ฉบับที่ ๒๓
สรุปการประชุมสภาผู้แทนราษฎร
การอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล
วันพฤหัสบดีที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๔๗
เวลา ๒๒.๓๐ นาฬิกา - เลิกประชุม
ต่อจากนั้นนาวาตรี สุธรรม ระหงษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสมุทรสาคร พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายไม่ไว้วางใจ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา รองนายกรัฐมนตรี บริหารราชการแผ่นดินบกพร่องล้มเหลว มุ่งประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้องมากกว่าผลประโยชน์ของประเทศชาติ และได้อธิบายถึงการใช้อำนาจหน้าที่ในการปกป้องและเอื้อผลประโยชน์ให้แก่พวกพ้อง ในการกำหนด คุณสมบัติเอื้อประโยชน์แก่พวกพ้องในการเข้าไปประมูลโครงการไฟฟ้าเอื้ออาทรที่ใช้ระบบเซลแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นโครงการที่กระทรวงมหาดไทยต้องการให้ประชาชนที่อยู่ห่างไกลมีไฟฟ้าใช้ โดยการประมูล โครงการได้มีการกำหนดคุณสมบัติเพื่อเอื้อประโยชน์ผ่านการร่าง TOR หรือข้อกำหนดของโครงการว่า บริษัทใดที่จะเข้าประมูลจะต้องใช้เซลแสงอาทิตย์ที่ผลิตในประเทศไทยเท่านั้น รวมทั้งก่อนการยื่นซองประกวดราคา ๓ วัน ยังได้มีการเพิ่มข้อกำหนด TOR อีกด้วย ทำให้มีบริษัทเดียวในประเทศที่สามารถผลิตเซลแสงอาทิตย์ตามแบบที่กำหนดนี้ได้ สำหรับในการประมูลครั้งนี้มีการเปิดประมูลทั้งหมด ๖ พื้นที่ด้วยกัน และบริษัทซึ่งผู้ถือหุ้นรายหนึ่งที่มีความใกล้ชิดกับรองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ชนะการประมูลถึง ๕ พื้นที่
จากนั้น นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา รองนายกรัฐมนตรี ได้ตอบข้ออภิปรายว่า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้จัดทำโครงการไฟฟ้าเอื้ออาทรขึ้น เพื่อให้ประชาชนที่อยู่ห่างไกลความเจริญ ได้มีไฟฟ้าใช้ ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐ ส่วนเรื่องข้อกำหนดการ TOR ของโครงการกระทรวงมหาดไทย ได้ทำขึ้นโดยเชิญอธิบดีกรมการพลังงาน ผู้แทนกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ผู้แทนมหาวิทยาลัย และผู้แทนจากหน่วยงานอื่น ๆ เข้าร่วมทำข้อกำหนด TOR เมื่อกำหนด TOR เรียบร้อยแล้ว กระทรวงมหาดไทย ได้นำ TOR เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบและคณะรัฐมนตรีได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา กลั่นกรอง เพื่อขอความเห็นชอบ ฉะนั้น TOR ที่กำหนดขึ้นมาได้มีการนำเข้าเสนอคณะรัฐมนตรี อย่างน้อย ๒ ครั้ง ส่วนข้อกำหนด TOR ที่เพิ่มเข้าไปในภายหลัง เป็นเพียงการขยายความให้ชัดเจนถึงคุณลักษณะของเซลแสงอาทิตย์เท่านั้น สำหรับเรื่องผลการประมูลว่า จะให้บริษัทใดเป็นผู้ชนะการประมูลนั้น เป็นเรื่องที่อยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริหารของการไฟฟ้าฯ
นายอลงกรณ์ พลบุตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดเพชรบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายไม่ไว้วางใจนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา รองนายกรัฐมนตรี ในเรื่องโครงการเช่าระบบคอมพิวเตอร์ซอฟแวร์สำหรับการไฟฟ้าฯ โดยมีประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
- การใช้อำนาจรัฐในการเปลี่ยนแปลงงบประมาณ โดยมีการเปลี่ยนแปลงงบประมาณในการจัดซื้อ เป็นงบประมาณในการเช่าคอมพิวเตอร์ซอฟแวร์ ซึ่งการที่การไฟฟ้าฯ จะเปลี่ยนแปลงงบประมาณนี้ จะต้องมีการศึกษาถึงความเหมาะสมว่า ในการซื้อหรือเช่าอย่างใดเหมาะสมที่สุด และการเปลี่ยนแปลงงบประมาณนี้ก็เกิดขึ้นเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารของการไฟฟ้าฯ ซึ่งผู้บริหารใหม่ของการไฟฟ้าฯ นั้นมีความเกี่ยวข้องกับคณะรัฐมนตรีด้วย
- การประกวดราคาในการประมูลไม่โปร่งใส โดยมีการเปิดซองประมูลราคาเพียง ซองเดียว และมีการอนุมัติย้อนหลัง ส่วนคณะกรรมการในการพิจารณาอนุมัติ
มีเพียงคณะเดียว ซึ่งขัดกับหลักการ โดยแท้จริงแล้ว คณะกรรมการในการ
พิจารณาอนุมัติต้องมีหลาย ๆ คณะ เนื่องจากคณะกรรมการในแต่ละคณะ
นั้นมีคุณสมบัติในการพิจารณาแตกต่างกัน
- มีการกำหนดคุณสมบัติในการจัดซื้อ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้ผู้ได้รับผลประโยชน์เพียงบางกลุ่มเท่านั้น และสำหรับบริษัทชนะการประมูลมีข้อน่าสงสัยเกี่ยวกับทางการเงินที่ไม่มั่นคง แต่กลับชนะการประมูล
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา รองนายกรัฐมนตรี ได้ชี้แจงว่า
- โครงการเช่าระบบคอมพิวเตอร์ซอฟแวร์ สำหรับการไฟฟ้าฯ นั้น เกิดขึ้น ตั้งแต่รัฐบาลชุดที่แล้ว และเหตุผลในการเปลี่ยนงบประมาณในการจัดซื้อเป็นการเช่า เนื่องจากได้ให้บริษัทที่ปรึกษาศึกษาถึงความเหมาะสมในโครงการนี้ว่า ระหว่างการจัดซื้อหรือเช่าอย่างใดจะได้รับประโยชน์มากกว่ากัน ซึ่งผลสรุป
พบว่าการจัดเช่านั้นจะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนมากกว่า
จึงเลือกการเช่าแทนการจัดซื้อ
- ที่กล่าวหาว่า คณะกรรมการอนุมัติ ขาดความโปร่งใสนั้น ไม่เป็นความจริง เนื่องจากในการตั้งคณะกรรมการได้ปฏิบัติถูกต้องตามระเบียบ และคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นนี้ก็มีความรอบรู้และเชี่ยวชาญในเรื่องนี้และเรื่องอื่น ๆ อีกหลายด้าน
- ในเรื่องของการเช่าระบบคอมพิวเตอร์ซอฟแวร์ นั้นไม่ได้มีการกำหนดคุณสมบัติ เพื่อเอื้อประโยชน์กับบริษัทใดบริษัทหนึ่ง แต่บริษัทชนะการประมูลเป็น
บริษัทเดียวที่เสนอ ระบบคอมพิวเตอร์ซอฟแวร์ ที่มีคุณสมบัติตรงตามที่
การไฟฟ้าฯ กำหนด