ความร่วมมือหุ้นส่วนเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดระหว่างไทย-ญี่ปุ่น(Japan-Thailand Closer Economic Partnership:JTEP)

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 15, 2004 14:07 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

        ความเป็นมา 
1. ในโอกาสการเดินทางไปเข้าร่วม Boao Forum For Asia ณ สาธารณรัฐประชาชนจีนเมื่อเดือนเมษายน 2545 นายกรัฐมนตรีของไทยและญี่ปุ่นได้หารือกันและเห็นชอบให้มีการตั้งคณะทำงานพันธมิตรทางเศรษฐกิจ ไทย-ญี่ปุ่น (Working Group on Japan-Thailand Economic Partnership : JTEP) เพื่อพิจารณาแนวทางการสร้างพันธมิตรทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับญี่ปุ่น
2. ฯพณฯนายกรัฐมนตรีได้ให้แนวทางในการเจรจาเปิดเสรีภายใต้ JTEP/FTA ระหว่างไทยกับญี่ปุ่นว่า ควรแบ่งสินค้าออกเป็น 3 กลุ่ม คือ (1) กลุ่มที่มีความพร้อมในการเปิดเสรีได้ทันที (2) กลุ่มที่มีปัญหาบ้างทำให้ต้องใช้เวลาในการเจรจาแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ (3) กลุ่มที่มีประเด็นละเอียดอ่อนเกินกว่าที่จะตกลงกันได้ขณะนี้
3. คณะทำงาน JTEP มีผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศของไทยและญี่ปุ่นเป็นประธานร่วม และผู้แทนกระทรวงพาณิชย์รวมทั้งหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมในคณะผู้แทนฝ่ายไทย คณะทำงานฯ ได้ดำเนินการเพื่อเตรียม substantive groundwork สำหรับการเจรจาจัดทำความ ตกลง JTEP รวมทั้งการจัดตั้งเขตการค้าเสรี (FTA) โดยใช้ Japan-Singapore Economic Partnership Agreement (JSEPA) เป็นพื้นฐานในการพิจารณา ความตกลงดังกล่าวนี้ ครอบคลุมการเปิดเสรีทางการค้า (ทั้งสินค้าและบริการ) และการลงทุน ตลอดจนความร่วมมือทางเศรษฐกิจในด้านต่างๆ (นับว่าเป็นการทำความตกลงที่มีกรอบกว้างและลึกกว่า WTO คือเป็น WTO plus )
4. คณะทำงาน JTEP ได้พิจารณาสาระของความตกลง JSEPA เท่ากับเป็นการพิจารณาท่าทีการเจรจาของญี่ปุ่นในเรื่องต่างๆ ที่จะมีการเจรจาระหว่างไทยกับญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการต่อไป ทั้งนี้ ญี่ปุ่นมุ่งหวังที่จะให้การเจรจามีผลเป็นการเปิดเสรีทางการค้าระหว่างกันในระดับที่ใกล้เคียงกับที่ญี่ปุ่นได้ทำความตกลง JSEPA กับสิงคโปร์ และขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับไทยในทุกด้าน ในส่วนของไทย กระทรวงพาณิชย์ได้รับมอบงานในด้านการเปิดเสรีการค้าสินค้าและบริการ การส่งเสริมการค้าและการลงทุน การยุติข้อพิพาท ความร่วมมือด้านนโยบายการแข่งขัน ทรัพย์สินทางปัญญา และการค้าผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
ความคืบหน้าในการดำเนินการของคณะทำงาน JTEP
5. คณะทำงานฯ ได้จัดประชุมไปแล้ว 5 ครั้ง โดยได้มีการพิจารณาสาระรายละเอียดของเรื่องต่างๆ ในกรอบการทำความตกลง JTEP/FTA และในการประชุม ครั้งที่ 5 ระหว่างวันที่ 19-21 พฤษภาคม ศกนี้ ณ กรุงเทพฯ คณะทำงานฯ ได้จัดทำสรุปผลการหารือ (Summary Record of Consultations) เพื่อเตรียมสาระเบื้องต้น (substantive groundwork) สำหรับการเจรจาจัดทำความตกลง JTEP รวมทั้งสรุปสถานะการพิจารณาความตกลง Japan-Singapore Economic Partnership: JSEPA ที่ใช้เป็นพื้นฐานในการพิจารณาเพื่อทำความตกลง JTEP ซึ่งไทยได้เสนอข้อแก้ไขสาระในบทต่างๆ ของความตกลงฯ JSEPA ให้ฝ่ายญี่ปุ่นพิจารณา และจัดทำเอกสารระบุสาขาที่สนใจ (Areas of interest list) ในด้านการเปิดเสรีการค้าบริการแลกเปลี่ยนระหว่างกัน
6. ในการเยือนญี่ปุ่นของนายกรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ 4-6 มิถุนายน 2546 ผู้นำทั้งสองฝ่ายยังไม่สามารถประกาศเปิดการเจรจา JTEP อย่างเป็นทางการได้ เนื่องจากยังมีประเด็นที่ละเอียดอ่อน โดยเฉพาะเรื่องสินค้าเกษตรที่เป็นเรื่องอ่อนไหวมากสำหรับญี่ปุ่น ทั้งนี้ ผู้นำทั้งสองฝ่ายเห็นชอบให้มีการจัดตั้ง JTEPA Task Force ขึ้น เพื่อเป็นเวทีสำหรับหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งภาครัฐบาล เอกชน และนักวิชาการ ต่อการจัดทำความตกลงดังกล่าว และคาดว่าจะสามารถประกาศเปิดการเจรจาอย่างเป็นทางการภายในปี 2546 นี้
7. JTEPA Task Force ได้มีการประชุมไปแล้ว 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่22-24 กรกฎาคม 2546 ณ กรุงโตเกียว และครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 24- 27 สิงหาคม 2546 ณ กรุงเทพฯ โดยมีผลการประชุมที่สำคัญ คือ 1) การค้าสินค้า ยังไม่สามารถหาข้อสรุปร่วมกันได้ 2) การค้าบริการ ได้มีการหารือกันถึงเอกสาร Areas of interest list ที่ได้แลกเปลี่ยนระหว่างกัน รวมทั้งเรื่องการเบิกค่ารักษาพยายาบาลของชาวญี่ปุ่นที่มารักษาตัวในประเทศไทย 4) การเคลื่อนย้ายของบุคคลธรรมดา ได้หารือกันถึงปัญหาความล่าช้าในการออกวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน และ 5) ความร่วมมือด้านอื่นๆ
สถานะล่าสุด
คณะทำงานเฉพาะกิจฯ ฯ จะประชุมครั้งที่ 3 ณ กรุงโตเกียว ระหว่างวันที่ 3—5พฤศจิกายน 2546 เพื่อให้มีความคืบหน้าในการดำเนินการจัดทำความตกลงระหว่างกันต่อไป คาดว่าผู้นำทั้งสองฝ่ายจะสามารถประกาศเปิดการเจรจาอย่างเป็นทางการได้ภายในปี 2546
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (66) 2282-6171-9 แฟกซ์ (66) 2280-0775
-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ