กระทรวงพาณิชย์จัดสัมมนา “ผลการเจรจา FTA ไทย-ออสเตรเลีย : โอกาสและการปรับตัว”

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 28, 2004 14:49 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

        กระทรวงพาณิชย์จัดสัมมนา “ผลการเจรจา FTA ไทย-ออสเตรเลีย : โอกาสและการปรับตัว” เป็นเวทีเผยแพร่สาระสำคัญของความตกลงให้แก่หน่วยงานราชการ ภาคเอกชน เตรียมพร้อมรับการเปิด FTA ต้นปีหน้า 
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ จัดงานสัมมนา “ผลการเจรจา FTA ไทย-ออสเตรเลีย : โอกาสและการปรับตัว” รับฟังความคิดเห็นผู้ประกอบการ และร่วมกันกำหนดมาตรการรองรับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น เพื่อก้าวเข้าสู่การเปิดการค้าเสรีอย่างมีประสิทธิภาพในวันที่ 1 มกราคม 2548
การเจรจาการค้าเสรีไทย — ออสเตรเลีย มีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาการใช้มาตรการที่มิใช่ภาษี โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (Sanitary and Phytosanitary Measures : SPS) และมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-dumping Measures) ขณะนี้การเจรจาเสร็จสิ้นแล้ว โดยคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบตกลงการเสรีไทย — ออสเตรเลีย อย่างเป็นทางการต่อไป โดยการจัดทำความตกลงการค้าเสรีระหว่างสองประเทศจะทำให้สินค้าของไทยสามารถส่งออกไปยังออสเตรเลียได้มากขึ้น
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้เชิญผู้แทนจากกระทรวงต่าง ๆ ผู้แทนจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้ง นักวิชาการ และ NGO เข้าร่วมประชุมหารือหลายครั้ง เพื่อร่วมให้ข้อมูล แสดงความคิดเห็น ในประเด็นที่เกี่ยวข้องซึ่งอาจจะได้รับผลกระทบ ซึ่งผลที่ได้จากการหารือหลายรอบนั้นจะเป็นแนวทางให้รัฐบาลในการเจรจากับประเทศต่างๆ ต่อไป
นายการุณ กิตติสถาพร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “ความตกลงฯ ฉบับนี้เป็นความตกลงการค้าเสรีสองฝ่ายฉบับแรกของไทยที่จัดทำกับประเทศที่พัฒนาแล้ว เป็นความตกลงที่มีขอบเขตกว้างขวาง (Comprehensive) โดยไทยจะได้รับประโยชน์จากการที่ออสเตรเลียลดภาษีเป็น 0 สำหรับสินค้ากว่าร้อยละ 83 ของรายการสินค้าทั้งหมดทันที เมื่อความตกลงมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2548 เช่น สินค้าผัก และผลไม้สด สับปะรดกระป๋องและน้ำสับปะรด อาหารสำเร็จรูป กระดาษ อัญมณีและเครื่องประดับ รถยนต์ขนาดเล็กและรถปิกอัพ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 58,912 ล้านบาท และสำหรับรายการสินค้าที่เหลือทั้งหมดจะลดภาษีเป็น 0 ภายในปี พ.ศ. 2553 ยกเว้นเสื้อผ้าสำเร็จรูป ที่ออสเตรเลียจะทยอยลดภาษีเป็น 0 ภายในปี พ.ศ. 2558 ในทางกลับกันไทยจะลดภาษีเป็น 0 สำหรับสินค้าที่นำเข้าจากออสเตรเลียเกือบร้อยละ 50 ของรายการสินค้าทั้งหมด เมื่อความตกลงฯ มีผลบังคับใช้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าวัตถุดิบที่ไทยต้องนำเข้า เช่น สินแร่, เชื้อเพลิง, เคมีภัณฑ์, หนังดิบและหนังฟอก คิดเป็นมูลค่าประมาณ 50,483 ล้านบาทและค่อยๆ ทยอยลดภาษีเป็น 0 สำหรับรายการสินค้าที่เหลืออีกร้อยละ 45 ภายในปี พ.ศ. 2553 ส่วนที่เหลือซึ่งเป็นสินค้าอ่อนไหวจะทยอยลดเป็น 0 ในปี พ.ศ. 2558 — 2568”
“อย่างไรก็ตาม ภายใต้ความตกลงฯ นี้ ไทย-ออสเตรเลีย ตกลงที่จะให้มีการใช้มาตรการปกป้องพิเศษ (Special Safeguard Measures) สำหรับสินค้าเกษตรที่เป็นสินค้าอ่อนไหว เพื่อให้ระยะเวลาในการปรับตัวแก่ผู้ผลิตภายในประเทศ ตัวอย่างเช่น หากมีการนำเข้านมผงหรือกระเทียมมากกว่าปริมาณที่กำหนดไว้ ไทยสามารถขึ้นภาษีตามอัตราเดิมก่อนการตกลงเขตการค้าเสรีหรือตามอัตราภาษี MFN (Most Favoured Nation Treatment) สำหรับประเทศไทยได้กำหนดให้มีการใช้มาตรการปกป้องพิเศษสำหรับสินค้า 23 รายการ เช่น เนื้อวัวและเนื้อหมู (สด แช่เย็น และแช่แข็ง) เครื่องในวัวและเครื่องในหมู (สด แช่เย็น แช่แข็ง) เครื่องในสัตว์อื่นๆ ทั้งนี้ไทยสามารถใช้มาตรการนี้ได้จนถึงปี พ.ศ. 2558 และ พ.ศ. 2563 สำหรับสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมอื่นๆ หากมีการนำเข้าเพิ่มมากขึ้นอันมีสาเหตุมาจากการลดภาษีจนทำให้อุตสาหกรรมภายในเสียหายก็สามารถใช้มาตรการปกป้อง (Bilateral Safeguards) ได้เป็นการชั่วคราว เพื่อให้อุตสาหกรรมภายในมีการปรับตัว” นายการุณ กล่าว
สำหรับการเปิดเสรีการค้าสินค้าเกษตร นางกาญจนา สิงหอำไพ เจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน 9 ชช กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ “สินค้าของไทยที่มีมูลค่าส่งออกอันดับต้นๆ ได้แก่ ปลาทูน่ากระป๋อง, กุ้งกุลาดำแช่เย็น และอาหารปรุงแต่งอื่นๆ และสินค้านำเข้าที่มีมูลค่าสูงได้แก่ ฝ้าย, ข้าวสาสี และข้าวมอลต์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตและแปรรูป โดยได้มีการเตรียมความพร้อมด้านการเปิดเสรีการค้าสินค้าเกษตร ประกอบด้วยการพัฒนางานวิจัยและเทคโนโลยีเชิงพาณิชย์, การพัฒนาระบบการตรวจสอบคุณภาพผลผลิตตั้งแต่แหล่งผลิตไปจนถึงผู้บริโภคและสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้, การถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ภาคการผลิต สามารถนำไปสู่การใช้ประโยชน์ การปรับปรุงขบวนการผลิต หรือการผลิตผลิตภัณฑ์เพื่อการส่งออกและทดแทนการนำเข้า, การประชาสัมพันธ์อาหารไทยสู่โลก และการสร้างแผนยุทธศาสตร์ความร่วมมือด้านการผลิต การตลาด เพื่อเพิ่มโอกาสการลงทุนร่วมกันในการเจาะตลาดในประเทศอื่นๆ”
นางกาญจนา กล่าวเพิ่มเติมว่า “สำหรับธุรกิจโคนมและโคเนื้อที่ผู้ประกอบการเกรงว่าจะได้รับผลกระทบนั้น นอกจากที่จะมีการใช้มาตรการปกป้องพิเศษและมีระยะเวลาในการลดภาษีลงเหลือ 0 ในเวลา 20 ปีแล้ว ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกำลังจัดทำแผนยุทธศาสตร์โคนมและโคเนื้ออย่างเร่งด่วน เพื่อใช้คุ้มครองเกษตรกร และผู้ประกอบการของไทย รวมทั้งจะได้ทำความเข้าใจและให้คำปรึกษาในการปรับตัวที่ถูกต้อง ส่วนสินค้าเกษตรที่เป็นสินค้าอ่อนไหวของไทยเช่นมันฝรั่งสดแช่แข็ง ชา กาแฟดิบและพร้อมดื่ม ข้าวโพด น้ำตาล จะกำหนดโควตานำเข้าพิเศษ และมีระยะเวลาลดภาษีลงเหลือ 0 ในเวลา 15 ปี และสินค้าเกษตรที่ไม่ได้มีการนำเข้าก็ลดภาษีให้เป็น 0 ในวันแรกที่กำหนดเปิดเขตการค้าเสรี”
ดร.สมชัย สัจจพงษ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวถึงการเปิดเสรีการค้าสินค้าอุตสาหกรรม ว่า “อุตสาหกรรมที่ไทยจะได้รับประโยชน์ได้แก่รถปิกอัพ รถยนต์ขนาดเล็ก ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ คิดเป็นมูลค่า 25.4 พันล้านบาท และร้อยละ 85 ของจำนวนรถปิกอัพนำเข้ามาจากประเทศไทย โดยผู้ประกอบการของไทยไม่น่าจะมีผลกระทบในอุตสาหกรรมนี้ เนื่องจากออสเตรเลียมีความสามารถในการผลิตรถยนต์ขนาดใหญ่ เกิน 10 ที่นั่ง และมีความจุกระบอกสูบตั้งแต่ 3,000 ซีซี ขึ้นไป จึงเป็นคนละตลาดกัน สำหรับสินค้าสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูป ผู้ประกอบการก็จะได้รับผลประโยชน์ในด้านภาษีการนำเข้าที่ลดลง ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตลดลง รวมทั้งการเปิดการค้าเสรีกับออสเตรเลียก่อนประเทศคู่แข่งด้านสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทย เช่น จีน อินเดีย อินโดนีเซีย ซึ่งมีกำลังในการผลิตสูงและมีแรงงานราคาถูก จะทำให้ไทยช่วงชิงความได้เปรียบในการเปิดตลาดก่อน”
สำหรับการค้าบริการและการลงทุน นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า “การเจรจาการค้าบริการและการลงทุนจะมีการเจรจาทุกๆ 3 ปี และไทยมีเงื่อนไขว่าจะไม่แก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการค้าบริการและการลงทุน ซึ่งในการเจรจาในรอบแรกจะไม่รวมธุรกิจโทรคมนาคม, ธนาคาร และที่ไม่ใช่ธนาคาร, ประกันภัย ทั้งนี้เพราะยังไม่มีหน่วยงานที่เป็นรูปธรรมมารองรับทางด้านกฎหมายและไทยยังไม่มีความพร้อมเท่าทีควร ทางด้านออสเตรเลียจะเปิดตลาดให้ผู้ลงทุนหรือผู้ให้บริการในไทยเข้าจัดตั้งธุรกิจในออสเตรเลียทุกประเภทได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ยกเว้นธุรกิจที่มีผลต่อความมั่นคงต่อประเทศ ประกอบด้วยหนังสือพิมพ์ กระจายเสียง การบินระหว่างประเทศ และท่าอากาศยาน โดยต้องปฏิบัติตามนโยบายการลงทุนต่างประเทศและกฎหมาย (Foreign Acquisitions and Takeovers Act — FATA) นอกจากนี้ยังยกเลิกเงื่อนไขที่ต้องทดสอบตลาดแรงงานในประเทศก่อนจ้างคนจากต่างประเทศให้แก่ไทยเป็นการถาวร รวมทั้งอนุญาตให้คนไทยไปทำงานในตำแหน่งผู้บริหาร ผู้จัดการ และผู้เชี่ยวชาญในออสเตรเลียตามเงื่อนไขที่กำหนด”
นายการุณ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ก่อนที่คณะเจรจาจะร่างกรอบความตกลงเขตการค้าเสรีนั้น จะมีการศึกษาถึงผลกระทบ รวมทั้งจัดประชุมและสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นของทั้งหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องและผู้ประกอบการภาคเอกชน รวมทั้งมีการจัดประชุมกลุ่มใหญ่และกลุ่มย่อยหลายรอบ โดยผ่านทางสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เพื่อสรุปแนวทางในการเจรจาให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดแก่ทุกฝ่ายและประเทศโดยรวม หลังจากข้อตกลงมีผลบังคับใช้ 1 ปีจะมีการประชุมติดตามผลในระดับคณะกรรมาธิการร่วม FTA (FTA Joint Committee) เพื่อทบทวนข้อตกลง และจะมีการประชุมในระดับรัฐมนตรีทุกๆ 5 ปี เพื่อเจรจาแก้ไขข้อตกลงเขตการค้าเสรีให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันต่อไป”
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
ณิชนันท์ เจียมสิริ (01-565-9546) , พิธิมา รัตนรังสิกุล (09-003-7576)
โทร.0-2631-2290-5
www.thaifta.com
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (66) 2282-6171-9 แฟกซ์ (66) 2280-0775
-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ