ผลการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียนสมัยพิเศษ ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 15, 2004 13:38 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

        นายภาษิต พุ่มชูศรี นักวิชาการพาณิชย์ 9 ชช  กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ  ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยได้เข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียนสมัยพิเศษ (Special Senior Economic Officials Meeting: Special SEOM) เมื่อเร็วๆนี้ ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ได้เปิดเผยถึงผลการประชุมครั้งนี้ว่า ที่ประชุมได้เจรจาหาข้อสรุปการจัดทำร่างความตกลงการรวมกลุ่มเศรษฐกิจอาเซียน  Roadmaps สำหรับการรวมกลุ่มสินค้าและบริการสำคัญ 11 สาขาของอาเซียน (Priority sectors) โดยมีประเด็นสำคัญ ดังนี้ 
1. ร่างความตกลงการรวมกลุ่มเศรษฐกิจอาเซียน สืบเนื่องจากการประชุมสุดยอดอาเซียนเมื่อปลายปี 2546 ณ เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ผู้นำอาเซียนได้ลงนามแถลงการณ์ Bali Concord II และเห็นชอบการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) ภายในปี 2020 (พ.ศ. 2563) โดยอาเซียนจะมีตลาดและฐานการผลิตร่วมกัน รวมทั้งมีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน เงินทุน และแรงงานฝีมืออย่างเสรี ซึ่งผู้นำได้เห็นชอบให้เร่งรัดการรวมกลุ่มสินค้าและบริการสำคัญ 11 สาขา (priority sectors) เป็นสาขานำร่อง และกำหนดให้มีสมาชิกรับผิดชอบในแต่ละสาขา ได้แก่ การท่องเที่ยว การบิน (ไทย) สินค้าเกษตร สินค้าประมง (พม่า) ยานยนต์ ผลิตภัณฑ์ไม้ (อินโดนีเซีย) ผลิตภัณฑ์ยาง สิ่งทอ (มาเลเซีย) อิเล็กทรอนิกส์ (ฟิลิปปินส์) เทคโนโลยีสารสนเทศ ผลิตภัณฑ์ และบริการด้านสุขภาพ (สิงคโปร์) โดยมอบหมายให้เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียน (SEOM) เจรจาหาข้อสรุปการจัดทำ Roadmaps และร่างความตกลงฯ ดังกล่าว
ในการประชุมครั้งนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาร่างความตกลง ASEAN Framework Agreement for the Integration of Priority Sectors ที่จะเสนอให้ผู้นำลงนามในการประชุมสุดยอดอาเซียนในเดือนพฤศจิกายน 2547 ณ กรุงเวียงจันทน์ ประเทศลาว โดยสาระหลักของกรอบความตกลง ประกอบด้วย 6 ส่วนหลัก ได้แก่ 1) วัตถุประสงค์และคำนิยาม 2) การเปิดเสรี ซึ่งรวมทั้งเรื่องการค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุน 3) การอำนวยความสะดวกทางด้านการค้าและการลงทุน 4) การส่งเสริมการค้าและการลงทุนและมาตรการตรวจสอบ 5) ความร่วมมือด้านอื่นๆ และ 6) บทบัญญัติทั่วไป
2. การเจรจา Roadmaps ด้านสินค้า 9 สาขา ได้แก่ 1) สินค้าเกษตร 2) สินค้าประมง 3) ผลิตภัณฑ์ไม้ 4) ผลิตภัณฑ์ยาง 5) สิ่งทอ 6) ยานยนต์ 7) อิเล็กทรอนิกส์ 8) เทคโนโลยีสารสนเทศ และ 9) ผลิตภัณฑ์สุขภาพ โดยมีมาตรการหลักของสาขาต่างๆ ดังนี้
2.1 การลดภาษีสินค้า เห็นชอบให้เร่งขจัดภาษีสินค้าในกลุ่ม priority ให้เร็วขึ้นอีก 3 ปีจากกรอบระยะเวลา AFTA เดิม (ในปี 2010 สำหรับสมาชิกเดิมเป็นปี 2007 และปี 2015 สำหรับสมาชิกใหม่อาเซียนเป็นปี 2012) เพื่อเป็นการส่งเสริมการค้าและการผลิตในอาเซียนให้ขยายตัวมากขึ้น โดยให้มีรายการสินค้าที่ยังไม่พร้อมเร่งลดภาษีจำนวนน้อยที่สุด
2.2 มาตรการที่มิใช่ภาษี ให้มีการปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้ WTO ในเรื่องอุปสรรคทางเทคนิค มาตรฐานสุขอนามัย และการขออนุญาตนำเข้า และพัฒนาแนวทางการดำเนินงานที่เหมาะสมในเรื่องดังกล่าวสำหรับประเทศสมาชิกอาเซียน
2.3 กฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า ปรับปรุงกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้าให้มีความโปร่งใส และเป็นมาตรฐานมากขึ้น และให้นำวิธีการแปลงสภาพสินค้า มาใช้เป็นทางเลือกสำหรับการคำนวณแหล่งกำเนิดสินค้าในสาขาที่ไม่สามารถได้แหล่งกำเนิดสินค้าตามวิธีการคำนวณในปัจจุบัน
2.4 พิธีการด้านศุลกากร ให้พิจารณานำระบบการจำแนกพิกัดศุลกากรแบบ AHTN (ASEAN Harmonized Tariff Nomenclature) มาใช้กับประเทศสมาชิกภายนอกกลุ่มอาเซียน และพัฒนาระบบ Single window เพื่ออำนวยความสะดวกในด้านการค้าให้มากยิ่งขึ้น รวมทั้งพัฒนาแบบฟอร์มด้านการค้าและศุลกากรให้มีความเรียบง่ายและสอดคล้องกัน โดยกำหนดให้แล้วเสร็จในปี 2005
2.5 มาตรฐานและความสอดคล้อง ได้มอบหมายให้คณะกรรมการด้านมาตรฐานของอาเซียน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในแต่ละสาขาหารือเพิ่มเติมในรายละเอียดเพื่อพัฒนาการยอมรับมาตรฐานซึ่งกันและกันในด้านต่างๆ และปรับปรุงกฎเกณฑ์/กฎระเบียบ/ข้อกำหนดสำหรับผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้มีความสอดคล้องกันมากยิ่งขึ้น เพื่อจัดทำมาตรการและกำหนดเวลาดำเนินงานแต่ละสินค้าที่เหมาะสม โดยกำหนดเวลาให้แล้วเสร็จภายในปี 2010
2.6 การเคลื่อนย้ายของนักธุรกิจ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ประกอบวิชาชีพ แรงงานมีฝีมือ และผู้มีความสามารถพิเศษ ให้จัดทำความตกลงเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางให้แก่นักธุรกิจ อาทิ การจัดทำ ASEAN Business Card
3. การเจรจา Roadmaps ด้านบริการ 2 สาขา ได้แก่ สาขาท่องเที่ยวและการบิน มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้เปิดเสรีใน sub-sector ต่างๆ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
3.1 สาขาท่องเที่ยว ให้เร่งปรับประสานกฎระเบียบในการออกวีซ่า ให้กับนักเดินทางชาวต่างชาติที่เข้ามาในอาเซียน และยกเว้นวีซ่า ให้กับคนชาติอาเซียนที่เดินทางภายในอาเซียน สนับสนุนการเผยแพร่ข้อมูลด้านโครงการลงทุนต่างๆ ในสาขาท่องเที่ยวของอาเซียนทางอินเทอร์เนต ส่งเสริมการบำรุงรักษาแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ และการจัดตั้งเครือข่ายความร่วมมือระหว่างสถาบันทางวิชาการ/หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนการศึกษา/วิจัยในเชิงลึกด้านการท่องเที่ยว
3.2 สาขาการบิน ให้เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการขนส่งของอาเซียน เป็นกลไกในการดำเนินการปรับปรุง Roadmap ในสาขานี้ ให้เหมาะสม และสอดคล้องกับแผนการดำเนินงานตาม Action Plan for Air Services Liberalization in ASEAN ซึ่งขณะนี้ คณะทำงานด้านการขนส่งทางอากาศอยู่ระหว่างการจัดทำ โดยให้ผนวก Roadmap ฉบับสมบูรณ์เสนอต่อรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนเพื่อพิจารณาร่วมกับ Roadmaps ในสาขาอื่นๆ ในเดือนกันยายน ศกนี้
นายภาษิต กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ในการประชุมครั้งนี้ ที่ประชุมสามารถได้ข้อสรุปในหลายประเด็นสำคัญ อาทิ ด้านมาตรการที่มิใช่ภาษี พิธีการศุลกากร แหล่งกำเนิดสินค้า การเคลื่อนย้ายของบุคคลากร และความร่วมมือในด้านต่างๆ อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นที่จะต้องเจรจาในรายละเอียดต่อไป ได้แก่ การขจัดภาษีสินค้าที่จะต้องจัดทำ Negative list การจัดทำมาตรฐานร่วมของสินค้า และประเด็นเฉพาะในแต่ละสาขาที่จะหารือในกลุ่มผู้เชี่ยวชาญต่อไป ทั้งนี้ กำหนดจัดประชุม SEOM สมัยพิเศษครั้งต่อไป ในวันที่ 17-20 สิงหาคม 2547 ณ กรุงจาการ์ตา เพื่อสรุปผลการจัดทำร่างความตกลงฯ และ Roadmap ครั้งสุดท้ายก่อนนำเสนอรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (AEM) พิจารณาให้การรับรองในเดือนกันยายน 2547
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (66) 2282-6171-9 แฟกซ์ (66) 2280-0775
-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ