ฉบับที่ ๑๓
สรุปการประชุมสภาผู้แทนราษฎร
การรายงานแสดงผลการดำเนินการของคณะรัฐมนตรี
ตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ
ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๘๘ วรรคสอง
วันพฤหัสบดีที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๔๗
เวลา ๑๔.๓๐ นาฬิกา - เลิกประชุม
นายเนวิน ชิดชอบ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ชี้แจงต่อในประเด็นดังนี้
- กรณีถูกอภิปรายว่า ไม่ดำเนินการใด ๆ กับการทุจริตการแทรกแซงราคายางของอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้อำนวยการองค์การสวนยาง ซึ่งดำรงตำแหน่งระหว่างวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๔๒ - ๒๒ สิงหาคม ๒๕๔๓ นั้น ขณะนี้ได้ส่งเรื่องไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษให้พิจารณาสอบสวน คดีนี้แล้ว เนื่องจากคดีนี้มีความซับซ้อนกว่าคดีปกติ ทั้งนี้ได้ยึดผลสรุปการ สอบสวนจากกองบัญชาการสอบสวนกลางเป็นหลัก และกระทรวงได้ตั้ง คณะกรรมการสอบสวนหาข้อเท็จจริงอีกทางหนึ่ง ซึ่งยังไม่ได้ผลสรุปการสอบสวนอย่างเป็นทางการ แต่ในระหว่างนี้ได้ดำเนินการหาหลักฐานข้อมูลเพิ่มเติมอยู่ตลอดเวลา เพื่อจะได้ดำเนินการกับผู้กระทำผิดคดีดังกล่าวนี้ได้อย่างถูกต้อง ดังนั้นจึงขอชี้แจงว่า มิได้ปกป้องหรือชอบพอกับผู้ถูกกล่าวหาในคดีนี้แต่อย่างใด สำหรับผลการสอบสวนจะเป็นอย่างไรนั้น ต้องรอผลการสอบสวนจากกรม สอบสวนคดีพิเศษหากรับเรื่องไว้พิจารณา แต่หากไม่รับเรื่องก็จะส่งเรื่อง ดำเนินการตาม กระบวนการของคดีอาญาต่อไป
จากนั้นนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ขออภิปรายจากการถูกพาดพิงกรณีการแทรกแซงราคายางพาราของรัฐบาล นายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี (ชวน ๑) นั้น และขอตั้งข้อสังเกตว่า ผู้อภิปรายก่อนหน้านี้ (นายมุข สุไลมาน) กับนายเนวิน ชิดชอบ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีการ เตรียมการกันไว้ก่อนหรือไม่ เหตุใดมีการจัดเตรียมแผนภูมิ (Chart) แสดงข้อมูลต่อที่ประชุมได้สอดรับกันได้ดีเกินคาด จากนั้นได้อภิปรายเพิ่มเติมหลายประเด็นคือ
- เหตุใดรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์คนปัจจุบันจึงเซ็นสัญญาการขายยางพาราถึง ๓ สัญญาให้กับบริษัทบุญดม จำกัด ทั้งที่บริษัทไม่มีตัวตนจริง
- กรณีการกล่าวพาดพิงรัฐบาลชุดที่แล้วอยู่เสมอ ๆ ของรัฐบาลชุดปัจจุบันนี้เกี่ยวกับการเกิดการทุจริต การแทรกแซงราคายางพาราว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขณะนั้นมีส่วนเกี่ยวข้องทั้งที่ ปปช. ได้ตัดสินแล้วว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตดังกล่าว นอกจากนี้ศาล ยุติธรรมยังได้สั่งจำคุกผู้กล่าวหานายจุรินทร์ไปแล้ว การที่ศาลตัดสินเช่นนี้ย่อมแสดงให้เห็นว่าผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้บริสุทธิ์
- สำหรับการสอบสวนข้าราชการผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตการแทรกแซงราคายางพาราระหว่างปี ๒๕๔๒-๒๕๔๓ นั้น ขอเรียกร้องให้ความเป็นธรรมกับผู้ถูกกล่าวพาดพิงด้วย และเร่งให้ได้ข้อสรุปโดยเร็ว
- กรณีการขายยางพาราขาดทุนช่วงปี ๒๕๔๒-๒๕๔๓ ในรัฐบาลชวนนั้นเป็นเพราะภาวะกลไกการตลาดของโลกเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ดังนั้นการขายสินค้าทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นข้าวหรือสินค้าเกษตรอื่น ๆ ก็ประสบภาวะเดียวกัน ดังนั้น รัฐบาลขณะนั้นจึงใช้มาตรการการแทรกแซงราคายางเข้าช่วยเหลือเกษตรกรให้ดำรงชีพอยู่ได้ ซึ่งหากเปรียบเทียบกับเกษตรกรผู้ปลูกยางในประเทศใกล้เคียงกันกับประเทศไทยแล้ว เกษตรกรของไทยยังขายยางได้ราคาสูงกว่าด้วยซ้ำไป
- นโยบายการขยายพื้นที่ปลูกยางจำนวน ๖๐ ล้านต้น ๆ ละ ๑๖ บาท ไปยัง ภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือนั้นฝ่ายค้านเห็นว่าเป็นนโยบายที่ดี เพราะจะสามารถยกระดับรายได้และสร้างความมั่นคงให้กับเกษตรกรได้ แต่อยากขอให้นำพันธุ์ยางที่มีคุณภาพไปแจกให้กับเกษตรกร และขอให้ป้องกันบุคคลที่จะมาแสวงหาผลประโยชน์จากโครงการนี้ด้วย เพราะเป็นเงินจำนวนมาก
ก่อนจบการอภิปราย ได้ฝากให้รัฐบาลดำเนินการก่อตั้งนิคมอุตสาหกรรมยางให้เป็นรูปธรรม โดยขอให้นำองค์ประกอบของสภาพแวดล้อมเป็นหลักในการพิจารณาการก่อสร้าง เพราะโครงการนี้จะสร้างเสถียรภาพให้กับราคายางพาราในระยะยาวต่อไป
จากนั้น นายอาคม เอ่งฉ้วน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดกระบี่ พรรคประชาธิปัตย์ ได้ขอใช้สิทธิในการอภิปรายที่ถูกพาดพิง
- กรณีที่ถูกนายบูราฮานูดิน อุเซ็ง และนายมุข สุไลมาน กล่าวพาดพิง ในกรณีที่ถูกกล่าวหาว่า ในสมัยที่ตนดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ขายยางให้กับบริษัทแห่งหนึ่ง ซึ่งไม่มีตัวตน การขายยางครั้งนั้นได้ดำเนินการตามขั้นตอนอย่างถูกต้อง และได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการขายยางพารา ๓ ฝ่าย คือ กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ องค์การสวนยาง ซึ่งการกำหนดราคายางต้องอิงกับราคาตลาดกลาง คือ ตลาดโตเกียว สิงคโปร์ และตลาดหาดใหญ่ ประเทศไทย และมีการทำสัญญาส่งมอบ พร้อมชำระเงินอย่างถูกต้อง
- กรณีการขายยางพาราแล้วขาดทุน รัฐบาลจึงจำเป็นต้องแทรกแซงราคายาง ซึ่งเงินที่ใช้สำหรับการแทรกแซงตามปกติจะต้องใช้เงินจากกองทุนสวนยาง และเนื่องจากการที่จะขอใช้เงินจากกองทุนสวนยางได้นั้น จะต้องได้รับการตรวจสอบจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ให้เรียบร้อยก่อน จึงจะขอรับการสนับสนุนเงินจากกองทุนฯ ได้ เนื่องจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ยังดำเนินการตรวจสอบไม่แล้วเสร็จจึงต้องกู้เงินจากธนาคารกรุงไทย โดยต้องเสียดอกเบี้ย รวมถึงจะต้องจ่ายค่าเช่าโกดังสำหรับเก็บยางที่ซื้อไว้ด้วย
- กรณีโรงยางไฟไหม้ก็ได้รับค่าชดเชยจากบริษัทประกันเป็นจำนวนมากกว่า การขายยางในครั้งนั้น
- กรณีการสร้างโรงรมยางแล้วไม่ได้ใช้ เนื่องจากเป็นที่ดินที่ได้รับการบริจาคและถูกน้ำท่วม จึงไม่สามารถเก็บยางได้
ต่อมานายเนวิน ชิดชอบ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ ชี้แจงว่า
- กรณีตามข้อเท็จจริงราคายางดีขึ้น เมื่อปี ๒๕๔๕ และการแทรกแซงราคายางทุกโครงการไม่ได้ขาดทุนทั้งหมด การขายยางของกองทุนสงเคราะห์ของกองทุนสวนยางทุกเรื่องล้วนเป็นมติของบอร์ดบริหารของกองทุนฯ แต่ปี ๒๕๔๓ บอร์ดมีมติให้อำนาจรัฐมนตรีเป็นผู้อนุมัติ ซึ่งหากขายโดยสุจริตและคำนึงถึง ผลประโยชน์ของรัฐนั้นถือว่าไม่ผิด แต่เรื่องที่ส่งไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษด้วยการขยายเวลาโดยไม่ปรับนั้น ทำให้รัฐเสียหาย โดยเฉพาะค่าเช่าโกดัง ต้องเสียเงินเป็นจำนวนถึง ๑๘ ล้านบาท รวมทั้งการที่รัฐต้องเสียโอกาส ซึ่งการขายและมีพฤติกรรมที่ทำให้รัฐเสียเปรียบและเสียโอกาสถือว่าผิด
- กรณีการจำกัดสิทธิ์เรื่องการปลูกยางพาราด้วยว่า เรื่องดังกล่าวเป็นมติ
คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้จำกัดพื้นที่ปลูกยางพารา ๑๒.๕ ล้านไร่ โดยรัฐบาลนี้
ได้มีการเปิดโอกาสให้เกษตรกรมีการปลูกยางพาราเพิ่ม โดยที่รัฐจัดส่งพันธุ์
ยางพาราไปให้ ดังนั้น จึงไม่ใช่การประมูลการจัดซื้อกล้ายางพันธุ์ แต่เป็นการ
ประมูลการเพาะพันธุ์กล้ายางขึ้นมา เพื่อจะได้พันธุ์กล้ายางที่มีคุณภาพดี
เมื่อนำไปปลูกแล้ว จะได้ไม่แตกเป็นสองส่วนคล้ายง่ามหนังสติ๊กเช่นอดีต
ที่ผ่านมา
- กรณีการไม่นำเงินจากกองทุนสงเคราะห์ยางไปช่วยเหลือเกษตรกรที่ปลูก สวนยางในภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือนั้น เนื่องจากกองทุนสงเคราะห์ยางกำหนดว่า ผู้ที่จะใช้เงินกองทุนฯ ได้นั้นต้องเป็นชาวสวนยาง แต่เกษตรกร ที่จะปลูกยางพาราภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือนั้นยังไม่ถือว่าเป็นเกษตรกรสวนยาง จึงต้องใช้เงินจากคณะกรรมการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) แทน ซึ่งก็ถือว่าเป็นเงินงบประมาณเช่นเดียวกัน