ฉบับที่ ๓๒
สรุปการประชุมสภาผู้แทนราษฎร
การอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล
วันศุกร์ที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๔๗
เวลา ๑๙.๓๐ - ๒๑.๓๐ นาฬิกา
นายสนั่น สุธากุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสตูล พรรคประชาธิปัตย์
อภิปรายไม่ไว้วางใจ นายอดิศัย โพธารามิก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประเด็น
อภิปราย
- การควบคุม กำกับ และติดตามนโยบายการสอบเอ็นทรานซ์ไม่มีประสิทธิภาพ
จนนำไปสู่ปัญหาข้อสอบเอ็นทรานซ์รั่ว
- ใช้อำนาจหน้าที่ขัดขวางการตรวจสอบของฝ่ายนิติบัญญัติเกี่ยวกับปัญหาข้อสอบ
เอ็นทรานซ์รั่ว โดยไม่นำพาต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ
- การบริหารราชการแผ่นดินมีเงื่อนงำและเอื้ออำนวยประโยชน์ให้แก่พวกพ้อง
การควบคุม กำกับ และติดตามนโยบายการสอบเอ็นทรานซ์ไม่มีประสิทธิภาพนำไปสู่ปัญหาข้อสอบรั่วมีข้อบ่งชี้ ๕ ประการด้วยกัน คือ
๑. การประกาศหลักเกณฑ์และวิธีคัดเลือกเพื่อเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา โดย
กำหนดค่า GPA เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ ๒๕ และบังคับใช้ภายในปี ๒๕๔๗ โดยไม่ให้เวลาเตรียมตัว สำหรับ
การเข้าสู่ระบบใหม่แก่ผู้เกี่ยวข้องอย่างเหมาะสมเป็นการดำเนินการที่รีบร้อน ซึ่งก็ได้รับการคัดค้านจาก
สถาบันอุดมศึกษาและผู้ปกครองนักเรียนจนต้องยกเลิกไป การดำเนินการอย่างเร่งนั้นน่าจะมีเป้าหมายซ่อนเร้นแอบแฝง เพื่อช่วยเหลือเด็กบางคน
๒. มีนโยบายและคำสั่งแต่งตั้งผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษา
ขั้นพื้นฐานร่วมเป็นกรรมการกลั่นกรอง ข้อสอบวัดความรู้เพื่อเข้ามหาวิทยาลัยในสัดส่วนร้อยละ ๓๐
จำนวน ๘ คำสั่ง โดยให้เข้าไปมีส่วนร่วมในคณะกรรมการกลั่นกรองข้อสอบวิชาหลัก ๘ วิชา คือ
ภาษาไทย สังคมศึกษา ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ เคมี ฟิสิกส์ ชีวศึกษา และวิทยาศาสตร์กายภาพ
แต่ในทางปฏิบัติจริงพบว่า ครูที่ได้รับแต่งตั้งมิได้มีส่วนร่วมในการสร้างข้อสอบหรือกลั่นกรองข้อสอบ
แต่อย่างใดเพียงแต่ประชุมกับประธานกลั่นกรองข้อสอบบางวิชา โดยมีผู้อำนวยการสำนักทดสอบ
ระบุว่า ครูที่เป็นกรรมการเหล่านี้ไม่เคยเห็นข้อสอบวัดความรู้ ครั้งที่ ๑
๓. นายวรเดช ได้แต่งตั้งตนเองเป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการสร้างข้อสอบ
เอ็นทรานซ์ แต่ไม่เคยร่วมปฏิบัติในขั้นตอนใด ๆ กลับใช้อำนาจในฐานะประธานคณะกรรมการ ฯ
เปิดซองต้นฉบับข้อสอบวิชา ภาษาไทยและสังคมศึกษา
๔. ระบบการรักษาความปลอดภัยของข้อสอบมีหลักปฏิบัติที่รัดกุมอยู่แล้ว แต่มีการ
ดำเนินการหลายสิ่งหลายอย่างเอื้อให้ผู้ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง เข้าถึงข้อสอบและเอกสาร ดังเช่น
ปรับเปลี่ยนตัวบุคคลที่เป็นกรรมการและอนุกรรมการดูแลระบบการสอบ และการนำซองบรรจุต้นฉบับ
ข้อสอบมาเปิด ทั้งที่มีข้อห้าม ซึ่งโดยข้อปฏิบัติประธานอนุกรรมการจัดพิมพ์ เป็นผู้มีหน้าที่เก็บรักษา
แต่นายวรเดช กลับให้นำมาเก็บไว้ที่ห้องทำงานของตนเอง โดยอ้างว่า เพื่อความปลอดภัยในการเก็บ
รักษาข้อสอบแทนที่จะเก็บในห้องมั่นคง