สรุปการประชุมสภาผู้แทนราษฎรการอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ฉบับที่ ๑๒

ข่าวการเมือง Friday May 21, 2004 08:42 —รัฐสภา

ฉบับที่ ๑๒
สรุปการประชุมสภาผู้แทนราษฎร
การอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล
วันพุธที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๔๗
เวลา ๒๒.๓๐ นาฬิกา - เลิกประชุม
นายบัญญัติ บรรทัดฐาน ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ได้กล่าวว่า การที่
พรรคประชาธิปัตย์มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในภาคใต้เป็นส่วนใหญ่นั้น แต่สมาชิกเหล่านั้นได้มี
ส่วนร่วมในการคลี่คลายปัญหาชายแดนภาคใต้ได้ดีขึ้นมาเป็นลำดับ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๑ - ๒๕๔๓
แต่สถานการณ์ในภาคใต้ได้ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ตั้งแต่รัฐบาลชุดปัจจุบันได้เข้ามาบริหารราชการ
แผ่นดิน ซึ่งนโยบายในการบริหารราชการแผ่นดินมีความแตกต่างจากรัฐบาลสมัยนายชวน หลีกภัย
เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีนโยบายในการแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้บนพื้นฐานความเป็นจริง ๓ ประการ คือ
- มีการกำหนดนโยบายภายใต้การมีส่วนร่วมของผู้นำท้องถิ่นและผู้นำศาสนา
- ความหลากหลายของระบบธรรมเนียมประเพณีที่ควรรักษาไว้
- การสนับสนุนให้ประชาชนสามารถใช้วิถีชีวิตของตนเองได้อย่างเต็มที่
จากนั้น นายชวน หลีกภัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์
ได้กล่าวอภิปรายไม่ไว้วางใจ พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรี ว่า การบริหารประเทศ
ของรัฐบาลในช่วง ๓ ปีที่ผ่านมา ไม่เคยนำญัตติเรื่องความมั่นคงของประเทศมาอภิปราย
ดังนั้น จากเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เราควรจะให้ความสำคัญ และยอมรับความเป็นจริงในอดีต ๒ ประการ คือ
- ยอมรับประวัติศาสตร์ของพื้นที่ โดยเฉพาะจังหวัดปัตตานี ที่ในอดีตเคยมี
อาณาจักรเป็นของตนเอง มีความคิด และระบบการปกครองเป็นของตนเอง
- ยอมรับว่าไม่มีความพยายามในการคลี่คลายความขัดแย้ง เพื่อให้การปกครองมีเอกภาพเป็นหนึ่งเดียวกัน
แต่รัฐบาลในชุดปัจจุบันมีจุดอ่อนในการแก้ไขปัญหา คือ มีการประเมินสถานการณ์
ผิดพลาด มีนโยบายผิดพลาด มีการแก้ไขปัญหาอย่างใจร้อน และไม่เข้าใจสถานการณ์อย่างแท้จริง
ยกตัวอย่างเช่น การออกคำสั่งยกเลิกศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)
และการแต่งตั้งหน่วยงานเพื่อแก้ไขปัญหาความมั่นคงของจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยไม่มีผู้แทนมุสลิม
ไม่มีจุฬาราชมนตรี ไม่มีเอกชน เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการ ส่วนนโยบายและการปฏิบัติของรัฐ
ได้มีการนำนโยบายใหม่ของรัฐบาลมาทดลองใช้ โดยไม่ใช้นโยบายเดิมในการแก้ไขปัญหา ทำให้เกิด
ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและประชาชนมุสลิมภาคใต้ที่อยู่ด้วยความวิตกกังวล ดังนั้น รองนายกรัฐมนตรี
พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ จะต้องมีส่วนรับผิดชอบ
สำหรับนโยบายด้านความมั่นคงในเรื่องของการส่งทหารไปอิรัก แม้ว่าประเทศไทยจะมีบทบาทใน
ระดับนานาชาติ แต่ก็ไม่ควรสร้างเงื่อนไขให้กับบ้านเมืองและการกระทำดังกล่าวทำให้ประเทศไทย
มีคู่ปฏิปักษ์โดยไม่จำเป็น อีกทั้งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความขัดแย้งในภาคใต้
พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจง
- สถานการณ์ภาคใต้เป็นปัญหาที่สะสมมานานจากอดีต เนื่องจากชาวมุสลิมเกิดความไม่พอใจในข้อตกลง
บางประการที่ทำไว้ในอดีตกับชาวต่างประเทศ แต่ตนก็ได้มีคำสั่งให้แก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนแล้ว
- การใช้นโยบายของรัฐในการคลี่คลายปัญหาในภาคใต้เป็นไปเพื่อประโยชน์
ส่วนรวมของประชาชน
- การจัดตั้งศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) นั้น เพื่อแก้ไขปัญหาจังหวัด
ชายแดนภาคใต้ในอดีต โดยกำหนดให้ ศอ.บต. ขึ้นอยู่กับกองทัพภาคที่ ๔ แต่ในปัจจุบันสถานการณ์
คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น รัฐบาลจึงยกเลิกการมี ศอ.บต. และได้จัดตั้งหน่วยงานอื่นขึ้นรับผิดชอบแทน
เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน
- กรณีบุคคลสูญหาย ไม่ควรกล่าวโทษเจ้าหน้าที่รัฐฝ่ายเดียว เนื่องจากการที่บุคคลหายไป อาจเกิดจาก
สาเหตุอื่นก็ได้ สำหรับที่กล่าวว่า มีบุคคลสูญหายหลายร้อยคนนั้น ไม่เป็นความจริง
- การส่งทหารไปอิรักเป็นเรื่องของการปฏิบัติตามมติสหประชาชาติและเพื่อมนุษยธรรม รวมทั้ง
เพื่อสร้างความศิวิไลซ์ให้กับประเทศไทยในสายตานานาชาติ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ