สรุปการประชุมสภาผู้แทนราษฎรการรายงานแสดงผลการดำเนินการของคณะรัฐมนตรี ฉบับที่ ๓

ข่าวการเมือง Friday May 28, 2004 15:58 —รัฐสภา

ฉบับที่ ๓
สรุปการประชุมสภาผู้แทนราษฎร
การรายงานแสดงผลการดำเนินการของคณะรัฐมนตรี
ตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ
ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๘๘ วรรคสอง
วันพุธที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๔๗
เวลา ๑๖.๓๐ - ๑๗.๓๐ นาฬิกา
ต่อจากนั้น นางกอบกุล นพอมรบดี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดราชบุรี พรรคชาติพัฒนา ได้อภิปรายเกี่ยวกับผลการดำเนินงานตามแนวนโยบายแห่งรัฐในด้านศาสนา การศึกษา และสาธารณสุข ซึ่งการศึกษาและสาธารณสุขนั้นมีดัชนีเป็นตัวชี้วัด คือ
๑. คนชรา ผู้ยากไร้ ผู้พิการ หรือทุพพลภาพ ผู้ด้อยโอกาสให้มีคุณภาพชีวิต
ที่ดีและพึ่งตนเองได้
๒. ครูและบุคลากรทางการศึกษาได้รับการพัฒนาศักยภาพในวิชาชีพ
ที่สูงขึ้น
๓. ประชาชนได้รับการบริการด้านสาธารณสุขที่ได้มาตรฐานและมี
ประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง
จากโครงการ ๓๐ บาท รักษาทุกโรค โครงการประกันสังคม พระราชบัญญัติเกี่ยวกับการศึกษา พระราชบัญญัติเกี่ยวกับครู ซึ่งรัฐบาลได้ให้ความสนใจอย่างแท้จริง ประชาชนและข้าราชการครู ได้รับการเอาใจใส่อย่างดีจากรัฐบาล แต่ครูเอกชนไม่ได้รับความสนใจจากภาครัฐ ซึ่งจากการที่ได้มีประกาศระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วย การสงเคราะห์ครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน ในกรณี เจ็บป่วยและคลอดบุตร พ.ศ. ๒๕๔๔ แทนระเบียบเดิม ทำให้สิทธิในเรื่องของการรักษาพยาบาลของ ครูโรงเรียนเอกชนลดลง ทั้งที่ยังคงต้องส่งต้องจ่ายเงินสมทบเหมือนเดิม เป็นการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต กำลังใจ และความเป็นอยู่ของครูเอกชนเป็นอย่างมาก
ต่อจากนั้น นายธีระชัย ศิริขันธ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดอำนาจเจริญ พรรคไทยรักไทย ได้กล่าวถึงผลสำเร็จของการดำเนินการของรัฐบาลดังนี้
- นโยบายพักชำระหนี้เกษตรกร ๓ ปี
- นโยบาย ๓๐ บาท รักษาทุกโรค
- นโยบายการปราบปรามยาเสพติด
- นโยบายการปราบปรามผู้มีอิทธิพล
- การแก้ไขปัญหาหนี้สินที่ไม่เป็นธรรมของราษฎร
- การแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน
- การอนุมัติเงิน ๕๔ ล้านบาท ในเบื้องต้นเพื่อก่อสร้างอาคารของ
มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตอำนาจเจริญ
- การขุดลอกอ่างเก็บน้ำและการปรับปรุงถนนในจังหวัดอำนาจเจริญ
รวมทั้งได้มีข้อเสนอแนะ ดังนี้
- การสร้างจิตสำนึกในความปลอดภัยของเยาวชนยังมีน้อย ควรสร้างจิต
สำนึกในความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม
- การขาดแคลนครูในจังหวัดอำนาจเจริญ ควรจัดหาครูให้มากขึ้น
- ขาดแคลนเมรุเผาศพอย่างถูกสุขลักษณะในชนบท จึงควรจัดสรร
งบประมาณในการก่อสร้างเมรุเผาศพดังกล่าว
ส่วน นายชัยวัฒน์ กุลศักดิ์วิมล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนครพนม พรรคราษฎร ได้กล่าวถึงผลงานการดำเนินการของรัฐบาล ซึ่งมีหลายประเด็นไม่ชัดเจนและไม่สามารถแก้ไขในพื้นที่ได้คือ
๑. โครงการตามแนวพระราชดำริหลายโครงการได้รับเงินจัดสรร แต่หลาย
โครงการยังไม่ได้รับการแก้ไขและการตอบสนอง เช่น โครงการลุ่ม
น้ำกล่ำยังไม่ได้มีการจัดสร้างและแก้ไข จึงขอให้รัฐบาลจัดสรรงบ
ประมาณ เพื่อสร้างฝายกั้นน้ำ โครงการลุ่มน้ำกล่ำ ซึ่งยังไม่ได้รับคำตอบ
จากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมมาเป็นระยะเวลานานพอสมควร
๒. รัฐบาลสูญเสียงบประมาณในการแก้ไขปัญหาชายแดนด้านกัมพูชา พม่า
และมาเลเซีย โดยเสียเงินงบประมาณทางด้านรักษาความมั่นคงเป็น
จำนวนมาก แต่ในขณะเดียวกันไม่ได้มีการแก้ไขปัญหาแม่น้ำโขงกัดเซาะ
ตลิ่ง ซึ่งในแต่ละปีจะเสียพื้นที่ไปเป็นจำนวนมาก ดังนั้นรัฐบาลจึงควร
จัดสรรงบประมาณในการสร้างเขื่อนเพื่อป้องกันตลิ่งพัง แต่สำหรับ
กรณีการสร้างเขื่อนที่อำเภอ ธาตุพนม ได้มีการจัดสรรงบประมาณ
มาแล้ว แต่ได้มีการโยกงบประมาณบางส่วนไปดำเนินการสร้างอีก
ที่หนึ่ง ทำให้การสร้างเขื่อนไม่ติดต่อกัน ถ้าการสร้างเขื่อนดังกล่าว
แล้วเสร็จ สามารถทำเป็นแหล่งท่องเที่ยวและก่อให้เกิดรายได้แก่
ประชาชนในท้องถิ่นได้อีกทางหนึ่งด้วย รวมทั้งขอให้ส่งเจ้าหน้าที่ไป
ตรวจสอบการขนของหนีภาษีที่อำเภอธาตุพนม และตามแนวเขต
ชายแดน ซึ่งมีผู้มีอิทธิพลอยู่เบื้องหลังในการดำเนินการขนย้าย
ดังกล่าว แต่ยังไม่สามารถดำเนินการจับกุมได้ และได้รับการร้องเรียน
จากประชาชนชาวไทยเชื้อสายญวน เรื่องการพิจารณาให้สัญชาติไทย
โดยขอให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการออกบัตรประชาชนให้แก่
ชาวไทยเชื้อสายญวนด้วย
๓. ด้านการศึกษา รัฐบาลได้ออกนโยบายให้นักเรียนได้รับการศึกษาขั้น
พื้นฐานฟรี แต่ปัจจุบันค่าหนังสือและอุปกรณ์การเรียนยังมีราคาแพง
ต่อประชาชนผู้มีรายได้น้อย ดังนั้นจึงควรดำเนินการแก้ไขให้หนังสือ
และอุปกรณ์การเรียนถูกลง รวมทั้งขอให้กระทรวงศึกษาธิการปรับปรุง
หนังสือเรียนให้บุคคลรุ่นหลังสามารถนำมาใช้ต่อได้
สำหรับ นายชวลิต วิชยสุทธิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนครพนม พรรคไทยรักไทย ได้กล่าวถึงผลงานการดำเนินการของรัฐบาลในเรื่องนโยบายด้านการต่างประเทศ
เกี่ยวกับการฟื้นฟูสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนาในทุกด้าน เช่น
- ได้ริเริ่มการจัดการประชุมคณะรัฐมนตรีร่วมระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน
โดยมีการประชุมในทุก ๆ ด้านทั้งด้านการเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง
โดยมีการกำหนดยุทธศาสตร์ร่วมกัน
- การพัฒนาบ้านนาจอยเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวและเปิดเป็นหมู่บ้าน
มิตรภาพไทย-เวียดนาม ซึ่งจะมีการพัฒนาเป็นอินโดจีนศึกษาขึ้น
- การสร้างสะพานแม่น้ำโขงแห่งที่ ๓ ระหว่างไทย ลาว เวียดนาม
ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อ ๓ ประเทศ ทั้งด้านคมนาคม การค้าขายและ
การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม
และได้มีข้อเสนอแนะคือ ถ้ามีการประชุมระหว่างประเทศในกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขง ขอให้กระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำปัญหาในกรณีที่ประเทศจีนจะสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง ซึ่งจะมีผลกระทบต่อประเทศไทยเกี่ยวกับปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงจะลดลงในช่วงหน้าแล้ง และขอให้กระทรวงมหาดไทยจัดสรรงบประมาณในการสร้างเขื่อนเพื่อป้องกันตลิ่งพังให้มากขึ้นเป็นพิเศษและเหมาะสม

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ