รัฐบาลส่งปลัดกระทรวงพาณิชย์ เจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีกับนิวซีแลนด์

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 11, 2004 11:59 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

        รัฐบาลส่งปลัดกระทรวงพาณิชย์ เจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีกับนิวซีแลนด์ มุ่งเพิ่มการลงทุนและช่วยส่งออกสินค้าเกษตร บริการท่องเที่ยวและทักษะบริการการศึกษา
คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) แต่งตั้งนายการุณ กิตติสถาพร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นหัวหน้าคณะเจรจาจัดทำเขตการค้าเสรีกับประเทศนิวซีแลนด์ พร้อมนำคณะเดินทางไปเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (Closer Economic Partnership: CEP) ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 15-18 มิถุนายน ศกนี้ ณ กรุงเวลลิงตัน ประเทศนิวซีแลนด์
การเจรจาในขั้นต้นนี้จะมีขึ้น 4 ครั้งภายในปี 2547 โดยตั้งเป้าหมายสรุปผลการเจรจาเบื้องต้นในเดือนพฤศจิกายน 2547 โดยภาพรวมของการเจรจาบื้องต้นครั้งที่ 1 ที่มีนายการุณ กิตติสถาพร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นหัวหน้าคณะเจรจา ณ กรุงเวลลิงตัน ระหว่างวันที่ 15-18 มิถุนายน ศกนี้ จะครอบคลุมสินค้าทุกรายการ ซึ่งสินค้าของประเทศไทยมีจำนวน 5,505 รายการ ส่วนสินค้าของประเทศนิวซีแลนด์มีจำนวน 7,433 รายการ
นอกจากนี้ การเจรจาเบื้องต้นครั้งนี้จะครอบคลุมไปถึงเรื่องการค้าบริการ การลงทุน และประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการค้าอื่น ๆ ได้แก่ กฎแหล่งกำเนิดสินค้า หรือ Rules of Origin พิธีการทางศุลากร การระงับข้อพิพาท มาตรการเยียวยาทางการค้า ทรัพย์สินทางปัญญา การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ มาตรฐานสินค้า มาตรการสุขอนามัย และนโยบายการแข่งขัน
ทั้งนี้สินค้าที่ไทยจะมีโอกาสขยายการส่งออกไปยังนิวซีแลนด์ได้มากขึ้น ได้แก่ รถยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้า อาหารทะเลกระป๋องและอาหารแปรรูป (เช่น กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งและปลาปรุงแต่ง) สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เหล็ก และผลิตภัณฑ์พลาสติก อีกทั้ง ความตกลงการค้าเสรีนี้จะช่วยให้การส่งออกสินค้าเกษตรของไทยไปนิวซีแลนด์มีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น สินค้าเกษตรของไทยที่มีศักยภาพได้แก่ ไก่สดแช่แข็ง ผัก และผลไม้ ซึ่งปัจจุบันไทยประสบปัญหาเรื่องมาตรการด้านการกักกันโรค และสุขอนามัยที่เข้มงวดของนิวซีแลนด์
ส่วนสินค้าที่อาจได้รับผลกระทบคือ สินค้าส่งออกหลักของนิวซีแลนด์มาไทยคือ ผลิตภัณฑ์นมและเนื้อสัตว์ ซึ่งเป็นสินค้าอ่อนไหวของไทย
ด้านการค้าบริการก็เป็นที่จะขยายตัวสูงขึ้นหากมีการจัดทำความตกลงการค้าเสรี โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวและการศึกษา ซึ่งคาดว่าจะเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางการค้าบริการระหว่างสองประเทศและจะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนและถ่ายโอนทักษะและความรู้มากยิ่งขึ้น อันจะนำไปสู่ความสามารถในการแข่งขันในระดับโลกได้
นอกจากนี้ แนวโน้มการลงทุนของไทยและนิวซีแลนด์จะเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งจะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านตลาดระหว่างประเทศและกลยุทธ์เพื่อพัฒนาความสามารถการแข่งขันในตลาดโลก โดยตั้งแต่ปี 2528 — 2546 การลงทุนของนิวซีแลนด์ในไทยมีมูลค่าการลงทุนรวม 25.5 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม เฟอร์นิเจอร์ และการสร้างพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ
ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา (2542 — 2546) การค้ารวมระหว่างไทยกับนิวซีแลนด์มีมูลค่าเฉลี่ย 396.2 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 0.31 ของมูลค่าการค้ารวมของไทยกับทั้งโลก ในปี 2546 การค้าสองฝ่ายมีมูลค่า 475.3 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2545 ร้อยละ 20.9 โดยมูลค่าการส่งออกของไทยเท่ากับ 265.9 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2545 ร้อยละ 29.5 และการนำเข้ามีมูลค่า 209.4 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2545 ร้อยละ 11.4 ซึ่งไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้า 56.5 ล้านเหรียญสหรัฐ
เขตการค้าเสรี (Free Trade Area : FTA) หมายถึง การรวมกลุ่มเศรษฐกิจโดยมีเป้าหมายเพื่อลดภาษีศุลกากรระหว่างกันภายในกลุ่มให้เหลือน้อยที่สุดหรือเป็นร้อยละ 0 และใช้อัตราภาษีปกติที่สูงกว่ากับประเทศนอกกลุ่ม การทำเขตการค้าเสรีในอดีตมุ่งในด้านการเปิดเสรีด้านการค้า (Goods) โดยการลดภาษีและอุปสรรคที่ไม่ใช่ภาษีเป็นหลัก แต่เขตการค้าเสรีในระยะหลัง หมายรวมไปถึงการเปิดเสรีด้านการบริการ (Services) และการลงทุนด้วย
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (66) 2282-6171-9 แฟกซ์ (66) 2280-0775
-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ