สรุปการประชุมสภาผู้แทนราษฎรการรายงานแสดงผลการดำเนินการของคณะรัฐมนตรี ฉบับที่ ๙

ข่าวการเมือง Friday May 28, 2004 16:05 —รัฐสภา

ฉบับที่ ๙
สรุปการประชุมสภาผู้แทนราษฎร
การรายงานแสดงผลการดำเนินการของคณะรัฐมนตรี
ตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ
ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๘๘ วรรคสอง
วันพฤหัสบดีที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๔๗
เวลา ๐๙.๓๐ - ๑๑.๓๐ นาฬิกา
การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ ๒๑ ปีที่ ๔ ครั้งที่ ๓๓ (สมัยสามัญทั่วไป) เวลา ๐๙.๓๐ นาฬิกา เมื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครบองค์ประชุม นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง เป็นประธานการประชุม ซึ่งเป็นการประชุมเพื่อรับทราบ รายงานแสดงผลการดำเนินการของคณะรัฐมนตรีตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ตามรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา๘๘ วรรรคสอง เป็นวันที่สอง
สำหรับการประชุมในวันนี้ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้อภิปรายคนแรกคือ
นายมานิต สังข์พุ่ม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสุรินทร์ พรรคไทยรักไทย อภิปรายการดำเนินงานของรัฐบาล โดยได้กล่าวชื่นชมการบริหารราชการแผ่นดินของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ภายหลังจากการแถลงนโยบายก่อนเข้าบริหารประเทศ ซึ่งได้นำเอานโยบายที่ได้แถลงไว้มาปฏิบัติอย่างประสบผลสำเร็จ
จากนั้นได้เสนอแนะปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการนำนโยบายไปดำเนินการ ซึ่งรัฐบาล ได้มีการแก้ไขแล้ว แต่ก็ยังไม่ทั่วถึงในกรณีดังนี้
- ปัญหาที่ดินทำกินของเกษตรกรในเขตจังหวัดสุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี และนครราชสีมา ที่เกษตรกรยังไม่ได้รับเอกสารสิทธิ์ในการถือครองที่ดิน จึงทำให้ไม่สามารถเข้าร่วม "โครงการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน" ของรัฐบาลได้
- ปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อทำการเกษตร ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการจัดทำฝนเทียมเพื่อช่วยเหลือ แต่ขาดความต่อเนื่องและถือว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ยั่งยืน ดังนั้น จึงต้องการให้รัฐบาลจัดทำชลประทานระบบท่อ เพื่อให้เข้าถึงเกษตรกร รวมถึงให้ดำเนินการจัดทำไฟฟ้าเพื่อการเกษตรด้วย
- ด้าน "โครงการพักชำระหนี้ให้กับเกษตรกร" ขอให้รัฐบาลปรับเปลี่ยนระยะเวลาในการชำระหนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับระยะเวลาของผลผลิตทางการเกษตรที่ออก และขอให้จัดให้มีเงินกู้ฉุกเฉินสำหรับเกษตรกรเพื่อใช้จ่ายในฤดูการเก็บเกี่ยวผลผลิต
- เนื่องจากจังหวัดสุรินทร์เป็นจังหวัดนำร่องในการจัดทำปุ๋ยเกษตรอินทรีย์ แต่ยัง ไม่มีงบประมาณในการดำเนินการที่เพียงพอ จึงขอให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณให้เพิ่มขึ้น
ด้านการปฏิรูปการศึกษา ที่ไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากยังมีปัญหาและอุปสรรคที่ซับซ้อนหลายประการ เช่น
- กรณีการประเมินคุณภาพโรงเรียนที่มีการจ้างบุคคลภายนอกมาประเมิน ซึ่งต้องมีค่าใช้จ่ายสูงและเป็นการเสียงบประมาณ ๒ ต่อ จึงน่าจะนำงบประมาณเหล่านี้มอบให้กับทางโรงเรียนเพื่อนำมาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงโรงเรียนด้วยตัวเอง
- กรณีการพัฒนาวิชาชีพครู ซึ่งขณะนี้ครูผู้ที่จะประเมินได้รับความกดดันในการ ส่งผลงาน เพื่อรับการประเมินเป็นอาจารย์ ๓ ระดับ ๘ โดยยังไม่มีความชัดเจน ในเรื่องของผู้ประเมินและมาตรฐานการประเมิน
- กรณีการขาดแคลนบุคลากรครูผู้สอน เนื่องจากมีการดำเนินโครงการ "จากกันด้วยดี" ทำให้ข้าราชการครูเข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก จึงขอให้คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และคณะกรรมการข้าราชการครู (ก.ค.) ทบทวนในเรื่องดังกล่าว
ด้านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
- ขอให้รัฐบาลดำเนินการก่อสร้างถนนในพื้นที่ ๔ จังหวัด ของเขตอีสานใต้ เป็น ๔ ช่องทางจราจร เพื่อให้สะดวกต่อการเดินทางเข้าไปท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดในเขตอีสานใต้ โดยเฉพาะจังหวัดสุรินทร์นั้นมีผ้าไหมยกทองที่เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการกล่าวถึงอย่างกว้างขวางว่า มีคุณภาพดี อีกทั้งใน ๔ จังหวัดนั้นก็มีสถานที่ ท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีกจำนวนมาก
นายวิชัย ชัยจิตวณิชกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดอุดรธานี พรรค ชาติพัฒนา โดยได้มีการกล่าวชื่นชมนโยบายของรัฐบาล เพราะสามารถนำไปปฏิบัติได้ แต่ก็มีบางเรื่องที่เป็นปัญหา เช่น
ด้านการเมืองการปกครอง
- การแต่งตั้งผู้ว่า ซีอีโอ (CEO) ที่มีอายุมากบางราย ทำให้ไม่สามารถตอบสนองนโยบายของรัฐบาลได้อย่างเต็มที่
- การเปลี่ยนแปลงระบบการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น เช่น การเลือกตั้งผู้บริหาร ท้องถิ่นของ อบต. และ อบจ. โดยตรง ซึ่งขณะนี้มีปัญหา เนื่องจากมีข้าราชการของกระทรวงมหาดไทยที่ยังยึดติดกับระบบเดิม ๆ อยู่ คอยช่วยเหลือผู้สมัครรับเลือกตั้ง รวมถึงกรณีการย้ายที่อยู่ของประชาชน โดยใช้ระบบอิเลคทรอนิกส์ มักจะมีการโอนลอยมากเกินไปในช่วงก่อนการเลือกตั้ง
จากนั้นได้อภิปรายชื่นชมการใช้นโยบาย ๓๐ บาท รักษาทุกโรค ที่สามารถให้บริการประชาชนได้อย่างทั่วถึง ทำให้ปัญหาเรื่องการไม่มีเงินรักษาพยาบาลลดน้อยลง และยังได้ชื่นชมในเรื่องที่รัฐบาลบรรจุให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่จบการศึกษาออกมาและเป็นพนักงานของรัฐ ให้เป็นข้าราชการ ทำให้เจ้าหน้าที่เหล่านั้นรู้สึกมีคุณค่ามากขึ้น
นอกจากนี้ได้ขอให้กระทรวงพาณิชย์ทบทวนนโยบายการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศ เนื่องจากมีผลกระทบต่อเกษตรกรที่เป็นชาวนาโดยตรง ถึงแม้ว่าจะเป็นข้าวพันธุ์เมล็ดสั้น และคุณภาพต่ำก็ตาม ตลอดจนขอให้กระทรวงคมนาคมจัดสรรงบประมาณเพื่อซ่อมแซมและบูรณะถนน โดยจ้างแรงงานของประชาชนภายในท้องถิ่น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ