ผู้นำธุรกิจพบ "ทักษิณ" ขอความมั่นใจนโยบาย ราคาน้ำมัน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 11, 2004 14:16 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

        ในวันที่ 8 มิถุนายนที่ผ่านมานี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้พบสมาคมภาคธุรกิจในงาน "ผู้นำภาคธุรกิจประชุมร่วมกับ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี" ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ในโอกาสนี้ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) ได้จัดทำรายงานประกอบการหารือกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มีสาระสำคัญที่น่าสนใจดังต่อไปนี้ 
ภาวะอุตฯ 4 เดือนแรกของปี 2547
การผลิตในภาคอุตสาหกรรมโดยรวมยังขยายตัวดี ตามการขยายตัวของความต้องการของผู้บริโภคภายในประเทศและต่างประเทศ ในบางอุตสาหกรรมยังได้รับประโยชน์จากการขยายฐานการผลิตของนักลงทุนต่างชาติ อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ แม้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมจากการรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทยในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้จะขยายตัวในอัตราร้อยละ 10.4 หรือชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2546 ที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 14.8 แต่อัตราขยายตัวดังกล่าวก็ยังสูงกว่าอัตราเฉลี่ยที่ร้อยละ 7.6 ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมานี้อยู่ดี
สำหรับอัตราการใช้กำลังการผลิตโดยรวมเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับเฉลี่ยร้อยละ 74.2 จากร้อยละ 65.7 ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2546 อุตสาหกรรมที่มีการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นมาก ได้แก่ แผงวงจรไฟฟ้า, รถยนต์เชิงพาณิชย์, เหล็ก, ยางรถยนต์, เส้นใยประดิษฐ์ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมแผงวงจร กับอุตสาหกรรมยางรถยนต์ มีแนวโน้มที่จะขยายกำลังการผลิตเพิ่มมากขึ้น ส่วนอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะขยายตัวดีในครึ่งปีหลังประกอบไปด้วย
อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน ในส่วนของรถยนต์เชิงพาณิชย์ที่ผลิตเพื่อการส่งออก, อุตสา หกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ มีการสั่งซื้อสินค้าเพิ่มขึ้นจากผู้ซื้อในต่างประเทศ อาทิ สหรัฐ-สหภาพยุโรป-ญี่ปุ่น ขณะที่จีนมีความต้องการสูงขึ้น และอุตสาหกรรมเส้นใยประดิษฐ์-เหล็ก-เฟอร์นิเจอร์ ความต้องการในตลาดต่างประเทศขยายตัว ส่วนสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับตลาดส่งออกเริ่มกระเตื้องขึ้นบ้างเช่นกัน
ทางด้าน อุตสาหกรรมอาหารปรากฏการผลิตในภาคอุตสาหกรรมนี้ลดลง ทั้งจากปัญหาการส่งออกชะลอตัวรวมทั้งปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบ ที่มีปัญหามากก็คือ อุตสาหกรรมอาหารทะเลแช่แข็งโดยเฉพาะอย่างยิ่ง กุ้งแช่แข็ง ได้รับผลกระทบจากการสอบสวนการทุ่มตลาด (Ad) จากสหรัฐโดยตรง ส่งผลให้การส่งออกกุ้งไปตลาดสหรัฐลดลงทันที
อย่างไรก็ตาม มีหลายอุตสาหกรรมที่ประสบปัญหาต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น เกิดการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นจากการเปิดเสรีทางการค้าและใช้มาตรการที่มิใช่ภาษี ทั้งต้นทุนวัตถุดิบ อาทิ ยางพารา-ฝ้าย-เหล็ก-พลาสติก-ทองแดง-อะลูมิเนียม ต้นทุนจากค่าขนส่งสินค้าและค่าระวางเรือ ต้นทุนทางด้านพลังงาน ทำให้ผู้ประกอบการได้รับกำไรลดลง เนื่องจากสินค้าหลายรายการแม้จะประสบปัญหาต้นทุนสูงขึ้นก็ไม่สามารถปรับราคาจำหน่ายได้ โดยอุตสาหกรรมที่ประสบกับการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดโลกได้แก่ อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์-สิ่งทอ-เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
นอกจากนี้ ในส่วนของ สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้ากำลังประสบปัญหาถูกสินค้านำเข้าจากสาธารณรัฐประชาชนจีนที่มีราคาถูกกว่าส่งเข้ามา "ตีตลาด" ในไทย เกิดการลักลอบนำเข้าและมีการสงวนสิทธิ์โดยนำสินค้าจากจีนเข้ามาใช้ยี่ห้อสินค้าไทยเพื่อการส่งออก ดังนั้น ภาคเอกชนจึงต้องการให้ภาครัฐให้ความสำคัญกับปัญหาที่เกิดขึ้นทันที
แนวโน้มอุตสาหกรรมในระยะข้างหน้า
เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักของไทยยังคงขยายตัว ทางสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้ตั้งเป้าหมายการส่งออกสินค้าไทยในปี 2547 โดยสหรัฐยังคงขยายตัวร้อยละ 5 มูลค่า 14,300 ล้านเหรียญ, สหรัฐ+ละติน ขยายตัวร้อยละ 6.6 มูลค่า 15,000 ล้านเหรียญ, ญี่ปุ่นคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 15, อินเดียร้อยละ 55 มูลค่า 961 ล้านเหรียญ, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ขยายตัวร้อยละ 15 มูลค่า 3,300 ล้านเหรียญ, อิหร่านปรับเป้าขึ้นไปเป็นร้อยละ 16 และอาเซียนปรับเป้าเพิ่มขึ้นไปเป็นร้อยละ 38 จากเดิมที่ตั้งเป้าไว้ที่ร้อยละ 25-30 เท่านั้น โดยมีสินค้าที่มีแนวโน้มในการส่งออกสดใส ได้แก่
1)ยานยนต์ ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง การผลิตและการจำหน่ายรถยนต์ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2547 ยังมีอัตราการขยายตัวต่อเนื่อง รถจักรยานยนต์มีการผลิตและส่งออกเพิ่มขึ้น การส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์โดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี
2)เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ในไตรมาสแรกโดยรวมปรับตัวดีขึ้นมากเมื่อเทียบกับช่วงระยะเวลาเดียวกันของปี 2546 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ การส่งออกสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นในกลุ่มของเครื่องใช้ไฟฟ้า-เครื่องปรับอากาศ-คอมเพรสเซอร์-เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน อาทิ พัดลม-ตู้เย็น-กระติกน้ำร้อน-หม้อหุงข้าว มีดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้น แต่เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และสินค้าที่เกี่ยวข้องกลับมีดัชนีผลผลิตลดลง
3)ปิโตรเคมี จากวัฏจักรปิโตรเคมีที่อยู่ในช่วงขาขึ้น ราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีมีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากความต้องการในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่ง จีน มีความต้องการเม็ดพลาสติกในปริมาณที่สูงขึ้นมาก ประกอบกับราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาปิโตรเคมีปรับตัวสูงตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม การส่งออกปิโตรเคมีขั้นต้นกับขั้นกลางมีมูลค่าลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปี 2546 แต่ปิโตรเคมีขั้นปลายยังมีการขยายตัวในอัตราที่สูงขึ้น อาทิ ความต้อง การใช้โพลีเอสเตอร์ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ มีแนวโน้มที่ดีขึ้นจากปี 2546 จากการขยายตัวของการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูป-ผ้าผืน-ด้ายไปยังตลาด สหรัฐ
4)สิ่งทอ/เครื่องนุ่งห่ม การส่งออกในไตรมาสแรกมีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.5 ในทุกหมวดผลิตภัณฑ์ อาทิ เสื้อผ้าสำเร็จรูป-ผ้าผืน-ด้าย-เคหะสิ่งทอ-เส้นใยประดิษฐ์ ทางสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมรายงานว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม แม้ว่าจะมีการปรับตัวลดลงเล็กน้อย แต่โดยรวมแล้วยังถือว่าอยู่ใน "สภาวะทรงตัว" โดยมูลค่าการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปไปสหรัฐลดลงร้อยละ 11 จากการที่สหรัฐหันไปนำเข้าสินค้าจากแหล่งผลิตเสื้อผ้าที่มีต้นทุนต่ำในจีน-อินโดนีเซีย และประเทศที่มีข้อตกลงทางการค้าเป็น พิเศษกับสหรัฐ ในอุตสาหกรรมนี้คาดว่าไทยจะต้องเผชิญกับภาวะการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น หลังจากที่ข้อตกลงผลิตภัณฑ์เส้นใยระหว่างประเทศ (MFA) จะต้องถูกยกเลิกไปวันที่ 1 มกราคม 2548 ซึ่งหมายถึงระบบโควตาส่งออกสิ่งทอที่ถูก "การันตี" ด้วยปริมาณการส่งออกขั้นต่ำจะถูกยกเลิกตามไปด้วย
5)เหล็กและเหล็กกล้า ปริมาณการผลิตในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.57 เป็นผลมาจากความต้องการใช้ในประเทศที่เพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของธุรกิจก่อสร้าง ประกอบกับเหล็กในตลาดโลกมีราคาปรับตัวสูงขึ้นมาตั้งแต่ปลายปี 2546 ส่งผลให้ราคาวัตถุดิบทั้งเหล็กแผ่น-เหล็กแท่ง-เศษเหล็ก ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ผู้ใช้ภายในประเทศเพิ่มปริมาณสต๊อกของตนเอง เนื่องจากกลัวว่าเหล็กจะขาดแคลน ในขณะที่การส่งออกเหล็กและเหล็กกล้าในไตรมาสแรกปีนี้ลดลงร้อยละ 14.5 กับร้อยละ 5.5 ทั้งปริมาณและมูลค่าตามลำดับ
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมลดต่ำลง
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) ได้จัดทำดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ในเดือนเมษายน 2547 ปรากฏดัชนีอยู่ที่ระดับ 98.2 ซึ่งต่ำกว่า 100 และเป็นค่าต่ำสุดในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลกระทบมาจากความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่และขนาดกลางไม่ดีนัก จากเหตุผลเรื่องของราคาวัตถุดิบและราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นมาโดยตลอด และสถานการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
อย่างไรก็ตาม หากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่องไปอีก 3-5 เดือน ทาง สอท.เชื่อว่าจะกระทบต่อแผน การผลิตและการลงทุนของประเทศ ดังนั้นปัจจัยที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดก็คือ มาตรการลดผลกระทบจากการปรับตัวสูงขึ้นของราคาน้ำมันและการคลี่คลายปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะเป็นตัวแปรที่สำคัญต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการมากที่สุด
ข้อเสนอแนะเพิ่มขีดความสามารถของอุตสาหกรรมไทย แบ่งเป็น 2 ระยะคือ ระยะเร่งด่วน กับระยะกลางและยาว มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
ระยะเร่งด่วน ต้องเร่งฟื้นฟูความเชื่อมั่นของประชาชนและนักลงทุนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กับการกำหนดมาตรการประหยัดพลังงานที่ชัดเจนและรณรงค์การประหยัดพลังงานอย่าง จริงจัง
ระยะกลางและระยะยาว ประกอบไปด้วย ด้านการพัฒนาเทคโนโลยี
ข้อเสนอแนะ
1)เพิ่มสิทธิประโยชน์เพื่อจูงใจการลงทุนวิจัยและพัฒนาเทคโน โลยีการผลิต ทั้งเรื่องของสิทธิประโยชน์ด้านภาษี กับการเงิน
2)จัดตั้งกองทุนส่งเสริมและสนับ สนุน การวิจัยและพัฒนาร่วมกันระหว่างภาค รัฐ-เอกชน และ
3)สร้างระบบพัฒนาวิชาชีพนักวิจัยและให้ความสำคัญกับนักวิจัยด้านการปรับปรุงค่าตอบ แทนที่สูงขึ้น
ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
1)ยกระดับความสำคัญของแผนกำลังคน สร้างระบบที่สามารถประสานงานกับภาคเอกชน ตลอดจนมีกระบวนการติดตามและประเมินผลอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สอดคล้องภาคอุตสาหกรรม
2)สนับสนุนการจัดตั้งสถาบันเฉพาะด้านให้มากขึ้น ด้วยการให้ภาคเอกชนเข้าไปมีส่วนร่วมในสถาบันเหล่านั้น อาทิ สถาบันสำหรับการฝึกอบรมด้าน software หรือ electronic engineering
3)ร่วมกันกำหนดมาตรฐานฝีมือแรงงานให้ครอบคลุมทุกสาขาอาชีพและตรงกับความต้องการของภาคเอกชน
ด้านการรักษาเสถียรภาพต้นทุนการผลิต
1)กำหนดยุทธศาสตร์การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งกำหนดนโยบายการใช้พลัง งานทดแทนน้ำมันให้ชัดเจน เพื่อสร้างเสถียรภาพทางด้านต้นทุนการผลิตในภาคอุตสาหกรรม
2)ดูแลอัตราเงินเฟ้อของประเทศให้อยู่ในระดับต่ำ เพื่อช่วยให้ราคาสินค้าที่ผลิตภายในประเทศมีราคาต่ำ แม้ว่าในขณะนี้อัตราเงินเฟ้อในประเทศยังอยู่ในระดับต่ำก็ไม่ควรประมาท เพราะราคาน้ำมันในตลาดโลกยังมีความผันผวนมาก รวมถึงค่าเงินบาทเริ่มอ่อนค่าลง
ด้านการพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน
1)พัฒนาธุรกิจพาณิชย์นาวีของไทย เพราะการพึ่งพากองเรือต่างชาติทำให้เพิ่มภาระต้นทุนกับธุรกิจส่งออก รัฐควรพัฒนาจำนวนเรือ ขนาดของเรือ เส้นทางเดินเรือ และสนับสนุนอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อู่ต่อเรือ ทั้งด้านภาษีและด้านการเงิน
ด้านพัฒนาเครือข่ายวิสาหกิจ (clustering)
1)สร้างความเข้าใจที่ตรงกันเกี่ยวกับการพัฒนาเครือข่ายวิสาหกิจให้กับองค์กรที่ต้องเกี่ยวข้องกับการพัฒนาและกำหนด "กลไกถาวร" ที่รับผิดชอบการพัฒนาเครือข่ายวิสาหกิจให้ออกมาเป็นรูปธรรมเพื่อให้เกิด economy of production และเกิด synergy ด้านการตลาด ตลอดจนรัฐบาลจะเกิดความสะดวกในการให้ความช่วยเหลือด้านสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ
ด้านการส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs
1)สนับสนุนข้อมูลด้านการตลาดและต้นทุนทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนแหล่งปัจจัยการผลิตต่างๆ ให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs โดยทั่วไปให้ สามารถเข้าถึงได้ง่ายและทันต่อเหตุการณ์ เพื่อเพิ่ม ขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ SMEs มากขึ้น
นอกจากรายงานข้อเสนอ "นักธุรกิจพบ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี" ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) แล้ว ยังมีข้อเสนอของภาคเอกชนอีก 3 แห่งถูกนำเข้ามาหารือร่วมกันในที่ประชุมด้วยได้แก่ ข้อเสนอของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้เสนอเรื่องการพัฒนา logistics ของประเทศเพื่อลดต้นทุน
ข้อเสนอของสมาคมธนาคารไทยในเรื่องของการรักษาอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำ, การควบ คุมไม่ให้เกิดความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน/ อัตราดอกเบี้ย, ความชัดเจนในนโยบายต่อระบบสถาบันการเงินตามแผนแม่บท อาทิ ความคืบหน้าในการจัดตั้งสถาบันประกันเงินฝาก ความ Consis tency ในการกำกับระหว่างธนาคารของรัฐและธนาคารเอกชน และ ข้อเสนอจากผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ในเรื่องของอัตราดอกเบี้ย กับร่างกฎกระทรวงเรื่องผังเมืองกรุงเทพฯ
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (66) 2282-6171-9 แฟกซ์ (66) 2280-0775
-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ