นายวัฒนา เมืองสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะผู้แทนฝ่ายไทย ได้ร่วมลงนามพิธีสารกรอบความตกลงเขตการค้าเสรี BIMST-EC นอกจากนี้ ผู้ที่จะร่วมลงนามในพิธีสารฯ ได้แก่ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศพม่า เอกอัครราชทูตบังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย เนปาลและศรีลังกา ที่ได้รับมอบอำนาจ โดยพิธีสารดังกล่าวมีสาระสำคัญคือ รับบังกลาเทศเป็นสมาชิกกรอบความตกลงฯ รวมถึงแก้ไขเพิ่มชื่อบังกลาเทศในตารางการลดภาษีสินค้า ทั้งนี้ กรอบความตกลงฯ จะมีผลบังคับในวันที่ 30 มิถุนายน 2547 โดยไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมคณะกรรมการเจรจาการค้าเพื่อจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรี BIMST-EC ต่อไป
สำหรับสาระสำคัญของกรอบความตกลงจะครอบคลุมเรื่องต่างๆ ได้แก่ การค้าสินค้า การเจรจาลด/ยกเว้นภาษีศุลกากรระหว่างสมาชิก โดยแบ่งเป็น Fast Track Normal Track และNegative List ซึ่งจะเริ่มเจรจาเดือนกรกฎาคม 2547 และเสร็จภายในเดือนธันวาคม ปี 2548 สำหรับการค้าบริการ และการลงทุน ให้เริ่มเจรจาในปี 2548 และเสร็จสิ้นภายในปี 2550 โดยสมาชิกด้อยพัฒนาจะได้รับสิทธิพิเศษในด้านต่างๆ เช่นได้รับประโยชน์จากการลดภาษีที่เร็วกว่า และลดภาษีให้สมาชิกกำลังพัฒนาอื่นๆ ช้ากว่า เป็นต้น
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากการที่ประเทศไทย เป็นเจ้าภาพจัดประชุมรัฐมนตรีการค้า/เศรษฐกิจ BIMST-EC ครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 7-8 กุมภาพันธ์ 2547 ณ จังหวัดภูเก็ต รัฐมนตรีการค้า/เศรษฐกิจของ BIMST-ECได้ลงนามกรอบความตกลงเขตการค้าเสรี BIMST-EC ยกเว้นบังกลาเทศที่ยังไม่พร้อมจะร่วมลงนาม ต่อมาเมื่อเดือนเมษายน 2547 บังกลาเทศได้แจ้งว่าพร้อมจะร่วมลงนามกรอบความตกลง BIMST-EC FTA ในฐานะประเทศสมาชิกผู้ก่อตั้ง
อนึ่ง ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ BIMST-EC (Bangladesh-India-Myanmar-Sri Lanka-Thailand Economic Cooperation) จัดตั้งขึ้นเมื่อ ปี 2540 มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคม และส่งเสริมผลประโยชน์ร่วมกันในด้านเศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี และการให้ความช่วยเหลือระหว่างประเทศสมาชิก ปัจจุบันมีสมาชิกรวม 7 ประเทศ ได้แก่ บังกลาเทศศรีลังกา อินเดีย พม่า ไทย รวมทั้งเนปาล และภูฏาน ซึ่งได้เข้าเป็นสมาชิกสมบูรณ์ เมื่อ เดือนธันวาคม 2546
ปี 2546 การค้าของไทยกับกลุ่มประเทศ BIMST-EC (7 ประเทศ) มีมูลค่า 3,354.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นสัดส่วนร้อยละ 2.16 ของมูลค่าการค้าไทยกับโลก โดยเป็นการส่งออก1,538.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และการนำเข้า 1,815.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งนี้ สินค้าสำคัญที่ไทยมีการส่งออกไปประเทศ BIMST-EC จะเป็นสินค้าอุตสาหกรรมและสินค้าอุปโภคบริโภค ได้แก่ เม็ดพลาสติก ผ้าผืนปูนซีเมนต์ เคมีภัณฑ์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องยนต์และส่วนประกอบ และน้ำตาลทราย สินค้าสำคัญที่ไทยมีการนำเข้าส่วนใหญ่เป็นสินค้าประเภทวัตถุดิบ ได้แก่ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ สินแร่โลหะอื่นๆ และเศษโลหะ เคมีภัณฑ์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ไม้ซุง ไม้แปรรูปและไม้อื่นๆ กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง กากพืชน้ำมัน และน้ำมันสำเร็จรูป
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (66) 2282-6171-9 แฟกซ์ (66) 2280-0775
-พห-