สรุปการประชุมสภาผู้แทนราษฎรการอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ฉบับที่ ๑๙

ข่าวการเมือง Tuesday May 25, 2004 15:23 —รัฐสภา

ฉบับที่ ๑๙
สรุปการประชุมสภาผู้แทนราษฎร
การอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล
วันพฤหัสบดีที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๔๗
เวลา ๑๕.๓๐ - ๑๖.๓๐ นาฬิกา
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตอบชี้แจง
- กรณีการเพิ่มอากรพิเศษให้กับอุตสาหกรรมเหล็ก โดยการเพิ่มค่าธรรมเนียมการค้าเหล็กกล้าซึ่งเรียกเก็บจากผู้นำเข้าเหล็กนั้น เป็นการช่วยเหลือธุรกิจทั้งระบบ
ไม่ได้เป็นการช่วยเหลือนักธุรกิจรายใดโดยเฉพาะ เนื่องจากมีการทุ่มตลาดเหล็ก
อย่างหนัก ที่ประชุมคณะกรรมการบีโอไอจึงได้ออกมาตรการป้องกันการทุ่มตลาด
ดังนั้น บริษัทที่ผลิตเหล็กรีดเย็นไร้สนิม จึงได้รับการช่วยเหลือเช่นเดียวกับธุรกิจ
รายอื่น ๆ และการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับธุรกิจทองแดง มีเจตนาเพื่อช่วยเหลือ
ธุรกิจให้สามารถอยู่ได้ และขอยืนยันว่าไม่ได้มีการอุ้มธุรกิจใดอย่างไม่มีเหตุผล
หรือเอื้อประโยชน์ให้กับใครโดยเฉพาะอย่างแน่นอน
- กรณีข้อกล่าวหาที่ว่า อุ้มคนรวย สร้างหนี้ให้คนจนนั้น ชี้แจงว่า ขณะนี้ได้มีการ จัดตั้งโครงการต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือประชาชน เช่น โครงการบ้านเอื้ออาทร โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ การปรับโครงสร้างหนี้ให้กับประชาชน ซึ่ง โครงการเหล่านี้คนรวยไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้
- กรณีการอุ้มหุ้น ขอยืนยันว่า ไม่มีการอุ้มแน่นอน ประเทศไทยมีศักยภาพ มีพื้นฐานที่แข็งแกร่ง บริษัทต่างประเทศที่จะเข้ามาลงทุนร่วมกับบริษัทใดจะต้องมองว่า บริษัทนั้นเป็นมืออาชีพ มีความโปร่งใสมากพอ ไม่ใช่เป็นบริษัทในครอบครัว
- กรณีการกล่าวหาว่า กองทุนวายุภักษ์ปั่นหุ้น ได้ชี้แจงว่า กองทุนวายุภักษ์ ซื้อหุ้น ที่กระทรวงการคลังถืออยู่ถึง ๗๐% ส่วนอีก ๓๐% นั้น นำไปลงทุน เพื่อจะได้อัตราผลตอบแทนเพียงพอที่จะปันผลแก่ผู้ถือหุ้นได้ ซึ่งการเข้าไปดูแลก็เพื่อให้เกิดความโปร่งใส โดยได้มีการตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลกองทุน ๔ ชุด ด้วยกัน คือ ตลาดหลักทรัพย์ กลต. คณะกรรมการลงทุน และคณะกรรมการกำกับ และสำหรับการลงทุนซื้อหุ้นทั้งหมดของกองทุนวายุภักษ์นั้น ขอยืนยันว่าไม่มีหุ้นที่เป็นของ
นายกรัฐมนตรีแต่อย่างใด
นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายไม่ไว้วางใจ นายแพทย์ สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
- มีพฤติกรรมเข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อน โดยการออกนโยบายเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนและบริษัทธุรกิจบางราย ทำให้รายได้ของ ทศท. มีรายได้และ ผลกำไรลดลง แต่บริษัทของเอกชนกลับมีรายได้เพิ่มมากขึ้น อันเนื่องมาจาก การแก้ไขพระราชกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต เป็นการส่อให้เห็นถึงการ ไม่ปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติ
- การลดค่าสัมปทานของบริษัทมือถือบางรายที่ทำให้รัฐสูญเสียผลประโยชน์ โดยเฉพาะการหักรายได้ของโทรศัพท์ระบบดิจิตอลโฟนไปให้กับบริษัทก่อนจะ หักไปให้กับ ทศท. และยอมให้มีการแก้ไขสัญญาในเรื่องการเปลี่ยนแปลงวิธี คิดราคาจ่ายให้กับ ทศท. ในเรื่องบริการเสริมของโทรศัพท์มือถือ ทำให้บริษัทโทรศัพท์มือถือที่ให้บริการเสริมมีรายได้เพิ่มมากขึ้น แต่รัฐเสียผลประโยชน์ จำนวนมาก

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ