ภาษีธุรกิจเฉพาะ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 23, 2004 15:02 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

        ภาษีธุรกิจเฉพาะเป็นภาษีทางอ้อมที่จัดเก็บจากฐานการบริโภคทั่วไปภายในประเทศ โดยจัดเก็บจากรายรับของการประกอบกิจการธนาคาร ธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ กิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ กิจการประกันชีวิต โรงรับจำนำ การค้าอสังหาริมทรัพย์และการขายหลักทรัพย์ เป็นต้น ผู้มีหน้าที่เสียภาษี ได้แก่ บุคคลธรรมดา คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล และนิติบุคคลอื่นใด ทั้งนี้ การประกอบกิจการใดที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะย่อมไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
วิธีคำนวณภาษี
ธุรกิจที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะจะต้องคำนวณเสียภาษี ดังนี้
ภาษีธุรกิจเฉพาะ = ฐานภาษี x อัตราภาษีธุรกิจเฉพาะ (รวมภาษีที่เก็บให้ราชการส่วนท้องถิ่นอีกร้อยละ 10 ของอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะ)
อัตราภาษี
1) ร้อยละ 0.1 สำหรับรายรับจากการประกอบกิจการหลักทรัพย์ ตามกฎหมายว่าด้วยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ปัจจุบันยกเว้น)
2) ร้อยละ 2.5 สำหรับรายรับจากการประกอบกิจการรับประกันชีวิต และกิจการโรงรับจำนำ
3) ร้อยละ 3.0 สำหรับรายรับจากการประกอบกิจการเยี่ยงธนาคาร ธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ กิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ และการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นการค้าหรือหากำไร
** สำหรับการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร ที่ได้จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2546 ให้ลดอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะเหลืออัตราร้อยละ 0.1 สำหรับรายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ
กิจการที่ได้รับการยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ
1. กิจการของธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ มาตรา 91/3(1)
2. กิจการของบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มาตรา 91/3(2)
3. กิจการของสหกรณ์ออมทรัพย์ และการให้กู้ยืมแก่สมาชิก หรือแก่สหกรณ์ออมทรัพย์ มาตรา 91/3(3)
4. กิจการของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มาตรา 91/3(4)
5. กิจการของการเคหะแห่งชาติ เฉพาะการขายหรือให้เช่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ มาตรา 91/3(5)
6. กิจการรับจำนำ ของกระทรวง ทบวง กรม และราชการส่วนท้องถิ่น มาตรา 91/3(6)
7. กิจการขายหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในตลาดหลักทรัพย์ (พรฎ. 240)
8. กิจการของบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมขนาดย่อม (พรฎ. 240)
9. กิจการของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (พรฎ. 240 แก้ไขโดย พรฎ. 257)
10. กิจการของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (พรฎ. 240 แก้ไขโดย พรฎ 265 )
11. กิจการของกองทุนสิ่งแวดล้อมตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (พรฎ. 240 แก้ไขโดย พรฎ. 316)
12. กิจการขององค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (พรฎ. 240 แก้ไขโดย พรฎ. 322)
13. กิจการของบรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน (พรฎ. 240 แก้ไขโดย พรฎ. 328)
14. กิจการของนิติบุคคลเฉพาะกิจในส่วนที่เกี่ยวกับการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยนิติบุคคลเฉพาะกิจเพื่อการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์เฉพาะกรณี ต่อไปนี้
(ก) กิจการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ซึ่งเกิดขึ้นเนื่องจากการรับโอนทรัพย์สินจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่น หรือการโอนทรัพย์สินดังกล่าวกลับคืนให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่น ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด
(ข) การประกอบกิจการที่ได้รับโอนมาจากผู้โอนซึ่งเป็นกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ
15. กิจการของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นในส่วนที่เกี่ยวกับการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยนิติบุคคลเฉพาะกิจเพื่อการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ เฉพาะกิจการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ซึ่งเกิดขึ้น เนื่องจากการโอนทรัพย์สินให้แก่นิติบุคคลเฉพาะกิจ หรือการรับโอนทรัพย์สินดังกล่าวกลับคืนจากนิติบุคคลเฉพาะกิจ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีสรรพากรกำหนด (พรฎ. 240 แก้ไขโดย พรฎ. 334)
16. กิจการของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เพื่อแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงิน และกองทุนรวมเพื่อแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงินที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เฉพาะการประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ และการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางการค้าหรือหากำไร (พรฎ. 240 แก้ไขโดย พรฎ. 337)
17. กิจการของบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (พรฎ. 240 แก้ไขโดย พรฎ. 344)
18. ยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ แก่คณะกรรมการกองทุนปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสทรงครองราชย์ ปีที่ 50 สำหรับเงินหรือทรัพย์สินที่ได้รับบริจาค หรือที่ได้รับจากการขายสินค้าหรือการให้บริการ และการกระทำตราสารในกิจการตามโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสทรงครองราชย์ ปีที่ 50 ทั้งนี้ ไม่ว่าจะได้รับหรือจะได้กระทำก่อนหรือตั้งแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ (พรฎ. 277)
19. ยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการโอนอสังหาริมทรัพย์เพื่อแยกบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิตและบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยออกจากกัน (พรฎ. 283)
20. ยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ แก่สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล ตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 สำหรับมูลค่าของฐานภาษี รายรับหรือการกระทำตราสารของสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล ตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม 2538 เป็นต้นไป (พรฎ. 291)
21. ยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับเงินได้ที่เป็นเงินค่าทดแทนตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เฉพาะที่ดินที่ต้องเวนคืน และอสังหาริมทรัพย์อื่นบนที่ดินที่ต้องเวนคืน ซึ่งได้รับจากส่วนราชการ องค์การของรัฐบาล หรือรัฐวิสาหกิจที่มิใช่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ทั้งนี้ เฉพาะกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นไม่ขอรับเงินค่าทดแทนดังกล่าว (พรฎ. 295)
22. ยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ แก่คณะกรรมการไทยช่วยไทย สำหรับเงินได้พึงประเมินที่เป็นเงิน หรือทรัพย์สินที่ได้รับบริจาค หรือที่ได้รับจากการขายทรัพย์สินที่ได้รับบริจาค รายรับที่ได้รับจากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับการบริจาค และการกระทำตราสารของคณะกรรมการไทยช่วยไทย (พรฎ. 320)
23. ยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ สำหรับการกระทำตราสารอันเนื่องมาจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด ทั้งนี้ เฉพาะการโอนทรัพย์สิน การขายสินค้าหรือการให้บริการ และการกระทำตราสารที่ได้กระทำในระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2541 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2542 (พรฎ. 325)
24. ยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะให้แก่ลูกหนี้และเจ้าหนี้ สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการโอนทรัพย์สิน การขายสินค้าหรือการให้บริการ และการกระทำตราสารอันเนื่องมาจากการดำเนินการตามคำขอประนอมหนี้หรือแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ที่ศาลได้มีคำสั่งเห็นชอบตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลาย (พรฎ. 340)
25. อสังหาริมทรัพย์ที่ขายหลังจากระยะเวลา 5 ปี นับแต่วันที่ได้อสังหาริมทรัพย์ นั้น (พรฎ. 342)
26. การขายหรือถูกเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ (พรฎ. 342)
27. การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาทางมรดก (พรฎ. 342)
28. การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ใช้เป็นสถานที่อยู่อาศัยอันเป็นแหล่งสำคัญที่ผู้ขายมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร และได้อาศัยเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี นับแต่วันที่ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ นั้น และในกรณีที่ที่ดินและอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างที่ได้มาไม่พร้อมกัน กำหนดเวลาห้าปี ให้ถือตามระยะเวลาการได้มาซึ่งที่ดินหรืออาคารหรือสิ่งปลูกสร้างที่ได้มาภายหลัง (พรฎ. 342)
29. การโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ โดยไม่มีค่าตอบแทนให้แก่บุตรชอบด้วยกฎหมายของตน แต่ไม่รวมถึงบุตรบุญธรรม (พรฎ. 342)
30. การโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ทางมรดกให้แก่ทายาทโดยธรรม หรือผู้รับพินัยกรรมซึ่งเป็นทายาทโดยธรรม (พรฎ. 342)
31. การโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ให้แก่ส่วนราชการ หรือองค์การของรัฐบาล โดยไม่มีค่าตอบแทน (พรฎ. 342)
32. การแลกเปลี่ยนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์กับส่วนราชการหรือองค์การของรัฐบาล เฉพาะในกรณีที่ส่วนราชการหรือองค์การของรัฐบาลนั้นมิได้มีการจ่ายค่าตอบแทนเป็นอย่างอื่น นอกจากอสังหาริมทรัพย์ที่แลกเปลี่ยน (พรฎ. 342)
33. ยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับรายได้ อันเนื่องมาจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของเจ้าหนี้อื่นที่ได้ดำเนินการโดยนำหลักเกณฑ์การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนดมาใช้โดยอนุโลม ทั้งนี้ เฉพาะที่ได้กระทำในระหว่างวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2541 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2542 (พรฎ. 349)
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (66) 2282-6171-9 แฟกซ์ (66) 2280-0775
-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ