ฉบับที่ ๖
สรุปการประชุมสภาผู้แทนราษฎร
การรายงานแสดงผลการดำเนินการของคณะรัฐมนตรี
ตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ
ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๘๘ วรรคสอง
วันพุธที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๔๗
เวลา ๒๐.๓๐ -๒๑.๓๐ นาฬิกา
นายพิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกระบี่ พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
- ความเสียหายของการจัดตั้งองค์กรเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) โดยรัฐบาลชุดที่ผ่านมา ซึ่งได้ยกตัวอย่าง ความเสียหายในเรื่องของการขาย
ทรัพย์สินที่มีมูลค่าหลายแสนล้านบาท แต่ประมูลขายเพียง ๒๕ % ของมูลค่า
ทรัพย์สินนั้น และได้เปรียบเทียบ ปรส. กับบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย
(บสท.) ที่ถูกจัดตั้งขึ้นในรัฐบาลชุดปัจจุบันนี้ ภายหลังจากที่ ปรส. ถูกปิด ซึ่งก่อ
ให้เกิดความเสียหายเช่นเดียวกับในกรณีของ ปรส. โดยยกตัวอย่าง การ
ประนอมหนี้กับบริษัทเอกชน ๒ บริษัททำให้เกิดความสูญเสียเป็นจำนวนเงิน
นับพันล้านบาท
- ความเสียหายของการลดค่าเงินบาทของรัฐบาลในอดีต ส่งผลให้เกิดภาวะ
การขาดทุนของกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าทั้งสินค้าและเงินตรา
ซึ่งความเสียหายในครั้งนั้นก็เกิดจากการบริหารงานของผู้บริหารซึ่งอยู่ในรัฐบาล
ชุดปัจจุบันนี้
- กรณีที่รัฐบาลได้ประกาศว่า สามารถใช้หนี้ IMF ได้ก่อนกำหนดนั้น ความจริงแล้ว
เป็นการชำระหนี้ตรงตามกำหนด คือ ได้ชำระงวดสุดท้ายตามสัญญาที่ระบุไว้ให้
ชำระภายในกลางปี ๒๕๔๖
- กรณีเงินกู้ที่ได้ชำระก่อนกำหนดนั้นคือ เงินที่กู้จากธนาคารโลกและเงินกู้เอดีบี
(ADB) ซึ่งไม่มีความจำเป็นต้องชำระก่อนกำหนด (เพราะถึงจะชำระก่อนก็ยังคง
จะต้องจ่ายค่าปรับเป็นจำนวนมาก)
- รัฐบาลชุดปัจจุบันบริหารเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นไม่มากนัก แม้ว่าจะบริหารประเทศมานานถึง ๓ ปี ๔ เดือนแล้ว
นายพิเชษฐ ได้อภิปรายเพิ่มเติมในช่วงท้ายเกี่ยวกับกฎหมาย ๑๑ ฉบับ ที่ออกในสมัยรัฐบาลที่ผ่านมา ซึ่งเป็นกฎหมายพื้นฐานที่รัฐบาลชุดนี้นำมาใช้ โดยเฉพาะในเรื่องของการแปรรูป รัฐวิสาหกิจ เช่น การแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ซึ่งนายพิเชษฐ ไม่เห็นด้วย เนื่องจากมีความเกี่ยวเนื่องกับความมั่นคงของประเทศ และได้ยกตัวอย่าง กรณีการเกิดไฟฟ้าดับทั่วประเทศ ซึ่งทำให้รัฐบาลไม่สามารถควบคุมการไฟฟ้าฝ่ายผลิตได้ในภาวะวิกฤตดังกล่าว ดังนั้น การแปรรูป รัฐวิสาหกิจจะต้องมีการเรียงลำดับความสำคัญของรัฐวิสาหกิจนั้น ๆ ก่อนจึงจะไม่เป็นการเปิดช่องให้ถูกควบคุมและผูกขาดได้ง่าย
- กรณีนโยบายกองสลากของรัฐบาลที่ผ่านมา กำหนดว่าจะต้องไม่มีการบริจาคให้กับองค์กรที่สามารถตั้งงบประมาณเองได้ ซึ่งตามปกติจะต้องไม่บริจาคสิ่งใดที่จะเป็นภาระกับงบประมาณในวันข้างหน้าอีก
และได้ตั้งข้อสังเกตว่า ขณะนี้กองสลากมีกฎเกณฑ์ในการใช้เงินอย่างไร การนำเงิน
รายได้ จากกองสลากมาเป็นทุนการศึกษาเป็นสิ่งที่เหมาะสมหรือไม่