เขตการค้าเสรี ไทย-เปรู

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 23, 2004 15:05 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

        นอกจาก จีน ญี่ปุ่น อินเดีย บาห์เรน สหรัฐฯ นิวซีแลนด์ กลุ่ม BIMST-EC และกลุ่ม EFTA แล้ว เปรู เป็นอีกประเทศหนึ่งที่ไทยกำลังเจรจาทำความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ความสนใจของสาธารณชนต่อ FTA ไทย-เปรู มีน้อยกว่าการทำ FTA ของไทยกับประเทศใหญ่ๆ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ปกติเพราะการทำ FTA กับประเทศใหญ่จะมีน้ำหนักต่อเศรษฐกิจไทยมากกว่าทั้งในทางลบและทางบวก แต่เผลอๆเปรูอาจจะเป็นประเทศที่สองหรือที่สามที่ไทยทำความตกลง FTA ได้สำเร็จ (หลังจากออสเตรเลีย) และเปรูจะเป็นประเทศแรกในละตินอเมริกาที่ไทยทำ FTA ด้วย ส่วนไทยก็จะเป็นประเทศแรกในเอเชียที่เปรูมีความตกลง FTA เช่นกัน เท่ากับว่าทั้งสองฝ่ายจะจับมือเป็นพันธมิตรกัน ขยายการค้าการลงทุนระหว่างกัน และใช้ตลาดของแต่ละฝ่ายเป็นฐานในการลงทุนและทำการค้าข้ามไปยังประเทศอื่นๆใน ภูมิภาค 
เมื่อคนไทยพูดถึงเปรู หรือคนเปรูพูดถึงไทย ภาพก็คงจะไม่ชัดเจนในความคิดของแต่ละฝ่าย เพราะยังรู้จักกันน้อยมาก บ้านเมืองอยู่ห่างไกลกัน ความสนใจต่อกันมีน้อย ไม่มีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับคน ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม หรือความเป็นไปในประเทศของแต่ละฝ่าย นักธุรกิจยังไม่รู้จักกันมากนัก ข้อเท็จจริงอีกอย่างหนึ่งคือมีคนไทยอยู่ในเปรูจำนวนน้อยมาก ข้อมูลล่าสุดคือมีคนไทยเพียง 7-8 คน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในเรือนจำเพราะต้องโทษจำคุกเรื่องยาเสพติด ฟังแล้วก็ยิ่งทำให้ต้องตั้งคำถามว่าเมื่อไม่รู้จักดี ทำไมจึงต้องเจรจาทำ FTA กัน ? ทำแล้วไทยได้ประโยชน์อย่างไร ?
ดร.กันตธีร์ ศุภมงคล ผู้แทนการค้าไทย หัวหน้าคณะเจรจาเขตการค้าเสรี ไทย-เปรู คงจะตอบคำถามนี้ได้ชัดเจนกว่าคนอื่น เพราะเป็นผู้ที่นำเอาความสนใจของเปรูและบราซิล (ซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่ม MACOSUR) ที่จะทำ FTAs กับไทย กลับมารายงานต่อนายกรัฐมนตรีหลังจากการเดินทางไปเปรู บราซิล อาร์เจนตินา และชิลี เมื่อสองปีก่อน การทำ FTA กับเปรู น่าจะเป็นเพราะแรงผลักดันจากฝ่ายเปรูที่แสดงความกระตือรือล้นและติดตามเรื่องอย่างเอาจริงเอาจังมากกว่าบราซิล ทำให้ฝ่ายไทยสนองรับและจับมือกับเปรูในเรื่องนี้ หน่วยงานที่รับผิดชอบของสองฝ่ายได้เริ่มเจรจากันและผลขั้นแรกคือการทำกรอบความตกลงเบื้องต้น หรือ Thailand-Peru Framework Agreement 0nCloser Economic Partnership เมื่อเดือนตุลาคม 2546 ซึ่งเป็นพื้นฐานสำหรับการเจรจาทำความตกลง FTA ในรายละเอียดในปีนี้ เมื่อสองสัปดาห์ก่อน ผู้แทนการค้าไทยได้นำคณะผู้แทนไปเจรจาทำความตกลง FTA กับเปรูเป็นรอบที่สอง ทั้งสองฝ่ายตั้งเป้าหมายว่าจะสรุปผลการเจรจาให้เสร็จก่อนการเดินทางของนายกรัฐมนตรีไปเยือนเปรูอย่างเป็นทางการในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนนี้ เป้าหมายนี้ไม่ได้กำหนดตายตัว ถ้าเจรจากันไม่เสร็จ ก็ต้องใช้เวลาต่อไปอีก เพื่อให้ความตกลงมีเนื้อหาสาระที่จะเป็นประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่ายอย่างเต็มที่ในการขยายการค้าและการลงทุน รวมทั้งร่วมมือกันเพื่อขยายผลต่อไปประเทศที่สาม ขณะนี้ทั้งรัฐบาลไทยและเปรูต่างก็กำลังเดินไปในทิศทางเดียวกันคือมีนโยบายผลักดันตัวเองเพื่อรับความเปลี่ยนแปลงในเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศ ทั้งสองประเทศกำลังเจรจาทำ FTAs กับหลายประเทศ
เปรูเป็นสมาชิกกลุ่มเศรษฐกิจ 2 กลุ่มในละตินอเมริกา คือ กลุ่ม ANDEAN (สมาชิกอื่นๆได้แก่โคลัมเบีย เอกวาดอร์ โบลิเวีย และเวเนซูเอลา) และกลุ่ม LAIA (Latin American Integration Association) (สมาชิกอื่นๆได้แก่ อาร์เจนตินา โบลิเวีย บราซิล ชิลี โคลัมเบีย เอกวาดอร์ เม็กซิโก ปารากวัย อุรุกวัย และเวเนซูเอลา) ซึ่งทำเขตการค้าเสรีกัน นอกจากนี้ เปรูได้ทำความตกลง FTA (เฉพาะด้านการค้าสินค้า) สองฝ่ายกับชิลีเมื่อปี 2541 และร่วมเจรจาทำ FTA ระหว่างกลุ่ม ANDEAN กับกลุ่ม MAC0SUR จนใกล้จะสำเร็จแล้ว เปรูเข้าร่วมเจรจา FTAA (Free Trade Area of the Americas) ซึ่งสหรัฐฯเป็นตัวตั้งตัวตี และเพิ่งเริ่มเจรจาทำ FTA สองฝ่ายกับสหรัฐฯ ด้วย
เปรูเป็นประเทศยากจนที่ประสบปัญหายาเสพติด จึงได้รับความช่วยเหลือจากประเทศใหญ่ในหลายๆด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิพิเศษทางการค้าที่สหรัฐฯและสหภาพยุโรปให้แก่เปรูในการเข้าตลาด เพื่อเป็นการช่วยพัฒนาเศรษฐกิจ เศรษฐกิจเปรูในปัจจุบันเปิดเสรีมากกว่าไทย ทั้งระดับภาษีศุลกากรโดยเฉลี่ยที่ต่ำกว่าและมีข้อจำกัดน้อยกว่าสำหรับนักลงทุนต่างชาติ ส่วน FTA ของ ANDEAN ก็รุดหน้าไปเร็วกว่า AFTA ของ ASEAN ในเรื่องการยกเลิกภาษีศุลกากร เพราะ ANDEAN จะบรรลุเป้าหมายการยกเลิกภาษีระหว่างกันในปี 2548 แต่ ASEAN ยังต้องรอจนถึงปี 2553 จึงจะถึงเส้นชัย แต่เมื่อมองระดับการพัฒนาเศรษฐกิจ เปรูยังเดินอยู่หลังไทยหลายก้าว เปรูมีประชากร 26.7 ล้านคน ส่วนใหญ่ยังยากจนมาก แต่ก็มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบรูณ์ เช่น ทองแดง เงิน ทอง เหล็ก ถ่านหิน โปแตสเซียม ประมง ป่าไม้ ปิโตรเลียม และแก๊ซธรรมชาติ เปรูเป็นประเทศที่มีคนจีนอาศัยอยู่มากที่สุดในละตินอเมริกา และมีคนญี่ปุ่นมากเป็นอันดับสองรองจากบราซิล นับว่าชาวเปรูได้อยู่ร่วมกับชาว เอเชียคือจีนและญี่ปุ่นอย่างราบรื่นมานาน ประเด็นนี้อาจจะเป็นเหตุผลที่ทำให้ชาวเปรูมองไทยด้วยสายตาเป็นมิตรและชื่นชม ผู้นำในภาครัฐบาลส่วนใหญ่มองว่าไทยประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจและถือเป็นแบบอย่าง ซึ่งนับว่าเป็นปัจจัยทางบวกที่เกื้อหนุนการทำ FTA เพื่อสร้างพันธมิตรระหว่างไทยกับเปรู
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (66) 2282-6171-9 แฟกซ์ (66) 2280-0775
-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ