บทความ: การฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศญี่ปุ่น

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 30, 2004 14:21 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

        1. เศรษฐกิจญี่ปุ่นในปัจจุบัน
เศรษฐกิจญี่ปุ่นมีแนวโน้มของการฟื้นตัวที่ต่อเนื่อง ชัดเจน และเคลื่อนออกจากภาวะหดตัวที่ประสบมาเป็นเวลานานกว่า 10 ปี จากการฟื้นตัวของการส่งออกไปยังเอเชียโดยเฉพาะจีน รวมทั้งการบริโภคภายในประเทศที่ขยายตัวมากขึ้นจากการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นปัจจัยผลักดันที่สำคัญ โดยไตรมาสแรกของปี 2547 (ม.ค. - มี.ค. 47) GDP ของญี่ปุ่นขยายตัวจากไตรมาสก่อนหน้านี้ (ต.ค. - ธ.ค. 46) ร้อยละ 1.4 และ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (ม.ค. - มี.ค. 46) ขยายตัวถึงร้อยละ 5.6 ซึ่งเป็นการขยายตัวติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 8 ส่งผลให้ GDP ในปีงบประมาณ 2546 (เม.ย. 46 - มี.ค. 47) ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.2 จากปี 2545 ที่ผ่านมา
2. องค์ประกอบการขยายตัวของ GDP
2.1) การบริโภคภายใน (Private Demand)
การบริโภคภายในประเทศ (สัดส่วนประมาณร้อยละ 55 ของ GDP) ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2547 เพิ่มขึ้น จากไตรมาสที่ผ่านมาร้อยละ 1.0 โดยการใช้จ่ายภาคครัวเรือนในเดือนเมษายน 2547 เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.2 จากปีก่อน อันเป็นผลจากการใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้นในหมวดการคมนาคมขนส่ง การศึกษา การใช้จ่ายซื้อสินค้าเทคโนโลยี เช่น กล้องดิจิตอล และเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล เป็นต้น
2.2) การส่งออก/นำเข้า (Exports/Imports)
การส่งออกของญี่ปุ่นในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2547 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนร้อยละ 3.9 โดยเฉพาะการส่งออก ในหมวดสินค้าหลัก คือ ส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์และรถยนต์ ในขณะที่การนำเข้าเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนร้อยละ 1.9
2.3) การลงทุนภาคเอกชน (Private Investment)
การลงทุนของภาคเอกชนที่เป็นการลงทุนจากภายนอกประเทศในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2547 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนร้อยละ 2.4 โดยเฉพาะในหมวดเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) และสาขาการก่อสร้าง อันเป็นการขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวถึงร้อยละ 6.9
2.4) การลงทุนภาครัฐ (Public Investment)
การใช้จ่ายลงทุนของรัฐบาลญี่ปุ่นช่วง 3 เดือนแรกของปี 2547 ลดลงร้อยละ 3.4 จากการปรับเปลี่ยนรูปแบบการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแบบเดิมที่พึ่งพาการใช้จ่ายลงทุนในโครงการต่างๆ ของรัฐบาล
3. วิเคราะห์ผลจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและแนวโน้มในอนาคต
การฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่น ซึ่งเกิดจากการส่งออกและการบริโภคภายในที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ภาคธุรกิจมีผลประกอบการดีขึ้น โดยผลกำไรก่อนหักภาษีของบริษัทที่มิใช่สถาบันการเงิน(Non - financial companies) ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2547 เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อัตราการล้มละลายของธุรกิจลดลง โดยตัวเลขการล้มละลายของบริษัทในเดือนเมษายน 2547 อยู่ที่ 1,236 ราย ลดลงร้อยละ 17.3 ธนาคารพาณิชย์มีฐานะดีขึ้น โดยระดับ NPLs อยู่ที่ 124 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากระยะเวลาสองปีที่ผ่านมาราวครึ่งหนึ่ง หรือประมาณร้อยละ 5 ของยอดหนี้รวมของธนาคาร นอกจากนี้สถานการณ์การจ้างงานปรับตัวดีขึ้น โดยมีการจ้างงานกว่า 240,000 ตำแหน่ง อัตราการว่างงานในเดือนเมษายน 2547 ลดลงร้อยละ 4.7 จากปีที่ผ่านมา
การขยายตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นนี้ นับว่าเกินกว่าที่รัฐบาลคาดหมายเอาไว้และคาดว่าจะส่งผลดีต่อประเทศไทยในหลายทาง ทั้งการส่งออกสินค้าและแรงงานไปยังญี่ปุ่น รวมทั้งการขยายการลงทุนของญี่ปุ่นในประเทศไทยโดยในปี 2546 การส่งออกของไทยไปญี่ปุ่นมีมูลค่าทั้งสิ้น 11,395.72 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.53 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 14.20 ของมูลค่าการส่งออกรวม โดยญี่ปุ่นเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญอันดับที่ 2 ของไทย และในปี 2547 มีเป้าหมายในการขยายการส่งออกไปยังญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นร้อยละ 14 หรือมูลค่าประมาณ 12,991 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สินค้าส่งออกไปญี่ปุ่นที่สำคัญ ได้แก่ แผงวงจรไฟฟ้า รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบรถยนต์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องโทรสาร โทรพิมพ์ โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบโทรศัพท์ ยางธรรมชาติ เป็นต้น
ในปี 2546 ญี่ปุ่นมีการลงทุนในไทยโดยตรงที่ได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริม การลงทุนรวมมูลค่า 97,597 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 154.17 โดยญี่ปุ่นลงทุนในไทยเป็นอันดับหนึ่ง จำนวน 260 โครงการ เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 45 โครงการ ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในสาขาผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่ง และสาขาอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า และในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2547 ญี่ปุ่นยังคงลงทุนในไทยมากเป็นอันดับหนึ่ง มีโครงการที่ได้รับอนุมัติ 106 โครงการ มูลค่า 39,417 ล้านบาท
โดยที่การใช้จ่ายในการบริโภคและการส่งออกจะยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้เศรษฐกิจญี่ปุ่น ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยสำคัญที่อาจมีผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่น เช่น ปัญหาเงินฝืดในระบบเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ซึ่งปัจจุบันญี่ปุ่นมีอัตราเงินฝืดอยู่ที่ลบร้อยละ -2.6 รวมทั้งราคาน้ำมันในตลาดโลกที่อยู่ในระดับสูง และภาวะเศรษฐกิจของประเทศจีนที่หากเกิดการชะลอตัวก็จะกระทบต่อการส่งออกของญี่ปุ่นได้
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (66) 2282-6171-9 แฟกซ์ (66) 2280-0775
-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ