ความเห็นและข้อเสนอแนะ
เกี่ยวกับกระบวนการทำงานระหว่างสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกับรัฐบาล
1. ความเป็นมา
ตามที่ปรากฏว่ารัฐบาลจะยกเลิกการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยจะจัดทำแผนการบริหารราชการแผ่นดินแทนนั้น สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ขอตั้งข้อสังเกตว่าแนวนโยบายดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อสถานะและบทบาทของสภาที่ปรึกษาฯ ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หมวด 5 แนวนโยบายแห่งรัฐ มาตรา 89 ที่กำหนดว่า “เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามหมวดนี้ ให้รัฐจัดให้มีสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมีหน้าที่ให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีในปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจและสังคม แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและแผนอื่นๆ ...” สภาที่ปรึกษาฯ จึงใคร่ขอเรียนปรึกษาคณะรัฐมนตรีและเสนอแนะเกี่ยวกับบทบาทของสภาที่ปรึกษาฯ ดังต่อไปนี้
1. ในกรณีที่รัฐบาลจะจัดทำแผนบริหารราชการแผ่นดินแทน “แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ”
รัฐบาลมีนโยบายที่จะให้สภาที่ปรึกษาฯ มีบทบาทหน้าที่อย่างไรต่อไปและ “แผนอื่นๆ ตามที่กฎหมายบัญญัติต้องให้สภาที่ปรึกษาฯ ให้ความเห็นก่อนพิจารณาประกาศใช้” นั้น จะประกอบด้วยแผนใดบ้าง
2. จากประสบการณ์ในการดำเนินงานตลอด 3 ปีที่ผ่านมา สภาที่ปรึกษาฯ มีความชื่นชมที่คณะรัฐ
มนตรีให้ความสำคัญต่อความเห็นและข้อเสนอแนะของสภาที่ปรึกษาฯ ในหลายประเด็น อย่างไรก็ดี สภาที่ปรึกษาฯ เห็นว่า น่าจะมีการสร้างรูปแบบและเสริมสร้างกระบวนการความเข้าใจร่วมกัน ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินงานของสภาที่ปรึกษาฯ และการประสานงานระหว่างสภาที่ปรึกษาฯ กับคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีประสิทธิภาพและมีความสมบูรณ์มากขึ้น ดังตต่อไปนี้
2.1 ควรจัดตั้งสำนักงานสภาที่ปรึกษาฯ ที่มีความเป็นอิสระให้อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของ
ประธานสภาที่ปรึกษาฯ เพื่อให้การบริหารสำนักงานมีความคล่องตัวและมีประสิทธิผล โดยไม่ยึดติดกับระบบกฎเกณฑ์ทางราชการ
2.2 สำนักงานสภาที่ปรึกษาฯ ไม่ควรมีบทบาทอย่างใดทั้งสิ้นในกระบวนการสรรหาสมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ
2.3 เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของมาตรา 23 ในพระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ.2543 และเพื่อให้เกิดความเข้าใจชัดเจนในเนื้อหาของข้อเสนอสภาที่ปรึกษาฯ ควรจัดให้มีช่องทางการสื่อสารสองทางระหว่างสภาที่ปรึกษาฯ กับหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องในระหว่างขั้นตอนของการพิจารณาของส่วนราชการก่อนเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา
2.4 ควรสร้างรูปแบบอย่างเป็นทางการ เกี่ยวกับเนื้อหาและรูปแบบการจัดทำรายงานผลการพิจารณาและผลการดำเนินการของคระรัฐมนตรี ในเรื่องที่สภาที่ปรึกษาฯ ให้ความเห็นและข้อเสนอแนะ
2.5 ควรสร้างรูปแบบอย่างเป็นทางการ เกี่ยวกับการเปิดเผยเหตุผลในการพิจารณาและผลการดำเนินการของคณะรัฐมนตรีให้สาธารณชนทราบ โดยเฉพาะเนื้อหาที่จะเผยแพร่ ช่องทางและระยะเวลาในการเปิดเผยสู่สาธารณชน
2.6 ควรมีการจัดสรรสื่อของรัฐเพื่อเป็นช่องทางการสื่อสารระหว่างสภาที่ปรึกษาฯ กับภาคประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อทำให้การดำเนินงานของสภาที่ปรึกษาฯ มีความเชื่อมโยงกับภาคประชาชนอย่างกว้างขวางมากขึ้น
2.7 ควรจัดสรรบุคลากรและงบประมาณในการดำเนินงานของสภาที่ปรึกษาฯ อย่างเพียงพอ เพื่อให้สภาที่ปรึกษาฯ สามารถปฏิบัติงานตามบทบาทหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
การหารือและการเสนอข้อพิจารณาดังกล่าว มุ่งเพื่อประโยชน์ในการดำเนินงานตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ.2540 และพระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ.2543 ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น จึงควรจะมีการปรึกษาหารือระหว่างสภาที่ปรึกษาฯ กับตัวแทนคณะรัฐมนตรีในประเด็นต่างๆ เหล่านี้ต่อไป
ที่มา: สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
www.nesac.or.th, โทร.02-612-9222 ต่อ 118, 119 โทรสาร.02-612-6918-9