ฉบับที่ ๒๖
สรุปการประชุมสภาผู้แทนราษฎร
การอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล
วันศุกร์ที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๔๗
เวลา ๑๒.๓๐ - ๑๓.๓๐ นาฬิกา
ต่อจากนั้น นายตรีพล เจาะจิตต์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายไม่ไว้วางใจ นายวัฒนา เมืองสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ โดยสรุปเหตุผลต่าง ๆ ดังนี้
- ไม่มีความรู้ ไม่มีประสบการณ์ในการจำแนกลำไยคุณภาพดี คุณภาพด้อย ใช้วิจารณญาณของตนเองบนพื้นฐานที่ไม่มีความรู้ เพิกเฉยต่อข้อแนะนำของ นักวิชาการ เป็นเหตุให้จำแนกคุณภาพลำไยผิดพลาดอย่างมาก ผลคือลำไย คุณภาพด้อยมีมากเกินความเป็นจริง ทำราคาสูงให้เป็นราคาต่ำ
- ขายลำไยราคาต่ำมาก เป็นเหตุให้ประเทศชาติได้รับความเสียหาย
- ขายข้าวให้กับประเทศอินโดนีเซีย โดยใช้อำนาจหน้าที่ในตำแหน่งและอ้าง นายกรัฐมนตรีสั่งการให้เจ้าหน้าที่ของรัฐอำนวยความสะดวกให้บริษัทพวกพ้อง จนได้ประโยชน์จากการซื้อข้าวสารโดยไม่คำนึงถึงบริษัทอื่นทำให้ประเทศชาติ เสียหายถึง ๑๐๐ ล้านบาท
- การทุจริตในการจำนำข้าว โดยละเลยหน้าที่ในการควบคุมการเคลื่อนย้ายข้าว ทำให้เกิดการทุจริตในกระบวนการรับจำนำข้าว
- เจตนาช่วยเหลือพวกพ้อง ลบล้างความผิด โดยมีการเอื้อประโยชน์ในการนำข้าวเก่า ซึ่งมีการทุจริตจากโกดังของบริษัทที่อยู่ในเครือเดียวกันออกขาย
- ในการขายข้าววันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๔๖ ไม่ปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการ โดยในการยื่นซองเสนอราคา กลับมีการกำหนดราคาร่วมกับบริษัทของพวกพ้องเป็นการเอาเปรียบ และไม่อำนวยความยุติธรรมให้กับบริษัทอื่น นอกจากนี้ยังได้ มีการกำหนดราคาและปริมาณไว้เรียบร้อยแล้ว จึงส่งให้บริษัทอื่นทราบทีหลัง ทำให้บริษัทอื่นไม่ได้รับความเป็นธรรม
- มีการขายข้าวโดยกำหนดราคาข้าวให้ต่ำกว่าปกติ เพื่อขายให้แก่บริษัทพวกพ้อง ถือเป็นการทุจริตทรัพย์สินของชาติ
- วางแผนในการทุจริต โดยได้ทำการกำหนดโกดังกลางของรัฐเอาไว้ให้กับบริษัท พวกพ้องเป็นจำนวนมาก ทำให้บริษัทของพวกพ้องได้รับประโยชน์มากกว่าบริษัทอื่น เพราะมีโกดังในโควต้าของตนเองอยู่แล้ว
- เจตนาช่วยเหลือพวกพ้อง โดยเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับข้อตกลงต่าง ๆ ทำให้บริษัทของพวกพ้องสามารถเสนอราคาสูงกว่าบริษัทอื่นได้
- โครงการจัดสรรไซโลเก็บข้าว เป็นโครงการทุจริตเชิงนโยบาย โดยมีการกำหนดคุณสมบัติของไซโล และแจ้งให้บริษัทที่เป็นพวกพ้องทราบล่วงหน้า ทำให้บริษัทอื่นไม่ได้รับความเป็นธรรม
- ไม่มีมาตรฐานในการบริหารงาน ไม่มีคุณธรรม ไม่ยึดหลักเกณฑ์ของกฎหมาย ในกรณีที่บริษัทพวกพ้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย แต่รัฐมนตรีไม่ได้ดำเนินการขึ้นบัญชีดำแต่อย่างใด ซึ่งแตกต่างจากกรณีของโรงสีที่เมื่อกระทำความผิด กลับถูกขึ้นบัญชีดำและไม่ให้ทำธุรกิจกับกระทรวงพาณิชย์อีกต่อไป