บทความ: รายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจการค้าไทย ประจำเดือน มีนาคม 2547

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 29, 2004 13:27 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

        1. การส่งออก 
1.1 ภาวะการส่งออก/ดุลการค้า และแนวโน้ม
การส่งออกโดยรวมในไตรมาสแรกของปี 2547 มีมูลค่าเท่ากับ 22,410 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ขยายตัวร้อยละ19.1 ของไตรมาสเดียวกันปีที่แล้ว) โดยมูลค่าการส่งออกเฉพาะในเดือนมีนาคมมีประมาณ 7,960 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 จากเดือนเดียวกันปีที่แล้ว การส่งออกในเดือนนี้ขยายตัวได้ดีทั้งในหมวดสินค้าเกษตรพื้นฐาน (ข้าวและผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง) และอุตสาหกรรม ส่วนสินค้าประเภทอาหารอัตราการขยายตัวของเดือนนี้ลดลงร้อยละ 5.9 (ไตรมาสแรกขยายตัวเพียงร้อยละ 1.5 ) เป็นผลมาจากปัจจัยเรื่องการฟ้องทุ่มตลาดกุ้งของสหรัฐฯ ซึ่งได้ประกาศไต่สวนเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ส่งผลให้การส่งออกกุ้งไปสหรัฐฯลดลงจากเดือนเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 39.1 (หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีการเร่งส่งออกกุ้งไปสหรัฐฯ) อย่างไรก็ดี ความเคลื่อนไหวล่าสุดสหรัฐฯ ได้ประกาศเลื่อนกำหนดการเริ่มกระบวนการไต่สวนจากวันที่ 8 มิถุนายน เป็นวันที่ 28 กรกฎาคม 2547 และมีความเป็นไปได้ว่าไทยจะเสียภาษีประมาณร้อยละ 10 ต่ำกว่าประเทศคู่แข่งที่ถูกสหรัฐฟ้องอีก 5 ประเทศ (จีน เวียดนาม บราซิล อินเดีย และเอกวาดอร์) ซึ่งอัตราภาษีสูงสุดประมาณร้อยละ 75 ซึ่งอาจทำให้การส่งออกของไทยกระเตื้องขึ้นเพราะได้เปรียบด้านภาษีนำเข้าที่ต่ำกว่าคู่แข่ง เช่น จีนและเวียดนาม นอกจากนี้ ปัจจัยเรื่องผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไข้หวัดนกในไก่ในช่วงปลายเดือนมกราคม ส่งผลให้การส่งออกในไตรมาสแรกลดลงร้อยละ 42 และยังคงส่งผลต่อเนื่องทำให้การส่งออกในเดือนนี้ลดลงร้อยละ 47.9
สินค้าเกษตรพื้นฐานและสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวได้ดี : มูลค่าการส่งออกข้าวขยายตัวร้อยละ 69.5 และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังขยายตัวร้อยละ 50.2 (โดยเฉพาะอย่างยิ่งมันเม็ดและมันเส้นขยายตัวถึงร้อยละ 174.2) และในเดือนนี้ปริมาณการส่งออกสินค้าทั้งสองประเภทยังขยายตัวค่อนข้างสูง (ร้อยละ 57.8 และ 78.4 ตามลำดับ) ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมในภาพรวมขยายตัวร้อยละ 25.3 (ไตรมาสแรกขยายตัวร้อยละ 22.5) สินค้าที่ขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง คือ เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ และสินค้ายานยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ
สินค้าอุตสาหกรรมบางประเภทอัตราการขยายตัวลดลง : สินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวลดลงทั้งในไตรมาสแรก (ร้อยละ 14) และในเดือนมีนาคม (ร้อยละ 6.8) ได้แก่ ของเล่น ส่วนสินค้าเครื่องใช้และเครื่องประดับตกแต่งบ้าน (ร้อยละ0.1) อัญมณีและเครื่องประดับ (ร้อยละ 8.1) และวิดีโอ เครื่องเสียงและส่วนประกอบ (ร้อยละ 2.2) ขยายตัวลดลงในไตรมาสแรก
การนำเข้าในเดือนมีนาคม มีมูลค่าประมาณ 8,225.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 34.8 ทำให้การค้าระหว่างประเทศของไทยขาดดุลการค้าประมาณ 264.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ นับเป็นเดือนแรกของปี 2547 ที่ไทยขาดดุลการค้า ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการนำเข้าน้ำมันที่ราคาปรับตัวสูงขึ้นเรื่อยๆในตลาดโลก ส่วนการนำเข้าในไตรมาสแรกของปี 2547 มีมูลค่าประมาณ 21,904 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 25.8 และเกินดุลการค้าประมาณ 505.5 ล้านเหรียญสหรัฐ
1.2 ตลาดส่งออก/เป้าหมายในไตรมาสแรกของปี 2547
ตลาดหลักขยายตัวได้ดี ร้อยละ 19.8 (เป้าหมายร้อยละ 11) โดยเฉพาะสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 15.5 (เป้าหมายร้อยละ 5) และอาเซียน ขยายตัวร้อยละ 34.7 (เป้าหมายร้อยละ 15.4)
ตลาดรองขยายตัวได้ต่ำกว่าตามเป้าหมาย ในภาพรวมขยายตัวร้อยละ 15.7 (เป้าหมาย 17.4) ยกเว้นฮ่องกงที่ขยายตัวมากกว่าเป้าหมาย โดยขยายตัวร้อยละ 17.1 (เป้าหมายร้อยละ 10)
ตลาดใหม่ขยายตัวได้ตามเป้าหมาย คือ ร้อยละ 25.3 (เป้าหมายร้อยละ 25.7) ซึ่งมีมีสัดส่วนร้อยละ 21.3โดยตลาดที่ส่งออกต่ำกว่าเป้าหมาย คือ จีน (เป้าหมายร้อยละ 38) และยุโรปตะวันออก (เป้าหมายร้อยละ 30)ขยายตัวร้อยละ 24.5 และ 11.1 ตามลำดับ
2. ความเคลื่อนไหวและสถานการณ์สินค้าเกษตร
2.1 เวียดนามพุ่งเป้าขยายพื้นที่เพาะปลูกเพื่อผลิตข้าวให้ได้ 34.5 ล้านตัน ในปี 2004 และส่งเสริมอุตสาหกรรมแปรรูปข้าวเพิ่มขึ้น
กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทเวียดนาม ได้ตั้งเป้าหมายการผลิตข้าวในปี 2004 ไว้ 34.5 ล้านตันข้าวเปลือก (รวมการผลิตเพื่อส่งออก 4 ล้านตันข้าวสาร) รวมทั้งจะมีการพิจารณาทบทวนกระบวนการวางแผนในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร เพื่อที่จะอนุมัติให้มีการลงทุนและก่อตั้งโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปจากข้าว ทั้งการนวด สี ขัดและการคัดแยก
เวียดนามมีพื้นที่เพาะปลูกข้าว ในปี 2002/2003 จำนวน 7.47 ล้าน เฮกตาร์ และมีผลผลิตเฉลี่ย 4.37 ตัน(ข้าวเปลือก)/เฮกตาร์(699.2 กก./ไร่) มีผลผลิตรวม 21.53 ล้านตัน(ข้าวสาร) ในขณะที่ประเทศไทยมีพื้นที่เพาะปลูก 10.16 ล้านเฮกตาร์ มีผลผลิตเฉลี่ย 2.57 เมตริกตัน(ข้าวเปลือก)/เฮกตาร์ มีผลผลิตรวม 17.20 ล้านเมตริกตัน(ข้าวสาร) ซึ่งผลผลิตข้าวเฉลี่ยของไทยต่ำกว่าผลผลิตเฉลี่ยของประเทศผู้ส่งออกของโลกที่สำคัญ ได้แก่ เวียดนาม อินเดีย ปากีสถาน และไทย ซึ่งมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 2.90 เมตริกตัน/เฮกตาร์ จะเห็นได้ว่า เวียดนามใช้พื้นที่เพาะปลูกน้อยกว่าไทย 2.69 ล้านเฮกตาร์ แต่ให้ผลผลิตสูงกว่าประเทศไทย ประมาณ 4.33 ล้านเมตริกตัน
นอกจากนี้ เวียดนามยังได้ส่งเสริมให้เกษตรปลูก Hybrid Rice ซึ่งเป็นข้าวพันธุ์ผสมที่ให้ผลิตสูง โดยในปี 2001 มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวดังกล่าว 480,000 เฮกตาร์ มีผลผลิต 6.5 เมตริกตัน/เฮกตาร์ และมีเป้าหมายที่จะเพิ่มพื้นที่เพาะปลูก ให้ได้ 1 ล้านเฮกตาร์ ในปี 2010 และจะพัฒนาสายพันธุ์ให้มีผลผลิต/พื้นที่ เพิ่มสูงขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ในอดีตที่ผ่านมา ไทยเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งของโลก เนื่องจากสามารถผลิตข้าวคุณภาพดี และมีราคาสูง ในขณะที่ประเทศเวียดนามจะผลิตข้าวคุณภาพและราคาต่ำในสายตาชาวโลก แต่เมื่อพิจารณาถึงประสิทธิภาพในการผลิต คุณภาพของเกษตรกร(เวียดนามมีเกษตรหัวก้าวหน้าประมาณ 400,000คน ในจำนวนนี้มีผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรี 300,000 คน และสูงกว่าปริญญาตรี 2,000 คน) การ ส่งเสริมพัฒนาและเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกข้าวสายพันธุ์ใหม่ ๆ (Hybrid Rice) ที่มีคุณภาพ ของเวียดนามแล้ว ในอนาคตประเทศไทยจะประสบปัญหาในการส่งออกข้าวอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ หากไม่มีการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และการแปรรูปผลิตภัณฑ์ ใหม่ ๆ ให้หลากหลายเพื่อเพิ่มมูลค่า และการนำกลยุทธ์ใหม่ ๆ ทางการค้าการตลาดมาใช้ให้แพร่หลายมากขึ้น
แหล่งข้อมูล : 1. Ministry of Agricultural and Rural Development, Vietnam
2. World Agricultural Production(April 2004) , FAS , USDA
2.2 ปี 2004 ตลาดโลกมี ความต้องการใช้ยางพาราเพิ่มขึ้น
จากการที่เศรษฐกิจโลกมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องในปีที่ผ่านมา และคาดว่าจะมีการขยายตัวต่อเนื่องไปถึงปี 2004 อันเนื่องมาจากปัจจัยหลาย ๆ ด้านที่เอื้ออำนวย สังเกตได้จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก ให้มีการพยากรณ์ว่าปริมาณความต้องการใช้ยางพาราของโลกขยายตัวอย่างต่อเนื่องไปยัง 2 ปีข้างหน้าในอัตราประมาณ 5% ซึ่ง ความต้องการใช้ยางธรรมชาติ(National Rubber : NR) จะมีความสัมพันธ์ในทางตรงกันข้ามกับปริมาณความต้องการใช้ยางสังเคราะห์ (Synthetic Rubber : SR) กล่าวคือ อัตราการขยายตัวของ ยางธรรมชาติ 5.6% และ 5.4% ในขณะที่เป้าหมายการขยายตัวของยางสังเคราะห์อยู่ที่ 4.3 % และ 4.7 % ในปี 2004 และ 2005 ตามลำดับ
ปัจจัยที่ส่งผลให้ตลาดโลกมีความต้องการใช้ยางพาราเพิ่มขึ้นที่สำคัญได้แก่ การขยายตัวของเศรษฐกิจในเอเชีย/ แปซิฟิก ในอัตราที่สูงและต่อเนื่อง โดยเฉพาะจีน จึงทำให้ยางธรรมชาติมีราคาสูงขึ้นในระยะ 2 ปีที่ผ่านมา คาดว่าปริมาณการผลิตในปีนี้(ปี 2004) จะสูงขึ้นมาก โดยมีอัตราการขยายตัวถึงร้อยละ 9 และจะชะลอตัวลงในปี 2005 ในอัตราร้อยละ 6 ส่วนปริมาณการผลิตยางสังเคราะห์ คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4-5
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญที่มีผลกระทบต่อราคายางพาราที่สูงขึ้นในระยะ 2 ปี ที่ผ่านมา คือ การอ่อนตัวของค่าเงิน US$ ดังนั้น การจะพิจารณาถึงราคายางในอนาคต จำเป็นต้องคำนึงถึงสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยน
แหล่งข้อมูล : International Rubber Study Group
3. ดัชนีเศรษฐกิจ
ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปในไตรมาสแรกของปี 2547 มีค่าเท่ากับ 107.5 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 1.9 โดยเป็นผลจากการสูงขึ้นของราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มเป็นส่วนใหญ่ สำหรับ ดัชนีชี้นำวัฏจักรเงินเฟ้อ ในช่วง 7-11 เดือน (ตุลาคม-ธันวาคม 2547) เพิ่มขึ้นร้อยละ 8 ชี้ให้เห็นว่าอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงขึ้น ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิตซึ่งคำนวณจากราคาสินค้าเกษตร ผลิตภัณฑ์จากเหมืองและสินค้าอุตสาหกรรม กว่า 500 รายการ มีค่าเฉลี่ยสูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.5 ซึ่งเป็นผลจากการที่ราคาสูงขึ้นทุกหมวดสินค้า
สำหรับการคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจ ค่าดัชนีวัฏจักรธุรกิจแสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยยังคงขยายตัว เป็นผลจากค่าดัชนีชี้นำวัฏจักรธุรกิจทั้งระยะกลาง (แสดงทิศทางล่วงน้า 9-11 เดือน) และระยะสั้น (ทิศทางล่วงหน้า 3-5 เดือน)
สำหรับความมั่นใจทางเศรษฐกิจของนักธุรกิจส่วนใหญ่ยังคงมีความเชื่อมั่นอยู่ ซึ่งพิจารณาจากค่าดัชนีคาดการณ์ภาวะธุรกิจของประเทศในไตรมาสที่ 2 ของปี 2547 มีค่า 63.1 โดยร้อยละ 40.7 ของนักธุรกิจที่ตอบแทนทำการสอบถาม คาดว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้น และร้อยละ 44.8 คาดว่าจะไม่เปลี่ยนแปลง
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (66) 2282-6171-9 แฟกซ์ (66) 2280-0775
-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ