ฉบับที่ ๑
สรุปการประชุมสภาผู้แทนราษฎร
การรายงานแสดงผลการดำเนินการของคณะรัฐมนตรี
ตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ
ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๘๘ วรรคสอง
วันพุธที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๔๗
เวลา ๑๓.๓๐ - ๑๕.๓๐ นาฬิกา
การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ ๒๑ ปีที่ ๔ ครั้งที่ ๓๒ (สมัยสามัญทั่วไป) เวลา ๑๓.๓๐ นาฬิกา เมื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครบองค์ประชุม นายอุทัย พิมพ์ใจชน ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุมได้แจ้งต่อที่ประชุม เพื่อรับทราบรายงานแสดงผลการดำเนินการของคณะรัฐมนตรีตามนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๘๘ วรรคสอง ก่อนการอภิปรายสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรร่วมหารือแนวทางการดำเนินการประชุม โดยเฉพาะการจัดสรรเวลาการอภิปรายระหว่างฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน
โดยเริ่มจาก นายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดเชียงราย พรรคไทยรักไทย ได้กล่าวถึงบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบัน ในหมวด ๕ ว่าด้วยแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ มาตรา ๘๘ ได้กำหนดให้คณะรัฐมนตรีที่จะเข้าบริหารราชการแผ่นดินต้องแถลงชี้แจงต่อรัฐสภาว่าจะดำเนินการใดบ้างเพื่อให้เป็นไปตาม แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ รวมทั้งจะต้องจัดทำรายงานผลการดำเนินการเสนอต่อรัฐสภาปีละหนึ่งครั้ง
จากนั้น ได้อภิปรายในประเด็น
- การเสริมสร้างความเข้มแข็งการส่งออก
- ผลสำเร็จของการบริหารราชการตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ในพื้นที่เขต
ชายแดนจังหวัดเชียงรายที่มีการติดต่อค้าขายกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ประเทศจีน
- การสร้างความเข้มแข็งทางสังคม โดยเฉพาะการสร้างมาตรฐานของสาธารณสุข
อย่างทั่วถึง จากโครงการบัตรทอง ๓๐ บาทรักษาทุกโรค โดยราษฎรจาก
บ้านหนองบัด จังหวัดเชียงราย ซึ่งได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดต้อกระจก
จนหายขาด โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ
- ด้านเศรษฐกิจของสินค้าการเกษตร รัฐบาลมีการส่งเสริมด้านการตลาดให้แก่
เกษตรกร โดยการยกระดับราคาสินค้าเกษตรและช่วยแก้ปัญหา เพื่อบรรเทา
ผลกระทบด้านราคาแก่เกษตรกร ส่งผลให้ราคาสินค้าของการเกษตรสูงขึ้น
ทั้งนี้ นายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ ได้มีข้อสังเกตเสนอรัฐบาลในเรื่องดังนี้
- รัฐบาลมุ่งเน้นแก้ปัญหาพื้นที่ปลูกลำไยไม่ทั่วถึง โดยแก้ปัญหาเฉพาะบาง
จังหวัดที่มีพื้นที่การปลูกลำไยมาก ๆ เท่านั้น เช่น จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน แต่
จังหวัดเชียงราย น่าน พะเยา ซึ่งก็มีการปลูกลำไยเช่นกัน แต่ไม่ได้มีการแก้ปัญหา
จากรัฐบาล
- กรณีการทำสัญญาเขตการค้าเสรี (FTA) กับประเทศจีน ทำให้สินค้าเกษตรที่นำเข้า
และส่งออกได้รับการยกเว้นภาษี ซึ่งส่งผลกระทบคือสินค้าเกษตรจากประเทศจีน
เข้ามาขายในประเทศไทยเป็นจำนวนมากและมีราคาถูก ทำให้สินค้าเกษตรของ
ประเทศไทยที่มีต้นทุนการผลิตสูงต้องได้รับผลกระทบดังกล่าว
- การมอบอำนาจในการบริหาราชการให้กับผู้ว่าซีอีโอ (CEO) ที่นำนโยบาย จาก
รัฐบาลไปปฏิบัติ แต่ไม่สามารถนำนโยบายดังกล่าวไปดำเนินการได้บรรลุตาม
วัตถุประสงค์
- ขอให้เร่งรัดในนโยบายที่ได้แถลงไว้ โดยเฉพาะจังหวัดชายแดนที่มีการค้าขายกับ
ประเทศเพื่อนบ้าน และภูมิภาคกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขง
- ปัญหาในการจัดสรรที่ดินทำกินให้กับเกษตรกร โดยรัฐบาลไม่ดำเนินการอย่าง
ชัดเจน ก่อให้เกิดการทับซ้อนในกรรมสิทธิ์ที่ดิน