บทความ: การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 30, 2004 14:17 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

        1. ภาวะเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา ปี 2546 
เศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มชะลอตัวตั้งแต่ต้นปี 2544 รัฐบาลสหรัฐฯ จึงกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยการใช้นโยบายการเงิน (กำหนดอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำ) และนโยบายการคลัง (การลดอัตราภาษีและการคืนภาษี) ส่งผลให้เศรษฐกิจของสหรัฐฯ เริ่มฟื้นตัวในปี 2545 โดย GDP ขยายตัวร้อยละ 2.3 และขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 3.1 ในปี 2546 ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 2546 ขยายตัว คือ การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้น โดยการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 3.1 การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปี จากการใช้จ่ายลงทุนในสินทรัพย์ถาวรที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3 นอกจากนี้การใช้จ่ายลงทุนก่อสร้างที่พักอาศัย ขยายตัวตามความต้องการบ้านและที่พักอาศัยที่เติบโตต่อเนื่อง และการลงทุนอื่นๆที่ไม่เกี่ยวข้องกับที่พักอาศัยเริ่มฟื้นตัวด้วย นอกจากนี้ยังได้รับแรงหนุนสำคัญจากการลงทุนใหม่ในการผลิตคอมพิวเตอร์และเครื่องใช้/อุปกรณ์สำนักงาน สะท้อนการฟื้นตัวของความเชื่อมั่นภาคธุรกิจซึ่งสอดคล้องกับดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 3
ในส่วนของดัชนีราคาผู้บริโภคนั้น ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป หรือ CPI เมื่อปี 2545 สูงขึ้นร้อยละ 1.6 แต่ในปี 2546 CPI สูงขึ้นร้อยละ 2.3 อันเป็นผลเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงาน ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน หรือ Core CPI เมื่อปี 2545 สูงขึ้นร้อยละ 2.4 แต่ในปี 2546 Core CPI เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 1.4 แสดงให้เห็นว่าอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งเป็นผลดีต่อการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย (Easy Monetary Policy) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำ
อย่างไรก็ตาม ในด้านการค้าระหว่างประเทศ แม้ว่าการส่งออกของสหรัฐฯ จะสามารถขยายตัวได้ร้อยละ 1.8 (จากการขายชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์เป็นหลัก) แต่การนำเข้าสินค้าก็เพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ45 (จากการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคและเชื้อเพลิง) ทำให้สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้นจาก 468 พันล้านดอลลาร์ฯในปี 2545 มาเป็น 536 พันล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2546 2. ภาวะเศรษฐกิจ ในปี 2547
เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาสแรกของปี 2547 ขยายตัวร้อยละ 4.2 ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่ใกล้เคียงกับไตรมาสสุดท้ายของปี 2546 คือ ที่ขยายตัวร้อยละ 4.1 และเศรษฐกิจตลอดทั้งปี 2547 มีแนวโน้มจะขยายตัวสูงขึ้นประมาณร้อยละ 4.6 เมื่อเทียบกับร้อยละ 3.1 เมื่อปี 2546 และนับว่าเป็นการขยายตัวสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2543
ปัจจัยที่จะสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจในปี 2547 คือ
1) การลดอัตราภาษีเงินได้ ซึ่งเป็นผลมาจากการที่รัฐบาลสหรัฐฯ ได้กำหนดนโยบายการคลังเพื่อจัดทำงบประมาณขาดดุล รัฐบาลจึงได้มีนโยบายลดอัตราภาษีเงินได้เฉลี่ยร้อยละ 1 ต่อปี ตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา ทำให้อัตราภาษีเงินได้อยู่ระหว่างร้อยละ 26-37.6 เป็นผลทำให้ผู้บริโภคมีรายได้หลังหักภาษีเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 และมีอำนาจในการใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้นร้อยละ 4.3 กระตุ้นให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น อีกทั้งเป็นการสร้างบรรยากาศในการลงทุนให้ดีขึ้น
2) อัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำ รัฐบาลสหรัฐฯ ได้กำหนดนโยบายการเงินให้อัตราดอกเบี้ยต่ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นให้มีการลงทุนจากภาคเอกชนสูงขึ้น ทำให้ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวเพิ่มขึ้นและมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นประมาณ 2 ล้านคน โดยเฉพาะในสาขาบริการ การผลิต การก่อสร้าง และเทคโนโลยีชั้นสูง ซึ่งจะส่งผลให้อัตราการว่างงานลดลงจากร้อยละ 6.0 ในปี 2546 อยู่ในระดับร้อยละ 5.6 ในปี 2547 และในส่วนของอัตราการใช้กำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรมเฉลี่ยร้อยละ 78.1 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 74.8 ในปี 2546 ทั้งนี้ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 2.5 ในปี 2547 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปรับตัวสูงขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลก
อย่างไรก็ตาม ในการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ครั้งต่อไปในวันที่ 29-30 มิถุนายน 2547 ธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจจะเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2547 ขึ้นอีกประมาณร้อยละ 0.25-0.5 เพื่อรองรับกับอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น แต่การเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้อาจมีผลกระทบทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเกิดการชะลอตัวลงบ้างเล็กน้อย เนื่องจากผู้บริโภคมีภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นจึงทำให้ความสามารถในการใช้จ่ายลดลง และผู้ลงทุนขนาดกลางและขนาดเล็กอาจไม่มีความสามารถในการกู้ยืมเงินเพื่อมาลงทุนขยายกิจการต่อไป
ในด้านการค้าระหว่างประเทศนั้น แม้ว่าค่าเงินดอลลาร์ฯ ที่อ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่องจะช่วยผลักดันให้การส่งออกสูงขึ้น และคาดว่าจะช่วยให้ปริมาณการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ ลดลง แต่อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ทำให้ปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นกัน โดยเฉพาะสินค้าประเภทรถยนต์ และสินค้าเพื่อการจำหน่ายปลีก นอกจากนี้ การปรับตัวสูงขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลกยังทำให้สถานการณ์ขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ แย่ลง ดังนั้น คาดว่าจะมีการขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้นเกินกว่า 600 พันล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2547
3.) แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจ
แม้ว่า การดำเนินนโยบายการคลังและนโยบายการเงินของรัฐบาลสหรัฐฯ จะส่งผลให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ ปี 2545 แต่การฟื้นตัวจะยั่งยืนเพียงใด ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบสำคัญหลายประการ อาทิ
1) สหรัฐฯ ประสบปัญหาด้านการคลังอย่างมากจากเดิมที่เคยเกินดุลงบประมาณ 127 พันล้านดอลลาร์ฯ เมื่อปี 2544 มาเป็นการขาดดุลงบประมาณสูงถึง 374 พันล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2546 (ร้อยละ 4.7 ของ GDP) และคาดว่าในปี 2547 สหรัฐฯ จะขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นเป็น 550 พันล้านดอลลาร์ฯ (คาดการณ์โดย บริษัทเมอร์ริล ลินซ์) ดังนั้น เพื่อลดการขาดดุลงบประมาณที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลสหรัฐ
อาจจำเป็นต้องลดการใช้จ่ายภาครัฐลง เป็นผลให้ปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจลดลง อัตราดอกเบี้ยจะปรับสูงขึ้น ทำให้มีการลงทุนลดลง ซึ่งอาจส่งผลให้การขยายตัวของเศรษฐกิจชะลอตัวลงบ้าง
2) การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2547 คาดว่าจะสูงถึง 544 พันล้านดอลลาร์ฯ (คาดการณ์โดย บริษัทเมอร์ริล ลินซ์) ซึ่งส่งผลให้สหรัฐฯ ต้องกู้ยืมเงินจากต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพึ่งพาธนาคารกลางของต่างประเทศมากขึ้นในการซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ โดยคาดว่าสัดส่วนของพันธบัตรของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่อยู่ในมือของชาวต่างชาติสูงถึงร้อยละ 41 ซึ่งหากต่างชาติขาดความมั่นใจในเศรษฐกิจสหรัฐฯ และนำพันธบัตรออกจำหน่ายอาจส่งผลโดยอ้อมให้ค่าเงินดอลลาร์ฯ อ่อนค่าลง หากค่าเงินดอลลาร์ฯ ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง จะก่อให้เกิดความผันผวนอย่างมากต่อระบบการเงินสหรัฐฯ และระบบการเงินระหว่างประเทศ
3) นโยบายการลดอัตราภาษีเงินได้ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นอุปทานรวม โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมการผลิตและการลงทุนเป็นหลัก แม้ส่งผลต่ออุปทานรวม แต่บริษัทต่างๆ ยังมีกำลังการผลิตเกินความต้องการอยู่บ้าง การลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิตจึงยังไม่เพิ่มขึ้นมากนัก
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (66) 2282-6171-9 แฟกซ์ (66) 2280-0775
-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ