สรุปการประชุมสภาผู้แทนราษฎรการอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล

ข่าวการเมือง Tuesday May 25, 2004 15:33 —รัฐสภา

ฉบับที่ ๒๘
สรุปการประชุมสภาผู้แทนราษฎร
การอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล
วันศุกร์ที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๔๗
เวลา ๑๔.๓๐ - ๑๕.๓๐ นาฬิกา
ต่อมานายธวัชชัย อนามพงษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดจันทบุรี พรรคชาติพัฒนา อภิปรายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในประเด็น
- การโอบอุ้มนักลงทุนรายใหญ่ในขณะที่ปล่อยให้ราคาสินค้าอุปโภค มีราคาสูงขึ้น ไม่มีการควบคุมราคาอย่างจริงจัง สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนอย่างมาก โดยเฉพาะสินค้าเพื่อการบริโภคและสินค้าเกษตร อาทิ ผักผลไม้ เนื้อสัตว์ประเภทต่าง ๆ แก๊สหุงต้ม ปุ๋ยเคมีภัณฑ์เพื่อการเกษตร
- นโยบายการเก็บภาษีนำเข้าและส่งออกสินค้าเกษตรที่ไม่มีความสมดุล เช่น กรณีสินค้าเกษตรนำเข้าจากต่างประเทศเสียภาษีต่ำกว่าภาษีส่งออกสินค้าเกษตร จากไทย เป็นผลให้สินค้าเกษตรของไทยล้นตลาด ราคาถูก ในขณะที่เกิดการ กักตุนสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อผลักดันราคาขายให้สูงขึ้น
- การปล่อยให้มีการคอรัปชั่นงบประมาณของคณะกรรมการนโยบาย และมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) เพื่อการก่อสร้างโกดังหรือห้องเย็นเก็บสินค้าเกษตร
จากนั้น นายวัฒนา เมืองสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ตอบชี้แจง ข้อกล่าวหาในประเด็นดังนี้ คือ
- กรณีที่กล่าวหาว่า ไม่ดำเนินการกำหนดเกณฑ์ผู้มีอำนาจเหนือตลาดนั้น หลังจากที่ได้รับโปรดเกล้าแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีแล้ว ได้ตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อทำการศึกษาเกณฑ์การมีอำนาจเหนือตลาดที่ค้างมาก่อนการเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรี ซึ่งกระบวนการนี้เสร็จสิ้นแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี
- กรณีมาตรการการทุ่มตลาดและการอุดหนุนทางการค้า ซึ่งเป็นการเก็บภาษี การนำเข้าเหล็กจากนักลงทุนต่างประเทศในอัตราที่สูงนั้น ความจริงแล้วได้มีการเก็บภาษีตามอัตราที่กำหนดไว้เหมือนกันทุกราย การออกมาตรการดังกล่าว ก็เพื่อเป็นการปกป้องผู้ประกอบการค้าเหล็กของไทยให้สามารถดำเนินการ ฟ้องร้องได้ หากผู้นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศขายตัดราคา ซึ่งปัจจุบันนี้เกิดการฟ้องร้องในลักษณะนี้แล้ว ระหว่างผู้ประกอบการค้าเหล็กประเภทรีดร้อน - รีดเย็นอยู่
- การเปิดเสรีการค้าเหล็กด้วยการเปิดให้นักลงทุนต่างชาตินำเข้าเหล็กกล้านั้น จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทยมากกว่า เพราะมีการแข่งขันราคาขาย ทำให้ราคาเหล็กกล้าในประเทศถูกลง
- นโยบายขายลำไยนั้นเป็นการขายลำไยที่ค้างโกดัง(สต๊อก)มาตั้งแต่ปี ๒๕๔๕ ภายใต้การพิจารณาราคาขายของคณะกรรมการระบายลำไยเพราะเป็นผู้มีอำนาจในการกำหนดราคาการขายมิใช่อำนาจรัฐมนตรี โดยแบ่งเป็น ๔ ประเภทคือ ๑. เกรด ๒ A ราคา ๓๒ บาท
๒. เกรด A ราคา ๑๒ บาท
๓. เกรด B ราคา ๕ บาท
๔. นอกเหนือจากนี้ ราคา ๒ บาท
มิใช่การขายลำไยทุกเกรดในราคาเดียวกัน และเป็นการขายลำไยที่เสื่อมคุณภาพลง
เนื่องจากเก็บไว้นาน หากไม่รีบขายจะเสื่อมสภาพลงตามเวลา และจะทำให้
ราคายิ่งถูกลงเรื่อย ๆ นอกจากนี้ยังเป็นการระบายลำไยออกจากโกดัง (สต๊อก)
เพราะในปีต่อ ๆ ไป จะมีลำไยเข้าสู่ระบบภายหลังฤดูกาลอีก
- การขายข้าวเมื่อวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๔๖ นั้น เป็นการขายเพื่อระบายข้าวเก่า
ออกจากโกดัง (สต๊อก) เพราะจะมีข้าวเข้ามาสู่ระบบตามฤดูกาลเพิ่มขึ้นอีก ซึ่ง
การระบายข้าวออกไปจะเพิ่มอำนาจต่อรองราคาให้สูงขึ้นได้ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อ
ประเทศชาติ
- การขายข้าวให้อินโดนีเซีย (BULOG) นั้น เป็นการทำหน้าที่ของรัฐซึ่งต้องอำนวยความสะดวกให้ผู้ส่งออกข้าวไทยกับผู้ซื้อข้าวจากไทยเท่านั้น มิใช่การเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มบุคคลหนึ่งบุคคลใด
- การส่งเสริมให้มีการเก็บสินค้าในไซโล เพราะจะทำให้สินค้าคงสภาพดี สดกว่าการเก็บในโกดังปกติ โดยหากพื้นที่ใดมีไซโลให้เก็บในไซโลก่อน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ