ชง21ข้อถกFTAไทย-ญี่ปุ่น

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 23, 2004 15:07 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

        เปิดจุดยืนภาคเอกชนไทยถกเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น สภาหอฯเสนอ 21 ประเด็นมอบรัฐบาลใช้เป็นคู่มือเจรจาต่อรอง ย้ำ 6 สินค้าอ่อนไหวต้องอยู่ในบัญชีเจรจา เสนอไก่ น้ำตาลเป็นกลุ่มเร่งลดภาษี ขอโควตาพิเศษหอมมะลิ 2 หมื่นตัน อัตราภาษี 0% ภายใน 3 ปี ด้านสภาอุตฯหวั่นสินค้าเกษตรอ่อนไหวทำเจรจาสินค้าอุตฯล่าช้า 
นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล กรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการด้าน FTA สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่าเมื่อเร็วๆ นี้สภาหอการค้าฯได้นำเสนอท่าทีเบื้องต้นต่อคณะเจรจาเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่นที่มีนายพิศาล มาณวพัฒน์ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศเป็นหัวหน้าคณะเจราฝ่ายไทย ซึ่งขณะนี้อย่ระหว่างดำเนินการเพื่อเจรจา
สำหรับประเด็นที่เสนอเพื่อเป็นแนวทางเจรจาครอบคลุม 21 ประเด็น ประกอบด้วย
1. การเปิดตลาด(Trade in Goods)
2.ความร่วมมือด้านเกษตร ป่าไม้ และประมง
3.กฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า(Rules of Origin)
4.การค้าผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Paperless Trading)
5.มาตรฐานการยอมรับร่วมกัน (MRA)
6.นโยบายการแข่งขัน
7.พิธีการทางศุลกากร
8.การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ
9.สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา
10.การค้าบริการ
11.ด้านการลงทุน
12.การเคลื่อนย้ายบุคลากร
13.ความร่วมมือในบริการด้านการเงิน
14.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
15.วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม
16.การศึกษาและทรัพยากรมนุษย์
17.การท่องเที่ยว
18.วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
19.การส่งเสริมการค้าและการลงทุน
20.การเสริมสร้างบรรยากาศทางธุรกิจ
21.การระงับข้อพิพาท
นายพรศิลป์ กล่าวว่า ประเด็นที่เอกชนให้ความสำคัญคือด้านการค้าสินค้าซึ่งภาคเอกชนไม่เห็นด้วยที่ญี่ปุ่นจัดให้สินค้า 6 รายการเป็นสินค้าอ่อนไหว(Sensitive List)สำหรับญี่ปุ่น ประกอบด้วย ข้าว ไก่ น้ำตาล แป้งมันสำปะหลัง ผลิตภัณฑ์จากหัวบุก และนมและผลิตภัณฑ์ พร้อมกันนี้ได้เสนอให้คณะเจรจา ดำเนินการเจรจาขอบรรจุสินค้าน้ำตาล และไก่ เป็นสินค้าลดภาษีเร่งด่วน (Early Harvest) ขณะเดียวกันขอให้ยกเลิกโควตาสินค้ามันสำปะหลัง รองเท้าหนัง ขอโควตาพิเศษเฉพาะข้าวหอมมะลิไทยจำนวน 20,000 ตัน ที่อัตราภาษี 0% ภายในช่วงเวลา 3 ปี เสนอให้สินค้า น้ำตาล ปลาแมคเคอเรลกระป๋อง/แปรรูป ปลาแซลมอลกระป๋อง/แปรรูป ปลาซาร์ดีนกระป๋อง/แปรรูป ปลาทูน่ากระป๋อง/แปรรูป ปู กุ้ง หอยลายกระป๋อง ข้าวโพดหวาน ข้าวโพดฝักอ่อน สับปะรดกระป๋อง น้ำสับปะรดเข้มข้น เป็นสินค้าลดภาษีเร่งด่วนและสินค้า ผลไม้กระป๋อง (ยกเว้นสับปะรดกระป๋อง)และน้ำผลไม้กระป๋อง(ยกเว้นน้ำสับปะรดเข้มข้น)อยู่ในกลุ่มลดภาษีปกติ ให้ญี่ปุ่นยกเลิกการอุดหนุนการผลิตสินค้าน้ำตาล
ส่วนประเด็นสำคัญอื่นๆ เช่นแหล่งกำเนิดสินค้า ให้ใช้เกณฑ์กำหนดแหล่งกำเนิดสินค้าที่แตกต่างกันไปในแต่ละรายการสินค้า ประกอบด้วยเกณฑ์การผลิตโดยใช้วัตถุดิบในประเทศทั้งหมด(Wholly Obtained) และเกณฑ์การแปรสภาพอย่างเพียงพอ(Substantial Transformation)โดยวิธีการเปลี่ยนพิกัดศุลกากรสำหรับการผลิตสินค้าส่งออกที่ต้องนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศและไม่ต้องระบุเงื่อนไข Local Content
นอกจากนี้ยังมีประเด็นมาตรฐานการยอมรับร่วมกัน(MRA)ในสินค้าปศุสัตว์ ผลักดันให้ญี่ปุ่นยอมรับมาตรฐานเนื้อสุกรสดแช่เย็น แช่แข็งจากไทยว่าปลอดจากโรคปากและเท้าเปื่อย โดยวิธีการฉีดวัคซีน หากองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE)ให้การรับรอง และสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า ผลักดันให้ญี่ปุ่นยอมรับระบบการรับรอง (Certification)ของไทย ให้ความสำคัญในการทำ MRA กับสินค้าเกษตรเท่ากับสินค้าอุตสาหกรรม และบริการ และการทำ MRA สินค้าเกษตรให้เน้นเรื่องการยอมรับ Pre-certification ด้านการตรวจสอบอาหารของไทยที่ส่งออกไปญี่ปุ่นโดยห้องทดลองของภาคเอกชน
ส่วนการค้าบริการนั้น เห็นด้วยกับการเจรจาเปิดเสรีการบริการด้านแพทย์และทันตกรรม โรงพยาบาล การนวดแผนโบราณ การดูแลผู้สูงอายุและเด็ก ผู้ช่วยงานบ้าน การบริการด้านสุขภาพและสปา การทำอาหาร รวมทั้งการบริการทางธุรกิจในด้านการก่อสร้าง โรงเรียนสอนทำอาหาร การท่องเที่ยว การกีฬา ช่างซ่อมรถ ช่างทำผม ช่างเสริมความงาม ช่างตัดเย็บเสื้อผ้า และเสนอให้ญี่ปุ่นส่งคนไข้มารับการรักษาในไทยและค่าใช้จ่ายให้รวมอยู่ในระบบประกันสังคมของญี่ปุ่นได้
สำหรับการลงทุน ที่ประชุมสภาหอฯ เสนอให้มีการเปิดเสรีการลงทุนแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยใช้แนวทางเปิดเสรีแบบ Positive List หัวข้อความร่วมมือในบริการด้านการเงิน ด้านการเปิดตลาดเสนอให้กำหนดระยะเวลาในการเปิดเสรีทางการเงิน โดยใช้เวลาในการเปิดเสรีทั้งหมดประมาณ 10 ปีตามแนวทางของคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ(กนศ.) หัวข้อการระงับข้อพิพาท สนับสนุนให้มีกลไกในการเจรจาแบบ Dialogue โดยไม่ฟ้องร้องผ่านกรอบ WTO ถ้าหากมีข้อขัดแย้งให้อยู่ภายใต้การพิจารณาของอนุญาโตตุลาการ
"ท่าทีเบื้องต้นทั้งหมดนี้เราได้นำเสนอต่อคณะเจรจาแล้ว ซึ่งในสินค้าอ่อนไหวของญี่ปุ่น 6 รายการข้างต้น เรามีจุดยืนให้เป็นกลุ่มที่ต้องรวมอยู่ในการเจรจาด้วย โดยในสินค้าไก่ และน้ำตาล เราเสนอเป็นกลุ่ม Early Harvest โดยไม่สนใจว่าเขาจะคิดอย่างไร แต่เราเสนอเพื่อใช้ในการเจรจาต่อรอง"นายพรศิลป์กล่าว
ด้านแหล่งข่าวจากคณะเจรจาเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ทาง ส.อ.ท.ได้นำเสนอท่าทีของภาคเอกชนต่อ คณะเจรจาจัดทำเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่นไปแล้วเช่นกันโดยในภาพรวมทาง ส.อ.ท.มีจุดยืนที่สำคัญคือต้องการให้การเจรจาประสบผลสำเร็จโดยเร็ว เพื่อที่ไทยจะสามารถขยายตลาดการค้าสินค้าในญี่ปุ่นได้มากขึ้นในอัตราภาษีที่ต่ำเป็นพิเศษมากกว่าคู่แข่งขันอื่นๆ ส่วนในสินค้าอ่อนไหว ทางญี่ปุ่นจะต้องมีทิศทางที่ชัดเจนว่าจะมีเวลาการปรับลดภาษีให้ไทยลงอย่างไร
อย่างไรก็ตามในส่วนสินค้าอ่อนไหวของไทย ประกอบด้วย เหล็กเส้น เหล็กแผ่น สินค้าปิโตรเคมี(เม็ดพลาสติก สี เคมีภัณฑ์) และสินค้าไฮเทคโนโลยี เช่น สินค้าที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ โทรคมนาคม และเครื่องจักร ที่ส่วนใหญ่ไทยนำเข้าจากญี่ปุ่นอยู่แล้ว และคาดว่าจะนำเข้ามากขึ้นหากมีการลดภาษีภายใต้เอฟทีเอ "สินค้าอ่อนไหวของทั้งสองประเทศในช่วงแรกนี้ไม่ควรนำมาเจรจากัน แต่ควรนำกลุ่มสินค้าที่ได้ประโยชน์ทั้งคู่มาหารือกัน เพราะไม่เช่นนั้นแล้วจะทำให้การเจรจาไม่เดินหน้า"แหล่งข่าวกล่าว
อนึ่ง ความคืบหน้าการเจรจาเอฟทีเอของไทยกับคู่เจรจา 8 ประเทศได้แก่จีน อินเดีย สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย เปรู บาห์เรน กับ 1 กลุ่มคือกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจBIMST-EC(บังคลาเทศ อินเดีย พม่า ศรีลังกา ไทย) มีความคืบหน้าคือได้ลงนามกับจีนมีผลบังคับใช้แล้ว กับอินเดียลงนามแล้วแต่ยังติดเรื่องแหล่งกำเนิดสินค้า อยู่ระหว่างเจรจากับญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ เปรู บาห์เรน กำหนดเปิดเจรจากับสหรัฐนัดแรกวันที่ 28 มิ.ย.ศกนี้ กำหนดลงนามกับกลุ่มBIMST-EC 25 มิ.ย. ลงนามกับออสเตรเลีย 5 ก.ค.
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (66) 2282-6171-9 แฟกซ์ (66) 2280-0775
-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ