ฉบับที่ ๑๑
สรุปการประชุมสภาผู้แทนราษฎร
การรายงานแสดงผลการดำเนินการของคณะรัฐมนตรี
ตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ
ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๘๘ วรรคสอง
วันพฤหัสบดีที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๔๗
เวลา ๑๒.๓๐ - ๑๓.๓๐ นาฬิกา
ต่อจากนั้นนายวิฑูรย์ วงษ์ไกร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดยโสธร พรรคไทยรักไทย ได้กล่าวถึงผลการดำเนินการว่า เป็นนโยบายหรือสัญญาประชาคมที่รับใช้ประชาชน โดยเฉพาะความปลอดภัย และความเป็นอยู่ของประชาชน ซึ่งรัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบ นโยบายส่วนใหญ่ได้มุ่งเน้นให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนในหมู่มาก แต่มีประชาชนบางส่วนที่ยังไม่รับการดูแลและตอบสนองเท่าที่ควร เช่น ในภาคอีสานจะมีปัญหาเรื่อง
- แหล่งน้ำ ซึ่งมีลุ่มน้ำหลายสาย คือ โขง ชี มูล แต่ลุ่มน้ำดังกล่าวไม่ได้ไหลผ่าน ในทุกจังหวัดของภาคอีสาน พอถึงฤดูแล้งน้ำจะแห้ง แต่ฤดูฝนน้ำจะท่วม ดังนั้น จึงควรมีการขุดลอกหรือปรับปรุงลุ่มน้ำดังกล่าว เพื่อให้ภาคอีสานมีน้ำใช้ตลอด ทั้งปี จะทำให้ปัญหาต่าง ๆ เช่น ปัญหาการอพยพแรงงาน ปัญหาการถูกหลอกไปใช้แรงงานจะลดน้อยลงหรืออาจหมดไป
- ถนนเข้าออกระหว่างหมู่บ้านจากตำบลสู่อำเภอ ยังเป็นถนนลูกรังและเป็น หลุม-บ่อ ทำให้การคมนาคม การเดินทางไปโรงเรียน การขนส่งสินค้า เป็นไป ด้วยความยากลำบาก
- การออกเอกสารสิทธิ์ให้กับประชาชนในหมู่บ้านยังไม่ได้รับการแก้ไข
ดังนั้นรัฐบาลควรดำเนินการแก้ไขเป็นการเร่งด่วน เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าว
ในส่วนของกระทรวงแรงงาน ปัจจุบันสามารถแก้ไขปัญหาการหลอกลวงแรงงานได้เป็นอย่างมาก และได้มีการขยายแรงงานไปยังทุกส่วนของประเทศ
จากนั้น นายวิสิทธิ์ พิทยาภรณ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนครราชสีมา พรรคชาติพัฒนา ได้กล่าวถึงด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการจัดหาแหล่งน้ำ ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศอยู่ในภาคการเกษตร ไม่มีแหล่งน้ำเพียงพอต่อการทำเกษตรกรรม จึงต้องการให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณไปดำเนินการสร้างฝายกั้นน้ำ เพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้ง และยังช่วยบรรเทาการไหลของน้ำในช่วงฤดูฝน ซึ่งถ้าประชาชนในภาคการเกษตรได้รับความเดือดร้อนจะอพยพแรงงานมายังกรุงเทพฯ เพื่อหางานทำ อันจะก่อให้เกิดปัญหาทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง
- ด้านการคมนาคม มีหลายพื้นที่ในจังหวัดนครราชสีมายังขาดถนนที่ใช้ในการ ขนถ่ายสินค้า ถนนบางส่วนยังเป็นถนนลูกรัง จึงต้องการให้ปรับปรุงและซ่อมแซมเป็นถนนลาดยาง
ส่วนนายบูราฮานูดิน อุเซ็ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดยะลา พรรคไทยรักไทย ได้กล่าวชื่นชมรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ ซึ่งเป็นสินค้าสำคัญของประชาชนในจังหวัดภาคใต้ รัฐบาลปัจจุบันได้แก้ไขโดยตั้งบริษัทร่วมระหว่างประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย เพื่อกำหนดราคายางพารา ทำให้ราคายางพาราในปัจจุบันมีราคาถึงกิโลกรัมละ ๕๑ บาท ทำให้ประชาชนในภาคใต้มีรายได้และความเป็นอยู่ดีขึ้น แต่ยังมีปัญหาอีกหลายเรื่องที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยังต้องดำเนินการแก้ไขคือ
- ปัญหาโครงการปลูกยางเอื้ออาทร หรืออนุญาตให้ประชาชนปลูกยางในป่า พร้อมทั้งให้เงินอุดหนุน แต่ขณะนี้ยังไม่ได้ดำเนินการ
- ปัญหาโรงรมยางที่ได้ก่อสร้างไว้แล้ว แต่ขณะนี้ยังไม่ได้ดำเนินการใช้
- โครงการแทรกแซงยางพาราในปี ๔๒-๔๓ ได้มีบริษัทรับซื้อยางจากองค์การ สวนยาง (อสย.) แต่ทางองค์การฯ ไม่สามารถส่งมอบยางได้ทันกำหนด ๖๐ วัน จึงขอขยายเวลาออกไปอีก โดยที่ อสย. ยกเว้นค่าปรับ และอ้างว่าไม่สามารถ ส่งยางให้ทันได้ จึงขอให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไป ดำเนินการตรวจสอบในเรื่องดังกล่าวด้วย