ฉบับที่ ๓
สรุปการประชุมสภาผู้แทนราษฎร
การอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล
วันพุธที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๔๗
เวลา ๑๑.๓๐ - ๑๒.๓๐ นาฬิกา
นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง พรรคประชาธิปัตย์
อภิปรายไม่ไว้วางใจ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ต่อดังนี้
- กรณีโครงการการก่อสร้างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (หนองงูเห่า) โดยบริษัท
อิตาเลียนไทยได้รับงบประมาณไปเกินกึ่งหนึ่ง โดยผู้ถือหุ้นรายใหญ่เป็นเครือญาติ
ของนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้เมื่อครั้งที่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ดำรงตำแหน่งเป็น
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มีการกระจายหุ้นของการปิโตรเลียม
แห่งประเทศไทย ซึ่งมีผู้ถือหุ้นรายใหญ่เป็นเครือญาติของรัฐมนตรี
- กรณีโครงการก่อสร้างถนนรามอินทราวงแหวนรอบนอกด้านตะวันออก
ถนนนวมินทร์ ซึ่งรัฐบาลชุดก่อนได้พิจารณาไว้ แต่ยังไม่ได้ดำเนินการก่อสร้าง
เนื่องจากไม่มีงบประมาณ และต่อมาเมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๔๖
คณะกรรมการจัดระบบจราจรทางบก โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
ได้พิจารณาดำเนินการก่อสร้างเพียงในช่วงกลางของถนนเท่านั้น ซึ่งเป็นช่วงที่มี
โครงการหมู่บ้านจัดสรรขนาดใหญ่ชื่อ บางกอก บูเลอวาร์ด ที่ดำเนินงานโดยบริษัท SC Asset
บริษัทดังกล่าวเป็นบริษัทที่อยู่ในเครือชินวัตร และบริษัทได้ทำการโฆษณาประชาสัมพันธ์ว่าจะมี
ถนนตัดผ่านโครงการก่อนที่จะมีการพิจารณาจาก จจร. ซึ่งจากกรณีดังกล่าวทำให้เห็นว่าในการ
บริหารงานของรัฐมนตรีเอื้อประโยชน์แก่กลุ่มบริษัทบางกลุ่มมากกว่าผลประโยชน์ของประเทศชาติ
ซึ่งถือว่าเป็นการบริหารงานที่ล้มเหลว ดังนั้นจึงไม่ไว้วางใจให้บริหารประเทศได้อีกต่อไป
หลังจากนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ตอบชี้แจงดังนี้
กรณีการกำกับ ดูแลท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
- ในส่วนของอาคารผู้โดยสาร ซึ่งมีการประกวดราคาครั้งแรกในสมัยที่พรรค
ประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล และได้มีการฮั้วกันจึงทำให้มีการประมูลในราคาที่สูงกว่า
งบประมาณที่กำหนดไว้ สำหรับโครงการติดตั้งท่อร้อยสายไฟในอาคารผู้โดยสาร
ได้เปิดโอกาสให้บริษัทต่าง ๆ เข้ามาประมูล ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดและ
รูปแบบของวัสดุที่ใช้ก่อนมีการประกวดราคาเพียง ๑ วัน อย่างไรก็ตาม บริษัท
อื่น ๆ ที่เข้ามาประกวดราคาก็ได้รับทราบและยอมรับถึงการเปลี่ยนแปลงในครั้งนั้น
แล้ว โดยในขณะนี้ได้ส่งเรื่องให้ทางสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริต
แห่งชาติ (ปปช.) ตรวจสอบต่อไป
- สำหรับข้อกล่าวหาที่ว่าบริษัทอิตาเลียนไทย ซี่งเป็นบริษัทที่มีเครือญาติของ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ได้รับงบประมาณใน
โครงการการก่อสร้างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเกินกึ่งหนึ่งของงบประมาณทั้งหมดนั้น เนื่องจาก
บริษัทได้เสนอราคาในการดำเนินงานของโครงการ ในราคาต่ำกว่าราคากลางที่กำหนดไว้
- ในเรื่องที่เกี่ยวกับการรองรับผู้โดยสาร โครงการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้ตั้งเป้า
เพื่อรองรับผู้โดยสาร จาก ๓๐.๖ ล้านคน และเพิ่มขยายเป็น ๔๕ ล้านคน ทำให้ต้อง
มีการลงทุนเพิ่มเกี่ยวกับการจัดสร้างระบบตรวจสอบกระเป๋า / สายพาน การทำ
ระบบ x-ray ตรวจสอบวัตถุระเบิดของเหลวและยาเสพติด รวมถึงการก่อสร้างสิ่ง
อำนวยความสะดวกในด้านสาธารณูปโภคต่าง ๆ อีกทั้งยังมีการก่อสร้างอุโมงค์
รถไฟ จากใจกลางเมืองสู่สนามบินสุวรรณภูมิ และยังเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามวลชน
ด้วย เพื่อก่อให้เกิดการประสานงานและเชื่อมโยงการทำงานได้อย่างต่อเนื่อง และ
ครบวงจร จึงได้มีการจัดซื้อจัดจ้าง และมีการประกวดราคาอย่างรอบคอบ