(ต่อ2)การศึกษาร่วมว่าด้วยการจัดทำความตกลงการค้าเสรี(Closer Economic Partnership: CEP) ไทย-นิวซีแลนด์

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 20, 2004 14:16 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

        กฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า 
ไทยและนิวซีแลนด์ให้ความสำคัญกับเรื่องกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้ามากเพราะเป็นส่วนประกอบที่จำเป็นต่อการทำความตกลงทางการค้าเสรี ซึ่งกฎดังกล่าวจะตัดสินว่าสินค้าใดที่จะได้รับการยกเว้นหรือได้รับภาษีในอัตราพิเศษภายใต้ข้อตกลง กฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้านี้จะช่วยให้เศรษฐกิจเป็นไปในทางที่ดีขึ้นในขณะที่พิจารณาถึงความเป็นจริงในแง่ของลักษณะภูมิประเทศและปัจจัยต่างๆที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งสองประเทศ ซึ่งกฎดังกล่าวจะต้องสามารถนำมาปฏิบัติและบังคับใช้ได้จริง ในขณะเดียวกันผลประโยชน์ที่เกิดจากการนำกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้ามาใช้จะต้องตกอยู่กับประเทศที่เป็นภาคีของข้อตกลงเท่านั้น อย่างไรก็ตามในสภาพที่ภาษีอยู่ในระดับต่ำนั้น กฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้าที่มีการกำหนดหลักการที่เกินควรจะทำให้เกิดค่าใช้จ่ายในการดูแลกำกับที่มากเกินไปจนอาจทำให้เป็นอุปสรรคต่อเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า
ไทยนั้นมีการทำความตกลงเขตการค้าเสรีกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือ AFTA โดยภายใต้ข้อตกลงนี้กฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้าจะใช้เพื่อให้แน่ใจว่าสินค้าส่งออกที่ได้รับอัตราภาษีพิเศษจากประเทศสมาชิกจะเป็นสินค้าที่มาจากประเทศที่อยู่ในข้อตกลงหรือเป็นสินค้าที่ได้รับการแปรรูปเป็นหลักในประเทศสมาชิก โดย AFTA ได้กำหนดให้มีมูลค่าของสินค้าวัตถุดิบภายในประเทศอย่างน้อยร้อยละ 40 ของราคาสินค้า FOB เพื่อให้มีการแปรสภาพอย่างเพียงพอ (Substantial Transformation)
นิวซีแลนด์นั้นใช้หลักการคิดราคาสินค้าแบบกฎมูลค่าเพิ่ม (Undifferentiated Value-Added) ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีกับประเทศอื่น ๆ ซึ่งต่างจากวิธีการของ AFTA โดยจะไม่คิดค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นหลังจากสินค้าผลิตเสร็จแล้ว นอกจากนี้กฎแหล่งกำเนิดสินค้าของนิวซีแลนด์จะแบ่งเป็นสองส่วนด้วยคือ มูลค่าของสินค้าวัตถุดิบภายในประเทศจะต้องได้ตามที่กำหนดและกระบวนการในการผลิตสินค้าขั้นสุดท้ายจะต้องเกิดขึ้นในประเทศที่ได้รับประโยชน์จากสิทธิพิเศษ
การค้าในภาคบริการ
ไทยมีการส่งออกในภาคสินค้าบริการคิดเป็นร้อยละ 18 ของมูลค่าส่งออกโดยรวมของประเทศหรือเป็นลำดับที่ 26 ของโลก และมีการนำเข้าเป็นลำดับที่ 24 ของโลก โดยการท่องเที่ยวและการขนส่งมีมูลค่าถึง 3 ใน 4 ของมูลค่าส่งออกภาคบริการ ในขณะที่การนำเข้าด้านการท่องเที่ยว ลิขสิทธิ์ และการขนส่ง คิดเป็นร้อยละ 60 ของมูลค่าการนำเข้าภาคบริการ
นิวซีแลนด์มีการส่งออกสินค้าบริการคิดเป็น 1 ใน 4 ของมูลค่าการส่งออกโดยรวม โดยเน้นในด้านการท่องเที่ยวและการศึกษาเป็นสำคัญ การค้าสินค้าบริการระหว่างไทย-นิวซีแลนด์นั้นเป็นไปตามกฎว่าด้วยการค้าสินค้าบริการ (GATS) ภายใต้องค์การการค้าโลก
จุดมุ่งหมายโดยรวมของการจัดทำความตกลงการค้าเสรี เพื่ออำนวยความสะดวกในการค้าด้านบริการระหว่างไทยกับนิวซีแลนด์ ดังนั้นทั้งสองประเทศจึงจำเป็นที่จะต้องศึกษาและพิจารณาถึงอุปสรรคและโอกาสในการขยายตลาด นอกจากนี้การปกป้องสิทธิของรัฐในการควบคุมดูแล รวมไปถึงข้อกำหนด กฎเกณฑ์และการสนับสนุนทางการเงินกับบริการสาธารณะก็เป็นส่วนที่สำคัญในข้อตกลง ความเข้าใจร่วมกันในข้อจำกัดต่างๆภายใต้ความตกลงการค้าเสรี จะเป็นการช่วยผู้ประกอบการบริการของทั้งสองประเทศและเป็นการกระตุ้นให้เกิดการเชื่อมโยงกันของการศึกษาและสถาบันต่างๆ ซึ่งเมื่อดูจากลักษณะทางเศรษฐกิจและความชำนาญเฉพาะด้านของทั้งสองประเทศแล้วยังมีประเด็นโอกาสในการพัฒนาการค้าด้านบริการที่ควรพิจารณาด้วย
ภาคการบริการที่สำคัญ
การศึกษา
ความเชื่อมโยงทางการศึกษาระหว่างสองประเทศมีการพัฒนาอย่างมากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 1998 มีจำนวนนักเรียนไทยที่ไปศึกษาในนิวซีแลนด์เพิ่มขึ้นถึงเท่าตัวจนทำให้นักเรียนไทยมีจำนวนมากที่สุดเป็นอันดับ 4 ของนักเรียนต่างชาติในนิวซีแลนด์ ในปี 2002 มีนักเรียนไทยจำนวน 3,434 คน ศึกษาในนิวซีแลนด์ ซึ่งร้อยละ 60 ศึกษาในหลักสูตรภาษาอังกฤษ
การท่องเที่ยว
ในขณะที่โรคทางเดินหายใจเฉียบพลัน (SARS) และความผันผวนในสถานการณ์ของโลกเป็นอุปสรรคต่อความเติบโตทางด้านการท่องเที่ยว แต่ความสัมพันธ์ระหว่างของทั้งสองประเทศก็ยังคงเหนียวแน่น ในปี 2003 มีนักท่องเที่ยวชาวไทยไปนิวซีแลนด์ 19,000 คน และมีนักท่องเที่ยวชาวนิวซีแลนด์เดินทางมาไทยมากกว่า 60,000 คน
บริการอื่นๆ
ในปี 2002 ไทยนำเข้าสินค้าบริการจากนิวซีแลนด์เป็นมูลค่าถึง 6.9 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือที่อัตราการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ22.8 ต่อปี ในขณะที่การส่งออกอยู่ที่ 1.1 ล้านเหรียญสหรัฐหรือคิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 4.1 ต่อปี
จากความสัมพันธ์ทางการค้าและเศรษฐกิจที่กว้างขึ้น ทำให้ผู้ให้บริการในด้านต่างๆ เช่น การให้คำปรึกษา การก่อสร้าง การแพทย์และบริการอื่นๆ มีบทบาทเพิ่มขึ้น การจัดทำความตกลงการค้าเสรีกับนิวซีแลนด์จะช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางการค้าบริการระหว่างสองประเทศ การค้าสินค้าบริการที่เพิ่มมากขึ้นยังจะช่วยให้เกิดการแลกเปลี่ยนและถ่ายโอนทักษะและความรู้ ซึ่งความคิดและประสบการณ์ของผู้ให้บริการจากทั้งสองประเทศเมื่อรวมกันแล้วจะทำให้ได้สินค้าด้านบริการที่สามารถแข่งขันได้ในระดับโลก
การลงทุนระหว่างไทย-นิวซีแลนด์
ในปี 2003 การลงทุนจากต่างชาติในไทยมีมูลค่า 4.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ และในนิวซีแลนด์มีมูลค่า 26 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยนักลงทุนที่มาลงทุนในไทยส่วนใหญ่มาจากฝรั่งเศส อังกฤษ เยอรมัน ญี่ปุ่น และอเมริกาเหนือ ส่วนนักลงทุนที่ลงทุนในนิวซีแลนด์จะมาจาก ออสเตรเลีย อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา ซึ่งทั้งไทยและนิวซีแลนด์ได้เปิดต้อนรับและกระตุ้นการลงทุนจากต่างชาติ โดยทำบรรยากาศในการลงทุนให้มั่นคง เสรี และเป็นที่น่าดึงดูด
ไทยมีพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พุทธศักราช 2542 (1999) กำกับดูแลเรื่องการลงทุนจากต่างชาติ โดยมีการจำกัดการเป็นเจ้าของธุรกิจของคนต่างชาติในบางธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง สภาพแวดล้อมธรรมชาติและสังคม ในปี 2004 ไทยมีการปรับปรุงนโยบายเพื่อให้มีการเปิดเสรีทางด้านการลงทุนเพิ่มมากขึ้น และเพื่อดึงดูดนักลงทุนชาวต่างชาติ โดยเฉพาะในธุรกิจอุตสาหกรรมการเกษตร แฟชั่น รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์เทคโนโลยี รวมทั้งอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนสูง
สำหรับการลงทุนของต่างชาติในนิวซีแลนด์นั้นจะดูแลโดย Overseas Investment Commission (OIC) กำหนดให้การลงทุนในบางธุรกิจที่สำคัญจะต้องผ่านกระบวนการได้รับความเห็นชอบก่อน ซึ่งกระบวนการโดยเบื้องต้นจะเกี่ยวข้องกับการซื้อขายที่ดินและเพื่อใช้ในการเก็บสถิติ ขณะนี้รัฐบาลนิวซีแลนด์อยู่ระหว่างการทบทวนนโยบายการลงทุนจากต่างชาติ โดยมีจุดประสงค์เพื่อเปิดเสรีด้านการลงทุนและลดค่าใช้จ่าย ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จช่วงกลางปี 2004 และประกาศใช้ในปี 2005
ในขณะนี้การลงทุนระหว่างสองประเทศยังอยู่ในระดับปานกลาง การจัดตั้งความตกลงการค้าเสรีจะช่วยให้ทั้งสองประเทศได้รับประโยชน์จากการลงทุนที่เพิ่มขึ้น การแลกเปลี่ยนความรู้ เทคโนโลยี ความคิดและโอกาส การค้าในอุตสาหกรรมเดียวกันจะได้รับประโยชน์ในด้านการส่งออกที่สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านตลาดระหว่างประเทศ และกลยุทธ์เพื่อพัฒนาความสามารถการแข่งขันในตลาดโลก ยิ่งไปกว่านั้นหลักการประติบัติเยี่ยงคนชาติ (National Treatment) จะช่วยสนับสนุนโอกาสการลงทุนร่วมกันระหว่างสองประเทศเพิ่มขึ้น
การลงทุนในนิวซีแลนด์เน้นใน 6 สาขา ได้แก่ เทคโนโลยีชีวภาพ อุตสาหกรรมด้านความคิดสร้างสรรค์ (Creative) เทคโนโลยีด้านข้อมูลสารสนเทศและการสื่อสาร อุตสาหกรรมพิเศษ อาหารและเครื่องดื่ม และการแปรรูปไม้
ตามข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) นิวซีแลนด์มีการลงทุนในไทยมากเป็นลำดับที่ 43 โดยตั้งแต่ปี 1985 ถึง 2003 มีมูลค่าการลงทุน 25.5 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 0.03 ของมูลค่าการลงทุนจากต่างชาติที่เข้าสู่ประเทศไทย โดยนิวซีแลนด์มีการลงทุนในไทยมากที่สุดในปี 1999 มีมูลค่า 8.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นการลงทุนในธุรกิจเฟอร์นิเจอร์และธุรกิจเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ
มาตรการทางการค้า ปัญหาทางการค้าที่มีอยู่
เพื่อให้การจัดทำความตกลงการค้าเสรีได้รับประโยชน์สูงสุด นอกเหนือจากการเปิดเสรีทางการค้า บริการและการลงทุนแล้ว การร่วมมือกันในด้านต่าง ๆ ในการอำนวยความสะดวกจะช่วยปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการทำธุรกิจของทั้งสองประเทศให้ดีขึ้น
อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า (Technical Barrier to Trade — TBTs)
เนื่องจากแต่ละประเทศมีกฎระเบียบและข้อกำหนดของสินค้าที่ต่างกันทำให้ผู้ส่งออกสินค้าต้องพบกับอุปสรรคหลายๆ อย่าง เช่น ผู้ส่งออกมักพบปัญหาในด้านระบบการทำงานของราชการเมื่อมีการนำสินค้าเข้าสู่ตลาดใหม่ ซึ่งแต่ละประเทศจะมีกฎระเบียบที่แตกต่างกัน จึงทำให้ยากและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติตามของผู้ส่งออก
ไทยและนิวซีแลนด์เห็นพ้องกันในการลดค่าใช้จ่ายทางธุรกิจอันเกิดขึ้นจากมาตรฐานและกฎระเบียบที่แตกต่างกัน ซึ่งภายใต้ความตกลงการค้าเสรีจะช่วยให้เกิดความสอดคล้องของกฎระเบียบโดยการเพิ่มความร่วมมือกันระหว่างผู้วางกฎระเบียบ การยอมและการรับรองระเบียบของผลวิเคราะห์ การสร้างให้เกิดความสอดคล้องกับมาตรฐานสากล แก้ไขกระบวนการทางบริหารไม่ให้มีความสลับซับซ้อนและมีกลไกในการแก้ไขปัญหา ซึ่งสิ่งต่างๆที่กล่าวมานี้จะทำให้เกิดการขยายตัวทางการค้าของทั้งสองฝ่ายและยังจะทำให้ CEP เกิดประโยชน์สูงสุดโดยการลดอุปสรรคทางด้านวิชาการและทำให้เกิดความคล่องตัวในการดำเนินการทางการค้าระหว่างสองประเทศ
มาตรฐานและความสอดคล้อง (Standard and Conformance)
ไทยและนิวซีแลนด์มีสถาบันมาตรฐานที่จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมให้เกิดประสิทธิภาพในการทำธุรกิจและการค้า รวมทั้งเพื่อเป็นการลดอัตราความเสี่ยงต่อสุขภาพ ความปลอดภัยและรักษาสภาพแวดล้อม
ไทยเข้าร่วมเป็นภาคีของข้อตกลงอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้าภายใต้องค์การการค้าโลกตั้งแต่ปี 1995 ในปัจจุบันประเทศไทยมีศูนย์ตอบข้อซักถามและหน่วยงานกลางในการแจ้งกฎระเบียบ TBTs อยู่ 2 แห่งด้วยกันคือ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) สำหรับสินค้าอุตสาหกรรม และ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) สำหรับสินค้าเกษตรและอาหาร นอกจากนั้นยังมีคณะกรรมการว่าด้วยอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้าที่จัดตั้งขึ้นเพื่อดูแลให้การดำเนินการและการควบคุมดูแลกฎระเบียบ มาตรฐานและกระบวนการตรวจสอบรับรองเป็นไปตามข้อตกลง TBTs
นิวซีแลนด์มีหลายหน่วยงานที่ดูแลในเรื่องของมาตรฐานสินค้า โดยมีกระทรวงพัฒนาธุรกิจเป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบดูแลรวมทั้งเฝ้าระวังผลกระทบของกฎระเบียบ มาตรฐานและความสอดคล้องของอุตสาหกรรม ซึ่งนิวซีแลนด์ได้เข้าร่วมเป็นภาคีของข้อตกลงอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้าภายใต้องค์การการค้าโลกเช่นเดียวกับไทย โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบด้าน TBT สำหรับสินค้าเกษตรกรรม ได้แก่ กระทรวงเกษตรและป่าไม้ของนิวซีแลนด์
มาตรการสุขอนามัย (SPS)
ไทยให้ความสำคัญกับมาตรฐานสุขอนามัยและความปลอดภัยในอาหารในลำดับต้น โดยได้มีการดำเนินการเพื่อยกระดับมาตรฐานและการตรวจสอบสินค้าเกษตรของไทย เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันและเพิ่มโอกาสในการส่งออก รวมทั้งมีคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยมาตรการสุขอนามัย ซึ่งประกอบไปด้วยตัวแทนจากทั้งภาครัฐและเอกชนจัดตั้งขึ้นเพื่อกำกับดูแลการดำเนินการและการจัดการมาตรฐานของสินค้าเกษตรและอาหาร การกักกันสินค้า การควบคุมและการตรวจสอบสินค้านำเข้าและส่งออก และระบบรองรับมาตรฐานต่างๆให้เป็นไปตามข้อตกลงว่าด้วยมาตรการสุขอนามัยเพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อตลาดทั้งภายในและภายนอกประเทศ ดังนั้นไทยต้องพยายามที่จะยกระดับมาตรฐานและการตรวจสอบเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและโอกาสในการส่งออกสินค้าเกษตรของไทย ดังเช่นนโยบายที่สนับสนุนให้ไทยเป็นครัวของโลก
นิวซีแลนด์ให้ความสำคัญในเรื่องมาตรการสุขอนามัยเช่นเดียวกับไทย โดยมีกระทรวงเกษตรและป่าไม้เป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการดำเนินการตามข้อตกลงด้านมาตรการสุขอนามัย รวมทั้งนิวซีแลนด์ยังเป็นประเทศที่เข้าไปมีส่วนร่วมในองค์กรที่เกี่ยวข้องมาตรการ SPS ที่สำคัญประเทศหนึ่งในเวทีโลก
มาตรการสุขอนามัยของนิวซีแลนด์อยู่บนพื้นฐานของการวิเคราะห์ความเสี่ยงที่สอดคล้องกับมาตรฐานโลกและกฎระเบียบว่าด้วยมาตรการสุขอนามัยภายใต้องค์การการค้าโลก โดยมีกระทรวงเกษตรและป่าไม้ของนิวซีแลนด์ทำงานร่วมกับประเทศผู้ส่งออกเพื่อพัฒนามาตรฐานและลดความเสี่ยงของการนำเข้าสินค้านั้นๆ อย่างไรก็ดี สินค้าบางชนิดประสบปัญหาในการนำเข้า จากมาตรฐานดังกล่าว (ในกรณีของไทยได้แก่ ไข่และเนื้อสัตว์)
ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีจะเป็นการกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือทางวิชาการระหว่างทั้งสองประเทศ เสริมสร้างการดำเนินการให้เป็นไปตามกฎระเบียบ ตามกรอบความตกลงด้านมาตรการสุขอนามัยและช่วยให้การค้าระหว่างกันง่ายยิ่งขึ้น
นโยบายการแข่งขัน
ในปี 1999 ไทยได้ออกกฎหมายใหม่เพื่อป้องกันการทำธุรกิจที่ไม่เป็นธรรม รวมทั้งสร้างบรรยากาศเสรีทางการค้าและการลงทุนในประเทศให้มากขึ้น
นิวซีแลนด์มีกฎหมายในเรื่องนี้ที่เข้มงวดมาก โดยห้ามไม่ให้มีการควบรวมหรือซื้อกิจการที่จะเป็นการลดคู่แข่งทางธุรกิจ รวมทั้งการใช้อำนาจทางการตลาดในทางที่ผิด คณะกรรมการพาณิชย์ (The Commerce Commission) ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระทำหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย และมีกระทรวงพัฒนาการเศรษฐกิจเป็นที่ปรึกษาในส่วนของนโยบายการแข่งขันให้กับรัฐบาล
ภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยกับนิวซีแลนด์จะช่วยส่งเสริมให้มีการแข่งขันในตลาดมากขึ้นและช่วยลดพฤติกรรมการต่อต้านการแข่งขัน รวมทั้งความร่วมมือระหว่างสองประเทศ ซึ่งประกอบด้วยการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันและการแจ้งและการให้คำปรึกษาในเรื่องที่เกี่ยวกับการพัฒนานโยบายการแข่งขันและการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยเรื่องการแข่งขัน
ทรัพย์สินทางปัญญา
ประเทศไทยได้ออกกฎหมายที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา คือ พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พระราชบัญญัติสิทธิบัตร พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า และพระราชบัญญัติความลับทางการค้า เพื่อขจัดปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ทางปัญญา และมีเป้าหมายที่จะเผยแพร่ให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูล รวมทั้งการให้ข้อมูลทางด้านเทคโนโลยีและสิทธิทางปัญญา เพื่อส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาในเรื่องนี้ต่อไป ในส่วนของนิวซีแลนด์จะมีพระราชบัญญัติที่เกี่ยวกับสิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า การออกแบบและสิทธิในพันธุ์พืช (plant variety rights)
การบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญามีความสำคัญที่จะส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมและการพัฒนาสินค้าซึ่งความร่วมมือภายใต้ความตกลงการค้าเสรี จะประกอบไปด้วยการแลกเปลี่ยนข้อมูลต่างๆเพื่อใช้ในการศึกษาและเผยแพร่ในเรื่องสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา รวมไปถึงการกระตุ้นและการอำนวยความสะดวกในการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ
ความร่วมมือทางศุลกากร
การร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานศุลกากรของทั้งสองประเทศมีความสำคัญ เพราะจะทำให้การดำเนินการทางการค้าสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ความตกลงการค้าเสรีจะเสริมสร้างการช่วยเหลือกันระหว่างศุลกากรของนิวซีแลนด์กับของไทย ให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลในเรื่องการบังคับใช้กฎหมายต่างๆ การให้ความช่วยเหลือทางวิชาการ การส่งเสริมการค้าแบบไร้กระดาษ การจัดการความเสี่ยงและการพิสูจน์แหล่งกำเนิดสินค้า
พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
ไทยให้ความสำคัญกับการพัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ โดยมีการพัฒนากรอบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติและการออกกฎหมายที่อำนวยความสะดวกในเรื่องการค้าอิเล็กทรอนิกส์ นิวซีแลนด์นั้นได้ออกแผนยุทธศาสตร์โดยเนื้อหาสาระเกี่ยวกับการการสร้างความเป็นผู้นำและการดำเนินงานร่วมกันกับภาคธุรกิจและสังคมในวงกว้างเพื่อสร้างความสามารถทางพาณิชย์อิเลคทรอนิกส์ให้กับคนในประเทศ
ความร่วมมือทางพาณิชย์อิเลคทรอนิกส์ระหว่างไทยกับนิวซีแลนด์จะช่วยกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือกันในด้านกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ อำนวยความสะดวกทางการค้าในส่วนของสินค้าดิจิตอลและเพื่อให้มั่นใจว่าการพัฒนาจะไม่ติดขัดจากฎระเบียบที่ซับซ้อน
การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ
ในขณะนี้ไทยมีกรมบัญชีกลางเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบและดำเนินการ ในการทำแผนแม่บทการจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อใช้เป็นกรอบในการพัฒนาการจัดซื้อจัดจ้าง โดยครอบคลุมแนวความคิดและประเด็นการปรับปรุงกฎเกณฑ์ การพัฒนาการจัดซื้อจัดจ้างทางอิเล็กทรอนิกส์ การพัฒนาบุคลากร การมีส่วนร่วมของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม ข้อตกลงระหว่างประเทศและการกระจายอำนาจในการตัดสินใจสู่ท้องถิ่น แผนแม่บทนี้จะยังเน้นที่การพัฒนาในประเด็นที่เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างให้สอดคล้องกับกฎระเบียบสากล ซึ่งในขณะนี้กรมบัญชีกลางได้จัดทำร่างแผนแม่บทเสร็จเรียบร้อยแล้วและจะได้ดำเนินการทันทีหลังได้รับอนุมัติจากสภา
นโยบายการจัดซื้อจัดจ้างของนิวซีแลนด์นั้นต้องการให้มีการเปิดตลาดเสรีและโปร่งใส โดยยึดหลักความคุ้มค่าของเงิน การแข่งขันที่เสรีและมีประสิทธิภาพ ผู้ขายสินค้าได้รับโอกาสอย่างเต็มที่และเป็นธรรม และเพิ่มความสามารถทางธุรกิจ การจัดทำความตกลงการค้าเสรีจะช่วยให้ผู้ขายสินค้าและบริการของทั้งสองประเทศเข้าสู่ตลาดได้สะดวกยิ่งขึ้นและรวมไปถึงความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน
มาตรการเยียวยาทางการค้า (Trade Remedies)
ถึงแม้ว่าจุดมุ่งหมายหลักของการจัดทำความตกลงการค้าเสรี คือ การอำนวยความสะดวกทางการค้า แต่ในบางครั้งต้องมีมาตรการที่จำเป็นเพื่อปกป้องการค้าที่ไม่เป็นธรรม เช่นการทุ่มตลาด ซึ่งภายใต้องค์การการค้าโลกมีกฎระเบียบว่าด้วยการตอบโต้การทุ่มตลาด การตอบโต้การอุดหนุน และมาตรการปกป้อง การใช้มาตรการเยียวยาทางการค้าภายใต้ความตกลงการค้าเสรีสามารถกระทำได้ ถ้าเป็นการรักษาไว้ซึ่งการปกป้องการค้าที่ไม่เป็นธรรม แต่ขณะเดียวกันยังต้องคงไว้ซึ่งผลประโยชน์ของการเปิดเสรีทางการค้า
การอุดหนุนการส่งออก
นิวซีแลนด์และไทยมีความร่วมมือกันลดสนับสนุนการอุดหนุนการส่งออกสินค้าเกษตรทุกประเภทในการเจรจาภายใต้กรอบองค์การการค้าโลก และการจัดทำความตกลงการค้าเสรี จะเป็นตัวช่วยให้การขจัดการอุดหนุนการส่งออกในระดับทวิภาคีหมดไปอีกทั้งก็ผลักดันความร่วมมือเรื่องนี้ในระดับพหุภาคีด้วย
มาตรฐานแรงงานและสิ่งแวดล้อม
ทั้งไทยและนิวซีแลนด์ต่างก็ให้ความสำคัญต่อมาตรฐานแรงงานและหลักการต่างๆภายใต้ปฏิญญาหลักว่าด้วยสิทธิขั้นพื้นฐานของแรงงาน ภายใต้องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ไทยและนิวซีแลนด์ทำงานร่วมกันทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคีในเรื่องของการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งประกอบไปด้วยการส่งเสริมมาตรฐานแรงงานและสิ่งแวดล้อม
การเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นจะเป็นโอกาสดีที่ทั้งสองประเทศจะได้ร่วมกันพัฒนาและนำนโยบายการพัฒนาแบบยั่งยืนมาใช้ ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างบรรยากาศในการลงทุนที่มั่นคงและดึงดูดการลงทุน
ข้อกำหนดในเรื่องแรงงานและสิ่งแวดล้อมจะต้องคำนึงถึงความหลากหลายทางสังคม สิ่งแวดล้อม กฎหมาย วัฒนธรรม และสภาพทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ ซึ่งรูปแบบและเนื้อหาต่างๆจะสะท้อนความสนใจและจุดมุ่งหมายที่แต่ละประเทศต้องการจะส่งเสริม
สิ่งที่เป็นไปได้ที่ทั้งสองประเทศจะพิจารณาคือ บทบาทขององค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง การใช้กฎหมายภายในประเทศ กลไกความร่วมมือและการสื่อสารระหว่างกันและขอบเขตความร่วมมือในการสร้างขีดความสามารถ
ประเด็นอื่นๆ
สนธิสัญญา Waitangi
เนื่องจากความสำคัญของสนธิสัญญา Waitangi ซึ่งเป็นการลงนามระหว่างคนนิวซีแลนด์และชนเผ่าเมารี (ชนพื้นเมืองของนิวซีแลนด์) ในปี 1840 นิวซีแลนด์ได้กำหนดข้อยกเว้นเรื่องการปฏิบัติต่อชนเผ่าเมารีในข้อกำหนดทั่วไปว่าด้วยการค้าบริการ (GATS) รวมทั้งการจัดทำความตกลงการค้าเสรีระหว่างนิวซีแลนด์และสิงคโปร์ ซึ่งอนุญาตให้รัฐบาลนิวซีแลนด์กำหนดกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับชนเผ่าเมารีได้โดยไม่มีข้อจำกัดภายใต้ความตกลงการค้าเสรี ทั้งนี้นิวซีแลนด์จะกำหนดเรื่องนี้ในการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีกับไทยเช่นเดียวกัน
การจัดเก็บภาษี
ระบบการจัดเก็บภาษีเป็นส่วนประกอบที่สำคัญที่มีผลต่อการดำเนินธุรกิจระหว่างประเทศ สำหรับในเรื่องนี้ประเทศไทยและนิวซีแลนด์ได้มีการลงนามในความตกลงหลีกเลี่ยงการเก็บภาษีซ้อน ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่เกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีที่อาจนำมากล่าวในบริบทของการจัดทำความตกลงการค้าเสรี ซึ่งอาจรวมถึงการทบทวนเรื่องการเก็บภาษีซ้อนในอนาคต
การทำงานร่วมกัน
ตัวอย่างธุรกิจที่ไทยและนิวซีแลนด์ดำเนินการร่วมกันอยู่
D M Palmer New Zealand Ltd
D M Palmer New Zealand Ltd ร่วมกับบริษัท Sakolthai Transpack ซึ่งเป็นบริษัทของคนไทยประกอบธุรกิจเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ ซึ่งบรรจุภัณฑ์ต่างๆเหล่านี้มีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมการส่งออกสินค้าหลายประเภทของไทย
Mastip Technology
Mastip Technology เป็นผู้ผลิตเครื่องฉีดพลาสติกแบบวิ่งร้อนที่มีฐานการผลิตอยู่ในนิวซีแลนด์ และประเทศไทยได้นำเข้าเครื่องจักรดังกล่าวมากว่า 10 ปีแล้วโดยมีบริษัท Mastip Thailand Co Ltd. เป็นผู้จัดจำหน่าย ซึ่งเทคโนโลยีในการผลิตพลาสติกที่นำเข้ามานี้ทำให้อุตสาหกรรมไทยมีประสิทธิภาพในการผลิตที่รวดเร็วและดียิ่งขึ้น ทำให้สินค้าที่ผลิตมีคุณภาพ เป็นการลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันในตลาดโลก
Carter Holt Harvey (Thailand) Co. Ltd.
Carter Holt Harvey (Thailand) Co.Ltd. เป็นบริษัทส่งออกเครื่องผลิตกรอบไม้สำเร็จรูป มีโรงงานผลิตในประเทศไทยที่จังหวัดอยุธยาผลิตสินค้าที่ทำจากไม้ต่างๆเช่น ซุ้มไม้เลื้อย และบริษัทยังได้ทำการศึกษาความเป็นไปได้ที่จะให้ประเทศไทยเป็นฐานการส่งออกไปยังประเทศต่างๆในเอเชีย
Baldwin Boyle Group (Thailand) Co.Ltd.
Baldwin Boyle Group (Thailand) Co.Ltd. เป็นบริษัทที่ปรึกษาในด้านโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่เข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทยและมีบทบาทอย่างมากในการถ่ายทอดความรู้และทักษะทางด้านการสื่อสารและประชาสัมพันธ์
Pacific Wide (New Zealand) Ltd
Pacific Wide (New Zealand) Ltd เป็นผู้ส่งออกหญ้ามอสส์ ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญที่ใช้ในการผลิตกล้วยไม้และอุตสาหกรรมการส่งออก และในขณะนี้ยังไม่มีผู้ผลิตสินค้าดังกล่าวในไทย แต่ด้วยภาษีนำเข้าที่สูงมากทำให้สินค้าดังกล่าวมีราคาสูง ซึ่งการยกเลิกภาษีของสินค้านำเข้าดังกล่าวของภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรี จะช่วยลดต้นทุนการผลิตกล้วยไม้ของไทย ทำให้การส่งออกสามารถแข่งขันได้มากขึ้น
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
การวิเคราะห์ผลกระทบจากการยกเลิกอุปสรรคทางการค้าเป็นเรื่องที่กระทำได้ยาก เนื่องจากในความเป็นจริงมีตัวแปรหลายๆ อย่างที่มีผลกระทบต่อการดำเนินการทางธุรกิจระหว่างประเทศนอกเหนือจากอุปสรรคทางการค้า ซึ่งผลกระทบที่เกิดจากการจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทย-นิวซีแลนด์ ต่อเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ อาจสรุปภาพรวมได้ ดังนี้
จากการที่ไทยและนิวซีแลนด์ได้ดำเนินการเปิดการค้าเสรีภายใต้กรอบองค์การการค้าโลก และการจัดทำความตกลงการค้าเสรีภายใต้กรอบทวิภาคี ผลกระทบต่อการค้าสินค้าภายใต้ความตกลงการค้าเสรีจะช่วยเกื้อหนุนและก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจต่อทั้งสองประเทศ ซึ่งเมื่อดูจากขนาดและลักษณะทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศแล้วคาดว่าไทยและนิวซีแลนด์จะได้ว่าผลกระทบปานกลางต่อ GDP รวมของแต่ละประเทศ รวมทั้งมีประโยชน์อื่นซึ่งเกิดจากการค้าระหว่างกันที่เพิ่มขึ้นและการลดลงของราคาสินค้า นอกเหนือจากประโยชน์ที่ได้กล่าวมาในแต่ละภาคอุตสาหกรรมแล้ว
ผลกระทบระยะสั้น (Static Gains)
ตามทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ การเปิดเสรีทางการค้าระหว่างเศรษฐกิจที่เกื้อหนุนกันจะเป็นการส่งเสริมให้เกิดผลดีต่อทั้งสองประเทศจากราคาสินค้าที่ถูกลง การค้าระหว่างกันที่สูงขึ้นและการลดลงของความสูญเสียที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ (Deadweight Loss) เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของประสิทธิผลทางเศรษฐกิจ
การลดภาษีจะทำให้ผู้บริโภคได้รับผลดีจากราคาสินค้านำเข้าที่ถูกลงและความหลากหลายของสินค้าและบริการที่มากขึ้น ซึ่งจะมีผลไปถึงผู้ผลิตซึ่งต้องพึ่งการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อการผลิต โดยในส่วนของการผลิต การลดลงของภาษีต่างๆ จะเป็นการกระตุ้นให้เกิดการไหลเวียนของทรัพยากรจากอุตสาหกรรมที่ไม่สามารถแข่งขันได้ไปยังภาคอุตสาหกรรมการส่งออกที่มีความได้เปรียบในการผลิตมากกว่า ซึ่งท้ายที่สุดจะนำไปสู่อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแรงและมั่นคง แต่ในระยะสั้น การลดลงของภาษีต่างๆ ก็จะทำให้รายได้ของภาครัฐโดยรวมลดลง
ผลกระทบระยะยาว (Dynamic Gains)
ในระยะยาวเขตการค้าเสรีไม่เพียงเปลี่ยนราคาสินค้าโดยเปรียบเทียบ แต่รวมถึงการเปลี่ยนสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศ ได้แก่
- ข้อตกลงเขตการค้าเสรีกระตุ้นการลงทุนในเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศซึ่งได้รับสิทธิพิเศษในการเข้าสู่ตลาด
- ทั้งสองประเทศได้รับประโยชน์จากประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นของความสามารถในการผลิตของแรงงานและทุน การแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีและความรู้ และความชำนาญในสินค้าที่มีความสามารถในการแข่งขัน
ผลกระทบระยะยาวนี้จะมีความสำคัญมากเมื่อระบบเศรษฐกิจมีการปรับตัว ผลประโยชน์ที่ไทยคาดว่าจะได้รับภายใต้ความตกลงการค้าเสรีกับนิวซีแลนด์ คือประสิทธิภาพในการผลิตเพิ่มขึ้น ขณะที่นิวซีแลนด์จะมีการเพิ่มขึ้นของ Term of Trade นอกจากนี้ข้อตกลงเขตการค้าเสรีจะช่วยสนับสนุนให้มีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองที่ใกล้ชิดมากขึ้นระหว่างสองประเทศผ่านความร่วมมือในด้านอื่น ๆ ด้วย
เนื่องจากพื้นฐานโครงสร้างทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศที่มีลักษณะเกื้อหนุนกัน การจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทย-นิวซีแลนด์ จะส่งผลกระทบเพียงเล็กน้อยกับระบบเศรษฐกิจ โดยสินค้าอุตสาหกรรมไทยที่ส่งไปนิวซีแลนด์จะไม่มีผลกระทบรุนแรงกับภาคอุตสาหกรรมของนิวซีแลนด์ เนื่องจากมีการผลิตสินค้าเหล่านั้นน้อย ขณะเดียวกันไทยคาดว่าจะมีการนำเข้าสินค้าเกษตรจากนิวซีแลนด์สูงขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มสวัสดิการผู้บริโภคในไทยให้สูงขึ้น โดยกรณีส่วนใหญ่สินค้าเกษตรนิวซีแลนด์จะไม่ทดแทนสินค้าเกษตรของไทย
บทสรุป
การศึกษานี้ได้กล่าวถึงนโยบายทางการค้าที่เปิดกว้างขึ้นและเป้าหมายทางเศรษฐกิจของไทยกับนิวซีแลนด์ที่เกิดจากการจัดทำความตกลงการค้าเสรี ซึ่งทั้งสองประเทศเป็นผู้นำในการปฏิรูประบบเศรษฐกิจและการเปิดเสรีการค้าในระดับภูมิภาคอยู่แล้ว การจัดทำความตกลงการค้าเสรีที่มีคุณภาพระหว่างกันจะช่วยกำหนดมาตรฐานที่ดีสำหรับการทำข้อตกลงกันในระดับภูมิภาคต่อไป รวมทั้งช่วยให้การเปิดเสรีทางการค้าภายใต้กรอบองค์การการค้าโลก และความร่วมมือภายใต้กรอบเอเปคเป็นไปอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น
จุดมุ่งหมายของการจัดทำความตกลงการค้าเสรี จะเน้นให้ประเทศทั้งสองได้รับผลประโยชน์มากที่สุดจากการค้าที่จะเพิ่มขึ้น ดังนั้นจึงควรมีการปรับลดหรือยกเลิกภาษี และกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคทางการค้าระหว่างกัน
โครงสร้างทางการค้าที่เกื้อกูลกันของไทยกับนิวซีแลนด์จะก่อให้เกิดโอกาสทางการค้ามากขึ้นภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรี ผู้ส่งออกสินค้าของทั้งสองประเทศจะได้รับประโยชน์โดยตรงจากการยกเลิกภาษีและการลดลงของอุปสรรคทางการค้าต่างๆ ซึ่งทำให้สินค้าและบริการมีความหลากหลายและมีปริมาณมากขึ้น ในส่วนของผู้บริโภคนั้นก็จะได้รับประโยชน์จากการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น สินค้ามีราคาลดลง และมีสินค้าและบริการให้เลือกมากขึ้น อุตสาหกรรมอาหารแปรรูปที่กำลังเติบโตของไทยก็จะได้วัตถุดิบนำเข้าคุณภาพดีจากนิวซีแลนด์ในราคาที่ถูกลง ในทางกลับกันภาคธุรกิจและผู้บริโภคของนิวซีแลนด์ก็จะได้รับประโยชน์จากการนำเข้าสินค้าและวัตถุดิบจากไทยในภาคอุตสาหกรรมอื่น ๆ
ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี กฎแหล่งกำเนิดสินค้าจะช่วยในการอำนวยความสะดวกทางการค้า และคำนึงถึงกระบวนการผลิตภายในประเทศ เพื่อให้ประโยชน์ควรตกแก่สินค้าของไทยและนิวซีแลนด์เท่านั้น
รัฐบาลทั้งสองประเทศพยายามกระตุ้นให้เกิดการลงทุนจากต่างชาติ การจัดทำความตกลงการค้าเสรีจะเป็นอีกหนึ่งส่วนที่จะช่วยสร้างฐานการลงทุนจากต่างชาติที่มั่นคงและชัดเจนมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็เป็นการเพิ่มขอบเขตการลงทุนของทั้งสองประเทศในระดับทวิภาคีและนานาชาติ นอกจากนี้ การเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศยังจะช่วยตุ้นให้เกิดความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งสองผ่ายในหลายระดับ ซึ่งการศึกษานี้ได้พิจารณาถึงภาคอุตสาหกรรมของทั้งสองประเทศที่อาจจะก่อให้เกิดผลกระทบตามมา และภาคอุตสาหกรรมที่อาจได้รับโอกาสทางธุรกิจภายใต้ความตกลงนี้ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่มากขึ้นจะนำไปสู่การแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี เงินทุน นวัตกรรมและความรู้ต่างๆ ซึ่งจะเป็นสิ่งที่มีค่าสำหรับทั้งสองประเทศเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลกต่อไป
ธุรกิจของไทยและนิวซีแลนด์ยังได้รับประโยชน์จากความร่วมมือที่เพิ่มขึ้นระหว่างรัฐบาลของทั้งสองประเทศ การจัดทำความตกลงการค้าเสรีจะส่งเสริมให้มีความร่วมมือกันในเรื่อง ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลและการสร้างความเข้าใจของกฎระเบียบ ในเรื่องมาตรการสุขอนามัย มาตรการศุลกากร อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์และการค้าแบบไร้กระดาษ ทรัพย์สินทางปัญญา และมาตรฐานแรงงานและสิ่งแวดล้อม เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการทำธุรกิจและอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างไทยกับนิวซีแลนด์
การส่งเสริมความโปร่งใสของการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐและการลดอุปสรรคทางการค้าจะเปิดโอกาสหใม่ ๆ ให้ผู้จัดหาสินค้าและบริการ รวมทั้งก่อให้เกิดประสิทธิภาพในการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐบาลทั้งสองประเทศ
ไทยและนิวซีแลนด์มีความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีที่ใกล้ชิดและยาวนานทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ซึ่งได้มีพัฒนาความสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องและการจัดทำความตกลงการค้าเสรีจะช่วยประสานความสัมพันธ์นี้ให้แนบแน่นยิ่งขึ้น
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (66) 2282-6171-9 แฟกซ์ (66) 2280-0775
-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ