สรุปผลการเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย(Thailand-Australia Free Trade Agreement:TAFTA)

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 15, 2004 13:32 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

        ภายหลังจากการประกาศร่วมกันระหว่างนายกรัฐมนตรีของไทยและออสเตรเลีย เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2545 ให้มีการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีระหว่างสองประเทศ  คณะเจรจาของทั้งสองประเทศได้เริ่มการเจรจาฯ เมื่อเดือนสิงหาคม 2545 และได้จัดทำความตกลงฯ เสร็จสิ้นแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบความตกลงฯ โดยนักกฎหมายของแต่ละฝ่าย โดยคาดว่าจะมีการลงนามในช่วงกลางปีนี้ และจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2548
ความตกลงฯ ฉบับนี้เป็นความตกลงการค้าเสรีสองฝ่ายฉบับแรกของไทย และเป็นความตกลงฯ ที่มีขอบเขตกว้างขวาง (comprehensive) ซึ่งนอกจากจะครอบคลุมในเรื่องการเปิดเสรีด้านการค้าสินค้า บริการและการลงทุน แล้วยังรวมถึงความร่วมมือทางเศรษฐกิจในสาขาต่างๆ ที่มีความสนใจร่วมกันด้วย เช่น e-commerce ทรัพย์สินทางปัญญา การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ และนโยบายการแข่งขัน เป็นต้น
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา การค้าระหว่างไทยกับออสเตรเลียได้ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และในปีพ.ศ. 2546 การค้าระหว่างสองประเทศมีมูลค่า 1.5 แสนล้านบาท โดยออสเตรเลียเป็นคู่ค้าอันดับที่ 11 และเป็นตลาดส่งออกสินค้าของไทยอันดับที่ 11 สินค้าที่ไทยส่งออกไปออสเตรเลียส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุตสาหกรรมกว่าร้อยละ 80 และสินค้าเกษตรกรรมร้อยละ 15 การจัดทำความตกลงการค้าเสรีระหว่างสองประเทศจะทำให้สินค้าของไทยสามารถส่งออกไปยังออสเตรเลียเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นผลจากการลดภาษีนำเข้าสินค้าของออสเตรเลีย รวมทั้งความร่วมมือของทั้งสองประเทศที่จะแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษีที่มีอยู่ เช่น มาตรการด้านสุขอนามัยที่เข้มงวดของออสเตรเลีย (SPS Measures) มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-dumping Measures) โดยมาตรการทั้งสองดังกล่าวเป็นอุปสรรคสำคัญในการส่งออกสินค้าของไทยไปยังออสเตรเลีย
การเปิดเสรีด้านการค้าสินค้า
ในภาพรวม ไทยจะได้รับประโยชน์จากการที่ออสเตรเลียลดภาษีเป็นศูนย์สำหรับสินค้ากว่าร้อยละ 83 ของรายการสินค้าทั้งหมดทันที เมื่อความตกลงฯ มีผลบังคับใช้ เช่น สินค้าผักและผลไม้สด สับปะรดกระป๋องและน้ำสับปะรด อาหารสำเร็จรูป กระดาษ อัญมณีและเครื่องประดับ รถยนต์ขนาดเล็กและรถปิกอัพ คิดเป็น มูลค่าประมาณ 3.4 หมื่นล้านบาท และสำหรับรายการสินค้าที่เหลือทั้งหมด จะลดภาษีเป็นศูนย์ภายในปีพ.ศ. 2553 ยกเว้น เสื้อผ้าสำเร็จรูป ออสเตรเลียจะค่อยๆ ทยอยลดภาษีเป็นศูนย์ในปีพ.ศ. 2558
ในทางกลับกัน ไทยจะลดภาษีเป็นศูนย์สำหรับสินค้าที่นำเข้าจากออสเตรเลียเกือบร้อยละ 50 ของรายการสินค้าทั้งหมด เมื่อความตกลงฯ มีผลบังคับใช้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าวัตถุดิบที่ ไทยต้องการนำเข้า เช่น สินแร่ เชื้อเพลิง เคมีภัณฑ์ หนังดิบและหนังฟอก คิดเป็นมูลค่าประมาณ 8 พันล้านบาท และค่อยๆ ทยอยลดภาษีเป็นศูนย์สำหรับรายการสินค้าที่เหลืออีกร้อยละ 45 ภายในปีพ.ศ. 2553 ส่วนที่เหลือซึ่งเป็นสินค้าอ่อนไหว จะทยอยลดเป็นศูนย์ในปีพ.ศ. 2558-2563
อย่างไรก็ตาม ภายใต้ความตกลงฯ นี้ ไทยและออสเตรเลียตกลงที่จะให้มีการใช้มาตรการปกป้องพิเศษ (Special Safeguard Measures) สำหรับสินค้าเกษตรที่เป็นสินค้าอ่อนไหว เพื่อให้ระยะเวลาที่เหมาะสมสำหรับอุตสาหกรรมภายในประเทศในการปรับตัว กล่าวคือ หากมีการนำเข้าสินค้าดังกล่าวเกินปริมาณที่กำหนด (trigger volume) ประเทศผู้นำเข้าสามารถกลับไปขึ้นภาษีที่อัตราเดิมก่อนเริ่มลดหรืออัตรา MFN ในขณะนั้น โดยใช้อัตราใดอัตราหนึ่งที่ต่ำกว่า สำหรับประเทศไทย ได้กำหนดให้มีการใช้มาตรการปกป้องสำหรับสินค้า 41 รายการ ได้แก่ เนื้อวัวและเนื้อหมู เครื่องในวัวและเครื่องในหมู เครื่องในสัตว์อื่นๆ นมและครีม หางนม เนย ไขมันนม เนยแข็ง บัตเตอร์มิลค์ น้ำผึ้งธรรมชาติ ส้มแมนดาริน องุ่นสด มันฝรั่งแปรรูป ทั้งนี้ ไทยสามารถใช้มาตรการนี้ได้จนถึงปีพ.ศ. 2558 และพ.ศ. 2563 สำหรับสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมอื่นๆ หากมีการนำเข้าเพิ่มมากขึ้นอันมีสาเหตุเนื่องมาจากการลดภาษีจนทำให้อุตสาหกรรมภายในเสียหายก็สามารถใช้มาตรการปกป้องพิเศษ (Special Safeguards) ได้เป็นการชั่วคราว เพื่อให้อุตสาหกรรมภายในมีเวลาปรับตัว
Focus
1) อัตราภาษีนำเข้าของออสเตรเลียสำหรับสินค้าจำนวนกว่า 5,000 รายการจะลดเหลือศูนย์ทันที เมื่อความตกลงฯ มีผลบังคับใช้
- สินค้าดังกล่าว ได้แก่ ผักและผลไม้ อาหารสำเร็จรูป อัญมณีและเครื่องประดับ รถยนต์และรถปิกอัพ
2) อัตราภาษีนำเข้าของออสเตรเลียสำหรับสินค้าที่เหลือเกือบทั้งหมดจะลดเหลือศูนย์ ภายในปีพ.ศ. 2553
- สินค้าดังกล่าว ได้แก่ ทูน่ากระป๋อง สิ่งทอ รองเท้า ชิ้นส่วนยานยนต์ เหล็ก เคมีภัณฑ์ พลาสติก
3) การใช้มาตรการปกป้องสำหรับสินค้าเกษตรอ่อนไหวของไทย
- มาตรการปกป้องจะช่วยไม่ให้สินค้านำเข้าจากออสเตรเลียส่งผลเสียหายต่ออุตสาหกรรมภายในของไทยและให้เวลาสำหรับอุตสาหกรรมในการปรับตัว
อัตราภาษีนำเข้าของออสเตรเลียสำหรับสินค้าของไทย
1) อัตราภาษีสินค้านำเข้าของออสเตรเลียสำหรับรถยนต์นั่ง รถปิกอัพ และสับประรดกระป๋องจะเป็นศูนย์ ในปี 2548
2) อัตราภาษีสินค้านำเข้าของออสเตรเลียสำหรับสิ่งทอและปลาทูน่ากระป๋องจะเป็นศูนย์ ในปี 2553
3) อัตราภาษีสินค้านำเข้าของออสเตรเลียสำหรับเสื้อผ้าจะเป็นศูนย์ ในปี 2558
การเปิดเสรีการค้าบริการและการลงทุน
1) ครอบคลุมธุรกิจบริการทุกประเภท โดยจะค่อยๆ เจรจาเปิดเสรีในธุรกิจที่มีความพร้อมทุกๆ 3 ปี
ออสเตรเลียให้หลักประกันว่าคนไทยสามารถเข้าไปลงทุนในธุรกิจทุกประเภทได้ 100% ยกเว้น หนังสือพิมพ์ การกระจายเสียง การขนส่งทางอากาศ อย่างไรก็ตาม หากเป็นการลงทุนที่มีขนาดเกิน 10 ล้านเหรียญออสเตรเลีย จะต้องขออนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาการลงทุนของต่างชาติก่อน
สำหรับธุรกิจที่ไทยมีศักยภาพและจะได้ประโยชน์ ได้แก่ ภัตตาคาร การซ่อมรถยนต์ การตกแต่งภูมิทัศน์ โรงแรม สถาบันสอนภาษอังกฤษ สถาบันสอนภาษาไทย สถาบันสอนทำอาหารไทย สถาบันสอนนวดไทย และอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าทุกประเภท
ส่วนไทยเปิดให้ออสเตรเลียเข้ามาลงทุนในธุรกิจซึ่งเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ ใช้เงินลงทุนสูงและรัฐมีนโยบายส่งเสริมการลงทุน โดยให้คนออสเตรเลียถือหุ้นได้ไม่เกินร้อยละ 60 และกำหนดขนาดของพื้นที่และเงินลงทุนขั้นต่ำไว้เป็นเงื่อนไขด้วย เช่น ศูนย์แสดงสินค้านานาชาติ หอประชุม การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานสาธารณูปโภค สถาบันอุดมศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โรงแรมขนาดใหญ่ อุทยานสัตว์น้ำ มารีน่า และเหมืองแร่
นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงให้มีการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนระหว่างกันด้วย โดยมีสาระสำคัญทำนองเดียวกับความตกลงส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนที่ไทยทำกับประเทศอื่นๆ
2) การอนุญาตให้นักธุรกิจต่างชาติเข้ามาทำงานในประเทศ
ออสเตรเลียอนุญาตให้ผู้บริหาร ผู้จัดการ ผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งผู้ติดตาม (คู่สมรสและบุตร) เข้าไปทำงานได้คราวละ 4 ปี ต่ออายุได้ไม่เกิน 10 ปี และยกเลิกข้อจำกัดที่กำหนดให้นายจ้างในออสเตรเลียต้องประกาศหาคนในประเทศมาสมัครเข้าทำงานในตำแหน่งที่ว่างก่อนเป็นเวลา 4 สัปดาห์ หากไม่มีผู้ใดมาสมัคร จึงจะอนุญาตให้ว่าจ้างคนงานจากต่างประเทศได้ นอกจากนี้ ยังอนุญาตให้พ่อครัวไทยที่ได้รับใบประกาศนียบัตรของกรมพัฒนาฝีมือแรงงานเข้าไปทำงานได้ครั้งละ 4 ปี โดยมีสัญญาจ้างงาน
ส่วนไทยอนุญาตให้นักธุรกิจออสเตรเลียเข้ามาทำงานในไทยได้เฉพาะตำแหน่งผู้บริหาร ผู้จัดการ และผู้เชี่ยวชาญ เข้ามาทำงานได้คราวละ 1 ปี ต่ออายุได้ไม่เกิน 5 ปี และสามารถใช้บริการone stop service ได้ โดยไม่จำกัดว่าต้องเป็นบริษัทที่มีสินทรัพย์รวมเกินกว่า 30 ล้านบาท รวมทั้งให้นักธุรกิจผู้ถือบัตร APEC Business Travel Card เข้ามาประชุมและติดต่องานในไทยได้ไม่เกิน 90 วัน โดยไม่ต้องขอใบอนุญาตทำงาน
Focus
1) ออสเตรเลียเปิดสาขาธุรกิจการลงทุนให้กับไทยมากกว่าที่ผูกพันภายใต้ WTO
- ธุรกิจดังกล่าว ได้แก่ ที่ปรึกษากฎหมาย การตกแต่งภูมิทัศน์ ซ่อมรถยนต์ โทรคมนาคม บริการศึกษา
เหมืองแร่ และการผลิตสินค้าทุกประเภท
2) การเข้าไปทำงานชั่วคราวในออสเตรเลียมีความสะดวกมากขึ้น
- ออสเตรเลียยกเลิกเงื่อนไขการทดสอบตลาดแรงงาน (Labor Market Testing) ให้กับคนไทยเป็นการถาวร กล่าวคือ นายจ้างไม่จำเป็นต้องประกาศหาคนงานในออสเตรเลียก่อน จึงจะสามารถจ้างแรงงานจาก
ภายนอกประเทศได้
- ผู้บริหาร ผู้จัดการ ผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งผู้ติดตาม (คู่สมรสและบุตร) เข้าไปทำงานได้ คราวละ 4 ปีและสามารถต่ออายุได้ถึง 10 ปี
- พ่อครัวของไทยที่มีประกาศนียบัตรจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน สามารถไปประกอบอาชีพในออสเตรเลียได้
ความร่วมมือด้านต่างๆ ที่เกี่ยวกับการค้า
ไทยและออสเตรเลียจะร่วมมือกันพัฒนาในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวกับการค้าให้มีความโปร่งใสและสนับสนุนให้การค้าระหว่างสองประเทศมีความคล่องตัวมากขึ้น เช่น พิธีการด้านศุลกากร พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ทรัพย์สินทางปัญญา นโยบายการแข่งขัน โดยจะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลการค้าระหว่างกัน การจัดอบรมและสัมมนาทางวิชาการเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างบุคลากรของทั้งสองประเทศ
การแก้ไขมาตรการด้านสุขอนามัยพืชและสัตว์
ออสเตรเลียมีมาตรการสุขอนามัยพืชและสัตว์ที่เข้มงวด ซึ่งทำให้สินค้าผัก ผลไม้ และเนื้อสัตว์ของไทยไม่สามารถส่งออกไปออสเตรเลีย เพราะติดขั้นตอนกระบวนการวิเคราะห์ตรวจสอบที่ล่าช้ามาก ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรที่ประเทศไทยประสบอยู่ ภายใต้ความตกลงฯ ไทยและออสเตรเลียได้จัดตั้งคณะกรรมการด้านมาตรการสุขอนามัยขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาด้านนี้เป็นการเฉพาะ และได้มีการระบุ priority products สำหรับสินค้าที่ไทยได้ระบุไว้ ได้แก่ ผลไม้ (มังคุด ลำไย ลิ้นจี่ ทุเรียน สับปะรด มะม่วง) เนื้อไก่ กุ้ง ปลาสวยงาม ทั้งนี้ ได้กำหนดการดำเนินงานให้เป็นผลภายใน 2 ปี ขณะนี้ การดำเนินงานสำหรับบางสินค้าใกล้แล้วเสร็จ โดยคาดว่ามังคุด ลำไย ลิ้นจี่ ของไทยจะสามารถส่งออกไปได้ภายในกลางปีพ.ศ.2547
Focus
การตั้งคณะกรรมการด้านมาตรการสุขอนามัยเพื่อแก้ไขปัญหาการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยไปออสเตรเลีย
โอกาสสำหรับธุรกิจไทย
1) การส่งออกสินค้ารถยนต์ของไทยไปออสเตรเลีย
ปัจจุบัน ตลาดรถยนต์ของออสเตรเลียมีประมาณ 8 แสนคัน ในจำนวนนี้เป็นรถยนต์นำเข้า 5 แสนคัน ซึ่งส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น ไทย สหรัฐอเมริกา เยอรมนี มาเลเซีย และสหรัฐอเมริกา เป็นต้น และผลิตเอง 3 แสนคัน ซึ่งรถยนต์ที่ผลิตในออสเตรเลียส่วนใหญ่เป็นการผลิตรถยนต์นั่งขนาดใหญ่ อย่างรถ โตโยต้าแคมรี่ ที่ใช้เครื่องยนต์ขนาด 3000 ซีซี ส่วนรถยนต์ที่นำเข้าเป็นรถยนต์ขนาด 1800-2000 ซีซี โดยอัตราภาษีนำเข้าจะอยู่ที่ร้อยละ 4, 5 และ 15
ในปี 2546 ไทยส่งออกสินค้าประเภทรถปิกอัพและรถยนต์นั่งไปออสเตรเลียมีมูลค่ากว่า 2 หมื่นล้านบาท คิดเป็นจำนวนเกือบแสนคัน โดยเฉพาะรถปิกอัพ ไทยส่งออกไปออสเตรเลียปีละ 70,000 คัน ซึ่งเป็น สัดส่วนร้อยละ 85 ของการนำเข้าของออสเตรเลีย
ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย ออสเตรเลียจะลดภาษีเป็นศูนย์ทันทีสำหรับสินค้า รถยนต์นั่งและรถปิกอัพที่นำเข้าจากประเทศไทย เมื่อความตกลงฯ มีผลบังคับใช้ ซึ่งจะเป็นโอกาสดีสำหรับ อุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยที่จะขยายการส่งออกรถยนต์ไปยังออสเตรเลีย เนื่องจากตลาดรถยนต์ของ
ออสเตรเลียเน้นเรื่องราคามากกว่า Brand Loyalty จากการสัมภาษณ์ผู้ส่งออกรถยนต์รายใหญ่ของไทย คาดว่าการส่งออกรถยนต์ของไทยไปออสเตรเลียจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 30
การที่ไทยมีโอกาสการขยายการส่งออกรถยนต์ไปยังออสเตรเลียอันเป็นผลจากอัตราภาษีนำเข้าเป็นศูนย์ ทำให้ไทยได้เปรียบคู่แข่งอื่นๆ ในตลาดออสเตรเลีย ซึ่งจะช่วยดึงดูดการลงทุนของค่ายอุตสาหกรรม รถยนต์ต่างๆ ให้มาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น
2) เสื้อผ้าสำเร็จรูป
ออสเตรเลียมีการนำเข้าเสื้อผ้าจากต่างประเทศมีมูลค่ากว่า 5 หมื่นล้านบาท โดยแหล่งนำเข้าที่สำคัญคือ จีน ฮ่องกง อิตาลี ฟิจิ อินเดีย อินโดนีเซีย นิวซีแลนด์ และไทย เป็นต้น ประเภทของเสื้อผ้าที่นำเข้า คือ สูท เครื่องแต่งตัวเป็นชุด แจ็กเก็ต เสื้อกระโปรงชุด กางเกงขายาว การเกงขาสั้น เป็นต้น
การส่งสินค้าเสื้อผ้าของไทยไปออสเตรเลียเสียเปรียบในการแข่งขันกับสินค้าจากจีน อินเดีย และอินโดนีเซีย เนื่องจากค่าแรงงานของประเทศดังกล่าวต่ำ ทำให้สินค้ามีต้นทุนต่ำกว่าและสามารถนำมาขายในราคาที่ต่ำกว่าราคาสินค้าของไทยในตลาดออสเตรเลีย อย่างไรก็ตาม ข้อได้เปรียบของไทยคือ ผู้ประกอบการของไทยมีความสามารถในการตอบสนองการสั่งซื้อสินค้าได้อย่างรวดเร็วและตรงต่อเวลา มีภาพลักษณ์ด้านคุณภาพที่ดี และเชี่ยวชาญการผลิตเสื้อผ้าสำหรับฤดูร้อน
การลดภาษีสินค้าเสื้อผ้าภายใต้ความตกลงฯ จะเป็นโอกาสดีที่จะทำให้สินค้าของไทยสามารถแข่งขันกับสินค้าจากจีน อินเดีย และอินโดนีเซีย ได้ดีขึ้น เนื่องจากภาษีนำเข้าจากไทยจะต่ำกว่าคู่แข่ง นอกจากนี้ ออสเตรเลียมีฤดูกาลที่แตกต่างจากประเทศคู่ค้าอื่นๆ ของไทยในซีกโลกตะวันตก ทำให้ผู้ส่งออกได้รับประโยชน์ในการที่จะสามารถส่งออกเสื้อผ้าฤดูร้อนได้ตลอดทั้งปี และขนาดตลาดของออสเตรเลียเหมาะสมกับโรงงานขนาดกลางและเล็กของไทยที่จะสามารถสนองตอบการสั่งซื้อได้ดี
3) ผลไม้เมืองร้อนสด
ที่ผ่านมา สินค้าผลไม้เมืองร้อนสดของไทย เช่น มังคุด ลำไย ลิ้นจี่ ทุเรียน สับปะรด มะม่วง เป็นต้นไม่สามารถส่งไปขายออสเตรเลียได้ ผลจากความร่วมมือกันภายใต้การจัดทำความตกลงฯ ออสเตรเลียได้จัดทำรายงานเรื่องการประเมินความเสี่ยงการนำเข้าสินค้ามังคุด ลิ้นจี่และลำไยเสร็จสิ้นแล้วตามคำร้องของของประเทศไทย ซึ่งจะมีผลทำให้ไทยสามารถส่งออกผลไม้ดังกล่าวไปขายในตลาดออสเตรเลียได้เป็นครั้งแรก ซึ่งคาดว่าจะส่งออกได้ในกลางปีนี้
4) ธุรกิจร้านอาหารไทยในออสเตรเลีย
ในปัจจุบัน ร้านอาหารไทยที่มีอยู่ในออสเตรเลียมีประมาณ 500 แห่ง โดยพ่อครัวส่วนใหญ่จะเป็น ผู้ที่อยู่อาศัยถาวรอยู่ในออสเตรเลียเท่านั้น ผลจาการเจรจาฯ เมื่อความตกลงฯ มีผลบังคับใช้ พ่อครัวชาวไทยที่ได้ประกาศนียบัตรจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จะสามารถไปประกอบอาชีพในประเทศออสเตรเลียได้ ดังนั้น จึงเป็นโอกาสดีสำหรับนักธุรกิจไทยที่จะไปเปิดร้านอาหารไทยในออสเตรเลีย ซึ่งจะเป็นการเผยแพร่อาหารไทยให้ชาวออสเตรเลียรู้จักมากขึ้น
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (66) 2282-6171-9 แฟกซ์ (66) 2280-0775
-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ