นายพิษณุ เหรียญมหาสาร ผู้อำนวยการสำนักบริหารนโยบายการนำเข้า (สบน.) เปิดเผยว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สบน.ได้ส่งเอกสารสถานการณ์การนำเข้าของไทย ภาวะการขาดดุลการค้าในเดือน เม.ย.2547 และข้อเสนอแนะไปให้กระทรวงการคลังรวบรวม รายละเอียดต่างๆเสนอให้ ร.อ.สุชาติ เชาว์วิศิษฐ รองนายกรัฐมนตรีพิจารณาก่อนที่จะเชิญ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือ เพื่อแก้ปัญหาภาวะการขาดดุลการค้าของไทยในเร็วๆนี้
โดยในเอกสารดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า การขาดดุลการค้าของไทยในเดือน เม.ย.2547 เป็นเพราะการนำเข้าน้ำมันดิบเพิ่มสูงมากจากช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นมูลค่าที่เพิ่มขึ้น 296 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งสูงกว่ายอดขาดดุลในเดือน เม.ย.2547 ที่ 242 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพราะความต้องการใช้ในประเทศ และความต้องการสำรองน้ำมันดิบเป็นลักษณะชั่วคราว เพื่อรองรับการขยายกำลังการผลิตของบริษัทน้ำมันเอกชนเพิ่มขึ้น
ขณะเดียวกัน ยังมีการนำเข้าสินค้าอื่นๆ ทั้งที่ไทยผลิตเองได้ และไม่ได้ เพิ่มขึ้นมากด้วย เช่น เครื่องตัดต่อหรือป้องกันวงจรไฟฟ้า นำเข้ามูลค่า 166 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 53.9% ทองแดง 122 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 111.6% เครื่องมือ เครื่องใช้ และเครื่องจักรสำหรับการวัด ตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์ 121 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 51.2% และเศษเหล็ก 64 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 283.2% เป็นต้น
"สบน.อยากให้มีการปรับโครงสร้างการผลิตโดยให้ผู้ผลิตหันมาใช้วัตถุดิบหรือ สินค้าสำเร็จรูปที่ผลิตได้ในประเทศทดแทนการนำเข้า เพราะแต่ละปีไทยนำเข้าสินค้าเหล่านั้น มูลค่ามหาศาล ทั้งๆที่ไม่จำเป็น เช่น อะไหล่รถยนต์นำเข้า 200,000 ล้านบาท ผลิตภัณฑ์พลาสติก 70,000 ล้านบาท คอมพิวเตอร์และชิ้นส่วน และเครื่องใช้ ไฟฟ้าเกือบ 200,000 ล้านบาท หากลดการนำเข้าลงได้ ดุลการค้าก็อาจจะสมดุลและได้ดุลในที่สุด"
ทั้งนี้ สบน.ได้เสนอข้อเสนอแนะเพื่อแก้ ปัญหาการขาดดุลการค้าด้วย โดยมาตรการด้านสินค้านั้นในกลุ่มของสินค้าทุนให้หาแหล่งสินค้าทุน ที่มีประสิทธิภาพการผลิตสูงในราคาเหมาะสม, สินค้าวัตถุดิบและสำเร็จรูปให้ส่งเสริมการใช้ สินค้าที่ผลิตในประเทศทดแทนการนำเข้า และส่งเสริมให้เกิดการจับคู่ทางธุรกิจระหว่าง ผู้ผลิตวัตถุดิบในประเทศกับผู้ผลิตเพื่อส่งออก ขณะที่ด้านสินค้าอุปโภคบริโภค ให้ดำเนินมาตรการชะลอ การนำเข้าโดยอ้างการให้การคุ้มคอรงผู้ บริโภค และอ้างการสนับสนุนให้อุตสาหกรรมในประเทศแข่งขันกับสินค้านำเข้าได้ ด้านสินค้า เชื้อเพลิงให้พัฒนาแหล่งพลังงานใหม่ๆ และรณรงค์ให้คนไทยประหยัดพลังงาน
นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและ สังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นจะไม่ส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อ ในปัจจุบันไม่ได้สูงจนน่าเป็นห่วง การที่มีระดับอัตราเงินเฟ้ออ่อนๆ ถือเป็นเรื่องดี เพราะกระตุ้นให้เกิดการลงทุนและ การบริโภคในประเทศ อย่างไรก็ตาม การที่นายอลัน กรีนสแปน ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า หากอัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นในระดับที่น่าเป็นห่วง อาจมีการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นนั้น มองว่าเป็นการส่งสัญญาณเตือนให้มีความระมัดระวังความร้อนแรงของเศรษฐกิจ และอาจไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยก็ได้
นายบัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวภายหลังการ ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินว่า คณะกรรมการนโยบายการเงินยังคงมีความเห็นว่า อัตราดอกเบี้ยระดับต่ำและนโยบายการเงินในขณะนี้ ยังอยู่ในภาวะที่เหมาะสมกับเศรษฐกิจของ ประเทศ ทำให้ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับเดิมคือ คงอัตราดอกเบี้ยในตลาดซื้อคืนพันธบัตร (อาร์/พี) 14 วัน ไว้ใน ระดับ 1.25%
ขณะที่ ร.อ.สุชาติ เชาว์วิศิษฐ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ตนดูแลเรื่องการหาพลังงานทดแทนในระยะยาวนั้น ในสัปดาห์หน้าจะเรียกประชุมผู้เกี่ยวข้องมาหารือได้แก่ กระทรวงพลังงาน กระทรวงอุตสาหกรรม บริษัท ปตท.จำกัดและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รวมทั้งอาจารย์จากมหาวิทยาลัยที่ทำวิจัยในเรื่องนี้ เพื่อมาช่วยกันคิดว่า จะมีมาตรการใดออกมาทดแทนการใช้น้ำมันได้.
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (66) 2282-6171-9 แฟกซ์ (66) 2280-0775
-พห-