(ต่อ1)การค้าทวิภาคีไทย-จีน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 24, 2004 11:39 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

                                ปัญหาการค้าของผักและผลไม้ของไทย
1. การเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม
ประเด็นปัญหา
ผู้ส่งออกสินค้าผักและผลไม้ของไทยไปจีน ร้องเรียนว่า จีนเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากสินค้านำเข้าในอัตราสูงกว่าที่เก็บจากสินค้าที่ผลิตในประเทศ โดยจีนมิได้เก็บภาษีมูลค่าเพิ่มกับผลไม้ (สินค้าเกษตร) ที่ปลูกในประเทศ ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่ผลไม้ส่งออกของไทย
ข้อเท็จจริง
1. จีนมีเพดานภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax: VAT) 3 อัตรา คือ
1) ร้อยละ 0 สำหรับสินค้าส่งออก
2) ร้อยละ 13 จำนวนสินค้า 19 หมวด อาทิ สินค้าเกษตร เครื่องจักรการเกษตร ก๊าซ ถ่านหิน หนังสือ ปุ๋ยเคมี
3) ร้อยละ 17 สำหรับสินค้าอื่นๆ
2. การเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มแบบเหมาจ่ายจะเก็บในอัตราร้อยละ 4 สำหรับธุรกิจขายส่งและขายปลีกขนาดเล็ก นอกจากนั้น ธุรกิจขนาดเล็กอื่นๆ จะเก็บที่ร้อยละ 6 ของยอดขายรายปี
3. ระบบการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มของจีน
สินค้าผลิตภายในประเทศ
การเก็บ VAT จะเก็บจากผู้ซื้อรายแรกที่ซื้อจากเกษตรกร (เกษตรกรไม่ต้องเสีย VAT) และเมื่อมีการขายสินค้าต่อแก่ผู้ซื้อคนต่อไป ผู้นำเข้าจะต้องเสีย VAT ร้อยละ 13 ในส่วนของมูลค่าหรือกำไรที่บวกเพิ่มขึ้น (หรือพ่อค้าคนกลางรายแรก) แต่จะสามารถขอ refund ภาษีที่ตนเสียไปเมื่อครั้งซื้อสินค้าจากเกษตรกรได้
สินค้านำเข้า
ผู้นำเข้าจะเป็นผู้ที่เสีย VAT 13% (ผู้ส่งออกไม่เสีย VAT) ขั้นแรก ณ ด่านศุลกากร และเมื่อมีการขายสินค้าต่อแก่ผู้ซื้อคนต่อไป ผู้นำเข้าจะต้องเสีย VAT ในส่วนของมูลค่าหรือกำไรที่บวกเพิ่มขึ้นมา (หรือพ่อค้าคนกลางรายแรก) แต่จะสามารถขอ refund ภาษีที่ตนเสียไปเมื่อนำเข้าสินค้าได้
หลังจากนั้น การเก็บภาษีจะเก็บในทุกขั้นตอนของมูลค่าเพิ่มเมื่อมีการเปลี่ยนมือสินค้า ซึ่งในทางปฏิบัติส่วนใหญ่ ผู้บริโภคจะรับภาระภาษีในฐานะผู้ซื้อคนสุดท้าย ดังนั้น การเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มของจีนจึงมีระเบียบปฏิบัติเหมือนกันทั้งกับสินค้านำเข้าและสินค้าที่ผลิตภายในประเทศ และมีผลบังคับใช้เหมือนกันในทั้งระดับรัฐบาลกลางและระดับมณฑล เพียงแต่ในบางมณฑลอาจมีการเก็บค่าธรรมเนียมอื่นๆที่แตกต่างกันได้ ซึ่งไม่ถือว่าเป็น VAT
อย่างไรก็ตาม จีนมีสิทธิเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราใดก็ได้ที่คิดว่าเหมาะสม แต่จะต้องเก็บภาษีดังกล่าวจากสินค้านำเข้าและสินค้าภายในประเทศในอัตราเดียวกัน ซึ่งประเทศไทยก็สามารถทำได้เช่นเดียวกันภายใต้ข้อผูกพันขององค์การการค้าโลก
ประเด็นพิจารณา
การเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากสินค้าเกษตรนำเข้าของจีน เป็นไปอย่างถูกต้อง ไทยไม่สามารถร้องเรียนกรณีดังกล่าว เนื่องจากจีนมิได้ละเมิดการกฎการประติบัติเยี่ยงคนชาติ (National Treatment)
2. การขอใบอนุญาตนำเข้า
ประเด็นปัญหา
- จีนกำหนดมาตรฐานบริษัท(Trading firm) ที่จะได้รับอนุญาตให้นำเข้าไว้สูง เช่น จะต้องมีทุนจดทะเบียน ตั้งแต่ 1 ล้านหยวน (RMB) ขึ้นไป ต้องมีประสบการณ์ด้านการค้าขายกับจีน และมีปริมาณการค้ากับจีนสูง เป็นต้น
- เนื่องจากจีนกำหนดมาตรฐานบริษัทนำเข้าไว้สูง ส่งผลให้ที่ผ่านมาการนำเข้าต้องอาศัยบริษัทจีนเป็นหลัก โดยผู้ประกอบการต้องใช้บริการของบริษัทนายหน้า (เป็น Joint Venture จีน-ฮ่องกง หรือ บ.ฮ่องกง) ซึ่งมีการเรียกเก็บค่าบริการในอัตราที่ค่อนข้างสูง กอปรกับผู้ส่งออกไทยไม่มีอำนาจในการต่อรองราคา เนื่องจากบริษัทเหล่านี้สามารถเจรจาต่อรองกับทางการจีนให้สามารถนำ สินค้าไปยังผู้บริโภคได้ตามกำหนดเวลา ในทางตรงกันข้าม บริษัทจีนสามารถเข้ามาร่วมทุนทำธุรกิจในไทยเพื่อการส่งออกได้
ข้อเท็จจริง
- ในเรื่องทุนจดทะเบียน จีนผูกพันไว้กับ WTO เมื่อเดือนธันวาคม 2544 ในเรื่องที่ธุรกิจของจีนที่สามารถประกอบธุรกรรมนำเข้า/ส่งออก (Trading firm) ไว้ว่า ภายหลังจากการเข้าเป็นสมาชิก WTO ธุรกิจนำเข้า/ส่งออกถูกกำหนดให้มีทุนจดทะเบียนลดหลั่นกันในแต่ละปี ดังนี้
ปี 2545 ต้องมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 5 ล้านหยวน (RMB)
ปี 2546 ต้องมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 3 ล้านหยวน (RMB)
ปี 2547 ทุนจดทะเบียนลดลงเหลือ 1 ล้านหยวน (RMB)
หลังจากนั้น (ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2548) จีนจะยกเลิกข้อกำหนดเรื่องทุนจดทะเบียน
ปัจจุบัน จีนได้ผ่อนปรน ให้ธุรกิจที่มีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 5 แสนเหรินหมินบี้ ประกอบธุรกิจนำเข้า/ส่งออกได้
- ทางการจีนได้กำหนดเงื่อนไขการตั้งบริษัทนำเข้า-ส่งออกสำหรับนักลงทุนต่างชาติ (ยกเว้นฮ่องกงและมาเก๊า)ไว้ คือ ต้องมีทุนจดทะเบียนตั้งบริษัทร่วมทุนมากกว่า 50 ล้านหยวน (ประมาณ 6.04 ล้านเหรียญฯ) และมียอดการค้าขายเฉลี่ยในช่วงดำเนินธุรกิจติดต่อกัน 3 ปี มากกว่า 30 ล้านเหรียญฯ
- สำหรับขั้นตอนในการขอใบอนุญาตนำเข้า กระทรวงพาณิชย์จีนระบุว่า ผู้นำเข้ารายใหม่ต้องยื่นเรื่องขอสิทธิในการนำเข้าและต้องมีการตรวจสอบประวัติ โดยใช้เวลาเดินเรื่อง 30 วัน สำหรับบริษัทผู้นำเข้ารายเดิม หากต้องการเปลี่ยนประเภทของสินค้านำเข้าต้องใช้เวลาเดินเรื่อง 15 วัน
สถานะล่าสุด
- ปัจจุบัน จีนได้ผ่อนปรน ให้ธุรกิจที่มีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 5 แสนหยวนประกอบธุรกิจนำเข้า/ส่งออกได้
- จีนกำลังปรับปรุงกฎหมายการค้าฉบับใหม่ และจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2547 เป็นต้นไป กฎหมายฉบับใหม่ดังกล่าว รวมถึงการให้สิทธิผู้ส่งออก/นำเข้าของจีน สามารถดำเนินธุรกิจส่งออก/นำเข้ากับต่างประเทศได้โดยตรง โดยไม่จำเป็นต้องผ่าน Trading Firm ของจีน และอาจกำกับ ดูแลด้วยระบบการขึ้นทะเบียนแทนการใช้ระบบใบอนุญาตในปัจจุบัน (แต่ทั้งนี้ระบบการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศเพื่อป้องกันการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ดำเนินการค้าระหว่างประเทศจะยังคงใช้อยู่)
ประเด็นพิจารณา
เมื่อกฎหมายที่ปรับปรุงใหม่ของจีนมีผลบังคับใช้ จะเปิดโอกาสให้ผู้นำเข้าขนาดกลางและเล็กของจีนที่มีความสนใจนำเข้าผักและผลไม้ของไทยมีโอกาสนำเข้าสินค้าจากไทยมากขึ้น ภาครัฐควรส่งเสริมให้ภาคเอกชนไทยร่วมทุนกับนักธุรกิจจีนหรือนักธุรกิจฮ่องกง/มาเก๊า เพื่อขยายการนำเข้าผักและผลไม้จากไทยมากขึ้น
3. ปัญหาด้านมาตรฐานสุขอนามัย
ประเด็นปัญหา
- การตรวจสอบด้านสุขอนามัยของจีนมีการตรวจสอบหลายครั้ง ใช้ระยะเวลาในการตรวจสอบนาน และมีความเข้มงวดมาก โดยไม่แจ้งระยะเวลาที่ชัดเจนในการแจ้งผลการตรวจ และในบางกรณีไม่มีหลักฐานแสดงการตรวจให้แก่ผู้ส่งออกไทยเมื่อตรวจพบสารปนเปื้อน และการปฏิบัติมีความแตกต่างกันแต่ละมณฑล ทำให้ขาดมาตรฐาน นอกจากนี้ การตรวจสอบ ณ เมืองท่า ใช้เวลานาน ทำให้การกระจายสินค้าสู่มณฑลต่างๆต้องใช้เวลานาน
- ก่อนการนำเข้าสินค้าเข้าสินค้าผักและผลไม้ บริษัทนำเข้า (Trading firm) จะต้องขอ ใบอนุญาตด้านสุขอนามัย (Inspection Quarantine License) จากกระทรวงควบคุมคุณภาพและกักกันโรคของจีน (AQSIQ) ณ กรุงปักกิ่ง ไม่ว่าจะนำเข้าจากมณฑลใดก็ตาม ซึ่งเฉลี่ยใช้ระยะเวลาประมาณ 30 วัน และใบอนุญาตดังกล่าวจะมีอายุ 3 เดือน โดยจะต้องเสียค่าธรรมเนียมขอใบอนุญาตชุดละ 20 หยวน และเมื่อสินค้ามาถึงท่า จะต้องทำการตรวจสุขอนามัยอีกครั้ง โดยในแต่ละมณฑลจะมีความเข้มงวดในการตรวจที่ไม่เท่ากัน เช่น ด่านกวางโจวจะมีความเข้มงวดมากกว่าด่านอื่นๆ
- การจดทะเบียนสวนทุเรียนและมะม่วงทำให้สินค้าจากสวนอื่นๆไม่สามารถเข้าตลาดจีนได้
ข้อเท็จจริง
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของไทยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงควบ- คุมและกักกันโรคของจีน ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วมกันว่าด้วยความร่วมมือด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2547 ณ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีสาระสำคัญในกรอบกว้าง คือ
(1) มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน และจัดตั้งหน่วยประสานงานโดยตรงในกรณีเกิดปัญหาด้านสุขอนามัยขึ้น
(2) จะมีการนำระบบ MRA มาใช้ รวมถึงการตรวจสอบย้อนกลับ (trace back)
(3) หากมีปัญหาเกิดขึ้น จะจำกัดการนำเข้าเฉพาะชุดสินค้าที่มีปัญหาเท่านั้น ฯลฯ
- MOU ดังกล่าวเป็นการตกลงกันในกรอบกว้าง ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายจะได้มีการทำพิธีสารยอมรับสินค้าร่วมกันเฉพาะเป็นรายสินค้า เช่น ทุเรียน มะม่วง มังคุด ต่อไป
- เมื่อวันที่ 12-13 พฤษภาคม 2547 ปลัดกระทรวงเกษตรฯของไทย ได้นำคณะไปเยือนกระทรวงควบคุมคุณภาพและตรวจสอบกักกันโรคของจีน (AQSIQ) เพื่อเจรจาแก้ไขปัญหาการส่งออกสินค้าเกษตร มีประเด็นที่สำคัญดังนี้
(1) กระบวนการการนำเข้าของจีน จีนได้ชี้แจงถึงกระบวนการการนำเข้าของจีน ที่กำหนดให้มีการขอใบอนุญาตสุขอนามัยล่วงหน้าที่ปักกิ่ง เนื่องจาก AQSIQ ส่วนกลางเป็นผู้มีอำนาจในการสั่งการให้มีการนำเข้าที่เมืองท่า โดยจะมีข้อมูลล่วงหน้าว่าจะมีสินค้าชนิดใด ปริมาณเท่าไหร่เข้ามา และเนื่องจากขณะนี้ จีนกำลังปรับปรุงระบบการนำเข้า โดยหากสินค้าที่มาถึงตรงกับหลักฐานในใบอนุญาตแล้ว จีนจะปล่อยสินค้าออกทันที แต่จะเก็บตัวอย่างบางส่วนไว้ตรวจเท่านั้น จนกว่าจะเจอสารตกค้างมากขึ้น จึงจะแจ้งมายังฝ่ายไทยขอระงับการนำเข้า
(2) การส่งออกสินค้าเกษตรของจีน จีนใช้ระบบขึ้นทะเบียนสวนที่สามารถส่งสินค้าออกได้ โดยเห็นว่าระบบนี้จะทำให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับหากสินค้าถูกระบุว่ามีปัญหา จีนจึงต้องการให้ระบบขึ้นทะเบียนนี้กับสินค้านำเข้าเช่นเดียวกัน
(3) เรื่อง Protocol ผลไม้ ปัจจุบันพิธีสารในเรื่องการรับรองสวนทุเรียนและมะม่วงได้หมดอายุแล้ว ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะปรับปรุง Protocol ฉบับนี้ ให้เปิดกว้างมากขึ้น โดยไทยเห็นว่าไม่ควรมีการจำกัดสวนที่จะส่งออก เพราะเป็นการปิดโอกาสสวนที่ได้มาตรฐานอื่นๆ ซึ่งจีนแจ้งว่าพร้อมรับรายชื่อสวนที่ขึ้นทะเบียนของไทยที่แจ้งมาทุกสวน และสามารถเพิ่มสวนได้ตลอดเวลา ขณะนี้ ไทยกำลังรวบรวมรายชื่อสวนอยู่ ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายจะเจรจาในรายละเอียดต่อไป รวมถึงขยายไปถึงผลไม้อื่นๆด้วย
- อย่างไรก็ตาม กฎหมายจีนได้เปิดทางให้ว่า ในกรณีที่สินค้าถูกกล่าวหาว่ามีสารปนเปื้อน ผู้นำเข้าสามารถยื่นอุทธรณ์ต่อ หน่วยงานที่ทำการตรวจได้ โดยสามารถยื่นอุทธรณ์ได้ภายใน 15 วัน และหน่วยงานที่รับอุทธรณ์จะต้องตัดสินภายใน 15 วัน หลังจากได้รับคำร้องดังกล่าว ดังนั้น จึงเห็นควรให้สำนักงานส่งเสริมการค้า หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน จัดเตรียมแบบฟอร์มคำร้องขออุทธรณ์ไว้ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่สินค้านำเข้าของไทยให้สามารถอุทธรณ์ได้ทันเวลา มิฉะนั้นจะหมดสิทธิในการร้องเรียน
- ปัญหาในส่วนของไทย นโยบายการตรวจสอบมาตรฐานสินค้าเกษตรก่อนการส่งออกของไทยเป็นอุปสรรคหนึ่งที่สำคัญต่อการส่งออกสินค้าผลไม้ของไทย เนื่องจากจำนวนเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจในการตรวจสอบมีจำนวนจำกัด ทำให้ไม่ทันต่อการส่งออก
ประเด็นพิจารณา
- สนับสนุนให้ทั้งสองฝ่ายลงนามในพิธีสารยอมรับร่วมกันเป็นรายสินค้าโดยเร็ว รวมถึงครอบคลุมสินค้าให้มากรายการที่สุด เพื่อให้มีระบบการตรวจสอบที่เท่าเทียมกัน ลดขั้นตอนและระยะเวลาในการตรวจสอบด้านสุขอนามัยของสินค้าผักและผลไม้ซึ่งเป็นสินค้าที่เน่าเสียได้ง่าย
และขอให้การดำเนินการตรวจสอบด้านสุขอนามัยของจีนมีมาตรฐานเหมือนกันในทุกมณฑล
4. ปัญหาด้านการคมนาคม
ประเด็นปัญหา
- การขนส่งสินค้าทางเรือของไทยไปจีน หลายครั้งต้องประสบปัญหาแม่น้ำตื้นเขิน เพราะจีนมีเขื่อนกักเก็บน้ำไว้ทางตอนบน ทางตอนเหนือของสิบสองปันนา
- การขนส่งทางอากาศยังไม่มีปัญหา แต่จำนวนอากาศยานพาณิชย์ของไทยที่ขนส่วสินค้าเข้าจีนมีจำนวนไม่มากพอ ไม่สามารถรองรับการขยายตัวของการค้าผัก-ผลไม้ได้
- การขนส่งทางบกยังอยู่ในระหว่างเร่งการก่อสร้าง คาดว่าจะเสร็จภายในปี 2550 อย่างไรก็ตาม เส้นทางบกยังถือว่ามีต้นทุนที่สูง นอกจากนี้ ระบบการขนส่งทางบกในจีนยังไม่ดีพอทั้งในแง่ของความพอเพียงและความปลอดภัยของสินค้า
ข้อเท็จจริง
การขนส่งทางเรือในแม่น้ำโขง
1. ปัจจุบันไม่มีกฎระเบียบ ข้อบังคับ หรือข้อตกลงที่เป็นข้อกีดกันในการขนส่งสินค้าทางแม่น้ำโขงจากไทยไปยังจีน อย่างไรก็ตาม สภาพธรรมชาติของแม่น้ำโขงเอื้อประโยชน์ต่อการขนส่วจากจีนลงมาทางใต้มากกว่าการเดินเรือขึ้นไป โดยการขนส่งจากจีนลงมาใช้เวลา 12 ชั่วโมง แต่หากเป็นการเดินเรือขึ้นไปใช้เวลา 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ ฝ่ายจีนยังมีประสบการณ์ในการเดินเรือในแม่น้ำโขงมากกว่า และมีความเสี่ยงน้อยกว่าในการถูกปล้นด้วย
นอกจากนี้ หลายครั้งที่การขนส่งสินค้าจากไทยขึ้นไปจีน ต้องประสบปัญหาแม่น้ำตื้นเขิน โดยเฉพาะในหน้าแล้ง และจีนได้มีการสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำไว้ทางตอนบนทางเหนือของสิบสองปันนา
การขนส่งทางอากาศ
2. ตั้งแต่เดือนมกราคม 2547 เป็นต้นมา ไทยและจีนได้ตกลงปรับปรุงสิทธิการบินระหว่างกันโดยจะไม่มีข้อจำกัดในเส้นทางบิน การขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร จึงยังไม่มีปัญหาในส่วนที่ต้องให้จีนแก้ไข
การขนส่งทางบก
3. การขนส่งทางบกยังอยู่ในระหว่างเร่งการก่อสร้าง คาดว่าจะเสร็จภายในปี 2550 อย่างไรก็ตาม เส้นทางบกยังถือว่ามีต้นทุนที่สูง. จึงอาจพิจารณาสร้างทางรถไฟเชื่อมระหว่างภาคเหนือของไทยและจีนตอนใต้ เพื่อเป็นทางเลือกหนึ่งด้วย
ประเด็นพิจารณา
ฝ่ายไทยน่าจะขอความร่วมมือจากฝ่ายจีนให้ทั้งสองฝ่ายร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหานี้
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (66) 2282-6171-9 แฟกซ์ (66) 2280-0775
-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ