ความตกลงการค้าเสรีไทย- ออสเตรเลีย : โอกาสและการปรับตัว

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 13, 2004 11:48 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

        1. ปริมาณการค้าระหว่างไทยกับออสเตรเลียช่วง  5  ปี ที่ผ่านมามีปริมาณการค้ารวม 2 ประเทศ ไม่ถึงร้อยละ   2.4   ของมูลค่าการค้าของไทยกับทั่วโลก   คาดว่าหลังจากมีการลงนามในความตกลงการค้าเสรี จะทำให้ปริมาณการค้าเพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใด
ความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลียจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2548 โดยในวันดังกล่าวสินค้าของออสเตรเลียทั้งเกษตรและอุตสาหกรรมจำนวน 5,087 รายการ จะมีอัตราภาษีลดเหลือ 0%ทันที ซึ่งจะทำให้สินค้าไทยจำนวนมากได้เปรียบในการแข่งขันกับประเทศคู่แข่งในออสเตรเลีย เช่น อาหารกระป๋อง รถยนต์ขนาดเล็ก รถปิกอัพ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก สิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องใช้ไฟฟ้า อัญมณีและเครื่องประดับ กุ้งสด ผักและผลไม้ เป็นต้น โดยสินค้าดังกล่าวมีมูลค่าส่งออกไปออสเตรเลียในปี 2546 ประมาณ 1,378 ล้านเหรียญสหรัฐฯ นอกจากนี้ สินค้าเกษตรหลายรายการจะได้รับการแก้ไขปัญหา SPS ซึ่งจะทำให้สินค้าผลไม้ (มังคุด ลำไย ลิ้นจี่ ทุเรียน สับปะรด มะม่วง) เนื้อไก่ กุ้ง และปลาสวยงามมีโอกาสส่งออกไปออสเตรเลียได้ง่ายขึ้น
การค้าระหว่างไทยกับออสเตรเลียในช่วง 3 ปี (2544-2546) มีมูลค่าเฉลี่ย 3,190 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมีอัตราการเพิ่มเฉลี่ย 17.4% ผลจากการทำ FTA จะทำให้การค้าระหว่างสองฝ่ายขยายตัวเพิ่มขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง และคาดว่าในปี 2548 จะขยายตัวเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 17% โดยมีมูลค่าการค้าประมาณ 4,300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการส่งออกได้เข้าไปหาลู่ทางการทำตลาดในออสเตรเลียให้แล้ว จึงเป็นเรื่องที่ภาคธุรกิจจะต้องเร่งปรับตัวและเข้าไปแสวงหาโอกาสในตลาดออสเตรเลียให้ได้โดยเร็ว
2. หลายคนมองว่าออสเตรเลียลดภาษีให้เรามากและเร็วกว่าเราก็จริง แต่ส่วนหนึ่งภาษีของออสเตรเลียต่ำอยู่แล้ว ทำไมเราต้องทำเอฟทีเออีก ท่านมีความเห็นอย่างไร
ปัจจุบันสถานการณ์การแข่งขันด้านการค้าของโลกมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะต้องแข่งขันกับจีน ส่วนแบ่งตลาดสินค้าไทยในออสเตรเลียหลายรายการมีแนวโน้มลดลง และมีการนำมาตรการที่มิใช่ภาษีมาใช้มากขึ้น เช่น มาตรการด้านสุขอนามัย เป็นต้น ประเทศไทยจึงใช้ FTA เป็นยุทธศาสตร์เชิงรุกในการขยายการส่งออก ดึงดูดการลงทุน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
การทำ FTA ไม่ได้มีเฉพาะเรื่องการลดภาษีเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการยกเลิกมาตรการกีดกัน การค้าที่ไม่ใช่ภาษี การค้าบริการ การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจอื่นๆ ด้วย ในกรณี
ออสเตรเลีย ไทยให้ความสำคัญค่อนข้างมากกับการแก้ไขปัญหาด้านมาตรการสุขอนามัยพืชและสัตว์ (SPS) ซึ่งที่ผ่านมาออสเตรเลียมีการดำเนินการที่เข้มงวดและล่าช้ามาก อันเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกสินค้าเกษตรของไทย การเจรจา FTA กับออสเตรเลีย จะช่วยให้ไทยสามารถแก้ไขปัญหา SPS ให้ลุล่วงได้เร็วขึ้น ซึ่งจะทำให้ไทยสามารถขยายการส่งออกสินค้าเกษตรไปออสเตรเลียได้มากขึ้น
3. การทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างไทย-ออสเตรเลีย มีสินค้ากลุ่มใดที่ไทยได้เปรียบ และกลุ่มใดที่น่าจะมีผลกระทบบ้าง
ในการเจรจา FTA มีสินค้าเป็นจำนวนมากที่ไทยได้เปรียบ ได้แก่
สินค้าเกษตร - ข้าว กุ้งสด ผักและผลไม้ ทูนากระป๋อง และสับปะรดกระป๋อง ฯลฯ
สินค้าอุตสาหกรรม - รถยนต์ขนาดเล็ก รถปิกอัพ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก สิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องใช้ไฟฟ้า อัญมณีและเครื่องประดับฯลฯ
อย่างไรก็ตาม ยังมีสินค้าที่ไทยยังไม่พร้อมในการเปิดเสรี และไม่สามารถลดภาษีลงเป็น 0% ได้ทันที ไทยได้เจรจายืดระยะเวลาในการลดภาษีให้ช้าลง โดยสินค้าอ่อนไหวใช้เวลา 15—20 ปี เช่น เนื้อโค เนื้อหมู นมและครีม เนย กาแฟ เครื่องในสัตว์ มันฝรั่ง น้ำตาล ข้าวโพด เป็นต้น และใช้ มาตรการปกป้องพิเศษ รวมทั้งมีมาตรการโควตานำเข้า เพื่อช่วยให้เกษตรกรและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องมีเวลาปรับตัว
สินค้าอุตสาหกรรมที่ไทยต้องปรับตัว ได้แก่ พลาสติก เหล็ก ข้าวสาลีและมอลต์ เชื้อเพลิง ทองแดง รถยนต์ขนาดใหญ่ สังกะสี เป็นต้น
4. ทราบมาว่าขณะนี้ออสเตรเลียได้มีการลดภาษีลำไย และลิ้นจี่ ซึ่งทางไทยก็ได้ส่งไปแล้วเกือบ 40 ตัน ทั้งที่ออสเตรเลียมีมาตรการ SPS ที่เข้มงวดมาก เรื่องนี้เป็นผลมาจากการเจรจาเอฟทีเอหรือไม่
ขอเรียนว่า การที่ไทยส่งลิ้นจี่ไปออสเตรเลียได้นั้น เป็นผลมาจากการเจรจา FTA แน่นอน เพราะเดิมไทยไม่สามารถสินค้าผักและผลไม้ไปออสเตรเลียได้ เพราะติดปัญหาขั้นตอน สุขอนามัยพืชและสัตว์เข้มงวดมาก เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรที่ทั้งสองฝ่ายประสบอยู่ จึงได้มีการตกลงกันจัดตั้งคณะกรรมการด้านสุขอนามัยขึ้นมาเป็นการเฉพาะ และมีการระบุ priority products และ priority sectors ไว้แนบท้ายความตกลงฯ โดยของฝ่ายไทยได้แก่ผลไม้ ( มังคุด ลำไย ลิ้นจี่ ทุเรียน สับปะรด มะม่วง ) เนื้อไก่ กุ้ง ปลาสวยงาม ของฝ่ายออสเตรเลียได้แก่ ส้ม หน่อไม้ฝรั่ง มันฝรั่ง ปศุสัตว์มีชีวิตและอาหารสัตว์ โดยระบุให้ดำเนินงานให้ลุล่วงภายใน 2 ปี ทั้งนี้ ออสเตรเลียได้แสดงเจตนาที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยการพิจารณาสินค้าลิ้นจี่ ลำไย ของไทยควบคู่ไปกับการเจรจา และขณะนี้ได้เปิดตลาดให้มีการนำเข้าลำไยสดและลิ้นจี่สดจากไทยก่อนที่ความตกลงฯ จะมีผลใช้บังคับ
5. ในสินค้าประเภทนม หรือสินค้าต่อเนื่องจากนม หรือกิจการปศุสัตว์ ออสเตรเลียเป็นประเทศที่มีความเชี่ยวชาญมาก เรามีการเปิดตลาดให้ออสเตรเลียมากน้อยแค่ไหน จะกระทบต่อเกษตรกรไทยหรือไม่ อย่างไร
การเปิดตลาดนมและผลิตภัณฑ์ จะไม่มีผลกระทบต่อเกษตรกรไทยแต่อย่างใด เช่น นมผงขาดมันเนย ในช่วงที่ผ่านมาไทยเองก็ผลิตน้ำนมดิบไม่เพียงพอต่อการบริโภค จึงต้องมีการนำเข้านมผงขาดมันเนยประมาณ 70,000 ตันต่อปี เพื่อนำมาละลายกับน้ำให้เป็นนมพร้อมดื่มใน สัดส่วนนมผงขาดมันเนย 1 ส่วน ต่อน้ำ 10 ส่วน ให้ได้นมพร้อมดื่มประมาณ 700,000 ตันต่อปี
ภายใต้ WTO ซึ่งถือปฎิบัติมา 10 ปีแล้ว ประเทศไทยมีข้อผูกพันที่จะต้องเปิดโควตานำเข้านมผงขาดมันเนยอย่างต่ำ 55,000 ตันต่อปี โดยมีภาษีในโควตาไม่เกินร้อยละ 20 แต่ในทางปฏิบัติมีการนำเข้าจริงประมาณ 70,000 ตันต่อปี ซึ่งเป็นการนำเข้าเกินโควตาอยู่ประมาณ 15,000 ตันต่อปี โดยเรียกเก็บภาษีในอัตราต่ำ เพียงร้อยละ 5
ภายใต้ FTA ไทย - ออสเตรเลีย ไทยเปิดโควตานมผงขาดมันเนยให้แก่ออสเตรเลียเป็นการเฉพาะจำนวน 2,200 ตันในปี 2548 ซึ่งจำนวนดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของ 15,000 ตันต่อปีที่ไทยต้องนำเข้าอยู่แล้ว เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการบริโภคในประเทศ มิใช่ส่วนที่ต้องนำเข้าเกินกว่าความต้องการปกติแต่อย่างใด และแม้ว่าจำนวนโควตาจะเพิ่มขึ้นไปเป็นลำดับจนถึง 3,500 ตันในปี 2563 และคงปริมาณนี้ไปจนถึงปี 2567 แต่ก็ยังอยู่ภายใต้ปริมาณความต้องการที่ไทยต้องนำเข้าโดยปกติอยู่แล้ว อนึ่ง นมผงขาดมันเนยมีอัตราภาษีในโควตาไม่เกิน 20% ในปี 2548 โดยจะลดลงปีละ 1% เท่าๆกัน ต่อปี จนเหลือ 0% ในปี ที่ 20 (ปี 2568 ) แต่ในทางปฏิบัติประเทศไทยก็เรียกเก็บภาษีนมผงในส่วนนี้ในระดับต่ำ คือ ประมาณ 5% อยู่แล้ว
6. ประเทศไทยมีความจำเป็นในการนำเข้านมและผลิตภัณฑ์มากน้อยแค่ไหน
- ปัจจุบันการผลิตน้ำนมดิบของไทยประมาณ 600,000 ตันต่อปี ซึ่งต่ำกว่าความต้องการใช้ซึ่งมีถึง 1,200,000 ตันต่อปี และมีการนำเข้านมผงขาดมันเนย 70,000 ตันต่อปี
- ภายใต้ข้อตกลงขององค์การการค้าโลก (WTO) ซึ่งถือปฎิบัติมา 10 ปีแล้ว ประเทศไทยมีข้อผูกพันที่จะต้องเปิดโควตานำเข้านมผงขาดมันเนยอย่างต่ำ 55,000 ตันต่อปี โดยมีภาษีในโควตาไม่เกินร้อยละ 20 แต่ในทางปฏิบัติมีการนำเข้าจริงประมาณ 70,000 ตันต่อปี ซึ่งเป็นการนำเข้าเกินโควตาอยู่ประมาณ 15,000 ตันต่อปี โดยเรียกเก็บภาษีในอัตราต่ำ เพียงร้อยละ 5
7. รัฐบาลได้มีมาตรการในการเตรียมเพื่อช่วยเหลือในกิจการปศุสัตว์ และนม ให้สามารถปรับตัวเข้าสู่การแข่งขันอย่างไรบ้าง
รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ และพยายามสร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมโคนม โดยได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานติดตามผลการเจรจาจัดทำเขตการค้าเสรี (มีดร. ณรงค์ชัย อัครเศรณี เป็นประธาน) ซึ่งกำลังศึกษาการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมโคนมอย่างขะมักเขม้นอยู่แล้ว นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีก็ได้มีคำสั่งไปยังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้หามาตรการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้จัดทำยุทธศาสตร์โคเนื้อ ดังนี้
1. ยุทธศาสตร์การเพิ่มผลผลิตโคเนื้อ โดยการฝึกอบรมและถ่ายทอดความรู้เทคโนโลยีด้านการผลิตโคเนื้อสู่เกษตรกรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุนการผลิต
2. ยุทธศาสตร์การควบคุมป้องกันโรคและความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยการเพิ่มประสิทธิภาพด่านชายแดนในการป้องกันโรคและควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์ ฝึกอบรมเจ้าหน้าที่จากประเทศเพื่อนบ้าน (พม่า ลาว เขมร)
3. ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบตลาด โดยการสนับสนุนให้เกษตรกรรายย่อยรวมตัวกันเป็นสถาบันเกษตรกร เพื่อดำเนินการควบคุมด้านการผลิตและการตลาด
4. ยุทธศาสตร์การศึกษาวิจัยและพัฒนาโคเนื้อ โดยการศึกษาวิจัยและทดสอบพันธุ์โคที่ เหมาะสมกับประทศไทย
โคนม
1. ให้ฟาร์มโคนมทุกฟาร์มเข้าสู่ระบบมาตรฐานฟาร์ม
2. แหล่งเงินทุน ให้จัดสรรเงินทุนจากกองทุนพัฒนาสหกรณ์ อัตราดอกเบี้ยต่ำ จ่ายคืนระยะยาว เพื่อให้เกษตรกรใช้ปรับปรุงฟาร์ม
3. ตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา ไม่จัดสรรโควตานำเข้านมผงขาดมันเนยให้กับกลุ่มผู้ผลิตนมพร้อมดื่ม Broker ผู้นำเข้าเพื่อการค้า เพื่อเป็นการควบคุมไม่ให้ใช้นมผงขาดมันเนยในการผลิตนมพร้อมดื่ม
ในส่วนของอาหารเสริมนม (นมพร้อมดื่ม) โครงการนมโรงเรียนกำหนดให้ใช้น้ำนมดิบในประเทศเท่านั้น โดยให้นักเรียนมีโอกาสได้ดื่มนมจำนวน 200 cc ต่อวัน (230 วันต่อปี)
4. รณรงค์ให้ประชาชนบริโภคนมมากขึ้น จากเดิมที่เคยบริโภคนมจำนวน 10.46 กิโลกรัมต่อคนต่อปี เพิ่มขึ้นปีละ 15%
5. การให้หลักประกันกับเกษตรกร โดยให้มีการทำสัญญาซื้อขายน้ำนมดิบระหว่างโรงงานกับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม โดยให้รับซื้อในราคาประกัน กิโลกรัมละ 12.50 บาท
8. ในส่วนของการที่ออสเตรเลียเปิดกว้างในกิจการโทรคมนาคมให้ไทยนั้น หลายฝ่ายมองว่าเป็นผลจากการเรียกร้องเพื่อเอื้อประโยชน์ให้บางกลุ่มธุรกิจ ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร
ในการเจรจา FTAกับออสเตรเลียนั้นคณะผู้แทนไทยไม่เคยยกเรื่องโทรคมนาคม รวมทั้งรถยนต์และชิ้นส่วน มาต่อรองกับออสเตรเลียแต่อย่างใด
ไทยไม่ได้เรียกร้องให้ออสเตรเลียเปิดตลาดบริการโทรคมนาคม แต่ออสเตรเลียมีนโยบายเปิดเสรีการลงทุนในธุรกิจนี้อยู่แล้ว และได้ยื่นข้อเสนอเปิดเสรีธุรกิจโทรคมนาคมต่อWTO ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2546 แต่การเจรจาใน WTO ยังไม่มีผลสรุป ดังนั้น ภายใต้การเจรจา FTA ออสเตรเลียจึงได้นำข้อเสนอเปิดตลาดธุรกิจดังกล่าวใน WTO มาเปิดให้กับคู่เจรจา FTA ทุกประเทศเป็นการล่วงหน้า ซึ่งได้แก่ สหรัฐฯ สิงคโปร์ และไทย
สำหรับการเปิดเสรีธุรกิจบริการที่ออสเตรเลียให้กับไทยไม่ถือว่าอยู่ในวงจำกัด เพราะอนุญาตให้คนไทยเข้าไปลงทุนในสาขาธุรกิจต่างๆได้ 100% เกือบทุกประเภท เช่น ที่ปรึกษากฎหมาย การตกแต่งภูมิทัศน์ซ่อมรถยนต์ สถาบันสอนภาษาไทย สอนนวดไทย สอนทำอาหารไทย เหมืองแร่ และการผลิตสินค้าทุกประเภท อย่างไรก็ตาม หากเป็นการลงทุนที่มีขนาดเกิน 10 ล้านเหรียญออสเตรเลีย จะต้องขออนุญาตจากคณะกรรมการฯ นอกจากนี้ ยังอนุญาตให้ผู้บริหาร ผู้จัดการ ผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งผู้ติดตาม เข้าไปทำงานได้คราวละ 4 ปี และยกเลิกเงื่อนไขที่ต้องทดสอบแรงงานในประเทศก่อน
9. มีคำแนะนำสำหรับผู้ประกอบการไทยเพื่อให้ปรับตัวรองรับเขตการค้าเสรีไทย — ออสเตรเลีย อย่างไรบ้าง
นักธุรกิจไทยควรหันมาสนใจทำการค้ากับออสเตรเลียมากขึ้น เร่งพัฒนาคุณภาพให้ได้มาตรฐาน และพัฒนารูปแบบสินค้าให้ตอบสนองต่อความต้องการของตลาด ลดต้นทุนการผลิต ตลอดจนใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในการผลิตสินค้าเพื่อสร้างความแตกต่างและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า ที่สำคัญที่สุด จะต้องสร้างพันธมิตรทางการค้าทั้งในออสเตรเลียและในตลาดโลก
10. นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์มีแผนจะจัดทำเขตการค้าเสรีกับประเทศใดอีกบ้าง และมีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง ( สรุปคร่าวๆ )
ขณะนี้ ประเทศไทยอยู่ในระหว่างการเจรจาจัดทำเขตการค้าเสรีกับ 8 ประเทศ และ 1 กลุ่มเศรษฐกิจ โดยกำลังจะลงนามความตกลงกับออสเตรเลีย และได้มีการลงนามในกรอบความตกลงแล้ว 4 ประเทศ ได้แก่ จีน บาห์เรน อินเดีย เ ปรู และ 1 กลุ่มเศรษฐกิจคือ BIMST-EC ( บังกลาเทศ อินเดีย พม่า ศรีลังกา ไทย ภูฎานและเนปาล ) และในปี 2547 จะมีการเจรจาอย่างจริงจังกับอีก 3 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์
สำหรับความคืบหน้าในแต่ละกรอบการเจรจามีดังนี้
อาเซียน-จีน : ตกลงลดภาษีสินค้ากลุ่มแรกภายใต้ Early Harvest Programme ในพิกัด 01-08 เช่น สัตว์มีชีวิต เนื้อสัตว์ ปลาและอาหารทะเล นมและผลิตภัณฑ์ ผักและผลไม้เป็นต้น ตั้งแต่
วันที่ 1 มกราคม 2004 โดยภาษีจะลดเหลือ 0% ภายในปี 2006
ไทย-จีน : ตกลงนำรายการสินค้าภายใต้ Early Harvest Programme ในกรอบอาเซียน-จีนมาเร่งลดภาษีเร็วขึ้น โดยในขั้นแรกนำสินค้าผักและผลไม้ (พิกัด 07-08) ทุกรายการ(116 รายการ) มาลดภาษีเหลือ 0% ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2003
ไทย-บาห์เรน : - ตกลงลดภาษีระหว่างกันเหลือ 0% ภายในปี 2010
- ให้มีการลดภาษีบางส่วน (Early Harvest) ลงเหลือ 0% และ 3% ตั้งแต่ปลายปี 2002 (รวม 626 รายการ)
ไทย-อินเดีย : - ตกลงลดภาษีระหว่างกันเหลือ 0% ภายในปี 2010
- ให้มีการลดภาษีบางส่วน (Early Harvest) ลงเหลือ 0% ภายใน 3 ปี (รวม 84 รายการ)
ไทย-เปรู : - ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบให้มีการลดภาษีสินค้าทุกรายการ และมีแผนให้เจรจาเสร็จภายในต้นเดือนพฤศจิกายน 2004 ก่อนการเยือนเปรูของนายกรัฐมนตรี
ไทย-ญี่ปุ่น : - การเจรจาระหว่างไทย-ญี่ปุ่น ไม่มีคืบหน้ามากนัก และอยู่ระหว่างการเจรจาในเรื่องการค้าสินค้า บริการ และเรื่องอื่นๆ เช่น การค้าผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ กฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า ความร่วมมือในสาขาต่างๆ เป็นต้น
ไทย-นิวซีแลนด์ : - ทั้งสองฝ่ายสามารถกำหนดกรอบและขอบเขตการเจรจาในหลายเรื่อง เช่น การเปิดตลาดสินค้า
ไทย-สหรัฐฯ : - กำหนดเจรจาครั้งแรกระหว่างวันที่ 28 มิถุนายน-2 กรกฎาคม 2004 ณ มลรัฐฮาวาย โดยมีหัวข้อเจรจา เช่น การค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน การเกษตร ทรัพย์สินทางปัญญา สิ่งทอ เป็นต้น
BIMST-EC : - ได้มีการตั้งคณะกรรมการเจรจาการค้า (TNC) เพื่อเจรจาความตกลงฯ และจะเริ่มเจรจาเดือนกรกฎาคม 2004
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (66) 2282-6171-9 แฟกซ์ (66) 2280-0775
-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ