให้มีการควบรวมกิจการการค้าเหล็กเส้น โดย
ไม่เข้ามาควบคุมดูแลราคาสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้ค้ารายย่อย
และทำให้ราคาเหล็กเส้นมีราคาสูงสร้างผลกระทบต่อธุรกิจต่อเนื่อง
- ขาดความเหมาะสมในการเป็นผู้นำที่ดี
- การมีนโยบายการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศและมีท่าทีแข็งกร้าวกับ
การโต้แย้งกับผู้ประกอบการการค้าข้าวไทยอย่างรุนแรง สร้างความ
เสียหายต่อภาพลักษณ์ของประเทศ