(ต่อ1) ยุทธศาสตร์เชิงลึกการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทยเพื่อการเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาค 2547 — 2551

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 16, 2004 14:05 —สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

          ประเทศไทยมีการขนส่งด้วยรถบรรทุกถึงร้อยละ 88 ของการขนส่งทุกประเภท และประเทศไทยมีจำนวน รถทั่วประเทศถึง 689,512 คัน  ที่จดทะเบียนกับกรมขนส่งทางบกในปี 2545  ยุทธศาสตร์การเพิ่มสัดส่วนการ ขนส่งทางน้ำคงยังไม่เห็นผลภายในเวลาอันใกล้ มาตรการที่น่าจะเห็นผลเร็วในการลดต้นทุนการขนส่ง คือ การเพิ่ม ประสิทธิภาพการใช้งานของรถบรรทุกที่มีอยู่โดยรัฐบาลควรสนับสนุนโครงการต่างๆต่อไปนี้
- โครงการลดจำนวนเที่ยวเปล่าวิ่งกลับของรถบรรทุกโดยการจัดตั้งศูนย์แลกเปลี่ยนการขนส่ง แห่งชาติ (Thailand Transport Exchange) เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูล ธุรกรรมขนส่ง ระหว่างผู้ใช้บริการขนส่งที่แจ้งความจำนงในการขนส่ง และผู้ให้บริการขนส่งที่ แจ้งช่วงการว่างของรถ เส้นทางและพื้นที่บรรทุกไว้ที่คอมพิวเตอร์ส่วนกลางซึ่งจะมีหน้าที่จับคู่ อุปสงค์อุปทานการใช้รถให้ นอกจากนี้ยังสามารถบริหารการขนส่งที่ไม่เต็มคันรถได้อีกด้วย
- โครงการเพิ่มการขนส่งรถบรรทุกแบบไปกลับครึ่งวันให้สูงขึ้น โครงการนี้จะช่วยให้รถบรรทุกวิ่ง ระยะทางสั้นลงแต่วิ่งถี่ขึ้น ส่วนการขนส่งช่วงยาวให้หันไปใช้ทางน้ำชายฝั่งทางแม่น้ำ หรือ ทางรถไฟ โดยการส่งเสริมให้มีศูนย์กระจายสินค้าชานเมืองที่เชื่อมต่อกับการขนส่งทางน้ำ และทางรถไฟรวมทั้งทางอากาศ
- โครงการส่งเสริมการใช้ระบบข้อมูลภูมิศาสตร์สารสนเทศ (GIS) เพื่อเก็บข้อมูล การขนส่งทางบกอย่างละเอียดเพื่อใช้ในการวิเคราะห์ประสิทธิภาพการใช้รถยนต์ การขนส่งต่อเนื่องและภาพรวมของระบบโลจิสติกส์ โดยการช่วยเหลือการติดตั้งหรือช่วยเหลือด้านภาษีแก่ผู้ประกอบการ ที่ติดตั้งระบบ GIS
ตัวชี้วัด
- อัตราการวิ่งเที่ยวเปล่าของรถบรรทุกลดลง
- อัตราการขนส่งแบบไปกลับครึ่งวันสูงขึ้น
- ร้อยละของรถบรรทุกที่ติดตั้งระบบ GIS
ผลลัพธ์
- การลดต้นทุนการขนส่งทางรถบรรทุก
ยุทธศาสตร์ที่ 1.5 การเพิ่มการขนส่งสินค้าทางรถไฟ
ประเทศไทยใช้การขนส่งทางรถไฟเพียงร้อยละ 1.98 ของการขนส่งทั้งหมด ส่วนใหญ่แล้วใช้รถไฟขนส่งผู้โดยสารเป็นหลัก ซึ่งการขนส่งทางรถไฟนั้นจะช่วยในเรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและการ
ลดค่าใช้จ่ายต่อหน่วยของการขนส่งเมื่อเทียบกับการใช้รถบรรทุก ดังนั้นรัฐบาลควรมีโครงการต่างๆเหล่านี้เพิ่มเติม
- โครงการปรับปรุงหัวรถจักรแคร่ขนสินค้าให้มีสภาพดี และได้มาตรฐานการให้บริการ รวมทั้งการเพิ่มจำนวนขบวนรถไฟขนสินค้า
- โครงการจัดทำรางคู่ตามเส้นทางที่สำคัญ
- โครงการเชื่อมโยงรถไฟกับประเทศเพื่อนบ้าน
- โครงการเชื่อมโยงรถไฟไปยังท่าเรือต่างๆ
ตัวชี้วัด
- ปริมาณการขนส่งสินค้าทางรถไฟต่อการขนส่งทั้งหมด
ผลลัพธ์
- สัดส่วนการขนส่งทางรถไฟเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับการขนส่งทางอื่นๆ
เป้าประสงค์ที่ 2 เพื่อให้ประเทศไทยมีระบบโลจิสติกที่ทันสมัยและสะดวก สามารถยกระดับให้ ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาค การที่จะบรรลุถึงเป้าประสงค์นี้จำเป็นต้องมียุทธศาสตร์ และโครงการดังต่อไปนี้
ยุทธศาสตร์ที่ 2.1 การเพิ่มการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศให้ครอบคลุมในทุกกลุ่มนอกเหนือจากภาครัฐ
ตามที่กระทรวงการคลังได้มีแผนงานที่ชัดเจนที่จะเชื่อมต่อเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของหน่วยราชการเข้า ด้วยกัน สำหรับการบริการประชาชนภาคการค้าระหว่างประเทศ ภายใต้คณะทำงานเชื่อมโยงเครือข่าย ข้อมูล ระหว่างหน่วยงานภาครัฐ งบประมาณ 1,250 ล้านบาท ระยะเวลา 3 ปีนั้น เพื่อให้มีการต่อยอดเครือข่าย ดังกล่าวให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นจึงควรมีโครงการ เสริมเพิ่มเติมต่อไปนี้
- โครงการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนโดยผ่าน Internet EDI และ
- โครงการส่งเสริมให้ใช้ EDI ในการค้าขายและการขนส่งภายในประเทศ เพื่อให้ครอบคลุมการ บริหาร ระบบสารสนเทศของระบบโลจิสติกส์ สำหรับนำข้อมูลไปใช้อย่างบูรณาการในการ พัฒนา Logistic Data Warehouse ของประเทศไทยต่อไป
ตัวชี้วัด
- การลดอัตราการใช้กระดาษสำหรับเอกสารนำเข้าและส่งออก
- เวลาใช้บริการที่ลดลงหลังจากการติดตั้งระบบ
ผลลัพธ์
- ลดต้นทุนและสร้างความเป็นสากล
ยุทธศาสตร์ที่ 2.2 การใช้เทคโนโลยีใหม่เพื่อเพิ่มความเร็วและเพิ่มประสิทธิภาพระบบโลจิสติกส์
นอกเหนือจากการเพิ่มการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศแล้ว เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี และให้ทันกับการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านจำเป็นที่จะต้องพิจารณาเลือกเทคโนโลยีใหม่ๆ ด้านโลจิสติกส์ตาม ความเหมาะสมได้แก่
- โครงการส่งเสริมและเลือกใช้เทคโนโลยีที่เกี่ยวกับการขนส่งทางบก
o Intelligent Transport System (ITS)
o Electronic Toll Collection System (ETC)
o Advance Safety Vehicle (ASV)
o Universal Traffic Management System (UTMS)
o Electronic Number Plate (Smart Plate)
- โครงการส่งเสริมการใช้ RFID (Radio-Frequency Identification) เพื่อการค้าและการควบคุม การขนส่ง
ตัวชี้วัด
- จำนวนเทคโนโลยีใหม่ที่นำมาใช้ปฏิบัติ
- อัตราความเร็วของรถบรรทุกในช่วงเร่งด่วนในเมืองใหญ่
ผลลัพธ์
- ความเร็วและความสะดวกของระบบโลจิสติกส์
ยุทธศาสตร์ที่ 2.3 การจัดตั้งองค์กรความร่วมมือด้านโลจิสติกส์ของอาเซียน (Asean Collaboration Logistic Organization)
การที่จะให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาคจะต้องมีการประสานความร่วมมือกับประเทศ เพื่อนบ้าน เพื่อสร้างความร่วมมือ การช่วยเหลือ การสร้างมาตรฐานร่วมกัน และการพัฒนาโครงสร้าง พื้นฐานเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน รวมทั้งออกกฎระเบียบร่วมกันโดยเฉพาะเรื่องกฎหมายการขนส่งข้ามแดน หลายรูปแบบ โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับโลจิสติกส์ของประเทศจะเป็นผู้ประสานงานกับประเทศต่างๆ
- โครงการออกกฎระเบียบการขนส่งข้ามแดนหลายรูปแบบ
- โครงการจัดทำมาตรฐานโลจิสติกส์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
- โครงการปรับปรุงแม่น้ำโขงให้เป็นเส้นทางขนส่งได้ตลอดปี
- โครงการประชุมสัมมนา ASEAN Logistic
ตัวชี้วัด
- จำนวนสมาชิกที่เข้าร่วม
ผลลัพธ์
- ประเทศไทยเป็นประตูสู่ภูมิภาค
ยุทธศาสตร์ที่ 2.4 การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ระหว่างจังหวัด
การที่จะเพิ่มประสิทธิภาพของระบบการขนส่งทางรถในเมืองให้ส่งของได้ตรงเวลาและรวดเร็วรัฐบาล
จะต้อง มีโครงการดังต่อไปนี้
- โครงการปรับปรุงถนนเลี่ยงเมืองและถนนวงแหวนตามเมืองต่างๆ
- โครงการลดการแออัดที่แยกและจุดตัดรถไฟ
- โครงการส่งเสริมการสร้างศูนย์โลจิสติกส์บริเวณใกล้เคียงกับถนนสายหลัก ชานเมืองใกล้กับ
ท่าเทียบเรือและ สถานีรถไฟ และ
- โครงการจัดทำจุดขนถ่ายในเมืองขนาดเล็ก เพื่ออำนวยความสะดวกในการกระจายสินค้าจากรถบรรทุกใหญ่สู่รถบรรทุกขนาดเล็ก
ตัวชี้วัด
- จำนวนจุดที่รถติดในเมืองต่างๆทั่วประเทศลดลง
- จำนวนการขนส่งไปกลับครึ่งวันมีการเพิ่มสูงขึ้น
ผลลัพธ์
- การขนส่งที่ตรงเวลาและรวดเร็ว
ยุทธศาสตร์ที่ 2.5 การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ระหว่างภูมิภาค
การที่จะเพิ่มศักยภาพของการเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ รัฐบาลควรส่งเสริมโครงการต่างๆ ดังต่อไปนี้
การขนส่งโดยรถบรรทุก
- โครงการขยายช่องทางจราจรบนถนนไฮเวย์และสร้างถนนเข้าลัดสู่ฐานโลจิสติกส์ หรือศูนย์กระจายสินค้า ท่าเรือ สนามบิน
- โครงการเสริมความแข็งแรงของสะพานเพื่อรองรับกับน้ำหนักรถบรรทุกที่เพิ่ม
การขนส่งชายฝั่ง
- โครงการปรับปรุงท่าเรือและคลังสินค้าเพื่อรองรับการขนส่งหลายรูปแบบ
- โครงการศึกษาปริมาณสินค้าเพื่อเพิ่มการขนส่งระหว่าง ภาคใต้ ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก และภาคกลาง โดยทางเรือ
การขนส่งโดยรถไฟ
* ดูรายละเอียดโครงการยุทธศาสตร์ที่ 1.5 การเพิ่มการขนส่งสินค้าทางรถไฟ*
การขนส่งทางอากาศ
- โครงการศึกษาการเชื่อมโยงการขนส่งทางอากาศกับการคมนาคมทางบกและทางน้ำ
- โครงการพัฒนาท่าอากาศยานภูมิภาคเพื่อการขนส่งสินค้า
ตัวชี้วัด
- ปริมาณสินค้าที่ขนส่งแบบต่างๆ หน่วยเป็นตัน-กิโลเมตร
- เวลาการขนส่งสินค้าระหว่างภาคต่างๆ ลดลง
ผลลัพธ์
- ความพร้อมในการเป็นฐานโลจิสติกส์ของภูมิภาค
ยุทธศาสตร์ที่ 2.6 การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ
เพื่อที่จะรองรับการขนส่งคอนเทนเนอร์ที่นับวันจะเติบโตมากขึ้นจะต้องมีโครงการเพิ่มเสริมสร้างสมรรถนะ ระบบโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ ด้วย ได้แก่
- โครงการปรับปรุงให้การขนส่งคอนเทนเนอร์ภายในประเทศมายังท่าเรือส่งออกให้มีความสะดวกรวดเร็วโดยเฉพาะการขนส่งคอนเทนเนอร์ทางชายฝั่ง และทางแม่น้ำ
- โครงการลดขั้นตอนการส่งออกและนำเข้าโดยใช้ EDI เต็มรูปแบบและจัดทำศูนย์บริการแบบ เบ็ดเสร็จ
- โครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึก ฝั่งทะเลอันดามัน
- โครงการสนับสนุนและส่งเสริมบริษัทไทยเดินเรือทะเลจำกัด ให้เป็นสายการเดินเรือแห่งชาติ
- โครงการลดการนำเข้าตู้คอนเทนเนอร์เปล่า โดยการเปลี่ยนการนำเข้าสินค้าเทกอง ให้เป็นตู้
คอนเทนเนอร์
ตัวชี้วัด
- ระยะเวลาการตรวจปล่อยสินค้าสั้นลง
- ระยะเวลาที่เรืออยู่กับท่าสั้นลง
- สัดส่วนการส่งออกนำเข้าด้วยเรือไทย
- สัดส่วนตู้เปล่านำเข้าต่อการส่งออกลดลง
ผลลัพธ์
- ต้นทุนการขนส่งคอนเทนเนอร์มายังท่าเรือลดต่ำลง
- ค่าระวางเรือระหว่างประเทศลดลง(ในระยะยาว)
เป้าประสงค์ที่ 3 เพื่อแก้ไขปัญหาพลังงาน ปัญหาสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยด้านการ จราจร จากการที่ภาคการขนส่ง ใช้พลังงานมากที่สุดถึงร้อยละ 38 เป็นเพราะประเทศไทย ใช้รถบรรทุกในการ ขนส่งสินค้าถึงร้อยละ 88 และมีการจราจรติดขัด ตามจุดคอขวดต่างๆ อีก มีผลทำให้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซอื่นๆ มากตามไป ด้วย อีกทั้งยังทำให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงต่างๆ เพิ่มมากขึ้นทุกวัน
โครงการบางโครงการในยุทธศาสตร์ที่อยู่ในเป้าประสงค์ 1 และ 2 ก็มีส่วนช่วยให้ลดการปล่อย
ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ และฝุ่นละอองได้ เช่น การร่วมมือกันด้านการปฏิบัติการ การจัดตั้งศูนย์โลจิสติกส์ชานเมือง ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานรถบรรทุกได้ดียิ่งขึ้น การเพิ่มสัดส่วนการขนส่งทางน้ำเป็นผลทางอ้อมให้ปล่อยก๊าซเป็นสัดส่วนต่อน้ำหนักบรรทุกลดลงเป็นต้น ซึ่งเป็นการลดทางอ้อม แต่ ยุทธศาสตร์ที่3.1 จะเป็นมาตรการทางตรงที่จะลดปริมาณก๊าซได้อย่างเกิดประสิทธิผล
ยุทธศาสตร์ที่ 3.1 การลดการปล่อยก๊าซพิษจากรถบรรทุก
เพื่อที่จะลดการปล่อยก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์และก๊าซอื่นตลอดจนฝุ่นละอองของรถบรรทุก 689,512 คัน ทั่วประเทศนั้น รัฐบาลจะต้องมีการควบคุมที่รัดกุมและต้องมีโครงการเสริมด้านต่างๆ ดังต่อไปนี้
- โครงการส่งเสริมการใช้รถบรรทุก Low Emission และเชื้อเพลิงสะอาด เช่น น้ำมันปาล์ม หรือรถที่ใช้ไฟฟ้าเป็นพลังงาน โดยการช่วยเหลือด้านภาษี (Green Tax System)
- โครงการการบังคับให้ใช้น้ำมันดีเซลชนิดกำมะถันต่ำ
- โครงการส่งเสริมการติดตั้งเครื่องกรองฝุ่นละอองในน้ำมันดีเซล (DPFs)
- โครงการส่งเสริมการส่งสินค้าด้วยระบบท่อเพื่อลดการใช้รถบรรทุก
ตัวชี้วัด
- จำนวนรถบรรทุกประเภท Low Emission เพิ่มมากขึ้น
- สัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงสะอาดต่อปริมาณเชื้อเพลิงทั้งหมด
- การประกาศใช้น้ำมันดีเซลกำมะถันต่ำ
- จำนวนเครื่อง DPF ที่มีการติดตั้ง
ผลลัพธ์
- การลดการปล่อยก๊าซพิษจากรถบรรทุก
ยุทธศาสตร์ที่ 3.2 การป้องกันอุบัติเหตุในระบบโลจิสติกส์
เพื่อที่จะปรับปรุงการดำเนินงานและป้องกันอุบัติเหตุในระบบโลจิสติกส์ ควรมีโครงการดังนี้
- โครงการการติดตั้งกล่องดำ หรือระบบดาวเทียมเพื่อควบคุม ความเร็วของ รถบรรทุก
- โครงการสร้างความตระหนักในความปลอดภัย สำหรับผู้ประกอบการ
- โครงการการติดตั้งระบบ Maritime Traffic Safety และ เรดาห์ ชายฝั่งให้ครอบคลุม ทั้งอ่าว
ตัวชี้วัด
- จำนวนอุบัติเหตุจากการขนส่งลดลง
ผลลัพธ์
- ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
เป้าประสงค์ที่ 4 เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการไทยให้สามารถแข่งขัน ได้กับผู้ให้บริการโลจิสติกส์ จากต่างประเทศ จากการเปิดเสรีการค้าและข้อตกลงทางการค้าทวิภาคีกับประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศ ที่ก้าวหน้าด้านโลจิสติกส์ทำให้ประเทศต่างๆ เหล่านั้นสามารถเข้ามาแข่งขันอย่างได้เปรียบทั้งในด้านเงินทุน และระบบการบริหารโดยเฉพาะด้านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศรวมทั้งบุคลากรที่มีความสามารถมีความชำนาญ และมีประสบการณ์ ประกอบกับในอนาคตอุตสาหกรรมบริการด้านโลจิสติกส์และการขนส่งจะเพิ่มขนาด และมี ความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของไทยเป็นอย่างมาก
ถ้ารัฐบาลไม่ยื่นมือเข้ามาช่วยผู้ประกอบการไทย จะไม่มีการถ่วงดุล ธุรกิจบริการด้านโลจิสติกส์ไม่อยู่ใน การควบคุม อาจจะมีผลให้ผู้ประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมทั่วไป และประชาชนไม่ได้รับความยุติธรรมในด้านราคา
ค่าบริการในอนาคตได้ ควรมียุทธศาสตร์ส่งเสริมผู้ประกอบการดังนี้
ยุทธศาสตร์ที่ 4.1 การส่งเสริมผู้ประกอบการโลจิสติกส์ของไทยให้มีความสามารถแข่งขันกับ ต่างประเทศได้
เพื่อที่จะส่งเสริมศักยภาพการแข่งขันกับต่างประเทศให้แก่ผู้ประกอบการโลจิสติกส์ ของไทยควรมีโครงการ ดังต่อไปนี้
- โครงการส่งเสริมโดยใช้มาตรการทางภาษีและมาตรการทางการเงิน
- โครงการจัดทำ Benchmarking และ Best Practice ด้านโลจิสติกส์ เปรียบเทียบกับประเทศที่ก้าวหน้าทางโลจิสติกส์ เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และประเทศที่กำลังพัฒนาด้านโลจิสติกส์ เช่น มาเลเซีย
- โครงการประกวดธุรกิจโลจิสติกส์ไทยดีเด่น โดยให้รางวัลที่ดึงดูดผู้ให้บริการโลจิสติกส์และสามารถ ใช้เป็นกรณีศึกษากับผู้ประกอบการรายอื่นต่อไป
- โครงการเสริมสร้างความสามารถของบุคลากรด้านโลจิสติกส์เพื่อเป็นทรัพยากรสำหรับธุรกิจโดยทั่วไปและธุรกิจบริการด้านโลจิสติกส์ โดยเชื่อมกับแผนของกระทรวงพาณิชย์ และสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือที่กำลังดำเนินการอยู่
ตัวชี้วัด
- การเติบโตทางด้านยอดขายและกำไรของธุรกิจโลจิสติกส์ของไทย
- จำนวนผู้ได้รับการอบรมและศึกษาเกี่ยวกับโลจิสติกส์
ผลลัพธ์
- ผู้ประกอบการโลจิสติกส์ของไทยมีศักยภาพเพิ่มขึ้น
ยุทธศาสตร์ที่ 4.2 การส่งเสริมผู้ประกอบการโลจิสติกส์ของไทยให้ไปลงทุนในต่างประเทศ
เพื่อให้ธุรกิจบริการด้านโลจิสติกส์เกิดการประหยัดจากขนาด (Economy of Scale) และสร้างฐานธุรกิจ ให้เติบโตขึ้น รัฐบาลควรมีมาตรการส่งเสริมให้ธุรกิจโลจิสติกส์ของไทย ใช้ความรู้และระบบที่มีอยู่ขยายไปยัง ประเทศที่มีความต้องการด้วย
- โครงการส่งเสริมการลงทุนในประเทศเป้าหมาย โดยคณะกรรมการส่งเสริม การลงทุน(BOI)
- โครงการเปิดตลาดธุรกิจโลจิสติกส์ในประเทศเป้าหมาย (Road Show)
ตัวชี้วัด
- การเพิ่มขึ้นของธุรกิจโลจิสติกส์ของไทยในต่างประเทศ
ผลลัพธ์
- ผู้ประกอบการโลจิสติกส์ของไทยสามารถแข่งขันกับบริษัทท้องถิ่นใน ประเทศเป้าหมาย
8. บทสรุป
ยุทธศาสตร์เชิงลึกจำนวน 14 ยุทธศาสตร์ที่นำเสนอมาเบื้องต้นเป็นมุมมองใหม่ที่ส่วนใหญ่รัฐบาลยังไม่ได้ ดำเนินการ เพื่อเป็นการเสริมสิ่งที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน โดยคณะกรรมการเพิ่มขีดความสามารถ ในการแข่ง ได้แก่ การเชื่อมโยงและการจัดทำฐานข้อมูลเทคโนโลยีสารสนเทศ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและ การสร้างองค์ความรู้แก่ผู้ประกอบการนั้น เป็นยุทธศาสตร์พื้นฐานที่ต้องทำอย่างเร่งด่วนและถ้าหากนำ 14 ยุทธศาสตร์ เชิงลึก ที่เสนอแนะเพิ่มเติมไปต่อยอดอีก จะทำให้ประเทศไทยสามารถเป็นศูนย์โลจิสติกส์ของภูมิภาคและผู้ประกอบ การจะมีค่าใช้จ่ายของโลจิสติกส์ที่ต่ำลงในเวลาที่เร็ว ยิ่งขึ้น
โครงการต่างๆ ทั้งหมด 57 โครงการ 39 ตัวชี้วัด ภายใต้ 14 ยุทธศาสตร์นั้นเป็นการพัฒนามาจาก ประสบการณ์และกรณีศึกษาที่ประสบความสำเร็จมาแล้วจากต่างประเทศ หลายประเทศนำมากลั่นกรองให้เข้ากับสถานการณ์ในประเทศไทย เพื่อลดปัญหาและอุปสรรคด้านโลจิสติกส์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน และรับกับการเปลี่ยนแปลง เกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ด้านโลจิสติกส์ที่จะมาในอนาคต เสนอแนะเป็นแผนยุทธศาสตร์เชิงลึกการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทย ดังปรากฏรายละเอียดในหัวข้อที่ 7 ซึ่งเป็นข้อเสนอแนะที่แตกต่างไปจากที่เคยเสนอไว้เมื่อ 2 ปีที่แล้ว แต่การที่แผนจะประสบความสำเร็จได้นั้นจะต้องมีผู้รับผิดชอบ และควบคุมการปฏิบัติตามแผน และการที่จะให้โครงการดังกล่าวบรรลุถึงเป้าหมายจะต้องมีหน่วยงานหรือองค์กรหลักที่ทำหน้าที่เสมือน Chief Logistic Officer (CLO) ของประเทศ เป็นเจ้าภาพ มาติดตามดูแลผลักดันโครงการต่างๆ ตามยุทธศาสตร์อย่างใกล้ชิด ให้บรรลุถึงผลสำเร็จ ตามตัวชี้วัดที่ได้แนะนำไว้ให้ในทุกยุทธศาสตร์ รวมทั้งให้บรรลุถึงผลลัพธ์ที่ต้องการในแต่ละ ยุทธศาสตร์อย่างเกิดประสิทธิผลต่อไป
ที่มา: สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
www.nesac.or.th, โทร.02-612-9222 ต่อ 118, 119 โทรสาร.02-612-6918-9

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ