บทนำ
ในการประชุมผู้นำเอเปคที่กรุงเทพเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว นายกรัฐมนตรีไทยและนิวซีแลนด์ตกลงกันให้มีการทำการศึกษาร่วมในการจัดทำความตกลงการค้าเสรีระหว่างทั้งสองประเทศ และเริ่มการเจรจาหลังจากการศึกษาเสร็จสิ้น โดยมีจุดมุ่งหมายให้การเจรจาเสร็จสิ้นก่อนการประชุมผู้นำเอเปคที่ประเทศชิลี
การตัดสินใจนี้สะท้อนความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจอันดีและความพยายามระหว่างทั้งสองประเทศในการสร้างความสัมพันธ์ให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น เพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจแก่ทั้งสองฝ่าย การศึกษานี้ประเมินผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์ที่จะได้รับจากการทำข้อตกลงการค้าเสรีโดยศึกษาหลักการและจุดมุ่งหมายของแต่ละประเด็นที่น่าจะมีการหารือในกระบวนการเจรจา
ความตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างทั้งสองประเทศครอบคลุมการค้าสินค้า และประเด็นอื่นๆที่ขยายและเพิ่มความสัมพันธ์ทางการค้า การลงทุนและความร่วมมือระหว่างทั้งสองประเทศ เช่นเรื่อง การค้าบริการ มาตรฐานสุขอนามัย นโยบายการแข่งขัน การจัดซื้อจัดจ้างของรัฐบาล พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ มาตรฐานแรงงานและสิ่งแวดล้อมและการถ่ายทอดเทคโนโลยี เป็นต้น
การจัดทำความตกลงการค้าเสรีระหว่างทั้งสองประเทศจะช่วยพัฒนาจุดมุ่งหมายของนโยบายการค้าและการพัฒนาทางเศรษฐกิจของไทยและนิวซีแลนด์ นอกเหนือไปจากการเปิดการค้าเสรีในระดับองค์การการค้าโลก เอเปค และ AFTA/CER ซึ่งช่วยเปิดโอกาสให้ทั้งสองประเทศได้รับประโยชน์จากการเปิดการค้าเสรีในระดับทวิภาคีที่มีความรวดเร็วมากขึ้น
ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-นิวซีแลนด์
ไทยและนิวซีแลนด์มีความสัมพันธ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจที่มั่นคงและใกล้ชิด โดยมีการแต่งตั้งผู้แทนโดยตรงในปี 1956 ทั้งสองประเทศมีแนวความคิดที่สอดคล้องกันในเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ และความมั่นคงในระดับภูมิภาคและมีการร่วมมือกันตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1950 ในประเด็น ติมอร์ตะวันออก และอัฟกานิสถาน นอกจากนี้ไทยและนิวซีแลนด์เป็นสมาชิกเอเปค และองค์การการค้าโลก โดยที่ทั้งสองประเทศเป็นสมาชิกกลุ่มเคร์นส์ ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศผู้ส่งออกสินค้าเกษตร ในฐานะที่เป็นประเทศคู่เจรจาของอาเซียน นิวซีแลนด์รักษาความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับไทยในประเด็นระดับภูมิภาคและเข้าร่วมในการประชุมระดับภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Regional Forum)
นอกเหนือไปจากข้อตกลงทางการค้าระหว่างทั้งสองประเทศที่ลงนามในปี 1981 ไทยและนิวซีแลนด์มีข้อตกลงทวิภาคีที่ครอบคลุมการบริการสายการบินและการหลีกเลี่ยงการเก็บภาษีซ้ำซ้อน ตั้งแต่ปี 1997 ทั้งสองประเทศได้มีการหารือทางในเรื่องประเด็นเศรษฐกิจอย่างเป็นประจำ รวมทั้งในขณะนี้ทั้งสองประเทศกำลังเจรจากันเรื่องโครงการ Working Holiday ซึ่งข้อตกลงนี้จะเปิดโอกาสให้เยาวชนไทยและนิวซีแลนด์ได้มีโอกาสได้รับประสบการณ์จากอีกประเทศหนึ่งทั้งในเรื่องของวัฒนธรรม โดยจะเสริมสร้างความเข้าใจระหว่างทั้งสองประเทศ โครงการนี้น่าจะได้รับความเห็นชอบช่วงกลางปีหน้า
การเจรจาเพื่อการทำความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยและนิวซีแลนด์แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างทั้งสองประเทศ เป็นสัญญาณความก้าวหน้าที่มีความสำคัญในความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศ และความตั้งใจที่จะพัฒนาความเชื่อมโยงในระดับภูมิภาค ซึ่งผลที่คาดว่าจะได้รับจะขยายไปสู่เรื่องความสัมพันธ์ทางสังคม และวัฒนธรรมที่มากกว่าเพียงเรื่องของเศรษฐกิจ
ไทย-นิวซีแลนด์ ในเวทีระดับภูมิภาคและพหุภาคี
ไทยและนิวซีแลนด์เป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญในการเปิดการค้าเสรีและการปฏิรูปเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคและระดับโลก ความสอดคล้องและความเข้าใจของทั้งสองประเทศที่พัฒนามาในกรอบความสัมพันธ์ AFTA/CER เอเปคและ องค์การการค้าโลก จะมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมการเจรจาความตกลงการค้าเสรีระหว่างทั้งสองประเทศ ในขณะเดียวกันทั้งสองประเทศมีความตั้งใจที่จะให้ข้อตกลงสนับสนุนแทนที่จะขัดขวางการเปิดการค้าเสรีในระดับพหุภาคี ทั้งนี้ จากการที่มีการขยายตัวของข้อตกลงการค้าเสรีในระดับทวิภาคีและพหุภาคีในเอเชีย การจัดทำความตกลงการค้าเสรีระหว่างทั้งสองประเทศคำนึงถึงความสอดคล้องกับโครงสร้างและข้อกำหนดของข้อตกลงอื่นๆที่ทั้งสองประเทศเป็นภาคีเป็นสำคัญ ในขณะเดียวกันเป็นโอกาสที่ทั้งสองประเทศจะศึกษารูปแบบการทำข้อตกลงใหม่ๆ และทำให้ข้อตกลงเขตการค้าเสรี เป็นแบบอย่างที่ดีต่อประเทศอื่นต่อไป
สภาพทางเศรษฐกิจ
ไทย
สถานะทางเศรษฐกิจ
ก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี 1997 ไทยเป็นประเทศที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงมากประเทศหนึ่งในเอเชีย ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการกระตุ้นการส่งออกในช่วงปี 1985 ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะเป็นประเทศแรกที่เผชิญกับวิกฤตทางเศรษฐกิจ แต่ไทยสามารถปรับตัวและฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว อันเป็นผลมาจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นทั้งภายในและภายนอกประเทศ ซึ่งเห็นได้จาก GDP ในปี 2003 ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.3 มากกว่าที่ได้มีการคาดการณ์ไว้ นอกจากนี้ รัฐบาลได้มีมาตรการใหม่ ๆ เพื่อรองรับภาคอสังหาริมทรัพย์ และนโยบายเพิ่มกำลังซื้อของคนในประเทศ
โครงสร้างทางเศรษฐกิจ
ในช่วง 30 ปี ที่ผ่านมาก ไทยได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจจากประเทศที่มีพื้นฐานการผลิตส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรม มาเป็นประเทศที่มีการผลิตทางอุตสาหกรรมมากขึ้น โดยเริ่มจากอุตสาหกรรมที่เน้นการใช้แรงงานเป็นหลัก ได้แก่ เสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่ม และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักร และชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ ซึ่งปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมของไทยมีสัดส่วนร้อยละ 43.7 ของ GDP
ในภาคบริการมีมูลค่ามากกว่า 15 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2002 คิดเป็นร้อยละ 45 ของ GDP โดยการค้าส่ง-ค้าปลีกมีมูลค่าสูงเป็นอันดับแรก ตามด้วยการขนส่งและการสื่อสาร
ในช่วงปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจของไทยยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจัยหลักที่สำคัญได้แก่ การขยายตัวของการส่งออก โดยในปี 2003 การส่งออกมีอัตราการขยายตัวร้อยละ 12 จากการเพิ่มขึ้นของการบริโภคภาคเอกชน อันเป็นผลมาจากอัตราดอกเบี้ยที่ลดต่ำลง และในอนาคตคาดว่าเศรษฐกิจของไทยจะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอก การส่งออกจะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น การบริโภคที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้รัฐบาลได้วางมาตรการเพื่อรองรับการขยายตัว และกระตุ้นให้มีการลงทุนของภาคเอกชน ซึ่งถือเป็นมิติใหม่ของเศรษฐกิจไทยด้วย
มูลค่าการค้าและแนวโน้ม
การส่งออกของไทย ในปี 2003 มีมูลค่า 75 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9 จากปีก่อนหน้า โดยตลาดที่สำคัญของไทยได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และจีน โครงสร้างการส่งออกของไทยประกอบด้วย สินค้าอุตสาหกรรม ร้อยละ 76.48 และสินค้าเกษตรกรรมและเกษตรแปรรูป ร้อยละ 18.4 สินค้านำเข้าของไทย ประกอบด้วยสินค้าประเภทเครื่องจักรร้อยละ 44.8 สินค้าบริโภคร้อยละ 8.3 และเชื้อเพลิงและแร่ธาตุร้อยละ 11.8
การส่งออกภาคบริการในปี 2002 มีมูลค่า 16.4 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ โดยการท่องเที่ยวคิดเป็นร้อยละ 54.3 การขนส่งผู้โดยสารร้อยละ 17.7 การขนส่งสินค้าร้อยละ 4.7 และการก่อสร้างร้อยละ 2.3 การนำเข้าภาคบริการมีมูลค่า 10.7 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ โดยการท่องเที่ยวคิดเป็นร้อยละ 34.3 ค่าลิขสิทธิ์ร้อยละ 9.6 การขนส่งสินค้าร้อยละ 8.2 และการขนส่งผู้โดยสารร้อยละ 4.8
สินค้าส่งออกและนำเข้าที่สำคัญของไทย
สินค้าส่งออกที่สำคัญของไทยได้แก่ คอมพิวเตอร์และชิ้นส่วน แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์และชิ้นส่วน ยาง อัญมณีและเครื่องประดับ
สินค้านำเข้าที่สำคัญของไทย ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วน เครื่องจักร น้ำมันดิบ เคมีภัณฑ์ และแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์
นิวซีแลนด์
สถานะทางเศรษฐกิจ
นิวซีแลนด์มีสถานะทางเศรษฐกิจที่มั่นคงในช่วงปี 1950-1960 อย่างไรก็ตามในช่วงทศวรรษ 1970 การส่งออกสินค้า โดยเฉพาะสินค้าเกษตรของนิวซีแลนด์ทำได้ยากขึ้น เนื่องจากการเข้าสู่ตลาดโลกกระทำได้ยากขึ้น ในปี 1984 รัฐบาลได้เปลี่ยนนโยบายมาเน้นการลดอัตราเงินเฟ้อและสร้างสถานภาพทางการคลังที่มั่นคง รวมทั้งการเปิดตลาดให้สินค้าจากตลาดโลกเข้ามาแข่งขันกับสินค้านิวซีแลนด์ได้โดยไม่มีการแทรกแซงจากรัฐบาล ซึ่งมีผลทำให้เศรษฐกิจของนิวซีแลนด์ฟื้นตัวและขยายตัวเพิ่มขึ้น ในช่วงทศวรรษที่ 1990 นิวซีแลนด์มีการขยายตัวของ GDP เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเฉลี่ยปีละร้อยละ 2.7 เป็นเฉลี่ยปีละมากกว่าร้อยละ 3 ตั้งแต่ปี 1999 และ ขยายตัวเป็นร้อยละ 4 ในช่วงปี 2002-2003 การขยายตัวในช่วงนี้เป็นผลจากการขยายตัวของผลผลิตทางการเกษตร ราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น อัตราแลกเปลี่ยนที่แข่งขันได้ และตลาดแรงงานที่มีคุณภาพ
โครงสร้างทางเศรษฐกิจ
ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา นิวซีแลนด์มีการเติบโตที่ดีในภาคบริการ โดยภาคบริการมีสัดส่วนคิดเป็น 2 ใน 3 ของ GDP ธุรกิจที่มีการเติบโตสูง ได้แก่ การขนส่งและการสื่อสาร ขณะที่ธุรกิจการท่องเที่ยวและการศึกษาเป็นแหล่งรายได้จากต่างประเทศที่สำคัญ
ในภาคอุตสาหกรรม นิวซีแลนด์มีผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 31 และอัตราการว่างงานลดลง การค้าที่เพิ่มขึ้นก่อให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 8 ต่อปีตั้งแต่ปี 1990 ภาคเกษตรกรรมของนิวซีแลนด์ มีสัดส่วนร้อยละ 4.9 ของ GDP สินค้าเกษตรที่สำคัญได้แก่ ผลิตภัณฑ์นม เนื้อสัตว์ ขนแกะ แอ๊ปเปิ้ล กีวี่ หัวหอม และผักแปรรูป นอกจากนี้นิวซีแลนด์ยังมีการส่งออกแร่เชื้อเพลิงธรรมชาติ โดยมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ป่าไม้ เหมืองแร่และประมง คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.7 ของ GDP หรือร้อยละ 18 ของมูลค่าการส่งออก
มูลค่าการค้าและแนวโน้ม
นิวซีแลนด์มีพื้นฐานทางการค้าขึ้นอยู่กับการค้าระหว่างประเทศ การส่งออกของนิวซีแลนด์มีมูลค่า 15.4 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 34 ของ GDP ทั้งนี้การส่งออกของนิวซีแลนด์ มีสัดส่วนร้อยละ 0.22 ของการส่งออกโลก และการนำเข้ามีสัดส่วนร้อยละ 0.23 ของการนำเข้าโลก อย่างไรก็ตามสินค้าของนิวซีแลนด์กลับมีบทบาทในตลาดโลกค่อนข้างสูง เช่น ผลิตภัณฑ์นมและเนื้อแกะ
ภาคเกษตรกรรมของนิวซีแลนด์คิดเป็นร้อยละ 51 ของการส่งออก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าจำพวกเนื้อแกะ เนื้อวัว และผลิตภัณฑ์นม ตลาดหลักของนิวซีแลนด์ ได้แก่ ออสเตรเลีย สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา ขณะเดียวกัน นิวซีแลนด์มีการนำเข้าหลักจาก ออสเตรเลีย สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา โดยปี 2003 การนำเข้าของนิวซีแลนด์มีมูลค่า 16.8 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ
สินค้าส่งออกและนำเข้าที่สำคัญของนิวซีแลนด์
นิวซีแลนด์มีความได้เปรียบในการส่งออกสินค้าด้านทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเน้นในด้านเกษตรกรรม การทำสวน ป่าไม้และประมง สินค้าเกษตรกรรมส่งออกที่สำคัญของนิวซีแลนด์ ได้แก่ เนื้อแกะ เนื้อวัว ผลิตภัณฑ์นม ขนแกะ หนังสัตว์ ผักและผลไม้ สินค้าส่งออกอื่นๆ ที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า (ตู้เย็น ตู้แช่แข็ง เครื่องล้างจาน) น้ำมันดิบ อาหารทะเล แผงวงจรไฟฟ้า อุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคม
นิวซีแลนด์มีการนำเข้ายานยนต์ น้ำมันดิบและปิโตรเลียมสูงที่สุด คิดเป็นร้อยละ 10.3, 6.1 และ3.3 ตามลำดับ นอกจากนี้ยังมีการนำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้า พาหนะขนาดใหญ่ เครื่องบิน เครื่องมือทางการแพทย์ และชิ้นส่วนยานยนต์
การค้าระหว่างไทย-นิวซีแลนด์
ไทยและนิวซีแลนด์ มีมูลค่าการค้าสินค้าคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 80 ของมูลค่าการค้ารวม ซึ่งสินค้าไทยที่ส่งออกไปนิวซีแลนด์ที่สำคัญจะเป็นสินค้าอุตสาหกรรม เช่น รถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ เครื่องจักร พลาสติก และอาหารทะเลแปรรูป ส่วนสินค้านิวซีแลนด์ที่ส่งออกมายังไทยเป็นสินค้าเกษตรและอาหารแปรรูป เช่น ผลิตภัณฑ์นม ธัญพืช ไม้ ผักและผลไม้ จากพื้นฐานโครงสร้างทางเศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศ นิวซีแลนด์จะเน้นในการส่งออกสินค้าขั้นต้นและสินค้าขั้นกลางเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่ไทยจะเน้นสินค้าอุตสาหกรรม ในด้านสินค้าเกษตรไทยมีสินค้าส่งออกหลัก ได้แก่ น้ำตาล ข้าว ไก่และผลไม้อบแห้ง ส่วนนิวซีแลนด์จะเน้นการส่งออกผลิตภัณฑ์นม เนื้อสัตว์ ผลไม้เมืองหนาวและผัก
การส่งออกของไทยไปนิวซีแลนด์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 1998 ยกเว้นในปี 2000 ที่การส่งออกลดลงร้อยละ 2 การส่งออกเฉลี่ยระหว่างปี 1998-2003 มีมูลค่า 229.5 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยในปี 2003 มีมูลค่าสูงถึง 334.8 ล้านเหรียญสหรัฐหรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 28 สำหรับการส่งออกของนิวซีแลนด์มาไทยก็มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน ในปี 2003 การส่งออกของนิวซีแลนด์มาไทยมีมูลค่ารวม 211 ล้านเหรียญสหรัฐหรือคิดเป็นอัตราการเติบโตร้อยละ 16 ปัจจุบันนิวซีแลนด์เป็นตลาดส่งออกลำดับที่ 38 และแหล่งนำเข้าเป็นลำดับที่ 37 ของไทย โดยตั้งแต่ปี 1999 ไทยเกินดุลการค้ากับนิวซีแลนด์อย่างต่อเนื่อง
นโยบายภาษี
อัตราภาษีเฉลี่ยของไทยขณะนี้อยู่ที่ร้อยละ 17.24 โดยสินค้าเกษตรกรรมจะมีอัตราภาษีเฉลี่ยร้อยละ 39.7 และสินค้าอุตสาหกรรมร้อยละ 13.88 ในปี 2003 ไทยมีโควตาภาษีสำหรับสินค้าจำนวน 23 รายการครอบคลุมร้อยละ 1 ของสินค้าทั้งหมด โดยประมาณร้อยละ 60 ของอัตราภาษีนอกโควตาเป็นการเก็บภาษีตามราคา
สำหรับนิวซีแลนด์ร้อยละ 95 ของสินค้านำเข้าจะได้รับการยกเว้นภาษี ส่วนอัตราภาษีปกติของนิวซีแลนด์จะอยู่ระหว่างร้อยละ 5—7 ยกเว้นในบางอุตสาหกรรมที่ยังคงมีอัตราภาษีที่สูง เช่น เสื้อผ้าและรองเท้า (ร้อยละ 19) นอกจากนี้นิวซีแลนด์จะมีการทบทวนอัตราภาษีที่จะมีการใช้ในปี 2005 ซึ่งจะมีการปรับลดอัตราภาษีสำหรับสินค้าที่มีภาษีร้อยละ 12.5 หรือต่ำกว่า ลงเหลือร้อยละ 5 ภายใน 1 มกราคม 2008 สำหรับสินค้าที่มีอัตราภาษีสูงระหว่างร้อยละ 17-19 จะลดลงเหลือร้อยละ 10 ภายใน 1 กรกฎาคม 2009 และการจัดเก็บภาษีตามราคาจะเปลี่ยนเป็นการเก็บภาษีตามสภาพ สำหรับสินค้าที่มีภาษีร้อยละ 5 หรือต่ำกว่า ยังคงอัตราภาษีเช่นเดิม
อุตสาหกรรมที่สำคัญ
อุตสาหกรรมรถยนต์
อุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วนเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญเป็นลำดับต้นๆของไทย ตั้งแต่อดีตรัฐบาลไทยพยายามที่จะสร้างประเทศไทยให้เป็นแหล่งผลิตรถยนต์ที่สำคัญของเอเซียโดยเริ่มจากการใช้นโยบายการผลิตเพื่อการทดแทนการนำเข้า แต่ต่อมาได้ปรับเปลี่ยนเป็นการผลิตเพื่อการส่งออกในช่วงปลายปี 1985
ในแต่ละปีการส่งออกรถยนต์ของไทยไปยังนิวซีแลนด์ทำรายได้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศเกือบ 100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยภายในกลุ่มสินค้ารถยนต์และชิ้นส่วนมีรถกระบะ และรถจี๊ป เป็นสินค้าส่งออกหลัก ในช่วงสองปีที่ผ่านมามูลค่าการส่งออกของสินค้าทั้งสองชนิดเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ในปีที่ผ่านมามีมูลค่าถึง 65.1 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยมีส่วนแบ่งในตลาดนิวซีแลนด์สูงถึงร้อยละ 30
ภาษีนำเข้าสินค้ารถยนต์และชิ้นส่วนของนิวซีแลนด์ค่อนข้างสูง คืออยู่ระหว่างร้อยละ 0-17.5 ภาษีส่วนใหญ่จะจัดเก็บกับสินค้าชิ้นส่วนรถยนต์ หม้อน้ำ และท่อไอเสีย เป็นต้น ในขณะที่ภาษีรถยนต์จะต่ำกว่า จึงทำให้มูลค่าการส่งออกรถยนต์ของไทยไปยังนิวซีแลนด์สูงกว่าเมื่อเทียบกับมูลค่าการส่งออกชิ้นส่วน ซึ่งการลดภาษีภายใต้กรอบความตกลงการค้าเสรีจะทำให้ประเทศไทยสามารถมีส่วนแบ่งตลาดได้มากขึ้นในส่วนของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์
นิวซีแลนด์เริ่มให้ความสนใจในอุตสาหกรรมนี้เพิ่มมากขึ้น โดยในปี 2003 นิวซีแลนด์มีมูลค่าการส่งออกในอุตสาหกรรมประเภทนี้ถึง 120 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกที่สำคัญของนิวซีแลนด์ คือ ยางรถยนต์ ท่อไอเสีย และชิ้นส่วนอื่น ๆ ขณะที่ไทยยังคงมีภาษีนำเข้าสินค้าชิ้นส่วนที่สูงประมาณร้อยละ 10-42
เครื่องใช้ไฟฟ้าและเครื่องจักรกล
มูลค่าการส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ไปยังนิวซีแลนด์เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ตัวอย่างเช่นการส่งออกตู้เย็นเพิ่มขึ้นจาก 213,762 เหรียญสหรัฐในปี 2000 มีมูลค่าสูงกว่า 1 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2003 สำหรับการส่งออกเครื่องสำหรับอัดอากาศ (Compressor) ของตู้เย็น และเครื่องปรับอากาศ มีมูลค่าเพิ่มมากกว่าร้อยละ 150 จากปี 2000-2003 ทั้งนี้การที่สินค้าของไทยมีส่วนแบ่งในตลาดในระดับสูงและเพิ่มขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมาซึ่งแสดงถึงความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งความต้องการในอุตสาหกรรมนี้ในนิวซีแลนด์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน
ภาษีของนิวซีแลนด์ในสินค้ากลุ่มนี้มีตั้งแต่ ร้อยละ 0-10 ซึ่งประมาณร้อยละ 50 ของสินค้าส่งออกของไทยไปยังตลาดนิวซีแลนด์ไม่มีการเก็บภาษีนำเข้าอยู่แล้ว อย่างไรก็ดีการลดภาษีภายใต้โครงสร้างความตกลงการค้าเสรี จะกระตุ้นการค้าในกลุ่มสินค้านี้และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดนิวซีแลนด์ต่อไป
นิวซีแลนด์เป็นประเทศที่มีศักยภาพในการส่งออกในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและเครื่องจักรกลในบางสินค้าเช่นเดียวกัน ซึ่งปัจจุบันผู้ส่งออกนิวซีแลนด์ยังคงประสบกับอัตราภาษีนำเข้าของไทย เช่น ตู้เย็น ตู้แช่แข็ง เครื่องล้างจาน และเครื่องซักผ้า มีอัตราภาษีนำเข้าอยู่ระหว่างร้อยละ 20-30
ผลิตภัณฑ์พลาสติก
ผลิตภัณฑ์พลาสติกเป็นสินค้าส่งออกอีกกลุ่มหนึ่งของไทยที่มีศักยภาพที่จะขยายตลาดไปยังนิวซีแลนด์ในอนาคต มูลค่าการส่งออกของสินค้ากลุ่มนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 13 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2000 เป็น 20 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2003 อย่างไรก็ดีส่วนแบ่งตลาดของไทยยังคงน้อยคือประมาณร้อยละ 3.7 ของการนำเข้าผลิตภัณฑ์พลาสติกทั้งหมดของนิวซีแลนด์
อัตราภาษีนำเข้าผลิตภัณฑ์พลาสติกของนิวซีแลนด์นั้นอยู่ในระดับปานกลางตั้งแต่ ร้อยละ 0 ถึงร้อยละ 7 แต่สินค้าเครื่องนุ่งห่มที่ทำจากพลาสติก เช่น เสื้อหนาว เสื้อแจ็กเก็ต มีภาษีสูงถึงร้อยละ 19
ขณะเดียวกันนิวซีแลนด์มีการส่งออกวัสดุพลาสติกมาไทยเช่นกัน โดยในปี 2003 มีมูลค่าสูงถึง 6.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบรรจุภัณฑ์พลาสติก ภาษีนำเข้าของไทยอยู่ระหว่างร้อยละ 5-30
ทั้งสองประเทศจะได้รับประโยชน์จากการลดและยกเลิกการเก็บภาษีภายใต้ความตกลงการค้าเสรี รวมทั้งได้รับประโยชน์จากการลดต้นทุนในการผลิตอีกด้วย
(ยังมีต่อ).../เหล็ก..