บทความ: เมื่อเศรษฐกิจจีนชะลอตัว

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 1, 2004 11:13 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

        1. ภาวะเศรษฐกิจจีนปัจจุบัน
ตลอดระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา จีนเป็นประเทศที่มีอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในโลก กล่าวคือ อัตราการขยายตัวของ GDP สูงขึ้นต่อเนื่องติดต่อกันทุกปี โดยเมื่อปี 2545 GDP ขยายตัวร้อยละ 8 สำหรับปี 2546 ถึงแม้ว่าจะประสบปัญหาโรคซาร์สแต่อัตราการขยายตัวยังสูงอยู่ถึงร้อยละ 9.1 และในไตรมาสแรกของปี 2547 เติบโตถึงร้อยละ 9.7
ทั้งนี้ ด้วยความพยายามของรัฐบาลจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภายหลังจากการเป็นสมาชิกองค์การค้าการค้าโลกเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2544 ผู้บริหารประเทศระดับสูงของจีนให้ความสำคัญกับการขยายความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศมากขึ้น มีการเดินทางเยือนต่างประเทศ เช่น ประเทศสมาชิกอาเซียน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เป็นต้น เพื่อเปิดประตูทางการค้าและขยายการลงทุนให้เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้มูลค่าการค้าระหว่างประเทศเพิ่มสูงขึ้นจาก 5 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อปี 2544 เป็นกว่า 6 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2545 และปี 2546 มูลค่าการค้าระหว่างประเทศเพิ่มสูงขึ้นเป็น 8.5 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ
ส่วนการลงทุนของจีนในต่างประเทศเพิ่มขึ้นจาก 8.3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2544 เป็น 35 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2546 ซึ่งครอบคลุมกว่า 160 ประเทศ โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก อเมริกาเหนือ แอฟริกา ละตินอเมริกา และยุโรป ซึ่งในปัจจุบันจีนได้จัดทำข้อตกลงการลงทุนกับประเทศต่าง ๆ รวม 103 ประเทศ และคาดว่าในอีก 5 ปี ข้างหน้าจีนจะขยายการลงทุนไปยังประเทศต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น ในส่วนของการลงทุนจากต่างประเทศนั้น แม้ว่าจีนจะมีข้อจำกัดด้านภาษาและกฎระเบียบข้อบังคับอยู่บ้าง แต่ด้วยเหตุที่จีนมีปัจจัยดึงดูดที่สำคัญ คือ การมีตลาดขนาดใหญ่ (จำนวนประชากรที่สูงถึง 1,300 ล้านคน) และค่าจ้างแรงงานต่ำ จีนยังได้รับความสนใจจากนักลงทุนจากต่างประเทศ โดยการลงทุน FDI ในปี 2545 มูลค่า 53.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ปี 2546 มูลค่า 115.1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และในปี 2547 (มค.-พค.) มูลค่า 25.91 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 11.34
2. นโยบายรัฐบาลจีน
รัฐบาลจีนประสงค์จะให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างมีเสถียรภาพไม่เกิดภาวะ "overheat" และมีความอ่อนแอ อันจะนำไปสู่ภาวะ "ฟองสบู่แตก" ดังเช่นที่เกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศในช่วงปี 2540-41 รัฐบาลจีนจึงดำเนินนโยบายที่จะสร้างสมดุลในระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยกำหนดอัตราการขยายตัวของ GDP ของปี 2547 เพียงร้อยละ 7 และคาดว่าจะได้เปรียบดุลการค้าประมาณ 386,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อไม่เกินร้อยละ 3 โดยใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อควบคุมมิให้เศรษฐกิจขยายตัวเร็วเกินไป อาทิ การใช้นโยบายการคลังที่รัดกุมมากขึ้น ควบคุมปริมาณสินเชื่อภาคเอกชนของสถาบันการเงิน พยายามลดการลงทุนและควบคุมการออกใบอนุญาตใช้ที่ดินในบางอุตสาหกรรมที่ขยายตัวสูงเกินไป ได้แก่ เหล็ก ซีเมนต์ อลูมิเนียมและอสังหาริมทรัพย์ และยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาในด้านสาธารณสุข การศึกษาและสังคมในชนบท เร่งแก้ไขปัญหาทางสังคม พยายามลดช่องว่างระหว่างคนจนและคนรวย
ในส่วนภาคการเงิน ปี 2546 จีนประสบปัญหาสภาพคล่องส่วนเกินในระบบสถาบันการเงิน และระบบการจัดการเงินกู้ที่ไร้ประสิทธิภาพส่งผลให้หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ของธนาคารของรัฐมีสูงมาก คิดเป็นสัดส่วนประมาณ ร้อยละ 20 ของหนี้ทั้งระบบ ซึ่งนับได้ว่าเป็นจุดอ่อนของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ รัฐบาลต้องเร่งปรับโครงสร้างสถาบันการเงิน อาทิ การควบรวมกิจการ China Construction Bank และ Bank of China การโอนหนี้เสียให้บรรษัทบริหารสินทรัพย์และการหาพันธมิตรร่วมทุน เช่น อนุญาตให้ภาคเอกชนของสหรัฐอเมริกาเข้ามาลงทุนใน Shenzhen Development Bank โดยสามารถถือหุ้นได้ถึงร้อยละ 18 เพื่อรองรับการเปิดเสรีด้านการเงินในปี 2549 ตามพันธกรณีใน WTO
นอกจากนี้ จีนแสดงท่าทีว่าจะยังไม่ปล่อยให้ค่าเงินหยวนลอยตัวหรือขยับให้สูงขึ้นตามแรงกดดันของชาติตะวันตก แต่ธนาคารกลางจีนมีนโยบายขยายเพดานอัตราแลกเปลี่ยนให้กว้างขึ้นซึ่งจะส่งผลให้ค่าเงินหยวนแข็งค่าขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไปตั้งอยู่บนพื้นฐานความมีเสถียรภาพ และเข้าสู่ระบบการแลกเปลี่ยนเงินแบบลอยตัวอย่างเป็นขั้นเป็นตอน โดยพิจารณาจากผลการปฎิรูปภาคการเงินภายในประเทศเป็นสำคัญก่อนที่จะปรับเปลี่ยนระบบ
3. ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับไทย
ด้านการค้า
ความสัมพันธ์ด้านการค้าระหว่างไทย-จีน ขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นลำดับและปัจจุบันจีนเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญเป็นอันดับที่ 4 รองจากสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และ สหภาพยุโรป สำหรับปี 2546 การค้าระหว่างกันมีมูลค่ารวม 11.7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ จำแนกเป็นการส่งออกไปจีนรวมมูลค่า 5.7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ สินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ยางพารา เม็ดพลาสติก น้ำมันดิบ เคมีภัณฑ์ เป็นต้น ในด้านการนำเข้านั้นไทยนำเข้ารวมมูลค่า 6.0 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ สินค้านำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรใช้ในอุตสาหกรรม เป็นต้น ทั้งนี้ไทยเป็นฝ่ายขาดดุลการค้าเรื่อยมา สำหรับปี 2547 ไทยได้กำหนดเป้าหมายการส่งออกไปยังจีนเป็นมูลค่า 7.85 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 38.0)การค้าไทย-จีน
มูลค่า : ล้านเหรียญสหรัฐฯ
ปี ปริมาณการค้ารวม ไทยส่งออก ไทยนำเข้า ดุลการค้า
มูลค่า สัดส่วน(%) % มูลค่า % มูลค่า % มูลค่า
2543 6,226.1 4.7 43.7 2,836.5 52.4 3,389.6 37.1 -553.1
2544 6,569.3 5.2 5.5 2,873.4 1.3 3,696.0 9.0 -822.6
2545 8,452.5 6.3 28.6 3,555.0 23.7 4,897.5 32.5 -1,342.5
2546 11,693.6 7.5 38.3 5,691.3 60.09 6,002.3 22.6 -311.0
ที่มา : ศูนย์สารสนเทศเศรษฐกิจการค้า กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ โดยความร่วมมือของกรมศุลกากร
หมายเหตุ : สัดส่วน = การค้าสองฝ่ายต่อการค้ารวมของไทยทั้งหมด
ด้านการลงทุน
การลงทุนที่จีนได้รับอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ตั้งแต่ปี 2543 ถึงปี 2546 มีจำนวนทั้งสิ้น 120 โครงการ รวมมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 22,919.34 ล้านบาท ประกอบด้วย อุตสาหกรรมเบา เช่น รองเท้า กระเป๋าเดินทาง เฟอร์นิเจอร์ไม้ยาง เวชภัณฑ์และอุปกรณ์การแพทย์ เลนซ์แว่นตา เป็นต้น ร้อยละ 31.4 รองลงมาคือ ธุรกิจเคมีภัณฑ์ กระดาษ และพลาสติก ร้อยละ 23.4 (ในปี 2546 จีนมีการลงทุนในไทยรวม 11 โครงการ มูลค่าการลงทุนรวม 35.27 ล้านเหรียญสหรัฐฯ )
ขณะเดียวกันการลงทุนของไทยในจีนนับรวมการลงทุนตั้งแต่ปี 2543 ถึงปี 2546 มีมูลค่าการลงทุนรวมทั้งสิ้น 720.06 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ประกอบด้วย อุตสาหกรรมการเกษตร ป่าไม้ อสังหาริมทรัพย์ ธนาคาร เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ค้าปลีก ท่องเที่ยว และโรงพยาบาล (ในปี 2546 ไทยลงทุนในจีนรวม 148 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 134.65 ล้านเหรียญสหรัฐฯ)
4. ผลกระทบต่อไทย
ด้านการค้า
เมื่อพิจารณาจากมูลค่าการส่งออกและนำเข้าในช่วงต้นของปี 2547(ม.ค.-เม.ย.) ไทยยังไม่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของจีน มูลค่าการส่งออกและนำเข้ายังเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.4 และ40.0 ตามลำดับ) แต่คาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังการส่งออกไทยมีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะสินค้าที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมที่จีนมีนโยบายควบคุมเป็นพิเศษ จึงเห็นควรเร่งขยายการส่งออกในสินค้าอื่นโดยเฉพาะสินค้าภายใต้กรอบข้อตกลงเขตการค้าเสรีไทย-จีน อาทิ สินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป
ในด้านการนำเข้า เมื่อจีนพยายามลดการลงทุนและควบคุมอุตสาหกรรมที่ขยายตัวสูงเกินไป เช่น เหล็ก ซีเมนต์ อลูมิเนียม นั้น อาจกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมที่นำเข้าสินค้าประเภททุนและสินค้ากึ่งสำเร็จรูป ผู้ประกอบการอาจมีความจำเป็นต้องแสวงหาสินค้าดังกล่าวจากแหล่งนำเข้าอื่น อาทิ ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และมาเลเซีย ทดแทนเพื่อมิให้กระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิตของไทย ด้านการลงทุน
การลงทุนของไทยในจีนมีแนวโน้มชะลอตัว โดยเฉพาะในภาคธุรกิจที่จีนมีมาตรการควบคุมเป็นพิเศษ อาทิ อสังหาริมทรัพย์ เหล็ก และปูนซีเมนต์ เป็นต้น แต่นักลงทุนไทยอาจขยายการลงทุนในภาคธุรกิจอื่นๆ อาทิ สาขาการบริการ เช่น ท่องเที่ยว อู่ซ่อมรถ ร้านอาหาร ร้านเสริมสวย และบริการด้านสุขภาพ เป็นต้น สำหรับการลงทุนของจีนในไทย คาดว่ามีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากรัฐบาลจีนให้การสนับสนุนด้วยมาตรการจูงใจ อาทิ ยกเว้นภาษีเงินได้ ผ่อนคลายกฎระเบียบ รวมทั้งขยายวงเงินประกันและการให้สินเชื่อเพิ่มขึ้น ประกอบกับจีนยังมีสภาพคล่องส่วนเกินในสถาบันการเงินภายในประเทศสูง ส่งผลให้นักลงทุนของจีนหันมาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น โดยคาดหวังที่จะให้ไทยเป็นศูนย์กลางกระจายสินค้าไปยังประเทศสมาชิกเขตการค้าเสรีอาเซียน
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (66) 2282-6171-9 แฟกซ์ (66) 2280-0775
-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ