การค้าทวิภาคีไทย-จีน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 24, 2004 11:38 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

1.  การเร่งลดภาษีผักและผลไม้ไทย-จีน
เรื่องเดิม
1. จากการหารือระหว่างนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร กับอดีตนายกรัฐมนตรี จู หรง จี เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2546 ระหว่างการเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน และกับนายกรัฐมนตรีเหวิน เจีย เป่า เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2546 ระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำ อาเซียนครั้งพิเศษว่าด้วยโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (SARS) ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบให้มีการเร่งลดภาษีสินค้าผักและผลไม้ระหว่างกันภายใต้กรอบ Early Harvest ของความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน
2. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (ดร.อดิศัย โพธารามิก) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สาธารณรัฐประชาชนจีน (Mr. Lu Fuyuan) ได้ร่วมลงนามในความตกลงเร่งลดภาษีสินค้าผักและผลไม้ระหว่างไทย-จีน เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2546 ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ให้มีการเปิดเสรีผักและผลไม้ระหว่างกันเริ่มตั้งแต่วันที่ 1ตุลาคม 2546
ผลเบื้องต้นการเปิดเสรีผักและผลไม้
1. การค้าระหว่างไทย-จีนในสินค้าผักและผลไม้
สถิติการค้าผักและผลไม้ไทย-จีน
หน่วย : ล้านบาท
มูลค่า ต.ค.45-เม.ย. 46 ต.ค.46-เม.ย. 47 % การเปลี่ยนแปลง
การส่งออก 4,346.75 5,647.90 29.90%
การนำเข้า 2,274.71 3,141.60 128.23%
ดุลการค้า 2,072.04 2,506.30 20.95%
รวม 6,621.46 8,789.50 32.73%
ที่มา : กรมศุลกากร
หลังการเปิดเสรีสินค้าผักและผลไม้ระหว่างไทย-จีน เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2546 ส่งผลให้การค้าในสินค้ากลุ่มดังกล่าวระหว่างไทยและจีนขยายตัวในระดับสูง โดยการค้าระหว่างไทย-จีนในสินค้าผักและผลไม้ ในช่วงเดือนตุลาคม 2546—เมษายน 2547 มีมูลค่า 8,789 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.73 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2546 ซึ่งมีมูลค่า 6,621 ล้านบาท โดยการส่งออกและนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.9 และ 128.23 ตามลำดับ ทั้งนี้ ไทยเป็นฝ่ายเกินดุลการค้ากับจีนคิดเป็นมูลค่า 2,506.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20.95% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีที่ผ่านมา สินค้าที่ไทยส่งออกเป็นมูลค่าสูง ได้แก่ ลำไยแห้ง ลำไยสด ทุเรียน สับปะรด และมันสำปะหลัง (อัดเม็ด/มันเส้น) ส่วนสินค้าที่ไทยนำเข้ามูลค่าสูง ได้แก่ แอปเปิ้ล แพร์และควินซ์
2. ในช่วงระหว่างเดือนตุลาคม 2546-มีนาคม 2547 ไทยมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นมาก เนื่องจากเป็นช่วงเริ่มต้นของการเปิด FTA และไม่ใช่ฤดูกาลผลไม้ของไทย อย่างไรก็ตาม คาดว่าในเดือนมีนาคมเป็นต้นไปปริมาณการส่งออกผักและผลไม้ไทยจะเพิ่มขึ้นมาก เนื่องจากผลไม้หลายชนิด เช่น ทุเรียน ลำไยและมังคุด เป็นต้น จะออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก
3. นอกจากนี้ การเปิดเสรีการค้าไทย-จีนเป็นช่วงปลายปี ซึ่งเป็นช่วงเทศกาลปีใหม่ทำให้ผู้บริโภคไทยมีความต้องการนำเข้าผักและผลไม้เมืองหนาวในปริมาณมาก โดยเฉพาะแอปเปิ้ล มีมูลค่าการนำเข้าถึงร้อยละ 34 ของมูลค่าการนำเข้าผักและผลไม้จากจีน
2. สรุปประเด็นปัญหาการค้าของผักและผลไม้ของไทย
1. การเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม
- ผู้ส่งออกสินค้าผักและผลไม้ของไทยไปจีน ร้องเรียนว่า จีนเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากสินค้านำเข้าในอัตราสูงกว่าที่เก็บจากสินค้าที่ผลิตในประเทศ โดยจีนมิได้เก็บภาษีมูลค่าเพิ่มกับผลไม้ (สินค้าเกษตร) ที่ปลูกในประเทศ ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่ผลไม้ส่งออกของไทย
การเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มของจีนมีระเบียบปฏิบัติเหมือนกันทั้งกับสินค้านำเข้าและสินค้าที่ผลิตภายในประเทศ และมีผลบังคับทั้งระดับรัฐบาลกลางและระดับมณฑล การเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากสินค้าเกษตรนำเข้าของจีนจึงเป็นไปอย่างถูกต้อง
2. การขอใบอนุญาตนำเข้า
- จีนกำหนดมาตรฐานบริษัท(Trading firm) ที่จะได้รับอนุญาตให้นำเข้าไว้สูง ที่ผ่านมา การนำเข้าจึงต้องอาศัยบริษัทจีนเป็นหลัก ในทางตรงกันข้าม บริษัทจีนสามารถเข้ามาร่วมทุนทำธุรกิจในไทยเพื่อการส่งออกได้
จีนกำลังปรับปรุงกฎหมายการค้าฉบับใหม่ และจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2547 เป็นต้นไป ซึ่งจะให้สิทธิผู้ส่งออก/นำเข้าของจีน สามารถดำเนินธุรกิจส่งออก/นำเข้ากับต่างประเทศได้โดยตรง โดยไม่จำเป็นต้องผ่าน Trading Firm ของจีน และดูแลด้วยระบบการขึ้นทะเบียนแทนการใช้ระบบใบอนุญาตในปัจจุบัน
3. ปัญหาด้านมาตรฐานสุขอนามัย
- การตรวจสอบด้านสุขอนามัยของจีนมีความเข้มงวดมาก และการปฏิบัติมีความแตกต่างกันแต่ละมณฑล ทำให้ขาดมาตรฐาน นอกจากนี้ การตรวจสอบ ณ เมืองท่า ใช้เวลานาน
- ก่อนการนำเข้าสินค้าเข้าสินค้าผักและผลไม้ บริษัทนำเข้าจะต้องขอ ใบอนุญาตด้านสุขอนามัย (Inspection Quarantine License) จากกระทรวงควบคุมคุณภาพและกักกันโรคของจีน (AQSIQ) ณ กรุงปักกิ่ง ไม่ว่าจะนำเข้าจากมณฑลใดล่วงหน้า และเมื่อสินค้ามาถึงท่า จะทำการตรวจสุขอนามัยอีกครั้ง
- การจดทะเบียนสวนทุเรียนและมะม่วงทำให้สินค้าจากสวนอื่นๆไม่สามารถเข้าตลาดจีนได้
รมว.เกษตรของไทยและรัฐมนตรีกระทรวงควบคุมและกักกันโรคของจีน ได้ลงนามใน MOU ว่าด้วยความร่วมมือด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2547 โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งสองฝ่ายได้เร่งหารือและทำความเข้าใจระหว่างกัน เพื่อให้มีระบบการตรวจสอบที่เท่าเทียมกัน ลดขั้นตอนและระยะเวลาในการตรวจสอบ ดังนี้
จีนกำหนดให้มีการขอใบอนุญาตสุขอนามัยล่วงหน้าที่ปักกิ่ง โดยหากสินค้าที่มาถึงตรงกับหลักฐานในใบอนุญาตแล้ว จีนจะปล่อยสินค้าออกทันที แต่จะเก็บตัวอย่างบางส่วนไว้ตรวจเท่านั้น
ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบที่จะมีการปรับปรุง protocol ทุเรียนและมะม่วง โดยในระหว่างนั้นจะปฏิบัติตาม protocol เดิมอยู่ โดยจีนพร้อมรับรายชื่อสวนทุเรียนและมะม่วงที่ขึ้นทะเบียนของไทยทุกสวน และสามารถเพิ่มสวนได้ตลอดเวลา ขณะนี้ ไทยกำลังเร่งจดทะเบียนรายชื่อสวนอยู่ รวมถึงการขยาย protocol ไปยังสินค้าอื่นๆที่เห็นว่าจำเป็น
4. ปัญหาด้านการคมนาคม
- การขนส่งสินค้าทางเรือของไทยไปจีน หลายครั้งต้องประสบปัญหาแม่น้ำตื้นเขิน เพราะจีนมีเขื่อนกักเก็บน้ำไว้ทางตอนบน ทางตอนเหนือของสิบสองปันนา
- ในส่วนของการขนส่งทางอากาศยังไม่มีปัญหา แต่จำนวนอากาศยานพาณิชย์ของไทยที่ขนส่งสินค้าเข้าจีนมีจำนวนไม่มากพอ ส่วนการขนส่งทางบกยังอยู่ในระหว่างเร่งการก่อสร้าง คาดว่าจะเสร็จภายในปี 2550 แต่การขนส่งภายในจีนยังไม่ดีพอ
ฝ่ายไทยอาจร่วมมือกับจีนในการเร่งพัฒนาในระบบคมนาคม เพื่อส่งเสริมการค้าระหว่างกันให้มากขึ้น
(ยังมีต่อ).../ปัญหา..

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ