ความเห็นและข้อเสนอแนะ
เกี่ยวกับคำสั่งปิดบ่อน้ำบาดาลของนายกรัฐมนตรี : มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 27 เมษายน 2547
1. ความเป็นมา
สืบเนื่องจากสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีลงวันที่ 2 ธันวาคม 2546 เกี่ยวกับคำสั่งปิดบ่อน้ำบาดาลของนายกรัฐมนตรีในพื้นที่เขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 7 จังหวัดซึ่งได้กำหนดการอนุญาตให้ใช้น้ำบาดาลในได้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2546 และต่อมาได้มีการผ่อนผันกำหนดการปิดบ่อน้ำบาดาลไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2547
อนึ่งเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2547 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้กำหนดค่าอนุรักษ์ น้ำบาดาลในเขตวิกฤตการณ์น้ำบาดาล (กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร นครปฐม และพระนครศรีอยุธยา) ลูกบาศก์เมตรละ 8.50 บาท โดยทยอยขึ้นไตรมาสละ 1.00 บาทต่อลูกบาศก์เมตร นอกเหนือจากค่าใช้น้ำบาดาลซึ่งเก็บอยู่แล้วจำนวน 8.50 บาท ซึ่งจะมีผลให้ผู้ใช้น้ำบาดาลต้องรับภาระค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นลูกบาศก์เมตรละ 17 บาท ถือได้ว่าสร้างผลกระทบโดยตรงต่อสภาพเศรษฐกิจ และสังคมโดยรวม และเชื่อมโยงไปถึงประเด็นความเป็นธรรมกับผู้ใช้น้ำบาดาลเป็นอย่างมาก สภาที่ปรึกษาฯเห็นสมควรที่จะศึกษาในสาระสำคัญ ปัญหา และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้ใช้น้ำบาดาลในบริเวณกรุงเทพมหานคร และปริมณฑลเพื่อจัดทำความเห็นและข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้เป็นการดำเนินการตามภารกิจของสภาที่ปรึกษาฯภายใต้มาตรา 89 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540
2. การดำเนินการของสภาที่ปรึกษาฯ
สภาที่ปรึกษาฯโดยคณะทำงานศึกษาและอนุรักษ์แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำบางปะกงได้ทำการศึกษาสาระสำคัญ และพิจารณาศึกษาปัจจัยสำคัญเรื่องนี้ใน 8 ประเด็นสำคัญได้แก่
1) ข้อมูลการทรุดตัวของแผ่นดิน
2) ข้อมูลของการใช้น้ำบาดาล
3) ข้อมูลความถี่ของการใช้น้ำบาดาลในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล
4) การแทนที่ของน้ำเค็มและ น้ำจืด
5) ศักยภาพของน้ำบาดาลในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล
6) ความเป็นธรรมในกรณีที่รัฐจะเก็บค่าใช้น้ำบาดาลในอัตรา ลบ.ม.ละ 8.50 บาทและค่าอนุรักษ์น้ำบาดาลในอัตราลบ.ม.ละ 8.50 บาท
7) น้ำบาดาลเป็นทรัพยากรธรรมชาติซึ่งควรนำมาใช้เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคม
8) การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำบาดาล และน้ำผิวดินด้วยปรัชญา หลักการและเหตุผล
ทั้งนี้คณะทำงานฯ ดำเนินการศึกษาโดย
1) รวบรวมเอกสารและข้อมูลจากแหล่งต่างๆ
2) จัดเสวนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
3) การจัดประชุมกลุ่มย่อยโดยเชิญนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญจากองค์กรที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ และ
ภาคเอกชนมาร่วมให้ความคิดเห็น
3. ปัญหาและผลกระทบจากมติคณะรัฐมนตรี 27 เมษายน 2547
3.1 ค่าอนุรักษ์น้ำบาดาล 8.50 บาท
การที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้เก็บค่าอนุรักษ์น้ำบาดาลลูกบาศก์เมตรละ 8.50 บาท โดยให้ทยอยขึ้นไตรมาสละ 1 บาท จนกว่าจะครบตามราคาในที่กำหนดไว้ เขตวิกฤตการณ์ น้ำบาดาล และสั่งให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พิจารณาเก็บค่าอนุรักษ์น้ำบาดาลให้เหมาะสม เมื่อเทียบกับราคาน้ำประปา
มติ ครม. ดังกล่าวทำให้เกิดปัญหา และผลกระทบต่อด้านคุณภาพชีวิตของประชาชน เศรษฐกิจ และสังคม เป็นอย่างมากในบริเวณพื้นที่ 7 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ สมุทรสาคร นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม และจังหวัดอยุธยา คือ
1 ด้านอุปโภคบริโภค
ประชาชนผู้อาศัยอยู่ในเขตที่น้ำประปาของภาครัฐยังให้บริการไม่ถึงจะได้รับความเดือดร้อนและไม่เป็นธรรมต่อการรับภาระในการจ่ายเงินค่าอนุรักษ์น้ำบาดาลเพิ่มขึ้น
2 การเกษตรกรรม
เกษตรกรที่ใช้น้ำบาดาลเพื่อการเกษตรจะได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียค่าใช้ น้ำบาดาลแต่จะต้องเสียค่าอนุรักษ์น้ำบาดาล เกษตรกรจะรับภาระได้อย่างไร
3 อุตสาหกรรม
ภาคอุตสาหกรรมเป็นผู้ใช้น้ำบาดาลมากที่สุด แต่การเก็บค่าอนุรักษ์น้ำบาดาลในราคาที่สูงเกินไปก็ทำให้อุตสาหกรรมโดยเฉพาะ ขนาดกลางและขนาดเล็กต้องรับภาระต้นทุนที่สูง ทำให้สูญเสียความสามารถในการแข่งขันโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเทศจีน ซึ่งจะทำให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
4. สาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้นในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำบาดาล
การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำบาดาลในบริเวณกรุงเทพมหานคร และใกล้เคียง 6 จังหวัดที่เกิดปัญหาทำให้ประชาชน และภาคอุตสาหกรรมทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ต้องเดือดร้อนและไม่เป็นธรรม ในการใช้ทรัพยากรน้ำบาดาลนั้น สืบเนื่องมาจากการขาดความถ่องแท้ของข้อมูลมาประกอบในการตัดสินใจเพื่อออกมาตรการต่างๆ ในประเด็นต่อไปนี้คือ
4.1 การทรุดตัวของแผ่นดิน ที่อ้างถึงว่าเกิดจากการใช้น้ำบาดาลมากเกินสมดุลนั้น ควรจะได้พิจารณาถึงสถานการณ์การทรุดตัว ที่เกิดขึ้นจริงทั้งในอดีตและปัจจุบัน รวมทั้งการหาสาเหตุที่แท้จริงว่าเกิดจากอะไรมิใช่ตั้งสมมติฐานว่าเกิดจากน้ำบาดาลอย่างเดียว
4.2 ปริมาณการใช้น้ำบาดาลทั้งหมดในบริเวณเขตวิกฤตการณ์น้ำบาดาล ที่นำมาพิจารณาใช้ทั้งในอดีต และปัจจุบัน ต้องเป็นข้อมูลที่ถูกต้องตรงกับการใช้จริงมากที่สุด
4.3 การใช้น้ำบาดาลจะกระจุกตัวอยู่เฉพาะบางพื้นที่เท่านั้น เช่น แหล่งชุมชน แหล่งธุรกิจ หรืออุตสาหกรรม ดังนั้น ผลกระทบที่เกิดขึ้นจึงจำกัดอยู่เฉพาะในแหล่งที่ใช้น้ำบาดาลดังกล่าวเท่านั้น
4.4 การไหลเข้ามาทดแทนของน้ำจืดในแหล่งน้ำบาดาล และการไหลของน้ำเค็มที่เข้ามาปะปนในแหล่งน้ำจืด ควรจะต้องมีข้อมูลที่ชัดเจนประกอบการออกมาตรการ หรือการตัดสินใจ หรือกำหนดปริมาณน้ำปลอดภัย (Safe Yield)
4.5 ศักยภาพน้ำบาดาลต้องนำมาใช้ในการพิจารณา ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล 7 จังหวัด ประกอบการออกมาตรการต่างๆ
4.6 เกิดความไม่เป็นธรรมต่อประชาชนทั่วไปที่จำเป็นต้องใช้น้ำบาดาลเพื่อการอุปโภคบริโภคที่ภาครัฐจะเก็บค่าอนุรักษ์น้ำบาดาลลูกบาศก์เมตรละ 8.50 บาท และภาคอุตสาหกรรมที่ภาครัฐจะเก็บค่าใช้น้ำบาดาลในอัตรา ลบ.ม. ละ 8.50 บาท และค่าอนุรักษ์น้ำบาดาล ลบ.ม. ละ 8.50 บาท
5. ข้อเสนอแนะและแนวทางแก้ไข
5.1 น้ำบาดาลเป็นทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งควรจะนำมาใช้เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคม การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำบาดาลรวมทั้งน้ำผิวดิน ต้องมีปรัชญา หลักการและมีเหตุผล ให้ความเป็นธรรมแก่ประชาชนทุกภาคส่วนในการเข้าถึงทรัพยากรน้ำบาดาล ดังนั้นการออกมาตรการต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์น้ำบาดาลและแผ่นดินทรุด รัฐบาล (ภาครัฐ) ควรคำนึงถึงข้อมูล และปัจจัยประกอบในประเด็นต่างๆ ที่กล่าวมาแล้วทั้งหมด
5.2 การอนุญาตให้ใช้น้ำบาดาลในแต่ละพื้นที่ควรอยู่บนพื้นฐานของศักยภาพ
น้ำบาดาลในแต่ละพื้นที่นั้น
5.3 การใช้น้ำบาดาลร่วมกับน้ำผิวดิน (น้ำประปา) ควรจะเป็นการจัดการน้ำบาดาลที่ดีที่สุดที่ภาครัฐควรจะมีการพิจารณา
5.4 การดำเนินงานของหน่วยงานรัฐ ในการแก้ไขปัญหา ควรมีแผนปฏิบัติการ และการดำเนินการแบบบูรณาการ
5.5 ประเด็นความเดือดร้อนของประชาชนในการปิดบ่อน้ำบาดาล ควรจะต้องพิจารณาอนุญาตให้มีบ่อน้ำบาดาล เป็นบ่อสำรอง เนื่องจากในบางเวลาที่การประปาไม่สามารถให้บริการได้ หรือเวลาเกิดอุบัติภัยต่างๆ เช่น ไฟไหม้ จะได้ใช้ประโยชน์จากบ่อสำรองนี้
5.6 ควรมีมาตรการ ควบคุมติดตามการปิดบ่อน้ำบาดาลให้เป็นไปตามมาตรฐานทางเทคนิควิชาการด้านน้ำบาดาล
5.7 การเก็บค่าอนุรักษ์น้ำบาดาล และการประกาศพื้นที่เขตวิกฤตการณ์น้ำบาดาล ควรจะได้มีการพิจารณาปรับปรุงตามสถานการณ์เป็นจริงที่เปลี่ยนแปลงไป
5.8 ภาครัฐควรคำนึงถึงความเสียหาย และผลกระทบต่อภาคเอกชน และภาคประชาชนรวมทั้งด้านอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมอันเนื่องมาจากมาตรการของรัฐ
5.9 การที่รัฐบาลมีนโยบายให้ปิดบ่อน้ำบาดาลและเก็บค่าอนุรักษ์น้ำบาดาลในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลซึ่งอยู่ในเขตวิกฤตน้ำบาดาลนั้น เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับผู้ใช้ น้ำบาดาลเพื่อการอุปโภค บริโภค รัฐบาลควรมีมาตรการในการให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนประชาชนให้สามารถเปลี่ยนมาใช้น้ำประปาของการประปานครหลวงหรือการประปาส่วนภูมิภาคแทนน้ำบาดาลที่ใช้อยู่เดิมได้ เช่น กรณีประปาหมู่บ้านหรือ โครงการบ้านจัดสรรที่ไม่สามารถเชื่อมต่อท่อเพื่อเปลี่ยนไปใช้น้ำประปาได้ เพราะการประปาฯคิดค่าธรรมเนียมในการเชื่อมต่อกับท่อประธานของการประปาฯสูงมากหรือบางครั้งก็ให้หมู่บ้านลงทุนเปลี่ยนท่อใหม่ทั้งหมด
การประปานครหลวงและการประปาส่วนภูมิภาคควรสำรวจจำนวนประปาหมู่บ้านที่ใช้น้ำบาดาลที่การประปานครหลวงและการประปาส่วนภูมิภาคสามารถเข้าไปให้บริการน้ำประปาได้ และงบประมาณในการดำเนินการเพื่อจ่ายน้ำประปาให้กับหมู่บ้านดังกล่าว และให้การประปานครหลวงและการประปาส่วนภูมิภาคของบประมาณจากรัฐบาลมาดำเนินการโดยเร่งด่วน
ที่มา: สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
www.nesac.or.th, โทร.02-612-9222 ต่อ 118, 119 โทรสาร.02-612-6918-9