ผลการเจรจาเปิดตลาดการค้าสินค้าภายใต้ความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลียไทย (Thailand-Australia Free Trade Agreement : TAFTA)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 15, 2004 16:16 —สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

          นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า สืบเนื่องจากที่ประชุมระหว่างรัฐมนตรี 5 กระทรวง (กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงอุตสาหกรรม) เมื่อวันศุกร์ที่ 30 เมษายน 2547 ที่กระทรวงอุตสาหกรรม เห็นชอบผลการเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย และให้กระทรวงพาณิชย์นำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป กระทรวงพาณิชย์จะนำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีในวันอังคารที่ 11 พฤษภาคม 2547นี้เพื่อให้ความเห็นชอบความตกลงฯ และมอบให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้ลงนาม กระทรวงพาณิชย์ได้สรุปสาระสำคัญผลการเจรจาฯ เผยแพร่ให้สาธารณชนทราบ ผู้สนใจจะสามารถดูได้จาก website ของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ (www.dtn.moc.go.th) สำหรับการลงนามคาดว่าจะมีขึ้นในช่วงเวลาประมาณครึ่งหลังของปีนี้  เพื่อให้ความตกลงมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2548
นางอภิรดี กล่าวถึงผลการเจรจาเปิดตลาดสินค้าว่า สินค้าส่วนใหญ่ของทั้งสองประเทศจะลดภาษีเหลือ 0 ภายใน 5 ปี ส่วนสินค้าที่เหลือจะทยอยลดโดยไทยจะมีระยะเวลาการลดภาษีที่ยาวกว่าออสเตรเลีย โดยจะค่อยๆ ทยอยลดจนเหลือ 0 ทุกรายการภายใน 20 ปี ขณะที่ออสเตรเลียจะใช้เวลา 5 ปี ยกเว้นสินค้าที่ออสเตรเลียจัดไว้เป็นสินค้าอ่อนไหว คือ เครื่องนุ่งห่ม ประมาณ 300 รายการ จะใช้เวลาลดภาษี 10 ปี อย่างไรก็ตาม ในปีแรกที่ความตกลงมีผลใช้บังคับ จะลดภาษีให้ไทยครึ่งหนึ่งทันทีจากอัตราปัจจุบันร้อยละ 25 เหลือร้อยละ 12.5
สำหรับสินค้าประเทศไทย ประมาณร้อยละ 49 ของรายการสินค้าทั้งหมด 5,505 รายการ จะลดภาษีเป็นศูนย์ทันที ณ วันที่ความตกลงฯ มีผลบังคับใช้ (ปีพ.ศ. 2548) คิดเป็นมูลค่า 2,161.7 ล้านเหรียญออสเตรเลีย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นวัตถุดิบที่ไทยไม่มีศักยภาพในการผลิต หรือเป็นสินค้าที่นำเข้ามาแล้วจะไม่กระทบต่อการแข่งขันกับสินค้าในประเทศ เช่น ธัญพืช (ข้าวสาลีและมอลต์) เส้นใยใช้ในการทอ ครั่ง โกโก้ สินแร่ อัญมณี เชื้อเพลิง (ถ่านหินแอนทราไซต์ น้ำมันปิโตรเลียมดิบที่ได้จากแร่บิทูมินัส น้ำมันเบนซิน น้ำมันก๊าด เศษน้ำมัน) เคมีภัณฑ์ รถยนต์นั่งขนาดเกิน 3,000 c.c.เป็นต้น
สินค้าที่เหลือประมาณร้อยละ 44 ซึ่งเป็นสินค้าพร้อมลดภาษีของไทย จะค่อยๆ ทยอยลดภาษีเป็นศูนย์ภายใน 2553 (5 ปี) ได้แก่ ผักผลไม้ พลาสติก กระดาษ สิ่งทอ เสื้อผ้า เหล็ก เครื่องจักร อุปกรณ์ไฟฟ้า
- ส่วนสินค้าอ่อนไหวของไทย จะค่อยๆ ทยอยลดภาษีเป็นศูนย์ใน 10-20 ปี ได้แก่ นมข้น บัตเตอร์มิลค์ น้ำผึ้ง ส้ม องุ่น มันฝรั่งปรุงแต่ง ไวน์ แอลบูมิน สิ่งพิมพ์ แป้น แผงคอนโซลและฐานรองรับอื่นๆ สิ่งทอ เสื้อผ้า เหล็ก เนื้อ นม หางนม เนย เนยแข็ง เครื่องในสัตว์ มันฝรั่ง น้ำตาล กาแฟ ข้าวโพด ชา นมและครีม
ส่วนสินค้าของออสเตรเลียประมาณร้อยละ 83 ของสินค้าทั้งหมด 6,108 รายการ จะลดภาษีเป็นศูนย์ทันที ณ วันที่ความตกลงฯ มีผลบังคับใช้ คิดเป็นมูลค่า 2,522.98 ล้านเหรียญออสเตรเลีย เช่น เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ สินแร่ อัญมณี เครื่องประดับ รถยนต์ เฟอร์นิเจอร์ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น สินค้าที่เหลืออีกร้อยละ 13 ภาษีจะลดภาษีเป็นศูนย์ในปี 2553 (5 ปี) เช่น ทูน่ากระป๋อง สิ่งทอ รองเท้า ชิ้นส่วนยานยนต์ เหล็ก พลาสติก เป็นต้น และอีกร้อยละ 4 ซึ่งได้แก่ เครื่องนุ่งห่ม ภาษีจะลดเป็นศูนย์ในปี 2558 (10 ปี)
อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวเพิ่มเติมกรณีการใช้มาตรการปกป้องพิเศษ (Special Safeguards: SSG) ว่าในการรองรับผลกระทบจากความตกลงฯ ในกรณีที่จะมีสินค้านำเข้ามากจนเกิดผลต่ออุตสาหกรรมภายในประเทศ นอกเหนือจากการใช้มาตรการปกป้อง ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของ WTO แต่มีการนำมาใช้ที่ง่ายกว่าแล้ว ยังตกลงให้มีการใช้มาตรการปกป้องพิเศษ (SSG) สำหรับสินค้าเกษตร โดยกำหนดเกณฑ์ปริมาณการนำเข้าส่วนใหญ่ ซึ่งคำนวณจากปริมาณการนำเข้าเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี (พ.ศ.2543-2545) เมื่อมีการนำเข้าสินค้าเกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนดในปีนั้น ประเทศผู้นำเข้าสามารถกลับไปใช้อัตราภาษีก่อนเริ่มลดหรืออัตรา MFN ที่ใช้อยู่ ในอัตราใดอัตราหนึ่งที่ต่ำกว่า
ไทย — ระบุให้สินค้าจำนวน 23 ชนิด สามารถใช้มาตรการปกป้องพิเศษ ได้แก่ เนื้อวัวและเนื้อหมู (สด แช่เย็น แช่แข็ง) เครื่องในวัวและเครื่องในหมู (สด แช่เย็น แช่แข็ง) เครื่องในสัตว์อื่นๆ นมและครีม หางนม เนย ไขมันนม เนยแข็ง (สด ผง แปรรูปและไม่แปรรูป) บัตเตอร์มิลค์ น้ำผึ้งธรรมชาติ ส้มแมนดาริน (สดและแห้ง) องุ่นสด มันฝรั่งแปรรูป ทั้งนี้ ไทยสามารถใช้มาตรการนี้ได้จนถึงปีพ.ศ. 2558 และ พ.ศ. 2563
ออสเตรเลีย - ได้ระบุสินค้าทั้งสิ้น 2 ชนิด ได้แก่ ทูน่ากระป๋อง และสับปะรดกระป๋อง โดยสามารถใช้มาตรการนี้จนถึงปีพ.ศ. 2551
สินค้าที่ไทยที่อาจจะได้รับผลกระทบ คือ นมและผลิตภัณฑ์นม โดยเฉพาะนมผงขาดมันเนย (skimmed milk powder) ซึ่งมีความอ่อนไหวมากที่สุด การเปิดตลาดให้กับออสเตรเลียจะเป็นอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้เกษตรกรและอุตสาหกรรมภายในมีเวลาปรับตัว โดยจะมีเวลาการลดภาษียาวถึง 20 ปี และกำหนดโควตาให้กับออสเตรเลียเป็นการเฉพาะจากที่ไทยผูกพันไว้กับ WTO เป็นปริมาณ 2,200 ตันในปีแรก และจะเพิ่มให้ร้อยละ 17 ในทุกๆ 5 ปี โดยปีที่ 20 จะมีปริมาณ 3,523 ตัน และจะลดภาษีนำเข้าภายในโควตาจากร้อยละ 20 ลงร้อยละ 1 ทุกๆ ปี จนเหลือศูนย์ภายใน 20 ปี ส่วนอัตราภาษีนอกโควตาจะเก็บต่ำกว่าอัตราภาษีนอกโควตาใน WTO ร้อยละ 10 ซึ่งโควตาภาษีทั้งหมดจะยกเลิกไปในปี พ.ศ.2568
ทั้งนี้ นมผงขาดมันเนยเป็นสินค้าที่อยู่ภายในโควตาภาษี (Tariff Quota) และประเทศไทยมีพันธกรณีที่ต้องเปิดตลาดสินค้านมผงขาดมันเนยภายใต้ WTO ในปี พ.ศ. 2547 จำนวน 55,000 ตัน โดยมีอัตราภาษีในโควตาร้อยละ 20 และอัตราภาษีนอกโควตาร้อยละ 216 ในปี พ.ศ. 2546 ไทยนำเข้านมผงขาดมันเนย 73,657 ตัน โดยเป็นการนำเข้าจากออสเตรเลียประมาณ 20,000 ตัน
“ในการเจรจาที่ผ่านมา กรมฯ ได้ร่วมมือกับหน่วยงานราชการและเอกชนอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดและให้มีผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมน้อยที่สุด ผลการเจรจาจะมีทั้งส่วนที่จะได้รับประโยชน์ และที่อาจได้รับผลกระทบ ซึ่งทั้งสองด้านควรได้มีการปรับตัวที่จะรองรับเมื่อความตกลงมีผลบังคับใช้ ทั้งในการพัฒนาการผลิต เพื่อให้สามารถแข่งขันกับสินค้าจากออสเตรเลีย และการหาตลาดในออสเตรเลียเพื่อใช้ประโยชน์จากความตกลงฯ นี้” อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศกล่าว
ที่มา: หอการค้าไทย ศูนย์ข้อมูลธุรกิจ www.thaiechamber.com
-ดท-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ