ภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดือนมิถุนายน 2547

ข่าวเศรษฐกิจ Saturday July 3, 2004 11:15 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

          เดือนมิถุนายน 2547 ภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังคงขยายตัวจากการผลิตนอกภาคเกษตรเป็นสำคัญ การใช้จ่ายภาคเอกชนเพิ่มขึ้น เห็นได้จากปริมาณการใช้ไฟฟ้าเพื่อ ที่อยู่อาศัย การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม การจดทะเบียนรถยนต์ รถจักรยานยนต์ เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับการลงทุนภาคเอกชนที่ยังมีทิศทางที่ดี ภาคการก่อสร้างขยายตัว การผลิตภาคอุตสาหกรรมสำคัญขยายตัวเกือบทุกสาขา การผลิตผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง อุตสาหกรรมผลิตวัสดุก่อสร้าง อุตสาหกรรมเครื่องดื่ม และอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าสำเร็จรูปเพิ่มขึ้น ในขณะที่อุตสาหกรรมผลิตเยื่อกระดาษลดลง ความต้องการแรงงานมีเพิ่มขึ้น ภาคการคลังรัฐบาล การจัดเก็บรายได้และการเบิกจ่ายงบประมาณเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อน ด้านภาคเกษตรราคาข้าวเปลือกปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน แต่ยังคงสูงกว่าในเดือนเดียวกันของปีก่อน ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนตามความต้องการของตลาด  อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นร้อยละ 4.2 การค้าชายแดนไทย-ลาว และไทย-กัมพูชา ปรับตัวดีขึ้น 
1. ภาคการเกษตร
ข้าว ในเดือนมิถุนายน เกษตรกรทำนาฤดูการใหม่ เริ่มหว่านกล้าและปักดำ ผลผลิตส่วนใหญ่อยู่ในมือพ่อค้า ราคาปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน แต่ยังคงสูงกว่าในเดือนเดียวกันของปีก่อน ราคาขายส่งเฉลี่ยข้าวเปลือกเจ้า 5% เกวียนละ 8,691 บาท เทียบกับเดือนก่อนราคาเกวียนละ 9,353 บาท ลดลงร้อยละ 7.1 แต่เมื่อเทียบกับในเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งราคาเกวียนละ 8,102 บาท สูงขึ้นร้อยละ 7.3 ราคาขายส่งเฉลี่ยข้าวเปลือกเหนียว 10% (เมล็ดยาว) เกวียนละ 6,324 บาท เทียบกับเดือนก่อน ซึ่งราคาเกวียนละ 6,441 บาท ลดลงร้อยละ 1.8 แต่เมื่อเทียบกับในเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งราคาเกวียนละ 5,910 บาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.0
ครึ่งแรกปี 2547 เป็นระยะของการเกี่ยวข้าว ฤดูกาลที่ผ่านมาซึ่งได้ผลผลิต 9,553,721 ตัน เพิ่มขึ้นจากฤดูการผลิตปีก่อนหน้าร้อยละ 5.1 เนื่องจากสภาพฝนเอื้ออำนวย ภาวะการค้าข้าวเปลือกในช่วงครึ่งแรกปีนี้ค่อนข้างคึกคัก ราคาข้าวเปลือกสูงกว่าระยะเดียวกันของปีก่อนค่อนข้างมาก ราคาขายส่งเฉลี่ยข้าวเปลือกเจ้า 5% เกวียนละ 8,873 บาท เทียบกับระยะเดียวกันของ ปีก่อน เกวียนละ 7,228 บาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.8 ราคาขายส่งเฉลี่ยข้าวเปลือกเหนียว 10% (เมล็ดยาว) เกวียนละ 6,285 บาท เทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนเกวียนละ 5,679 บาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.7
มันสำปะหลัง การเพาะปลูกมันสำปะหลังเดือนนี้อยู่ระหว่างเจริญเติบโต ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย ราคาปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อน ราคาขายส่งเฉลี่ยหัวมันสำปะหลังกิโลกรัมละ 0.88 บาท เทียบกับเดือนก่อนราคากิโลกรัมละ 0.84 บาท สูงขึ้นร้อยละ 4.8 แต่ เมื่อเทียบกับในเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งกิโลกรัมละ 0.90 บาท ลดลงร้อยละ 2.2 ราคาขายส่งเฉลี่ยมันเส้นกิโลกรัมละ 2.36 บาท เทียบกับเดือนก่อนซึ่งกิโลกรัมละ 2.11 บาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.8 แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งกิโลกรัมละ 2.40 บาท ลดลงร้อยละ 1.7
ครึ่งแรกปี 2547 ผลผลิตหัวมันสำปะหลังออกสู่ตลาดค่อนข้างมาก แต่ราคารับซื้อหัวมันอยู่ในเกณฑ์ต่ำ เนื่องจากเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ค่าระวางเรือปรับสูงขึ้น ประกอบกับสต๊อกมันในตลาดโลกสูง ราคาขายส่งเฉลี่ยหัวมันสำปะหลังครึ่งแรกปีนี้กิโลกรัมละ 0.82 บาท เทียบกับราคาเฉลี่ยในช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งกิโลกรัมละ 0.96 บาท ลดลงร้อยละ 14.6 ราคาขายส่งเฉลี่ยมันเส้นกิโลกรัมละ 2.04 บาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งกิโลกรัมละ 2.21 บาท ลดลง ร้อยละ 7.8
ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ในเดือนนี้เกษตรกรเริ่มปลูกข้าวโพดฤดูกาลใหม่ ผลผลิตออกสู่ตลาดค่อนข้างน้อย ในขณะที่ความต้องการอยู่ในเกณฑ์สูง โรงงานอาหารสัตว์มีความต้องการข้าวโพดเก็บไว้ในสต๊อกเพิ่มขึ้น เนื่องจากเกรงว่าการเพาะปลูกจะกระทบแล้ง ในขณะที่ตลาด ต่างประเทศมีคำสั่งซื้อค่อนข้างมาก ส่งผลถึงราคารับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ภายในประเทศปรับตัวสูงขึ้น โดยราคาขายส่งเฉลี่ยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดือนนี้กิโลกรัมละ 5.98 บาท เทียบกับเดือนก่อนซึ่งกิโลกรัมละ 5.10 บาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.3 เทียบกับในเดือนเดียวกันของ ปีก่อน ซึ่งกิโลกรัมละ 4.60 บาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.0
ครึ่งแรกปี 2547 ความต้องการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในตลาดมีแนวโน้มสูงขึ้น ทั้งจากความต้องการในประเทศและจากต่างประเทศ ส่งผลให้ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี ราคาขายส่งเฉลี่ยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือครึ่งแรกปี 2547 กิโลกรัมละ 4.91 บาท เทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนซึ่งกิโลกรัมละ 4.50 บาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.1
2. การใช้จ่ายภาคเอกชน เดือนนี้เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อน โดยพิจารณาจากปริมาณการใช้ไฟฟ้าเพื่อที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.9 รถยนต์นั่งส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.1 และรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นร้อยละ 37.6 รถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.9 ผลจากการแข่งขันของตลาดรถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่ยังรุนแรงอย่างต่อเนื่องขณะที่การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มกลับลดลงร้อยละ 4.3 เนื่องจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากโรงงานสุราลดลง เป็นผลจากการขยายโรงงานสุรา
ครึ่งแรกปี 2547 การใช้จ่ายภาคเอกชนในภาคดีขึ้น โดยพิจารณาจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้ 2,342.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.9 ปริมาณการใช้ไฟฟ้าเพื่อที่อยู่อาศัย 1,938.1 ล้านหน่วยต่อชั่วโมง เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.0 ยอดจำหน่ายรถยนต์นั่งส่วนบุคคล 15,205 คัน รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล 28,262 คัน และรถจักรยานยนต์ 239,477 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.2 ร้อยละ 46.2 และร้อยละ 31.4 ตามลำดับ
3. การลงทุนภาคเอกชนยังมีทิศทางที่ดีต่อเนื่อง โดยโครงการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนและการใช้ไฟฟ้าในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมยังเพิ่มขึ้น แต่การจดทะเบียนธุรกิจตั้งใหม่ลดลง
โครงการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนมีจำนวน 2 โครงการ เงินลงทุน 35 ล้านบาท ในขณะที่เดือนเดียวกันของปีก่อนซึ่งไม่มีโครงการได้รับอนุมัติ สำหรับการใช้ไฟฟ้าในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.6
สำหรับธุรกิจที่ขอจดทะเบียนธุรกิจตั้งใหม่ในเดือนนี้ลดลงโดยมูลค่าการจดทะเบียนบริษัทจำกัด และห้างหุ้นส่วนจำกัด ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 64.1 และร้อยละ 3.8 ตามลำดับ ประเภทของธุรกิจที่สำคัญ ได้แก่ กิจการรับเหมาก่อสร้าง กิจการค้าวัสดุก่อสร้าง กิจการจำหน่ายสินค้าเกษตรและอุปกรณ์ทางการเกษตร กิจการจำหน่ายรถยนต์และรถจักรยานยนต์ และโรงสีข้าว
ครึ่งแรกปี 2547 บรรยากาศการลงทุนในภาคยังมีแนวโน้มที่ดี ดูจากโครงการที่มายื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุน มีมูลค่าเงินลงทุนประมาณ27,431 ล้านบาท ซึ่งมูลค่าเงินลงทุนดังกล่าวสูงกว่าเงินลงทุนของปี2546ทั้งปีถึงร้อยละ 144 โครงการที่น่าสนใจจะเป็นโครงการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ โครงการเกษตรครบวงจร โครงการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ และโครงการผลิตแป้งแปรรูป สำหรับโครงการที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนมี 37 โครงการ เงินลงทุน 17,040 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 131.0 และร้อยละ 850.0 ตามลำดับ ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในหมวดอุตสาหกรรมเกษตรและผลิตผลจากการเกษตร โดยโครงการ ส่วนใหญ่ ได้แก่ โรงสีข้าวแบบคัดคุณภาพข้าว ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ และโรงงานแป้งแปรรูป อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป เป็นต้น
สำหรับธุรกิจตั้งใหม่เพิ่มขึ้น ทั้งบริษัทจำกัด และห้างหุ้นส่วนจำกัด โดยบริษัทจำกัดมีเงินทุน 1,862.2 ล้านบาท ห้างหุ้นส่วนจำกัด 1,513.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 39.0 และร้อยละ 7.0 ตามลำดับ ประเภทของธุรกิจที่สำคัญได้แก่ กิจการรับเหมาก่อสร้าง กิจการค้าคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง กิจการจำหน่ายสินค้าเกษตรและอุปกรณ์ทางการเกษตร และกิจการค้าวัสดุก่อสร้าง
ในด้านการใช้ไฟฟ้าในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.8
4. ภาคการก่อสร้าง เดือนนี้พื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในภาคฯเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่ยังคงเป็นการขออนุญาตก่อสร้างเพื่อที่อยู่อาศัยตามสวัสดิการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)และตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2547 ธอส.จะร่วมมือกับ กบข. เปิดโครงการรีไฟแนนซ์เงินกู้ที่อยู่อาศัยสำหรับสมาชิก กบข. โดยลักษณะของโครงการนี้จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ 1. รีไฟแนนซ์สมาชิก กบข. ที่เป็นลูกค้าของ ธอส.เดิม และ 2. รีไฟแนนซ์ลูกค้าใหม่ที่ย้ายมาจากสถาบันการเงินอื่น ซึ่งเป็นการเชื่อมต่อเนื่องโครงการสินเชื่อโครงการ ธอส.-กบข. ซึ่งปิดโครงการไปแล้วเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2547 อีกทั้งในปัจจุบันมีสถาบันการเงินหลายแห่งให้สินเชื่อเกี่ยวกับด้านที่อยู่อาศัยเช่นธนาคารพาณิชย์ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และธนาคารเพื่อวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ซึ่งมีการแข่งขันกันหลายรูปแบบ เช่น ระยะเวลาและเงื่อนไขของอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย โดยมีปัจจัยสนับสนุนเรื่องอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ยังคงต่ำต่อเนื่องถึงปัจจุบันเป็นปัจจัยให้ผู้ประกอบการสนใจลงทุนในด้านที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากปีที่แล้ว
ทั้งนี้ พื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในภาคฯเดือนนี้จำนวน 143,201 ตารางเมตร เพิ่มขึ้นร้อยละ8.3 จากระยะเดียวกันของปีก่อน จังหวัดอุดรธานีเป็นจังหวัดที่มีการขอรับอนุญาตฯ มากที่สุดในเดือนนี้คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 12.8 โดยการขอรับอนุญาตฯแบ่งเป็นวัตถุประสงค์เพื่อที่อยู่อาศัยสัดส่วนร้อยละ 69.4 ส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดขอนแก่น พื้นที่เพื่อการพาณิชย์สัดส่วนร้อยละ 20.5 ส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดอุดรธานี เพื่อการบริการสัดส่วนร้อยละ 6.2 เป็นการสร้างหอพักในจังหวัดอุดรธานี
ครึ่งแรกปี 2547 พื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในภาคฯ จำนวน 982,670 ตารางเมตร เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.2 จากระยะเดียวกันของปีก่อน จังหวัดอุดรธานีเป็นจังหวัดที่มีการขอรับอนุญาตฯมากที่สุดสัดส่วนร้อยละ 11.1 โดยการขอรับอนุญาตฯแบ่งเป็นวัตถุประสงค์เพื่อที่อยู่อาศัยสัดส่วนร้อยละ 65.0 ส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดนครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานีและสกลนครตามลำดับ พื้นที่เพื่อการพาณิชย์สัดส่วนร้อยละ 22.5 ส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดสกลนคร อุดรธานีและบุรีรัมย์ตามลำดับ เพื่อการบริการสัดส่วนร้อยละ 9.5 ส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดอุดรธานีและขอนแก่น เป็นการสร้างหอพัก โรงแรม โรงเรียนและร้านอาหาร
การซื้อขายที่ดิน
ภาวะการซื้อขายที่ดินในภาคฯมีการซื้อขายเพิ่มขึ้นจากปีก่อน เนื่องจากในปัจจุบันประชาชนยังมีความต้องการด้านที่อยู่อาศัยอยู่มากประกอบกับมีแหล่งเงินจากสถาบันการเงินหลาย ๆ สถาบันที่ให้สินเชื่อด้านที่อยู่อาศัย เช่น ธนาคารพาณิชย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเพื่อที่อยู่อาศัยอยู่ในระดับต่ำมากและอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์มีอัตราต่ำเช่นเดียวกัน จึงเป็นปัจจัยสนับสนุนให้มีการซื้อขายที่ดินเพื่อการสร้างที่อยู่อาศัยกันมากกว่าปีที่ผ่านมา
ครึ่งแรกปี 2547 ข้อมูลเบื้องต้นการซื้อขายที่ดินในภาคฯ97,840 รายเพิ่มขึ้นร้อยละ11.6 และจำนวนเงินที่ใช้ในการซื้อขายที่ดิน 22,525.5 ล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ17.2 จากระยะเดียวกันของปีก่อน จังหวัดนครราชสีมามีการซื้อขายสูงสุด 16,425 ราย เป็นเงิน 4,356.9 ล้านบาท รองลงมาได้แก่จังหวัดขอนแก่น 10,290 ราย เป็นเงิน 2,869.5 ล้านบาท อุดรธานี 8,499 รายเป็นเงิน 2,177.5 ล้านบาท อุบลราชธานี 7,494 รายเป็นเงิน 1,699.6 ล้านบาท ร้อยเอ็ด 6,070 ราย เป็นเงิน 1,239.9 ล้านบาท และบุรีรัมย์ 6,151 ราย เป็นเงิน1,111.0 ล้านบาท ตามลำดับ
5. การผลิตภาคอุตสาหกรรม ในเดือนนี้การผลิตของอุตสาหกรรมที่สำคัญของภาค เพิ่มขึ้นในบางประเภทอุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมแป้งมัน อุตสาหกรรมผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป และอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์
อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง มีการผลิตเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมแป้งมัน เนื่องจากมีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ โดยตลาดหลักคือ ไต้หวัน ญี่ปุ่น จีน และอินโดนีเซีย สำหรับประเทศเกาหลีใต้ ได้ประกาศขยายโควต้าอัตราภาษีพิเศษภายใต้ความตกลง WTO ในการนำเข้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังสำหรับปี 2547 เพื่อรองรับอุตสาหกรรมภายในประเทศ ทำให้เกาหลีใต้ มีคำสั่งซื้อผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังเพิ่มขึ้น อุตสาหกรรมผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป หลายแห่งมีการผลิตเต็มกำลังการผลิตโดยเฉพาะเสื้อผ้าคุณภาพดี ส่วนใหญ่เป็นคำสั่งซื้อของผู้ผลิตเสื้อผ้า มีตรายี่ห้อจากประเทศสหรัฐอเมริกา โดยช่วงนี้เป็นช่วงเร่งการผลิตเพื่อส่งไปในช่วงปลายปี ตามฤดูกาล สำหรับอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ มีการขยายกำลังการผลิตหลายโรงงาน โดยมีโรงงานย้ายฐานการผลิตมาตั้งอยู่ที่จังหวัดนครราชสีมาหลายแห่ง โดยเฉพาะในเขตอุตสาหกรรมเพื่อ ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งจะทำให้จังหวัดนครราชสีมา เป็น CLUSTER ของกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ที่สำคัญของประเทศต่อไป อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมแปรรูปไก่และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องได้รับผลกระทบจากโรคไข้หวัดนกมาก เนื่องจากมีข่าวการระบาดเป็น ครั้งที่ 2 ทำให้ไม่สามารถ ส่งออกไก่แช่แข็งได้ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่จึงลดกำลังการผลิตลง และรอมาตรการแก้ไขปัญหาจากภาครัฐบาล
สำหรับอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม มีปริมาณการผลิต เพิ่มขึ้นร้อยละ 54.8 โดยเฉพาะเบียร์ ซึ่งมีการขยายตลาดเพิ่มขึ้น ในส่วนการผลิตเยื่อกระดาษ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.3
ครึ่งแรกปี 2547 หมวดอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวดี ไม่ว่าจะเป็นโรงสีข้าว โรงงานแป้งมันสำปะหลัง อุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูป อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมแปรรูปไก่และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องได้รับผลกระทบจากโรคไข้หวัดนกมาก ตั้งแต่ต้นปีได้มีการเก็บรักษาไก่แช่แข็งไว้รอให้สถานการณ์คลี่คลายเพื่อจะได้ส่งออกต่อไป แต่เมื่อเกิดปัญหาโรคระบาดขึ้นอีกครั้งในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคมนี้ ส่งผลให้การส่งออกต้องรอออกไปอีก
6. ภาคการจ้างงาน
ภาวะการทำงานของภาคฯ เดือนนี้ อัตราการว่างงานร้อยละ 1.3 ลดลงจากระยะเดียวกันของปีก่อนซึ่งเป็นอัตราว่างงาน 1.8 โดยเป็นแรงงานภาคเกษตรกรรมสัดส่วนร้อยละ56.0 และแรงงานนอกภาคเกษตรสัดส่วนร้อยละ44.0 ส่วนใหญ่เป็นแรงงานในอุตสาหกรรมการผลิต รองลงมาเป็นการขายส่ง การขายปลีก การซ่อมแซมยานยนต์ รถจักรยานยนต์ ของใช้ส่วนบุคคลและของใช้ในครัวเรือน และการก่อสร้าง สภาพการทำงานแรงงานส่วนใหญ่เป็นการทำงานธุรกิจส่วนตัวรองลงมาเป็นลูกจ้างเอกชน วุฒิการศึกษาส่วนใหญ่ต่ำกว่าประถมศึกษา
การจัดหางานของภาคฯ เดือนนี้ เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนมีตำแหน่งงานว่างจำนวน 12,922 คน ลดลงร้อยละ2.3 ส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดอุดรธานี ชัยภูมิ นครราชสีมา และหนองคายตามลำดับ ผู้สมัครงานจำนวน 3,987 คนลดลงร้อยละ 40.5 ส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดนครราชสีมา ศรีษะเกษและอุดรธานีตามลำดับ ส่วนผู้ที่ได้รับการบรรจุเข้าทำงานมีจำนวน 2,067 คนเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.5 ส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดนครราชสีมา ศรีษะเกษ ร้อยเอ็ดและอุดรธานี ตามลำดับ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนการบรรจุเข้าทำงานร้อยละ 16.0 ของตำแหน่งงานว่างตามความเคลื่อนไหวของตลาดแรงงาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นความต้องการแรงงานในอุตสาหกรรมการผลิต การขายส่ง การขายปลีก การซ่อมแซมยานยนต์ อายุของแรงงานที่ต้องการอยู่ระหว่าง 18—24 ปี ผู้สมัครงานและได้รับการบรรจุเข้าทำงานมากที่สุดคือระดับมัธยมศึกษา
แรงงานที่เดินทางไปทำงานต่างประเทศเดือนนี้จำนวน 10,277 คน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 63.8 จากระยะเดียวกันของปีก่อน อุดรธานีเป็นจังหวัดที่มีแรงงานเดินทางไปทำงาน ต่างประเทศมากที่สุดในภาคฯจำนวน 2,123 คนรองลงมานครราชสีมา 1,692 คน และขอนแก่น 909 คน ประเทศที่แรงงานในภาคฯเดินทางไปทำงานมาก คือ ไต้หวัน จำนวน 5,619 คน รองลงมาอิสราเอล 1,783 คน เกาหลีใต้ 729 คน สิงคโปร์ 612 คน บรูไน 354 คน และญี่ปุ่น 128 คน รวมจำนวนแรงงานที่เดินทางไปทำงานใน 6 ประเทศจำนวน 9,225 คนคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 89.8 ของแรงงานทั้งภาคฯที่เดินทางไปทำงานในต่างประเทศเดือนนี้
ครึ่งแรกปี 2547 อัตราการว่างงานร้อยละ3.5 ลดลงจากระยะเดียวกันของปีก่อนซึ่งอัตราว่างงานร้อยละ3.7 โดยเป็นแรงงานภาคเกษตรกรรม สัดส่วนร้อยละ47.3 และ แรงงานนอกภาคเกษตรสัดส่วนร้อยละ52.7 ส่วนใหญ่เป็นแรงงานในอุตสาหกรรมการขายส่ง การขายปลีก การซ่อมแซมยานยนต์ รถเป็นจักรยานยนต์ ของใช้ส่วนบุคคลและของใช้ในครัวเรือน รองลงมาเป็นการผลิต และการก่อสร้าง สภาพการทำงานแรงงานส่วนใหญ่เป็นการทำงานธุรกิจส่วนตัว รองลงมาเป็นลูกจ้างเอกชน วุฒิการศึกษาส่วนใหญ่ต่ำกว่าประถมศึกษา
การจัดหางานของภาคฯ เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน ความต้องการแรงงาน 68,924 อัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.2 ส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดหนองคาย นครราชสีมา สุรินทร์และชัยภูมิ ผู้สมัครงาน 33,465 คนเพิ่มขึ้นร้อยละ2.0ส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดนครราชสีมา ศรีสะเกษ ชัยภูมิ และสุรินทร์ ผู้ที่ได้รับการบรรจุเข้าทำงาน 9,814 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 33.2 ส่วนใหญ่อยู่ใน จังหวัดนครราชสีมา ศรีสะเกษ สกลนครและสุรินทร์ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนการบรรจุเข้าทำงานร้อยละ 14.2 ของตำแหน่งงานว่างตามความเคลื่อนไหวของตลาดแรงงาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นความต้องการ แรงงานปฏิบัติงานในอุตสาหกรรมการผลิต การขายส่ง การขายปลีก การซ่อมแซมยานยนต์ อายุของแรงงานที่ต้องการส่วนใหญ่อยู่ระหว่าง 18 — 24 ปี วุฒิการศึกษา ที่ต้องการส่วนใหญ่คือระดับอาชีวศึกษา
ครึ่งปีแรกปี 2547 จำนวน 49,474 คน ลดลงร้อยละ 0.8 จากระยะเดียวกันของปีก่อน อุดรธานีเป็นจังหวัดที่มีแรงงานเดินทางไปทำงานต่างประเทศมากที่สุดในภาคฯ จำนวน 8,915 คน รองลงมานครราชสีมา 7,388 คน ขอนแก่น 4,593 คน และบุรีรัมย์ 4,023 คน ประเทศที่แรงงานภาคฯ เดินทางไปทำงานมากที่สุด คือ ไต้หวัน 26,974 คน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 54.5 ของแรงงานจากภาคฯ และเป็นสัดส่วนร้อยละ 73.7 ของแรงงานทั้งประเทศที่ไปทำงานในไต้หวันในครึ่งแรกปี 2547 จำนวน 36,613 คน โดยส่วนใหญ่แรงงานไปทำงานด้านช่างและผู้ใช้อุปกรณ์ในการขนส่ง วุฒิการศึกษาประถมศึกษาปีที่ 6
7. การค้าชายแดน ขยายตัวทั้งด้านไทย-ลาว และไทย-กัมพูชา
7.1 การค้าชายแดนไทย-ลาว
ภาวะการค้าชายแดนไทย-ลาวเดือนมิถุนายนปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยมูลค่า การค้า 2,096.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 เป็นการส่งออก 1,695.4 ล้านบาท การนำเข้า 401.3 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 6.9
การส่งออก 1,695.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 สินค้าส่งออกสำคัญที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียม 333.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 65.7 ยานพาหนะและอุปกรณ์ 235.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 113.5 เหล็กและหล็กกล้า 49.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 64.5 ผ้าผืน 63.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 57.0 ส่วนสินค้าสำคัญที่ลดลง ได้แก่ สินค้าอุปโภคบริโภค 202.2 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 39.8 วัสดุก่อสร้าง 63.2 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 47.4
การนำเข้า 401.3 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 6.9 สินค้าที่ลดลง ได้แก่ ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ 330.9 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 4.1
การค้าผ่านแดนไทย-ลาว
สินค้าผ่านแดนไทยไปลาว มูลค่า 1,320.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 77.1 สินค้าสำคัญ ได้แก่ เครื่องจักรและอุปกรณ์ 555.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4 เท่าตัว เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ 258.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 89.5 ผ้าและอุปกรณ์ตัดเย็บ 97.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.2 เครื่องดื่ม (สุรา) 58.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 70.1 ส่วนสินค้าที่ลดลง ได้แก่ บุหรี่ 31.9 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 70.7 รถยนต์-จักรยานยนต์และอะไหล่ 86.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.7
สินค้าขาออกจากลาว มูลค่า 786.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.2 สินค้าสำคัญ ได้แก่ เมล็ดกาแฟดิบ 83.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 62.1 เสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย 650.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 36.2 เฟอร์นิเจอร์ 2.6 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 1.7
ครึ่งแรกปี 2547 การค้าชายแดนไทย-ลาวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของ ปีก่อน โดยมีมูลค่าการค้า 11,389.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.3 เป็นการส่งออก 9,237.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2 การนำเข้า 2,151.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.2
การส่งออก สินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ สินค้าอุปโภคบริโภค 1,117.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.6 ยานพาหนะและอุปกรณ์ 802.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.4 เครื่องใช้ไฟฟ้า 650.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.5 เหล็กและเหล็กกล้า 301.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 122.2 ผ้าผืน 331.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.6 น้ำมันปิโตรเลียมและเชื้อเพลิง 1,633.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.6 ส่วนสินค้าที่ลดลง ได้แก่ วัสดุก่อสร้าง 549.6 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 28.1 เนื่องจาก สปป.ลาว มีมาตรการส่งเสริมให้ใช้ปูนซีเมนต์ที่ผลิตในประเทศ อุปกรณ์ตัดเย็บ 161.4 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 11.9
การนำเข้า สินค้านำเข้าที่สำคัญยังคงเป็นไม้และผลิตภัณฑ์ไม้มูลค่า 1,742.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.1
การค้าผ่านแดน
สินค้าผ่านแดนไทยไปลาว 4,945.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 41.0 สินค้าที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องจักรและอุปกรณ์ 1,164.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้า เครื่องจักรและอุปกรณ์ทำเหมืองจากประเทศสิงคโปร์ไปลาว เครื่องดื่ม (สุรา) 489.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.7 วัสดุก่อสร้าง 249.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่าห้าเท่าตัว ผ้าและอุปกรณ์ตัดเย็บ 556.3 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 13.4 บุหรี่ 459.8 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 21.1
สินค้าขาออกจากลาว 3,631.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.2 สินค้าที่สำคัญ ได้แก่ เสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย 2,886.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.8 เมล็ดกาแฟดิบ 482.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 54.7 ไม้แปรรูป 166.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.4
7.2 การค้าชายแดนไทย-กัมพูชา
การค้าชายแดนไทย-กัมพูชาเดือนมิถุนายน มีมูลค่าการค้า 1,917.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.7 เป็นการส่งออก 1,831.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 33.8 และการนำเข้า 85.7 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 1.3
การส่งออก สินค้าส่งออกที่สำคัญที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ น้ำตาล 163.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าตัว ยานพาหนะ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ 221.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว วัสดุก่อสร้าง 165.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.1
การนำเข้า มูลค่าการนำเข้า 85.7 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 1.3 เนื่องจากไม่มีการนำเข้าสินค้าหมวดทุนในเดือนนี้ สินค้าที่สำคัญยังคงเป็นไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ (รวมหวาย) 33.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าตัว
ครึ่งแรกปี 2547 ภาวะการค้าชายแดนไทย-กัมพูชามีมูลค่าการค้า 11,324.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.4 เป็นการส่งออก 10,549.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.2 การนำเข้า 775.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าตัว
การส่งออก สินค้าส่งออกที่สำคัญที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยานพาหนะ อุปกรณ์ และ ส่วนประกอบ 1,568.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าตัว และน้ำมันปิโตรเลียมและเชื้อเพลิง 877.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 79.7 น้ำตาล 423.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.2
การนำเข้า สินค้านำเข้าที่สำคัญที่เพิ่มขึ้นยังคงเป็นไม้และผลิตภัณฑ์ (รวมหวาย) 129.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าตัว
8. ภาคการเงิน
ธนาคารพาณิชย์ ณ สิ้นมิถุนายน 2547 มีสาขาทั้งสิ้น 487 สำนักงาน (รวมสาขาย่อย 58 สำนักงาน) เพิ่มขึ้น 1 สำนักงานจากเดือนก่อน
จากข้อมูลเบื้องต้น ธนาคารพาณิชย์ในภาคฯมีเงินฝากคงค้าง 283,432 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และร้อยละ 2.4 จากเดือนก่อน เนื่องจากผู้ฝาก ส่วนใหญ่ยังคงมั่นใจในการฝากเงินกับธนาคารพาณิชย์มากกว่านำเงินไปลงทุนในด้านอื่นที่มีความเสี่ยงสูงกว่า ในด้านสินเชื่อมียอดคงค้าง 225,185 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.0 จากระยะเดียวกันของปีก่อน และร้อยละ 2.4 จากเดือนก่อนหน้า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นของสินเชื่ออุตสาหกรรม ธัญพืช ประเภทโรงสีข้าว รองลงมาได้แก่ สินเชื่อเพื่อการค้าส่งและค้าปลีก สินเชื่อเพื่อการก่อสร้าง และสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคล เป็นต้น ในด้านอัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากเดือนนี้ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน จากอัตราส่วนร้อยละ 73.7 มาอยู่ที่ร้อยละ 79.4 ในเดือนนี้
ธนาคารออมสิน เดือนนี้มีสาขาทั้งสิ้น 136 สำนักงาน โดยมียอดเงินรับฝาก 7,663.0 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 11.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและมีเงินถอนทั้งสิ้น 8,401.1 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 2.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนโดยมียอดเงินฝาก คงค้าง 47,426.3 ล้านบาท
ครึ่งแรกปี 2547 มีเงินรับฝากทั้งสิ้น 67,640.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1 จากระยะเดียวกันของปีก่อน และมีเงินถอนทั้งสิ้น 70,488.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.3
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร มีสาขาในภาคฯ ทั้งสิ้น 179 สำนักงาน มียอดเงินฝากคงค้าง 64,556.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในด้านสินเชื่อเดือนนี้มีการจ่ายเงินกู้ไปทั้งสิ้น 3,867.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 57.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และยอดรับชำระเงินคืนทั้งสิ้น 2,825.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 84.5 ทำให้สินเชื่อคงค้างมีทั้งสิ้น 96,574.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ครึ่งแรกปี 2547 ด้านสินเชื่อมีการจ่ายเงินกู้ไปทั้งสิ้น 49,168.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยะ 28.6 จากปีก่อน และยอดรับชำระเงินคืนทั้งสิ้น 41,751.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.6
(ยังมีต่อ)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ