บทความ: สหรัฐอเมริกากับการจัดทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 29, 2004 13:44 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

        1. แนวนโยบายการจัดทำเขตการค้าเสรีของสหรัฐอเมริกา
1.1 ความเป็นมา
นโยบายและการดำเนินมาตรการทางเศรษฐกิจการค้าของสหรัฐอเมริกามีผลกระทบต่อประเทศต่าง ๆ เนื่องจากสหรัฐฯ เป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศสูง รวมทั้งมีการค้าระหว่างประเทศประมาณปีละ 2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณร้อยละ 13 ของมูลค่าการค้ารวมของโลก ดังนั้น สหรัฐฯ จึงเป็นประเทศที่มีบทบาททางด้านการค้าระหว่างประเทศ และมีอำนาจในการเจรจาต่อรองสูง รวมทั้งสหรัฐฯ ยังเป็นหนึ่งในประเทศผู้นำในการริเริ่มการเจรจาการค้าพหุภาคีภายใต้ GATT ซึ่งพัฒนาเป็นองค์การการค้าโลก (WTO) เมื่อปี พ.ศ. 2538 อีกด้วย อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ ได้เปลี่ยนแนวนโยบายการค้าจากการเจรจาในระดับพหุภาคีไปให้ความสนใจกับการค้าระดับภูมิภาคที่เป็นการจัดทำเขตการค้าเสรีมากขึ้น เนื่องจากการเจรจาในระดับพหุภาคีมีประเทศคู่เจรจาจำนวนมากทำให้การเจรจาทำความตกลงทางการค้าไปอย่างล่าช้าและมักไม่ประสบความสำเร็จในการเจรจาเท่าที่ควร สำหรับการจัดทำเขตการค้าเสรีนั้นสามารถกำหนดกฎเกณฑ์ ข้อบังคับกับประเทศคู่สัญญาได้ง่ายกว่า
1.2 จุดมุ่งหมายการจัดทำเขตการค้าเสรี
จุดประสงค์หลักของสหรัฐอเมริกาในการจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรีคือ เพื่อขยายโอกาสทางการค้าให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจของสหรัฐฯ และถือได้ว่าเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ นอกจากนี้สหรัฐฯ เชื่อว่าการพัฒนาศักยภาพทางธุรกิจของตนให้เข้มแข็งขึ้นจะช่วยยกระดับมาตรฐานความเป็นอยู่ของชาวอเมริกันให้ดียิ่งขึ้นด้วย ดังนั้นรัฐบาลสหรัฐฯ จะสนับสนุนและพยายามที่จะขยายโอกาสทางธุรกิจให้แก่นักธุรกิจของตนให้มากที่สุด ซึ่งหนึ่งในวิธีการดังกล่าว คือ การเจรจาเปิดตลาดกับประเทศต่างๆ ตลอดจนการสร้างกฎเกณฑ์ด้านการค้าระหว่างประเทศให้เอื้อแก่การทำธุรกิจของชาวสหรัฐฯ โดยวิธีการอันแยบยล สหรัฐฯ เป็นหนึ่งในประเทศผู้ก่อตั้งองค์การการค้าโลกซึ่งผนวกเอากฎเกณฑ์ทางการค้าต่างๆ ที่สหรัฐฯ คุ้นเคยและเป็นประโยชน์ต่อการปกป้องการค้าของสหรัฐฯ เข้าไว้ด้วย และสร้างกลไกบังคับเพื่อให้ประเทศอื่นๆ ต้องปฏิบัติตาม แต่ต่อมาการเจรจาในองค์การการค้าโลกนั้นไม่สอดคล้องกับนโยบายด้านการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ เท่าใดนัก ประกอบกับการเจรจาทำความตกลงทางการค้าและการแก้ไขปรับปรุงความตกลงต่างๆ เป็นไปอย่างล่าช้าและมักไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าที่ควร จึงทำให้สหรัฐฯ หันมาใช้วิธีการทำความตกลงกับประเทศคู่ค้าของตนในลักษณะเป็นความตกลงสองฝ่าย ซึ่งสามารถเจรจาตกลงกันได้โดยเร็ว และสหรัฐฯ สามารถใช้ความเป็นประเทศมหาอำนาจบีบให้ประเทศที่ทำความตกลงกับตนออกกฎเกณฑ์ที่เป็นประโยชน์ต่อสหรัฐฯ ได้ นอกจากนี้การที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกมีนโยบายในการทำความตกลงเขตการค้าเสรีกันมากขึ้น ทำให้สหรัฐฯ เล็งเห็นว่าหากตนไม่ดำเนินการใดๆ อาจจะทำให้ศักยภาพในการแข่งขันทางธุรกิจของตนลดลง
ด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้น ทำให้สหรัฐฯ พิจารณาว่าจะต้องดำเนินการจัดตั้งเขตการค้าเสรีขึ้นเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศตนและเป็นการถ่วงดุลอำนาจของประเทศที่เป็นคู่แข่งทางเศรษฐกิจอื่นๆ ซึ่งการจัดทำเขตการค้าเสรีในแถบทวีปอเมริกาเหนือและเขตการค้าเสรีอเมริกาซึ่งรวมทั้งอเมริกากลางและอเมริกาใต้เข้าด้วยกันนี้ จะทำให้เกิดการรวมตลาดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกครอบคลุมประชากร 825 ล้านคน และมี GDP รวมกันมากถึง 14 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่เกือบสองเท่าของสหภาพยุโรปหลังจากการขยายสมาชิกภาพ อันเป็นการถ่วงดุลอำนาจทางเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปและ กลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชียและแปซิฟิคอีกด้วย
2. ข้อตกลงการจัดทำเขตการค้าเสรีกับประเทศต่าง ๆ
สหรัฐฯ ได้กำหนดนโยบายเชิงรุกในการเจรจาจัดทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับประเทศต่างๆ ในทุกภูมิภาคของโลก ทั้งในระดับทวิภาคีและระดับภูมิภาค ตั้งแต่ปี 2539 เป็นต้นมา สหรัฐฯได้จัดทำเขตการค้าเสรีกับประเทศต่าง ๆ โดยกำหนดรายละเอียดของการจัดทำแต่ละประเทศแตกต่างกัน ประกอบด้วย
- สหรัฐฯ-อิสราเอล ได้ลงนามเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2528 และมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2528
- สหรัฐฯ-แคนาดา ได้ลงนามเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2532 และได้ลงนามกับเม็กซิโก เมื่อปี 2530 ซึ่งความตกลงทั้งสองได้ขยายเป็น NAFTA เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2535 และเริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อ 1 มกราคม 2537 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดการกีดกันทางการค้าและการลงทุนระหว่าง 3 ประเทศ ข้อตกลงดังกล่าวได้ครอบคลุมในสาขา เช่น การลงทุน การค้าบริการ ทรัพย์สินทางปัญญา การแข่งขัน การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ การเคลื่อนย้ายของนักธุรกิจ เป็นต้น
- สหรัฐฯ-จอร์แดน ได้ลงนามเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2543 และมีผลบังคับตั้งแต่ 17 ธันวาคม 2544 ข้อตกลงนี้ถือว่าเป็นข้อตกลงฉบับแรกที่มีเนื้อหาครอบคลุมเรื่องแรงงาน สิ่งแวดล้อม และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
- สหรัฐฯ-ชิลี เริ่มเจรจาเดือนธันวาคม 2543 และสามารถสรุปผลได้วันที่ 11 ธันวาคม 2545
- สหรัฐฯ-สิงคโปร์ เริ่มเจรจาเดือนพฤศจิกายน 2543 และสามารถสรุปผลได้วันที่ 15 มกราคม 2546 โดยมีผลบังคับตั้งแต่ 1 มกราคม 2547 ข้อตกลงดังกล่าวได้ครอบคลุมหลายสาขา เช่น การเปิดตลาด การจัดซื้อภาครัฐฯ การค้าบริการ (รวมโทรคมนาคมและการเงิน) พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การลงทุน การเคลื่อนย้ายบุคคล ทรัพย์สินทางปัญญา แรงงาน และสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
นอกจากนี้ ในปี 2537 สหรัฐฯ ร่วมกับประเทศต่าง ๆ ในอเมริกาเหนือ กลาง และใต้ รวม 34 ประเทศ (ยกเว้นคิวบา) ได้ตกลงที่จะก่อตั้ง Free Trade Area of the Americas (FTAA) โดยกำหนดให้เริ่มการเจรจาตั้งแต่ 1 มกราคม 2538 และมีเป้าหมายให้เจรจาแล้วเสร็จ
ในปี 2548 ซึ่งหากมีผลบังคับใช้เมื่อใดจะเป็นเขตการค้าเสรีที่มีขนาดใหญ่ที่สุด
สำหรับกลไกในการเจรจานั้น ได้มีการจัดตั้งคณะทำงานขึ้นเพื่อเจรจาและหารือในประเด็นต่าง ๆ รวม 9 เรื่อง ได้แก่ สินค้าเกษตร การเข้าสู่ตลาด การลงทุน การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ การค้าบริการ กระบวนการแก้ไขข้อพิพาท ทรัพย์สินทางปัญญา นโยบายการแข่งขันนโยบายการอุดหนุน และมาตรการ AD/CVD
3. กระแสการต่อต้านการจัดทำเขตการค้าเสรีของสหรัฐอเมริกา (FTAA)
การจัดตั้งเขตการค้าเสรีก่อให้เกิดการต่อต้านอย่างรุนแรงจากกลุ่มต่าง ๆ ทั้งภายในประเทศและนอกประเทศ ได้แก่
- ภายในประเทศ : กลุ่มต่อต้านกระแสโลกาภิวัฒน์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีอิทธิพล ประกอบด้วย สหภาพแรงงาน นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม นักคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และผู้บริโภค โดยมีข้อสังเกตในเรื่องต่างๆ เช่น FTAA อาจจะทำให้มีการว่างงานสูงขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการอาจย้ายฐานการผลิตไปยังเม็กซิโกเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการผลิต และอาศัยความหละหลวมของการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองแรงงาน กฎหมายสิ่งแวดล้อมจัดตั้งโรงงานที่บริเวณชายแดนสหรัฐฯ - เม็กซิโกที่ขาดระบบการกำจัดของเสียที่มีประสิทธิภาพ มีการตัดไม้ทำลายป่าและการทำประมงจนทำให้เกิดปัญหาความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมและทำลายทรัพยากรทางธรรมชาติ ฯลฯ
- ภายนอกประเทศ : ถูกต่อต้านจากประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาแล้วบางประเทศ โดยในการเปิดรับความคิดเห็น (Public Hearing) ประเทศต่าง ๆ เช่น บราซิล โคลัมเบีย เวเนซูเอลา เอควาดอร์ ชิลี อาร์เจนตินา ฯลฯ เห็นว่านโยบายเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ มุ่งเน้นการปกป้องและรักษาผลประโยชน์ทางการค้าของสหรัฐฯ มากขึ้น
4. การจัดทำเขตการค้าเสรีสหรัฐอเมริกา-ไทย
พื้นฐานความสัมพันธ์
สหรัฐฯ เป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญอันดับ 2 ของไทยและเป็นประเทศที่ไทยส่งออกสินค้าไปขายเป็นอันดับหนึ่ง ซึ่งมีมูลค่าการค้าในแต่ละปีสูงเกือบ 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้าและมีการส่งสินค้าไปสหรัฐฯ เป็นมูลค่ากว่า 1.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ และมีมูลค่าการนำเข้าจากสหรัฐฯ ประมาณ 6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนด้านการลงทุนสหรัฐฯ มีการลงทุนโดยตรง (FDI) ในไทยรองจากญี่ปุ่นและสหภาพยุโรป โดยเมื่อปี 2545 สหรัฐฯ ลงทุนในไทยรวมมูลค่า 16 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ดังนั้น การจัดทำเขตการค้าเสรีสหรัฐฯ-ไทย จะส่งผลให้มีการเปิดตลาดสินค้าส่งออกของไทยและมีการโยกย้ายฐานการลงทุนมาสู่ไทยมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ไทยสามารถเป็นศูนย์การลงทุนของภูมิภาคด้วย
ในอดีต ไทยได้จัดทำสนธิสัญญาทางไมตรีและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทย-สหรัฐฯ ที่ได้ลงนามเมื่อปี พ.ศ. 2509 โดยมีสาระสำคัญที่ครอบคลุมในด้านการพาณิชย์และการเดินเรือ โดยในด้านการพาณิชย์นั้น ไทยเปิดโอกาสให้คนชาติและนิติบุคคลของสหรัฐฯ ได้รับ National Treatment ในการลงทุน การประกอบวิชาชีพและประกอบธุรกิจ กล่าวคือ คนชาติสหรัฐฯ มีสิทธิในการลงทุน การประกอบวิชาชีพและการประกอบธุรกิจเท่าเทียมกับคนไทยทุกประการ ยกเว้นในวิชาชีพสงวน 39 ประเภทในธุรกิจ 6 สาขาที่ระบุไว้ในสนธิสัญญาไมตรี ได้แก่ การสื่อสาร การขนส่ง การดูแลทรัพย์สินเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น การธนาคารที่เกี่ยวกับการรับฝากเงิน การค้าภายในเกี่ยวกับผลิตผลทางการเกษตรพื้นเมือง และการแสวงหาประโยชน์จากที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ ส่วนด้านการเดินเรือ สหรัฐฯ สามารถประกอบการขนส่งได้ทุกประเภทเช่นเดียวกับไทย ซึ่งสนธิสัญญาดังกล่าวเป็น MFN Exemption ใน WTO และจะหมดอายุลงปลายปี พ.ศ. 2547
การจัดทำเขตการค้าเสรีไทย-สหรัฐฯ
ไทย-สหรัฐฯ ได้ประกาศจะทำเขตการค้าเสรีระหว่างกันเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2546 ในการประชุมผู้นำเอเปคที่กรุงเทพฯ และขณะนี้อยู่ในระหว่างการเจรจาโดยมีนายนิตย์ พิบูลสงคราม เป็นหัวหน้าคณะเจรจาเขตการค้าเสรีไทย-สหรัฐฯ
ท่าทีสหรัฐ
สหรัฐฯ ต้องการให้ไทยลดภาษีสินค้าอุตสาหกรรมที่สหรัฐฯ ส่งออกมาไทย ทั้งสินค้าสำเร็จรูป และสินค้ากึ่งสำเร็จรูป นอกจากนี้ สหรัฐฯ อาจเจรจากับไทยเรื่อง Tariff peak (สินค้าไทยที่เก็บภาษีนำเข้าสูง 60 %) และสินค้าที่ไทยยังมิได้ผูกพันอัตราภาษีนำเข้าไว้กับ WTO ด้วย
สำหรับเป้าหมายในการเจรจาสินค้าเกษตรนั้น สหรัฐฯ ให้ความสำคัญในเรื่องการเปิดตลาด Market Access มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (SPS) เป็นต้น
นอกจากนี้สหรัฐฯ ยังคาดว่าไทยจะเปิดตลาดสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับดิจิตอลให้กับสหรัฐฯ มากกว่าที่ไทยผูกพันไว้กับ WTO โดยเน้นการเปิดตลาดบริการประเภทที่อยู่ใน Negative List เช่น การบริการผ่าน Audiovisual ระบบโทรคมนาคม ระบบ Logistics การบริการทางการเงิน การส่งมอบ (delivery) สินค้าและบริการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ การให้บริการด้านกฎหมาย การศึกษา การจัดทำบัญชี การเงิน และวิชาชีพ อื่น ๆ การขยายเครือข่ายด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในไทย การสร้างมาตรฐานในการลงทุน การเปิดตลาดสินค้า GMO รวมทั้งทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งประเด็นต่างๆ เหล่านี้เป็นประเด็นที่มีความอ่อนไหว ที่สหรัฐฯ ไม่สามารถผลักดันให้เกิดผลสำเร็จในกรอบพหุภาคีขององค์การการค้าโลก
แนวทางของไทย
แนวทางของไทย ควรให้ความสนใจในเรื่องการลดภาษีของสหรัฐฯ เช่น Tariff peak สำหรับสินค้าอ่อนไหว โดยไทยควรเจรจากับสหรัฐฯ ให้ลดและผูกพันอัตราภาษีที่อัตรา 0 % เช่น สินค้าเครื่องหนัง เครื่องแก้วและเซรามิก เครื่องประดับ รองเท้า เป็นต้น และควรเจรจาในเรื่อง GSP ที่ไทยอาจเสียสิทธิ์จากการทำ FTA กับสหรัฐฯ ด้วย ส่วนการเจรจาสินค้าเกษตรนั้น ไทยควรให้ความสำคัญกับมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี หรือ NTBs ที่สหรัฐฯ จะนำมาใช้ ได้แก่ มาตรการสุขอนามัย (SPS) และการอุดหนุนการส่งออก โดยเจรจาให้สหรัฐฯ ลดหรือยกเลิกการอุดหนุนการส่งออก (ซึ่งอาจประสบปัญหา เนื่องจากสหรัฐฯ มักใช้มาตรการที่มิใช่เป็นการอุดหนุนส่งออกทางตรง แต่มีผลกระทบต่อการส่งออก)
ข้อสังเกต
การจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรีสหรัฐฯ ย่อมส่งผลกระทบต่อการค้าของไทยทั้งในและต่างประเทศ ดังนี้
- การจัดตั้งเขตการค้าเสรี FTAA อาจนำไปสู่การเบี่ยงเบนทางการค้า (Trade Diversion) ทำให้ไทยต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงจากประเทศในกลุ่ม ประกอบกับประเทศในกลุ่ม FTAA ส่งออกสินค้าที่มีลักษณะเดียวกับไทย เช่น สินค้าเกษตร และ อาหารทะเลแปรรูป แต่ได้เปรียบกว่าในด้านต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าในเรื่องค่าแรงงาน ค่าขนส่ง รวมทั้งกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นจากการได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากสหรัฐฯ ที่ไปลงทุนในประเทศในกลุ่ม FTAA
อย่างไรก็ตาม การแข่งขันที่รุนแรงจากประเทศในกลุ่ม FTAA อาจเป็นแรงกระตุ้นให้ไทยพยายามปรับตัว ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา รวมทั้งใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการผลิต การบริหารจัดการ เพื่อลดต้นทุนของผู้ประกอบการ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้
- การจัดทำเขตการค้าเสรี FTAA มีทั้งการจัดทำกับประเทศพัฒนาแล้วและประเทศที่กำลังพัฒนา ชึ่งอาจมีการพัฒนามาตรการที่มิใช่ภาษีในรูปแบบใหม่ที่อาจเป็นอุปสรรค/ก่อให้เกิดการกีดกันทางการค้ามากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในตลาดเหล่านั้น
- การจัดทำเขตการค้าเสรีกับประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ ประเทศที่จัดทำข้อตกลงรวมทั้งไทยจะถูกกำหนดให้มีการปรับปรุงนโยบายและมาตรการเศรษฐกิจการค้าให้มีมาตรฐานมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นการยกระดับและพัฒนามาตรการการค้าต่าง ๆได้ เช่น การดำเนินการ ที่เข้มงวดและต่อเนื่องในด้านทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น
- ไทยควรจะต้องเร่งศึกษาข้อตกลงกับประเทศคู่เจรจาอย่างละเอียดรอบคอบเพื่อที่จะนำมาใช้เป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายและมาตรการเชิงรุกของไทยในทุก ๆ ด้าน ตลอดจนเร่งพัฒนาการวิจัยและพัฒนา (R&D) เชิงลึกในอุตสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพ เพื่อนำมาพัฒนา ปรับตัว ยกระดับมาตรฐานและเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต การบริหารจัดการ การพัฒนาสินค้าให้มีมูลค่าเพิ่มและสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค (Customer Oriented)
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (66) 2282-6171-9 แฟกซ์ (66) 2280-0775
-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ