= แถลงข่าว
วันอังคารที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๔๗ เวลา ๐๙.๔๕ นาฬิกา ณ ห้องประชุมกรรมาธิการ หมายเลข ๔ ชั้น ๒ อาคารรัฐสภา ๑ นายสุชน ชาลีเครือ ประธานวุฒิสภา ได้แถลงข่าวในฐานะ รองประธานรัฐสภาว่า ได้รับมอบหมายจาก นายอุทัย พิมพ์ใจชน ประธานรัฐสภา ให้เป็นหัวหน้า คณะผู้แทนรัฐสภาไทย เดินทางไปเข้าร่วมประชุมสมาชิกรัฐสภา ณ นครเซาเปาโล สหพันธ์สาธารณรัฐ บราซิล ระหว่างวันที่ ๘-๑๖ มิถุนายน ๒๕๔๗ ซึ่งการประชุมในครั้งนี้จะเป็นการประชุมสหประชาชาติ ว่าด้วยการค้าและการพัฒนา ครั้งที่ ๑๑
= ประชุมกรรมาธิการ
วันพฤหัสบดีที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๔๗ เวลา ๑๐.๐๐ นาฬิกา นายเรวัต สิรินุกุล ประธานคณะกรรมาธิการการพาณิชย์ สภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมาธิการพิจารณาศึกษาเกี่ยวกับงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๘ ของกระทรวงพาณิชย์ โดยเชิญปลัดกระทรวงและอธิบดีที่สังกัดกระทรวงพาณิชย์ มาร่วมประชุม ณ ห้องประชุมคณะกรรมาธิการ หมายเลข ๒๑๙ ชั้น ๒ อาคารรัฐสภา ๒
= วางพวงมาลา
วันพุธที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๔๗ เวลา ๑๐.๐๐ นาฬิกา นายทวี พวงทะวาย รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยข้าราชการสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร นำพวงมาลา ในนาม "สภาผู้แทนราษฎร" ถวายราชสักการะพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามา ธิบดินทร ณ พระบรมราชานุสรณ์ บริเวณลานพระวิหารหลวง วัดสุทัศนเทพวราราม
= เปิดอบรม
วันพฤหัสบดีที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๔๗ เวลา ๑๓.๓๐ นาฬิกา นายทวี พวงทะวาย รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการฝึกอบรมหลักสูตร "การเขียนภาษาอังกฤษอย่างมีประสิทธิภาพ" รุ่นที่ ๑ จัดโดยสำนักพัฒนาบุคลากร ณ ห้องฝึกอบรม หมายเลข ๑ ชั้น ๒๐ อาคารทิปโก้
= บรรยายพิเศษ
วันจันทร์ที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๔๗ เวลา ๐๙.๐๐ นาฬิกา นายคัมภีร์ ดิษฐากรณ์ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร บรรยายสรุปเรื่อง "ภารกิจหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎร" ให้แก่นายทหารชั้นนายพลของกองทัพไทย รุ่นที่ ๑๘ สถาบันวิจัยยุทธศาสตร์ สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ จำนวน ๑๔๑ คน ณ ห้องสารนิเทศ อาคารรัฐสภา ๑
= ร่วมจัดนิทรรศการในงานวันสถาปนาสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง
สำนักประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้ร่วมจัดแสดงนิทรรศการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับประวัติความเป็นของรัฐสภา และบทบาท อำนาจ หน้าที่ รวมทั้งกิจกรรมและ โครงการต่าง ๆ ของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เนื่องในโอกาสครบรอบ ๖ ปี วันสถาปนา สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ในวันพุธที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๔๗ เวลา ๐๙.๐๐ - ๑๒.๐๐ นาฬิกา ณ หอประชุมกรมประชาสัมพันธ์ ซอยอารีย์สัมพันธ์
โดยภายในงาน นอกจากจะมีการจัดแสดงนิทรรศการขององค์กรตามรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระอื่น ๆ แล้ว ยังได้จัดทดลองใช้เครื่องลงคะแนนเลือกตั้งต้นแบบ รุ่นที่ ๓ รวมทั้งจัดแสดงปาฐกถาเรื่อง "๖ ปี กกต. กับการปฏิรูปการเมือง" โดย ศ.ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ และการอภิปรายทางวิชาการเรื่อง "การเลือกตั้งกับการปฏิรูปการเมือง : โฉมหน้าใหม่การเมืองไทย" ทั้งนี้ ได้มีการถ่ายทอดสดงานวันสถาปนาสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง ๑๑ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย และสถานีวิทยุกระจายเสียงรัฐสภาด้วย
= สัมมนาผู้นำอาสาพัฒนาชุมชนด้านประชาธิปไตย ปี ๒๕๔๗
ปัจจุบันประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองการปกครองมากขึ้น ด้วยการให้ความ สนใจไปใช้สิทธิเลือกตั้งมากขึ้น แต่ก็ยังมีประชาชนอีกจำนวนไม่น้อยที่ยังขาดความรู้ ความเข้าใจ ในบทบาทและหน้าที่อันแท้จริงของสมาชิกรัฐสภา และเพื่อให้ประชาชนได้มีความรู้ ความเข้าใจ มีจิตสำนึก มีส่วนร่วมทางการเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภามากยิ่งขึ้น สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรจึงได้ร่วมกับกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย โดยการสนับสนุนของมูลนิธิคอนราด อเดนาวร์ จัดการสัมมนาผู้นำอาสาพัฒนาชุมชนด้านประชาธิปไตย โครงการส่งเสริมและเผยแพร่ประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาขึ้น โดยการจัดกิจกรรมให้การศึกษาเพื่อส่งเสริมและพัฒนาประชาธิปไตยแก่ผู้นำอาสาพัฒนาชุมชนในรูปแบบที่หลากหลายด้วยการจัดการอบรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ ซึ่งจะมีการบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับบทบาทอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา บทบาทของผู้นำอาสาพัฒนาชุมชนในการดำเนินงานศูนย์ประสานงานองค์กรชุมชน รวมทั้งมีการอภิปรายเรื่อง "การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย" โดยมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา นักวิชาการ และสื่อมวลชน ร่วมอภิปราย ตลอดจน จัดให้มีการศึกษาดูงาน เพื่อนำความรู้ที่ได้รับไปเผยแพร่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และนำประสบการณ์ ไปปรับใช้กับองค์กรในท้องถิ่นของตนได้ดี
โดยจะจัดการสัมมนาผู้นำอาสาพัฒนาชุมชนปีละ ๒ ครั้ง ครั้งละ ๓ วัน ซึ่งในปีนี้จะดำเนินการจัดกิจกรรมสัมมนาในจังหวัดพื้นที่รับผิดชอบของศูนย์ช่วยเหลือทางวิชาการพัฒนาชุมชน (ศพช.) เขต ๑๐ จังหวัดนนทบุรี และเขตพื้นที่ ๑๒ จังหวัดนครสวรรค์ จำนวน ๒ เขต ๆ ละ ๑๐๐ คน สำหรับที่ ศพช. เขต ๑๒ นั้น ประกอบด้วย จังหวัดนครสวรรค์ ตาก กำแพงเพชร สุโขทัย และอุทัยธานี ซึ่งจะจัดการสัมมนาในวันที่ ๙-๑๑ มิถุนายน ๒๕๔๗ ณ โรงแรมพิมาน จังหวัดนครสวรรค์ โดยมีนายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง เป็นประธาน ในพิธีเปิด ในการนี้ผู้ที่สนใจสามารถรับฟังการถ่ายทอดเสียงการอภิปรายเรื่อง "การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย" ได้ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงรัฐสภา เอฟ. เอ็ม. ๘๗.๕ เมกกะเฮิร์ตซ ตั้งแต่เวลา ๑๓.๐๐-๑๖.๓๐ นาฬิกา
และสำหรับครั้งต่อไปจะจัดการสัมมนาผู้นำอาสาพัฒนาชุมชนในจังหวัดพื้นที่รับผิดชอบของ ศพช. เขต ๑๐ จังหวัดนนทบุรี ซึ่งประกอบด้วย จังหวัดนนทบุรี ปทุมธานี อยุธยา อ่างทอง และสมุทรปราการ ในวันที่ ๑๕-๑๗ มิถุนายน ๒๕๔๗ ณ ศรีปทุมลองสเตย์รีสอร์ท จังหวัดปทุมธานี
= ขยายเวลารับสมัครแข่งขันตอบปัญหาความรู้เกี่ยวกับรัฐสภา
รัฐสภาร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ โดยการสนับสนุนของมูลนิธิคอนราด อเดนาวร์ ได้จัดการแข่งขันตอบปัญหาความรู้เกี่ยวกับรัฐสภา ประจำปี ๒๕๔๗ สำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย สายสามัญและสายอาชีพ ภาครัฐบาลและเอกชนทั่วประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตลอดจนเสริมสร้างทัศนคติที่ดีต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย และได้ดำเนินการเปิดรับสมัครไปแล้วในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
ทั้งนี้ รัฐสภาได้ขยายเวลาในการรับสมัครถึงวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๔๗ ผู้สนใจ เข้าร่วมแข่งขันสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร โทร. ๐ ๒๓๕๗ ๓๑๐๐ ต่อ ๓๑๐๓ - ๖
= ตรวจสุขภาพข้าราชการประจำปี ๒๕๔๗
สำนักการคลังและงบประมาณ ขอเชิญข้าราชการและลูกจ้างเข้ารับการตรวจสุขภาพ ประจำปี ๒๕๔๗ จากสำนักงานบริการเทคโนโลยีสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ระหว่างวันที่ ๕-๖ กรกฎาคม ๒๕๔๗ เวลา ๐๗.๓๐ - ๑๒.๐๐ นาฬิกา ณ อาคาร รัฐสภา ๑ โดยการตรวจสุขภาพครั้งนี้ข้าราชการที่มีอายุต่ำกว่า ๓๕ ปี จะได้รับการตรวจสุขภาพใน รายการที่เบิกได้ คือ ตรวจโลหิตทั่วไป ตรวจปัสสาวะ อุจจาระ เอ็กซเรย์ทรวงอกฟิล์มใหญ่ และสำหรับ ผู้มีอายุมากกว่า ๓๕ ปี คือ ตรวจระดับน้ำตาลในเลือด ตรวจระบบการทำงานของไต ตรวจระดับกรดยูริก ตรวจระบบการทำงานของตับ ตรวจระดับไขมันในเลือดชนิดโคเลสเตอรอลรวม และชนิดไตรกลีเซอไรด์
สำหรับบางรายการที่จะต้องชำระค่าตรวจเอง อาทิ ตรวจระดับไขมันโคเลสเตอรอลชนิด HDL และ LDL วินิจฉัยโรคตับอักเสบ ไวรัสบี และภูมิคุ้มกันโรคตับอักเสบบี เอดส์ ตรวจโลหิตเพื่อหา หมู่เลือด และตรวจระดับแคลเซียม เป็นต้น
ข้าราชการและลูกจ้างท่านใดมีความประสงค์ จะขอใช้บริการตรวจสุขภาพสามารถแจ้งชื่อได้ที่กลุ่มงานบริหารทั่วไปของแต่ละสำนัก ภายในวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๔๗
= เพิ่มวงเงินถือหุ้นรายเดือน
สหกรณ์ออมทรัพย์ข้าราชการฝ่ายรัฐสภา จำกัด ได้เปิดให้สมาชิกสหกรณ์ทุกคนสามารถเพิ่มการถือหุ้นรายเดือนสูงสุดได้ไม่เกิน ๒๐,๐๐๐ บาทต่อเดือน ซึ่งจากเดิมกำหนดให้ไม่เกินเดือนละ ๑๐,๐๐๐ บาทต่อเดือน โดยสมาชิกผู้นั้นจะต้องมีเงินเพียงพอให้สหกรณ์ฯ หักจากเงินเดือนในแต่ละเดือน ทั้งนี้ได้เริ่มให้มีการเพิ่มวงเงินถือหุ้นรายเดือน ตั้งแต่วันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๔๗ เป็นต้นไป
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. ๐ ๒๒๔๔ ๒๐๓๑ - ๒
= ข้าราชการใหม่ปฐมนิเทศ
สำนักพัฒนาบุคลากร จัดโครงการฝึกอบรมหลักสูตร "การปฐมนิเทศข้าราชการรัฐสภาสามัญที่ได้รับการบรรจุใหม่" รุ่นที่ ๑/๒๕๔๗ ของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จำนวน ๒๑๗ คน ระหว่างวันที่ ๑๗ มิถุนายน - ๑ กรกฎาคม ๒๕๔๗ ณ โรงแรมปริ๊นซ์พาเลซ มหานาค กรุงเทพฯ เพื่อให้ข้าราชการที่ได้รับการบรรจุใหม่ได้รับความรู้ ความเข้าใจ ในเรื่องระบบงานรัฐสภาและ แนวทางการปฏิบัติงาน รวมทั้งปลูกฝังทัศนคติให้เป็นผู้ที่มีความเชื่อมั่นและภาคภูมิใจในการเป็นข้าราชการรัฐสภาสามัญ ตลอดจนรู้จักทำงานเพื่อส่วนรวม โดยนำแนวคิด หลักการ และกระบวนทัศน์ใหม่ในการทำงานไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ได้แบ่งหลักสูตรการฝึกอบรมออกเป็น ๗ หมวด ได้แก่
หมวดที่ ๑ ความรู้เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญและระบบงานรัฐสภา
หมวดที่ ๒ การบริหารราชการยุคใหม่
หมวดที่ ๓ ระเบียบปฏิบัติราชการ
หมวดที่ ๔ คุณธรรมและจริยธรรม
หมวดที่ ๕ พัฒนาทักษะการปฏิบัติงาน
หมวดที่ ๖ พัฒนาทักษะในการทำงานร่วมกับผู้อื่น
หมวดที่ ๗ การสัมมนา
นอกจากนี้ยังได้จัดการสัมมนาข้าราชการรัฐสภาสามัญที่ได้รับการบรรจุใหม่ รุ่นที่ ๑/๒๕๔๗ ณ โรงแรมสีดารีสอร์ท จังหวัดนครนายก ในวันที่ ๓-๔ กรกฎาคม ๒๕๔๗ อีกด้วย
= ร่วมฟังบรรยายและสาธิตนวัตกรรมโครงการเผยแพร่ความรู้ด้านเทคโนโลยี
สารสนเทศ (IT Update) ครั้งที่ ๔
สำนักพัฒนาบุคลากรร่วมกับสำนักสารสนเทศ จัดโครงการเผยแพร่ความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT Update) ครั้งที่ ๔ เรื่อง "เทคโนโลยีการพิมพ์" ให้แก่ข้าราชการสำนักงานเลขาธิการ สภาผู้แทนราษฎร ในวันศุกร์ที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๔๗ เวลา ๐๘.๓๐ - ๑๒.๐๐ นาฬิกา ณ ห้องฝึกอบรม ๑ ชั้น ๒๐ อาคารทิปโก้ เพื่อให้ข้าราชการได้เพิ่มพูนความรู้ที่ทันสมัย ทันต่อการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมทั้งกระตุ้นให้ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ตลอดจนสามารถนำเทคโนโลยี องค์ความรู้ใหม่ ๆ มาประยุกต์ใช้ในการส่งเสริม พัฒนา และแก้ไขปัญหาในการปฏิบัติงานได้มากยิ่งขึ้น
สำหรับข้าราชการที่สนใจจะเข้าร่วมฟังการบรรยายและสาธิตนวัตกรรมดังกล่าว กรุณาส่งรายชื่อข้าราชการในสังกัดจำนวน ๓ คน ไปยังสำนักพัฒนาบุคลากร ภายในวันอังคารที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๔๗
= โครงการฝึกอบรมหลักสูตรการเขียนภาษาอังกฤษอย่างมีประสิทธิภาพ รุ่นที่ ๑
สำนักองค์การรัฐสภาระหว่างประเทศ สำนักความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และสำนักภาษาต่างประเทศ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร มีภารกิจหลักในการสนับสนุนการปฏิบัติงานของสมาชิกรัฐสภาในด้านการประชุมระหว่างประเทศให้บรรลุความสำเร็จ และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อ รัฐสภา อาทิ การเป็นหน่วยงานหลักในการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมระดับนานาชาติของรัฐสภา การส่ง คณะผู้แทนรัฐสภาไทยเข้าร่วมประชุมระหว่างประเทศ ซึ่งภารกิจเหล่านี้จะบรรลุความสำเร็จอย่างสมบูรณ์และเกิดประสิทธิผลต่อหน่วยงานได้ ย่อมขึ้นอยู่กับศักยภาพของบุคลากรเป็นสำคัญ ดังนั้นการพัฒนาบุคลากรที่ปฏิบัติงานด้านการต่างประเทศให้มีความชำนาญและเชี่ยวชาญเฉพาะด้านจึงมีความจำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งทักษะด้านการเขียนภาษาอังกฤษเพื่อใช้ในงานประชุมระหว่างประเทศ
ด้วยเหตุนี้ สำนักพัฒนาบุคลากรจึงได้จัดโครงการฝึกอบรมหลักสูตรการเขียนภาษาอังกฤษอย่างมีประสิทธิภาพ รุ่นที่ ๑ ให้แก่เจ้าหน้าที่วิเทศสัมพันธ์ (ระดับ ๓-๘) ในสังกัดสำนักองค์การรัฐสภาระหว่างประเทศ สำนักความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และสำนักภาษาต่างประเทศ จำนวน ๑๒ คน ระหว่างวันที่ ๑๐ มิถุนายน - ๒ กรกฎาคม ๒๕๔๗ ณ ห้องอบรม ชั้น ๒๐ อาคารทิปโก้ โดยจัด อบรมสัปดาห์ละ ๓ วัน (จันทร์ พุธ ศุกร์) เวลา ๑๓.๓๐-๑๖.๓๐ นาฬิกา รวม ๑๐ วัน (๓๐ ชั่วโมง) ซึ่งมี Mr.Perry Whalley อาจารย์พิเศษสถาบันการต่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ เป็นวิทยากร
= ส่งรายชื่อผู้เข้าร่วมฝึกอบรมภาษาอังกฤษ
ด้วยสถาบันการต่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ได้จัดการฝึกอบรมภาษาอังกฤษให้แก่เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานต่าง ๆ จำนวน ๒ หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรภาษาอังกฤษสำหรับการใช้ ในการปฏิบัติงาน (ILC) ซึ่งผู้ที่จะเข้ารับการฝึกอบรมต้องเป็นผู้ที่ใช้ภาษาอังกฤษในการปฏิบัติงานหรือมีการประสานงานความร่วมมือกับองค์การต่างประเทศในโครงการความร่วมมือกับองค์การ ต่างประเทศ และหลักสูตรการเสนอผลงานและการพูดเพื่อการประชุม (OCC) ซึ่งผู้ที่จะเข้ารับการ ฝึกอบรมต้องเป็นข้าราชการระดับ ๕ ขึ้นไป และเป็นผู้ที่มีโอกาสนำเสนอผลงานในที่ประชุมซึ่งใช้ภาษาอังกฤษ หรือเข้าร่วมการประชุมในระดับนานาชาติ
ทั้งนี้ หากหน่วยงานใดประสงค์จะส่งบุคลากรเข้ารับการทดสอบวัดระดับความรู้ความสามารถเพื่อเข้ารับการฝึกอบรม ทั้ง ๒ หลักสูตรข้างต้น กรุณาแจ้งชื่อและตำแหน่งของบุคลากร พร้อมทั้งชี้แจง เหตุผลและความจำเป็นที่คาดว่าจะนำเอาความรู้ที่ได้จากการฝึกอบรมในหลักสูตรที่ประสงค์จะเข้ารับ การฝึกอบรม เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการเสนอความเห็นต่อเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาอนุญาตต่อไป โดยกรอกข้อมูลในแบบแสดงความจำนงและส่งไปยังกลุ่มงานพัฒนาและฝึกอบรม สำนักพัฒนาบุคลากร ภายในวันพุธที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๔๗
= ตั้งซ่อมกรรมาธิการการยุติธรรม
สาร ส.ส. ฉบับที่ ๗๐ หน้าที่ ๑๐ ข้อความย่อหน้าที่ ๒ ขอแก้ไขเป็น "ร้อยตำรวจเอก พเยาว์ พูลธรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้ลาออกจาก การเป็นกรรมาธิการการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๔๗ ได้มีมติแต่งตั้ง นายวิรัตน์ กัลยาศิริ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสงขลา เป็นกรรมาธิการฯ แทน โดยนายถาวร เสนเนียม ประธานคณะกรรมาธิการฯ มิได้ ลาออกแต่อย่างใด"
= พระราชบัญญัติป่าชุมชน
พระราชบัญญัติป่าชุมชนเกิดจากความเคลื่อนไหวของประชาชนในการใช้สิทธิตาม รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนเสนอกฎหมายให้รัฐสภาพิจารณา ซึ่งประเด็นป่าชุมชน ในประเทศไทยนั้นเกิดจากชาวบ้านบ้านห้วยแก้ว กิ่งอำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ คัดค้านการเช่าป่า โดยนายทุน ในปี พ.ศ. ๒๕๓๒ และนำไปสู่การรณรงค์ให้รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนป่าชุมชน เพื่อการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการป่าอย่างยั่งยืน โดยเมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๒ เครือข่ายองค์กร ชาวบ้านได้มีการเข้าชื่อ ๕๒,๖๙๘ คน เสนอร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. …. ต่อประธานรัฐสภา และได้ให้คำจำกัดความว่า ป่าชุมชน คือ พื้นที่ป่า ทั้งป่าบก และป่าชายเลน รวมทั้งผืนดิน ต้นไม้ ทุ่งหญ้า พันธุ์พืช สัตว์ป่า แหล่งน้ำ และสรรพสิ่งที่เป็นธรรมชาติรอบ ๆ หรือใกล้เคียงกับชุมชน ทั้งนี้ชุมชนจะต้องเป็นผู้วางแผน ตัดสินใจในเรื่องการดูแลรักษา ฟื้นฟู และพัฒนาป่าชุมชน ตามขอบเขตที่ชุมชนสามารถ ดูแลได้อย่างทั่วถึง โดยแบ่งประเภทป่าชุมชนเป็น ๓ ประเภท คือ
๑. ป่าชุมชนตามประเพณีที่สืบทอดกัน ได้แก่
- ป่าหวงห้าม อนุรักษ์เพื่อประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อ
- ป่าต้นน้ำ เก็บรักษาไว้เป็นต้นน้ำลำธาร
- ป่าใช้สอย ใช้ประโยชน์โดยเฉพาะ เช่น เลี้ยงสัตว์ เก็บผลผลิตจากป่า
เป็นต้น
๒. ป่าชุมชนที่ริเริ่มโดยท้องถิ่น เพื่อสงวนพื้นที่ดินไว้ให้แก่ชุมชน
๓. ป่าชุมชนที่ได้รับการสนับสนุนจากภายนอก เช่น องค์กรพัฒนาเอกชน รัฐ วัด เป็นต้น
พระราชบัญญัติป่าชุมชนเป็นกฎหมายที่สนับสนุนชุมชนท้องถิ่นให้ดูแลรักษาป่าต่อไปได้ เป็นการแบ่งเบาภาระหน้าที่และงบประมาณของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งได้มีการกระจายอำนาจการจัดการทรัพยากรสู่ชุมชนท้องถิ่นตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ และเป็นการรองรับสิทธิของชุมชนท้องถิ่นที่ร่วมกัน ดูแลและใช้ป่าอย่างยั่งยืน ทำให้เกิดการตรวจสอบและถ่วงดุลร่วมกับทุกฝ่ายในสังคม เช่น ฝ่ายประชาชน ฝ่ายประชาสังคม และฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ร่วมกันเป็นคณะกรรมการป่าชุมชน ตลอดจนช่วยแก้ไขความ ขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่ป่าไม้กับชาวบ้าน หรือชาวบ้านกับชาวบ้าน เนื่องจากกฎระเบียบใหม่ยอมรับสิทธิและการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างเต็มที่ ซึ่งขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. …. อยู่ระหว่างรอการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ในกรณีวุฒิสภาแก้ไขเพิ่มเติม
= เลขาธิการ ป.ป.ช. คนใหม่
ที่ประชุมวุฒิสภา เมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๔๗ ได้มีมติเลือกนายศราวุธ เมนะเศวต มาดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แทน นายกล้านรงค์ จันทิก ที่หมดวาระหลังดำรงตำแหน่งครบ ๖ ปี
นายศราวุธ เมนะเศวต เกิดเมื่อวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๑ ปัจจุบันอายุ ๕๖ ปี สำเร็จ การศึกษาระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน ปริญญาตรีนิติศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ เมื่อปี ๒๕๑๒ เริ่มทำงานเป็นลูกจ้างชั่วคราวที่สำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบทในปี ๒๕๑๓ ต่อมาในปี ๒๕๑๖ จึงได้บรรจุเป็นข้าราชการในสำนักงานดังกล่าว หลังจากนั้นได้โอนมารับราชการที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ (ป.ป.ป.) ในปี ๒๕๒๑ และเคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองสืบสวนสอบสวน ๓ ป.ป.ป. ผู้อำนวยการกองสืบสวนสอบสวน ๑ ผู้อำนวยการกองสืบสวนสอบสวน ๓ ผู้อำนวยการสำนักตรวจสอบทรัพย์สิน ๑ สำนักงาน ป.ป.ช. และ ในปี ๒๕๔๔ ได้ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการ ป.ป.ช. โดยรักษาการเลขาธิการ ป.ป.ช. ตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๖ จนปัจจุบัน นอกจากนี้ยังเคยผ่านการศึกษาดูงานทางด้านการปราบปรามการทุจริตในต่างประเทศมาหลายแห่ง โดยล่าสุดได้ทำหน้าที่เป็นอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาการดำเนินงานของ ป.ป.ช. เกี่ยวกับผลกระทบการใช้รัฐธรรมนูญของวุฒิสภาอีกด้วย
= เล่นแชร์อย่างไรไม่ให้ผิดกฎหมาย
หลังจากที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ข้าราชการสามารถเล่นแชร์ได้โดยไม่มีความผิด ทางวินัยนั้น เมื่อไม่นานมานี้ทางกระทรวงการคลังได้ออกหนังสือชี้แจง เพื่อให้ประชาชนมีความเข้าใจที่ ถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. ๒๕๓๔ ว่า ประชาชนทั่วไปสามารถเล่นแชร์ได้โดยไม่ผิดกฎหมาย แต่มีข้อกำหนดไว้ว่า บุคคลธรรมดาสามารถตั้งวงแชร์ได้ไม่เกิน ๓ วง มีสมาชิกรวมกันไม่เกิน ๓๐ คน และวงเงินต้องไม่เกิน ๓ แสนบาท หากเกินกว่านี้จะมีโทษจำคุกไม่เกิน ๖ เดือน และปรับ ไม่เกิน ๑ แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
อย่างไรก็ตามผู้เล่นแชร์ควรใช้ความระมัดระวังและใช้วิจารณญาณในการเล่นให้เหมาะสมกับฐานะทางการเงินของตนเอง เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายในภายหลัง
= กรมการขนส่งทางบกจัดอบรมฟรีและสอบใบขับขี่ในวันหยุดราชการ
กรมการขนส่งทางบกจัดอบรมเสริมความรู้ด้านการใช้รถแก่ผู้ขอรับใบอนุญาตขับรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ในวันหยุดราชการ (เสาร์-อาทิตย์) โดยจะจัดอบรมผู้ขอรับใบอนุญาตขับรถยนต์ ๒ รุ่น คือ รุ่นที่ ๑๖๒ ในวันที่ ๑๒-๑๓ มิถุนายน ๒๕๔๗ และรุ่นที่ ๑๖๓ ในวันที่ ๒๖-๒๗ มิถุนายน ๒๕๔๗ สำหรับผู้ขอรับใบอนุญาตขี่รถจักรยานยนต์จัดอบรมในวันเสาร์ที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๔๗ และ วันเสาร์ที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๔๗ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น ยกเว้นหากทดสอบผ่านจึงจะชำระ ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตขับรถ
ผู้สนใจสมัครเข้ารับการอบรมต้องสมัครด้วยตนเองก่อนวันอบรม โดยนำหลักฐานสำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาบัตรประชาชนพร้อมฉบับจริง ใบรับรองแพทย์ รูปถ่ายขนาด ๑ นิ้ว จำนวน ๓ รูป สมัครที่ส่วนใบอนุญาตขับรถและผู้ประจำรถ อาคาร ๔ กรมการขนส่งทางบก เขตจตุจักร หรือสอบถาม รายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. ๐ ๒๒๗๒ ๓๖๓๒ สำหรับรถจักรยานยนต์ และ ๐ ๒๒๗๒ ๓๖๓๖ - ๗ สำหรับรถยนต์
= สรุปผลงานของสภาผู้แทนราษฎร สมัยสามัญทั่วไป (๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗ - ๓
มิถุนายน ๒๕๔๗)
มีการประชุมทั้งสิ้น ๓๔ ครั้ง
๑. มีร่างพระราชบัญญัติที่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา รวม ๑๒ ฉบับ
แบ่งเป็น
๑.๑ พระราชกำหนด ๔ ฉบับ
๑.๒ ร่างพระราชบัญญัติ ๘ ฉบับ
๒. อยู่ระหว่างการดำเนินการของรัฐสภา
๒.๑ อยู่ระหว่างถูกยับยั้งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๗๕ ๒ ฉบับ
๒.๒ อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการร่วมกัน ๘ ฉบับ
๒.๓ อยู่ระหว่างรอการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร
ในกรณีที่วุฒิสภาแก้ไขเพิ่มเติม ๕ ฉบับ
๒.๔ รอบรรจุระเบียบวาระในกรณีวุฒิสภาแก้ไขเพิ่มเติม ๓ ฉบับ
๒.๕ อยู่ระหว่างการพิจารณาของวุฒิสภา ๓ ฉบับ
๒.๖ อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ ๑๗ ฉบับ
๓. บรรจุระเบียบวาระการประชุมเพื่อรอการพิจารณาในวาระที่ ๑ ๕๕ ฉบับ
๔. มีผู้เสนอขอถอนร่างพระราชบัญญัติ ๔ ฉบับ
๕. อยู่ระหว่างการพิจารณาให้คำรับรองของนายกรัฐมนตรี
เนื่องจากเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน ๗๓ ฉบับ
๖. รอการบรรจุระเบียบวาระการประชุมเมื่อร่างพระราชบัญญัติ
เกี่ยวด้วยการเงินที่เกี่ยวข้องได้รับคำรับรองจากนายกรัฐมนตรี ๑ ฉบับ
๗. คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว
๗.๑ รอพิจารณาวาระที่ ๒ และวาระที่ ๓ ของสภาผู้แทนราษฎร ๗ ฉบับ
๗.๒ อยู่ระหว่างรอการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร
ในกรณีคณะกรรมาธิการร่วมกันพิจารณาเสร็จแล้ว ๓ ฉบับ
๘. อยู่ระหว่างการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ ๔ ฉบับ
ญัตติที่สภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาแล้วนั้น
๑. ญัตติที่ส่งให้รัฐบาลดำเนินการ
มี ๒ เรื่อง ๗ ฉบับ ดำเนินการเสร็จไป ๒ เรื่อง ๒ ฉบับ
๒. รายงานของคณะกรรมาธิการ
- พิจารณาแล้ว ๙ เรื่อง
- อยู่ระหว่างรอการพิจารณา ๗ เรื่อง
- อยู่ระหว่างการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ ๓ เรื่อง
๓. ญัตติที่ค้างพิจารณาอยู่ในระเบียบวาระการประชุม
(รอการพิจารณา) ๒๐๓ เรื่อง
๔. ญัตติที่อยู่ระหว่างการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ ๔ ฉบับ
๕. ผู้เสนอขอถอนญัตติ ๒ ฉบับ
๖. ญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป
เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ๑ ฉบับ
๗. เรื่องอื่น ๆ
- เรื่องที่พิจารณาแล้ว ๒ เรื่อง
- เรื่องรับทราบ ๑๖ เรื่อง
- นำเรื่องออกจากระเบียบวาระการประชุม ๑ เรื่อง
- เรื่องที่รอการพิจารณา ๘ เรื่อง
๘. การประชุมร่วมกันของรัฐสภา ๑ เรื่อง
นอกจากนี้ ยังมีการตั้งกระทู้ถามสด และกระทู้ถามทั่วไปจำนวน ๒๖๘ กระทู้ ซึ่งมี การตอบกระทู้ถามสดแล้ว ๓๙ กระทู้ กระทู้ถามทั่วไปตอบในที่ประชุมสภา ๑๘ กระทู้ กระทู้ถามทั่วไปตอบในราชกิจจานุเบกษา ๑๒๖ กระทู้