ภาษีศุลกากร

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 23, 2004 14:57 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

        ภาษีศุลกากรเป็นภาษีทางอ้อม  ซึ่งจัดเก็บจากสินค้าที่มีการนำเข้าจากต่างประเทศ  วัตถุประสงค์หลักของการจัดเก็บภาษีศุลกากรในอดีต  ก็เพื่อเป็นการช่วยเหลือและปกป้องคุ้มครองอุตสาหกรรมการผลิตภายในประเทศ  โดยมีการกำหนดอัตราอากรขาเข้าในอัตราที่สูงสำหรับอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการผลิตของประเทศที่ยังไม่สามารถแข่งขันได้  แต่ในสภาวการณ์กระแสโลกาภิวัฒน์  (Globalization)  ปัจจุบันส่งผลให้แต่ละประเทศมีการเปิดประเทศเพื่อค้าขายกันมากขึ้น  ดังนั้น  บทบาทของภาษีศุลกากรเพื่อใช้เป็นวัตถุประสงค์ในการปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศจึงลดน้อยถอยลงตามลำดับ
โครงสร้างอัตราภาษีศุลกากร
ปัจจุบัน อัตราอากรขาเข้าจะอยู่ระหว่างร้อยละ 0-80 อัตราอากรเฉลี่ย ณ วันที่ 1 มกราคม 2547 เท่ากับ ร้อยละ 12.00 โดยอัตราอากรขาเข้าแบ่งออกเป็น
1) อัตราอากรขาเข้าตามกรอบทั่วไป MFN (Most Favoured Nation) ซึ่งใช้เป็นการทั่วไปกับทุกประเทศ
2) อัตราอากรขาเข้าภายใต้กรอบการปฏิบัติตามข้อผูกพันตามความตกลงมาร์ราเกชจัดตั้งองค์การการค้าโลก (WTO) และความตกลงการค้าพหุภาคีอื่นที่ผนวกท้ายความตกลงดังกล่าว ซึ่งการขอรับสิทธิเพื่อใช้อัตราอากรขาเข้าภายใต้กรอบ WTO นี้ ผู้นำเข้าต้องยื่น Form A เพื่อแสดงถิ่นกำเนิดของสินค้าจากประเทศที่เป็นภาคีของความตกลงมาร์ราเกชจัดตั้งองค์การการค้าโลก
3) อัตราอากรขาเข้าเพื่อปฏิบัติตามข้อผูกพันในการให้สิทธิประโยชน์ด้านอากรตามความตกลงว่าด้วยการใช้มาตรการกำหนดอัตราอากรร่วมเพื่อจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน (Agreement on the Common Effective Preferential Tariff (CEPT) Scheme for the ASEAN Free Trade Area (AFTA)) และพิธีสารแก้ไขความตกลงว่าด้วยการใช้มาตรการกำหนดอัตราอากรร่วมเพื่อจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน (Protocol to Amend the Agreement on the Common Effective Preferential Tariff (CEPT) Scheme for the ASEAN Free Trade Area (AFTA) ในการขอรับสิทธิเพื่อใช้อัตรา CEPT ภายใต้กรอบ AFTA นั้น ผู้นำเข้าต้องมีใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า (Form D) ที่ออกตามกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้าภายใต้ความตกลงว่าด้วยการใช้มาตรการกำหนดอัตราอากรร่วมเพื่อจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียนและข้อกำหนดเพิ่มเติมที่ออกตามความในกฎดังกล่าว
หลักการของการไต่มูลค่าเพิ่ม (Value Added Escalation)
จากข้อตกลงตามกรอบพันธกรณีระหว่างประเทศและแนวโน้มนโยบายการเปิดเสรีการค้าของประเทศไทย ส่งผลให้อุตสาหกรรมการผลิตในประเทศต้องมีการพัฒนาและขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อปรับตัวและเพิ่มศักยภาพให้สามารถแข่งขันกับประเทศคู่ค้าอื่นๆได้ ดังนั้นนโยบายในการปรับปรุงโครงสร้างพิกัดอัตราศุลกากรภายใต้กรอบอัตราอากรทั่วไป (MFN) จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและลดปัญหาความลักลั่นของโครงสร้างภาษีระหว่างอุตสาหกรรมต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ อีกทั้งเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการเปิดเสรีของประเทศ ทั้งนี้ การกำหนดอัตราอากรขาเข้าเพื่อปรับปรุงโครงสร้างพิกัดอัตราศุลกากรได้ยึดหลักการของการไต่มูลค่าเพิ่ม (Value Added Escalation) ของสินค้ามาเป็นเกณฑ์ซึ่งหมายถึงอัตราอากรขาเข้าของวัตถุดิบต้องไม่สูงกว่าผลิตภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูป และผลิตภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูปต้องไม่สูงกว่าผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปตามลำดับ และได้แบ่งกลุ่มสินค้าในพิกัดอัตราศุลกากรทั้งหมดออกเป็น 3 กลุ่มตามขั้นตอนการผลิต คือ กลุ่มวัตถุดิบ อัตราอากรเป้าหมาย คือ ร้อยละ 1 กลุ่มสินค้ากึ่งสำเร็จรูป อัตราอากรเป้าหมาย คือ ร้อยละ 5 และกลุ่มสินค้าสำเร็จรูป อัตราอากรเป้าหมาย คือ ร้อยละ 10
อย่างไรก็ดี เนื่องจากศักยภาพของอุตสาหกรรมในประเทศบางสาขายังไม่มีความพร้อมเพียงพอที่จะก้าวเข้าสู่เวทีการแข่งขันกับประเทศคู่ค้าที่สำคัญๆ ได้ นโยบายการให้ความคุ้มครองแก่อุตสาหกรรมดังกล่าวในระยะแรกยังคงมีความจำเป็นอยู่ โดยได้กำหนดอัตราอากรเป้าหมายเพื่อให้ความคุ้มครองกับอุตสาหกรรมเหล่านี้ไว้ที่ร้อยละ 20 ซึ่งการจะให้ความคุ้มครองกับอุตสาหกรรมใดบ้างจะต้องมีการศึกษาในรายละเอียดของแต่ละอุตสาหกรรมต่อไป
กรณีสินค้าส่งออก โดยทั่วไปจะได้รับการยกเว้นอากร ยกเว้นสินค้าส่งออก 2 ชนิด ที่ยังคงต้องเสียอากรขาออกอยู่ในปัจจุบัน คือ หนังสัตว์ และไม้
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (66) 2282-6171-9 แฟกซ์ (66) 2280-0775
-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ