เศรษฐกิจไทย ไตรมาสที่ 2 ปี 2548(เมษายน-มิถุนายน 2548)

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 30, 2005 15:01 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

          จากการประมาณการอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์ประชาชาติรายไตรมาสของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือ GDP ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2548 ขยายตัวร้อยละ 3.3 ซึ่งชะลอตัวลงจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี  2547  โดยในไตรมาสที่ 4 ของปี  2547 มีอัตราการขยายตัวร้อยละ 5.3  และไตรมาสที่ 1 ของปี  2547 มีอัตราการขยายตัวร้อยละ 6.7 โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้อัตราการขยายตัวชะลอตัว คือ ผลกระทบของราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผลกระทบจากภาวะภัยแล้ง และผลกระทบจากเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัยคลื่น  Tsunami  และหากพิจารณาค่า  GDP  ที่ปรับตัวดัชนีฤดูกาลในไตรมาสที่ 1 ของปี  2548  ขยายตัวร้อยละ —0.6  ซึ่งต่ำกว่าไตรมาสที่ 4 ของปี  2547  ที่ขยายตัวร้อยละ 1.5
ในส่วนของ GDP สาขาอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 1 ของปี 2548 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2547 โดยในไตรมาสที่ 1 ของปี 2548 สาขาอุตสาหกรรมมีการขยายตัวร้อยละ 3.6 เทียบกับร้อยละ 7.6 ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2547 และร้อยละ 10.2 ในไตรมาส ที่ 1 ของปี 2548 เนื่องจากในไตรมาสที่ 1 ของปี 2548 มีการชะลอตัวลงทั้งในกลุ่มอุตสาหกรรมเบา อุตสาหกรรม วัตถุดิบ และอุตสาหกรรมสินค้าทุนและเทคโนโลยี ประกอบกับอุตสาหกรรมสำคัญขนาดใหญ่หลายประเภทมีการปิดซ่อมบำรุง อุตสาหกรรมสำคัญที่มีการผลิตลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม อุตสาหกรรมโลหะ และอุตสาหกรรมเครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้า
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดว่าในปี 2548 เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 4.5 - 5.5 และคาดว่าในครึ่งหลังของปีเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ดีขึ้นจากการ ท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวได้มากขึ้น การเร่งรัดการใช้จ่ายภาครัฐจะเห็นผลมากขึ้น รวมทั้งการเร่งรัดการส่งออก สินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรมที่ใช้สัดส่วนวัตถุดิบนำเข้าต่ำ
สำหรับตัวเลขชี้วัดทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 ของปี 2548 มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2547 โดยจะเห็นว่าตัวเลขอัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ อุตสาหกรรมการแปรรูปและการถนอมสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำ และเมื่อพิจารณาตัวเลขการส่งออก มูลค่าการส่งออกก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยมีสินค้าที่ติดอันดับต้น ๆ ได้แก่ คอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า
ในส่วนของการลงทุนภาคเอกชนก็มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2547 โดยเพิ่มขึ้นทั้งยอดการขายซีเมนต์ ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในประเทศ และยอดการนำเข้าสินค้าทุน ประกอบกับการเพิ่มขึ้นของการใช้จ่ายเพื่อการอุปโคบริโภค พบว่า เครื่องชี้วัดที่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2547 ได้แก่ ปริมาณการใช้กระแสไฟฟ้า การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคภาษีมูลค่าเพิ่ม
ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2548 ตัวเลขชี้วัดทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับ ช่วงเดียวกันของปี 2547 อย่างไรก็ตาม แนวโน้มครึ่งปีหลังยังคงมีปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ได้แก่ ราคาน้ำมันที่ ปรับตัวสูงขึ้น ปัญหาการขาดดุลการค้าและการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด สถานการณ์ความไม่สงบของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และปัญหาภัยแล้ง ซึ่งปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในอนาคต
ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม
จากรายงานดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (Manufacturing Production Index : MPI) ที่จัดทำโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (ตารางที่ 1) ซึ่งครอบคลุมอุตสาหกรรม 50 กลุ่ม พบว่า ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2548 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 140.03 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (141.85) ร้อยละ 1.3 แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2547 (133.56) ร้อยละ 4.8
อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาล อุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ และอุตสาหกรรมการจัดเตรียมและการปั่นเส้นใยสิ่งทอ รวมถึงการทอสิ่งทอ เป็นต้น
สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2547 ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ อุตสาหกรรมการแปรรูปและการถนอมสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำ และอุตสาหกรรมการผลิตเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กกล้าขั้นมูลฐาน เป็นต้น
ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2548 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 3.9 โดยอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ อุตสาหกรรม การแปรรูปและการถนอมสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำ และอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรที่ใช้งานทั่วไปอื่น ๆ เป็นต้น
ดัชนีการส่งสินค้า
ดัชนีการส่งสินค้า (Shipment Index) แสดงทิศทางของระดับการขนส่งสินค้าภายในประเทศและระหว่างประเทศ ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (ตารางที่ 1) โดยครอบคลุมอุตสาหกรรม 50 กลุ่ม พบว่า ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2548 ดัชนีการส่งสินค้าอยู่ที่ระดับ 137.21 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (136.54) ร้อยละ 0.5 และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2547 (131.49) ร้อยละ 4.4
อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ อุตสาหกรรมการแปรรูปและการถนอมสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำ และอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรที่ใช้งานทั่วไปอื่น ๆ เป็นต้น
สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2547 ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ อุตสาหกรรมการแปรรูปและการถนอมสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำ และอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรที่ใช้งานทั่วไปอื่น ๆ เป็นต้น
ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2548 ดัชนีการส่งสินค้าเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2547 ร้อยละ 3.5 โดยอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ อุตสาหกรรมการแปรรูปและการถนอมสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำ และอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรที่ใช้งานทั่วไปอื่น ๆ เป็นต้น
ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง
ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง (Finished Goods Inventory Index) แสดงทิศทางหรือระดับการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของการสำรองสินค้าเพื่อไม่ให้สินค้าขาดตลาด ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม โดยครอบคลุมอุตสาหกรรม 50 กลุ่ม พบว่า ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2548 ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังอยู่ที่ระดับ 163.19 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (142.75) ร้อยละ 14.3 และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2547 (134.16) ร้อยละ 21.6
อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตมอลต์ ลิกเคอและมอลต์ อุตสาหกรรมการแปรรูปและการถนอมสัตว์น้ำ และผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำ และอุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม เป็นต้น
สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2547 ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตมอลต์ลิกเคอและมอลต์ อุตสาหกรรมการแปรรูปและการถนอมสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำ และอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ เป็นต้น
ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2548 ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2547 ร้อยละ 4.7 โดยอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตมอลต์ลิกเคอและมอลต์ อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ และอุตสาหกรรมการแปรรูปและการถนอมสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำ เป็นต้น
อัตราการใช้กำลังการผลิต
อัตราการใช้กำลังการผลิตเป็นตัวบ่งชี้สภาพการผลิตของภาคอุตสาหกรรม โดยเปรียบเทียบระดับการผลิตที่เกิดขึ้นจริงกับระดับการผลิตที่ใช้กำลังการผลิตเต็มที่ ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ซึ่งครอบคลุมอุตสาหกรรม 50 กลุ่ม พบว่า ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2548 อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ระดับ 65.89 ลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสที่ผ่านมา (65.91) แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2547 (62.02)
อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาล อุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ และอุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ยาสูบ เป็นต้น
สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2547 ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ อุตสาหกรรมการแปรรูปและการถนอมสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์จาก สัตว์น้ำ และอุตสาหกรรมการผลิตมอลต์ลิกเคอและมอลต์ เป็นต้น
ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2548 อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2547 โดยอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องแต่งกาย ยกเว้นเครื่องแต่งกายที่ทำจากขนสัตว์ และอุตสาหกรรมการแปรรูปและการถนอมสัตว์น้ำ และผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำ เป็นต้น
ดัชนีความเชื่อมั่นธุรกิจและผู้บริโภค
ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค จัดทำโดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แบ่งออกเป็น 3 ดัชนี ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีเกี่ยวกับโอกาสหางานทำ และดัชนีเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต (ตารางที่ 2) พบว่า ไตรมาสที่ 2 ของปี 2548 ทั้ง 3 ดัชนี มีการปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา และไตรมาสเดียวกันของปี 2547 สำหรับปัจจัยที่ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่น ผู้บริโภคปรับตัวลดลงทุกรายการในไตรมาสที่ 2 ของปี 2548 ได้แก่ ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นทั้งราคาน้ำมันดีเซลและน้ำมันเบนซิน ทำให้ผู้บริโภคมีความวิตกเกี่ยวกับราคาสินค้าและค่าครองชีพที่ ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมันที่ทรงตัวในระดับสูง ประกอบกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติปรับลดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศปี 2548 มาอยู่ที่ระดับร้อยละ 4.5 — 5.5 ประเทศไทยประสบปัญหาขาดดุลการค้าและการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด และผู้บริโภคยังมีความวิตกเกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่สงบทางภาคใต้ ปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัด และผลกระทบของ สึนามิยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในอนาคต
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ไตรมาสที่ 2 ของปี 2548 มีค่า 83.8, 83.1 และ 80.5 ตามลำดับในแต่ละเดือน การที่ดัชนีปรับตัวอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 100 อย่างต่อเนื่อง แสดงว่าผู้บริโภค ขาดความมั่นใจในการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยว่าจะขยายตัวอยู่ในระดับที่ดี เนื่องจากมีปัจจัยลบหลายปัจจัยที่ทำให้ผู้บริโภควิตกกังวล
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับโอกาสหางานทำ ไตรมาสที่ 2 ของปี 2548 มีค่า 81.7, 81.1 และ 79.6 ตามลำดับในแต่ละเดือน การที่ดัชนีมีค่าต่ำกว่าระดับ 100 แสดงว่าผู้บริโภคยังขาดความเชื่อมั่นเกี่ยวกับภาวะการจ้างงานโดยรวมของไทย โดยเห็นว่าโอกาสในการหางานทำยังไม่ดีมากนัก ซึ่งสอดคล้องกับความ เชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีต่อภาวะเศรษฐกิจที่ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต ไตรมาสที่ 2 ของปี 2548 มีค่า 100.6, 99.7 และ 96.9 การที่ดัชนีเริ่มมีค่าต่ำกว่าร้อยละ 100 แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคเริ่มขาดความเชื่อมั่นมากขึ้น โดยเห็นว่าการชะลอตัวลงทางเศรษฐกิจในปัจจุบันจะส่งผลของรายได้ของตนเองในอนาคต
ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2548 ทั้ง 3 ดัชนีดังกล่าวปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องจากปี 2547 เนื่องจากความวิตกกังวลของผู้บริโภคในปัจจัยลบต่าง ๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ
จากการสำรวจความเชื่อมั่นทางธุรกิจ ซึ่งจัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2548 ดัชนีลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2547 โดยใน ไตรมาสที่ 2 ในปี 2548 ดัชนีโดยรวมมีค่าต่ำกว่า 50 แสดงว่าความเชื่อมั่นทางธุรกิจยังไม่ดี ผู้ประกอบการยังคงมองว่าภาวะการณ์ด้านธุรกิจในอนาคตยังมีแนวโน้มไม่ดีขึ้น สำหรับดัชนีที่มีการปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2547 คือ ผลประกอบการของบริษัท อำนาจซื้อของประชาชน การจ้างงาน ต้นทุนการประกอบการ
ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2548 ดัชนีโดยรวมปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับในช่วงเดียวกันของปี 2547
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (Thai Industries Sentiment Index : TISI)
จัดทำโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัย หอการค้าไทย(ตารางที่ 4)พบว่าในไตรมาสที่ 2 ของปี 2548 ดัชนีลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2547 โดยค่าดัชนีมีค่าต่ำกว่า 100 แสดงว่าผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นต่อภาวการณ์ด้าน อุตสาหกรรมในระดับที่ไม่ดีนัก ประกอบกับในเดือนมิถุนายน 2548 ดัชนีปรับตัวลดลงมาอยู่ในระดับต่ำที่สุดตั้งแต่เริ่มมีการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม โดยอยู่ที่ระดับ 78.8 แสดงว่า ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นในระดับที่แย่ลงอย่างมากเมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2548 และเมื่อพิจารณาปัจจัยที่นำมาคำนวณค่าดัชนีความเชื่อมั่นในเดือนมิถุนายน 2548 ซึ่งได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นต้นทุนการประกอบการในปัจจุบัน ดัชนีความเชื่อมั่นยอดคำสั่งซื้อโดยรวมในปัจจุบัน ดัชนีความเชื่อมั่นยอดขายโดยรวมในปัจจุบัน ดัชนีความเชื่อมั่นปริมาณการผลิตในอนาคต และดัชนีความเชื่อมั่น กำไรสุทธิในปัจจุบัน ค่าดัชนีเหล่านี้มีค่าอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 100 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นต่อปัจจัยต่าง ๆ ที่นำมาคำนวณดัชนีความเชื่อมั่นในระดับที่ไม่ดีนัก อีกทั้งยังมีความเชื่อมั่นในทุกปัจจัยดังกล่าวในระดับที่ลดลงจากเดือนพฤษภาคม 2548
ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2548 ดัชนีปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับในช่วงเดียวกันของปี 2547
ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ
ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ (Leading Economic Index : LEI) จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นเครื่องมือในการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจ ในอีก 3 — 4 เดือนข้างหน้า ปรากฏว่าดัชนีชี้นำเศรษฐกิจในเดือนมิถุนายน 2548 อยู่ที่ระดับ 125.3 ทรงตัวจากเดือนพฤษภาคม 2548 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 125.3 เช่นกัน โดยเครื่องชี้ที่ปรับตัวดีขึ้น ได้แก่ จำนวนนักท่องเที่ยว และมูลค่าส่งออก ณ ราคาคงที่ ส่วนเครื่องชี้ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ปริมาณเงิน M2a ณ ราคาคงที่ ราคาน้ำมันดิบ และดัชนีราคาตลาดหลักทรัพย์
สำหรับดัชนีในไตรมาสที่ 2 ของปี 2548 มีค่าเฉลี่ย 124.7 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาที่มีค่า 124.2
ดัชนีพ้องเศรษฐกิจ
ค่าประมาณการเบื้องต้นของดัชนีพ้องเศรษฐกิจ (Coincident Economic Index : CEI) จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทยในเดือนมิถุนายน 2548 อยู่ที่ระดับ 126.9 เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2548 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 126.4 ตามการเพิ่มขึ้นของเครื่องชี้ ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ปริมาณจำหน่ายรถยนต์รวม และดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม
สำหรับดัชนีในไตรมาสที่ 2 ของปี 2548 มีค่าเฉลี่ย 126.4 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาที่มีค่า 125.3
การใช้จ่ายเพื่ออุปโภคบริโภค
การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน (Expenditure on private consumption) ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2548 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสที่ผ่านมา และไตรมาสเดียวกันของปี 2547
ทั้งนี้ การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสที่ผ่านมา ซึ่งเครื่องชี้สำคัญที่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ การใช้ไฟฟ้าของครัวเรือน ภาษีมูลค่าเพิ่ม ยอดจำหน่ายน้ำมันเบนซิน ส่วนการบริโภคในกลุ่มยานพาหนะลดลงตามราคาน้ำมันเบนซินที่ปรับสูงขึ้น
ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2548 การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนปรับตัวเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2547 ตามการเพิ่มขึ้นของทุกเครื่องชี้สำคัญ
การลงทุนภาคเอกชน
การลงทุนภาคเอกชนโดยรวม ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2548 พิจารณาจากปัจจัยหลัก 3 ประการ ได้แก่ ยอดการขายซีเมนต์ในประเทศ ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในประเทศ และ ยอดการนำเข้าสินค้าทุน พบว่า ดัชนีการลงทุนในภาคเอกชนในไตรมาสที่ 2 ของปี 2548 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2547
หากแยกตามรายการสินค้าพบว่า ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2548 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2547
ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2548 เพิ่มขึ้นทั้งจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2547
ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2548 การลงทุนภาคเอกชนโดยรวม เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2547 จากการเพิ่มขึ้นของทั้ง 3 ปัจจัยหลัก
ภาวะราคาสินค้า
จากการสำรวจดัชนีราคาผู้บริโภค และดัชนีราคาผู้ผลิต (ตารางที่ 8) โดยกรมการค้า ภายใน กระทรวงพาณิชย์ พบว่าในไตรมาสที่ 2 ของปี 2548 ดัชนีราคาผู้บริโภคปรับตัวสูงขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2547 ซึ่งเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของราคาในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ตามราคาผักและผลไม้ เนื้อสัตว์ ไข่และผลิตภัณฑ์นม ส่วนราคาสินค้าในหมวดอื่น ๆ ที่ไม่รวมอาหารและเครื่องดื่มก็เพิ่มขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของราคาค่าขนส่ง
ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิตในไตรมาสที่ 2 ของปี 2548 ปรับตัวสูงขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาส เดียวกันของปี 2547 ซึ่งเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของราคาในหมวดผลผลิตเกษตรกรรม ผลิตภัณฑ์จากเหมือง และหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2548 ดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิตเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2547
แรงงานในภาคอุตสาหกรรม
จากการสำรวจภาวะการทำงานของประชาชนในไตรมาสที่สองของปี 2548 (ตัวเลขเดือนมิถุนายน) โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่ามีผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน 35.88 ล้านคน เป็นผู้ที่มีงานทำ 35.05 ล้านคนคิดเป็นร้อยละ 97.68 ของกำลังแรงงานทั้งหมด และมีผู้ว่างงาน 0.69 ล้านคน (คิดเป็นร้อยละ 1.90)
สำหรับการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 2 ของปี 2548 มีจำนวน 5.6 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 15.97 ของผู้มีงานทำทั้งหมด
ทางด้านจำนวนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม ณ สิ้นไตรมาสที่ 2 ของปี 2548 มีจำนวนผู้ประกันตนทั้งสิ้น 8,049,313 คน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้รับแจ้งจำนวนลูกจ้าง ที่ถูกเลิกจ้างในระยะเวลา 12 เดือนแรกของปี 2547 มีจำนวน 178,017 คน โดยเป็นการเลิกจ้างในอุตสาหกรรมการผลิตจำนวน 74,479 คน อุตสาหกรรมที่มีการเลิกจ้างมากที่สุด 4 อันดับแรกได้แก่อุตสาหกรรมการผลิตอาหาร มีจำนวน 11,652 คน รองลงมาคืออุตสาหกรรมการผลิตเครื่องเรือน 6,794 คน อุตสาหกรรมสิ่งทอ จำนวน 6,183 คน และ อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องแต่งกาย จำนวน 5,977 คน
ส่วนสถานประกอบการที่เลิกกิจการมีจำนวน 22,455 แห่ง ซึ่งอุตสาหกรรมที่มีการเลิกกิจการมากที่สุดคือ อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ 978 แห่ง รองลงมาคืออุตสาหกรรมอาหารเครื่องดื่มและยาสูบ 801 แห่ง อุตสาหกรรมการผลิตโลหะประดิษฐ์ จำนวน 419 แห่ง
การค้าต่างประเทศ
สถานการณ์การค้าในช่วงไตรมาสที่สองของปี 2548 มีทิศทางเพิ่มสูงขึ้นจากไตรมาสที่ 1 ของปี 2548 โดยในไตรมาสที่ 2 นี้การค้าต่างประเทศของไทยมีมูลค่าทั้งสิ้น 58,451.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเป็นมูลค่าการส่งออกเท่ากับ 26,630.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมูลค่าการนำเข้าเท่ากับ 31,821.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้วมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.68 และการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.00 และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่ามูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 13.27 และมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 35.17 ส่งผลให้เกิดการขาดดุลการค้าในไตรมาสที่ 2 ของปี 2548 โดยมีมูลค่าขาดดุล -5,190.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งขาดดุลเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1 ปี 2548 ร้อยละ -75.18
การส่งออกในไตรมาสที่ 2 ของปี 2548 เมื่อพิจารณาเป็นรายเดือน พบว่ามีมูลค่าการส่งออกเกินกว่า 8,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯทุกเดือน โดยเฉพาะในเดือนมิ.ย. 2548 มีมูลค่าการส่งออกถึง 9,266.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
-โครงสร้างการส่งออก
การส่งออกในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2548 ประกอบด้วย สินค้าอุตสาหกรรม 41,049.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 79.2) สินค้าเกษตรกรรม 4,861.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 9.4) สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร 3,435.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 6.6) สินค้าแร่ธาตุและเชื้อเพลิง 1,686.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 3.3) และสินค้าอื่นๆ 796.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 1.5)
เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว มูลค่าการส่งออกของสินค้าเกือบทุกหมวดมีอัตราการขยายตัวที่เพิ่มขึ้น โดยสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.2 อุตสาหกรรมเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.3 สินค้าแร่ธาตุและเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.1 ส่วนการส่งออกสินค้าเกษตรลดลงร้อยละ 0.8 และสินค้าอื่นๆ ลดลงร้อยละ 2.4
สินค้าส่งออกที่สำคัญ 10 รายการหลักในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2548 ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกสูงสุดคือ 5,334.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ รองลงมาคือ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 3,473.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แผงวงจรไฟฟ้า 2,402.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เม็ดพลาสติก 2,003.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ยางพารา 1,592.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์ 1,575.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เหล็กและเหล็กกล้า 1,482.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อัญมณีและเครื่องประดับ 773.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เสื้อผ้าสำเร็จรูป 1,442.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเครื่องปรับอากาศ 1,371.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมูลค่าการส่งออก 10 รายการหลักรวมกันเท่ากับ 22,150.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 42.73 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด
-ตลาดส่งออก
ในไตรมาส 2 ปี 2548 การส่งออกไปยังตลาดหลัก ซึ่งได้แก่ อาเซียน สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และจีน มีสัดส่วนการส่งออกรวมคิดเป็นร้อยละ 72.8 ของการส่งออกของไทยไปยังทั่วโลก โดยเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนพบว่า การส่งออกของประเทศไทยเพิ่มขึ้นในทุกตลาดหลัก โดยในตลาดอาเซียนเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.4 ตลาดญี่ปุ่นร้อยละ 14.9 ตลาดสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.7 ตลาดสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.7 ตลาดจีนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 23.0 และตลาดอื่นๆร้อยละ 10.7
-โครงสร้างการนำเข้า
การนำเข้าไตรมาสที่ 2 ของปี 2548 ประกอบด้วย สินค้าวัตถุดิบมีมูลค่าสูงสุด 25,952.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 43.3) รองลงมาเป็นนำเข้าสินค้าทุน 16,663.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 27.8) น้ำมันเชื้อเพลิง 10,738.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 17.9) สินค้าอุปโภคบริโภค 3,818.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 6.4) สินค้าหมวดยานพาหนะ 2,063.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 3.4) และสินค้าอื่นๆ 745.1 (คิดเป็นร้อยละ 1.2)
เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว พบว่าสินค้าทุกหมวดมีมูลค่าการนำเข้าขยายตัว โดยน้ำมันเชื้อเพลิง เพิ่มขึ้นร้อยละ 78.2 สินค้าทุนนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 28.9 สินค้าวัตถุดิบเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.4 สินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้น ร้อยละ 13.9 และสินค้าหมวดยานพาหนะเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.5 สินค้าหมวดอื่นๆเพิ่มขึ้นร้อยละ 65.1
-แหล่งนำเข้า
การนำเข้าจากแหล่งนำเข้าที่สำคัญได้แก่ ญี่ปุ่น, อาเซียน, สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และจีน โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2548 มีสัดส่วนนำเข้ารวมร้อยละ 65.3 และเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกัน ของปี 2547 พบว่าการนำเข้าจากกลุ่มประเทศอาเซียน เพิ่มขึ้นร้อยละ 44.8 สหภาพยุโรป ร้อยละ 18.0 ญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.1 , สหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.2 จีนเพิ่มขึ้นร้อยละ 50.8 และจากแหล่งอื่นๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.5
- แนวโน้มการส่งออก
สถานการณ์การค้าในปี 2548 ในช่วง 6 เดือนแรกค่อนข้างมีทิศทางที่ไม่ดีนัก มีการขาดดุลการค้าถึง 8,153.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่ปัญหาการขาดดุลการค้าที่เกิดขึ้น สาเหตุหลักมาจากการนำเข้าสินค้าเชื้อเพลิง ที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก อย่างไรก็ตามกระทรวงพาณิชย์ยังคงมองภาพรวมของการส่งออกและการค้าระหว่างประเทศของไทยในทิศทางที่ดี
โดยจากนโยบายและแผนการขยายตลาดใหม่ๆ การทำเขตการค้าเสรี (FTA) การจัดโรดโชว์การเพิ่มปริมาณการจัดงานแสดงสินค้าทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนมาตรการลดการขาดดุลการค้าของรัฐบาล น่าจะมีผลกระตุ้นทำให้ยอดการส่งออกของประเทศไทยโดยรวมสามารถขยายตัวได้ดีขึ้น
การลงทุนจากต่างประเทศ
การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสุทธิในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2548 จากข้อมูลเบื้องต้นของธนาคารแห่งประเทศไทย การลงทุนสุทธิในเดือนเมษายนและพฤษภาคม มีมูลค่ารวม 8,932 ล้านบาท โดยในเดือนเมษายนมีมูลค่าการลงทุนสุทธิ 8,080 ล้านบาท และเดือนพฤษภาคม 852 ล้านบาท
ในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาสที่ 2 ของปี 2548 สาขาการค้าเป็นสาขาที่มีการลงทุนมากที่สุด คือ 3,446 ล้านบาท สำหรับสาขาอุตสาหกรรมมีการลงทุนสุทธิ -472 ล้านบาท โดยในสาขาอุตสาหกรรมมีการลงทุนสุทธิในหมวดโลหะและอโลหะมากที่สุด เป็นเงินลงทุนสุทธิ 416 ล้านบาท รองลงมาคือหมวดเคมีภัณฑ์ 221 ล้านบาท และหมวดวัสดุก่อสร้าง 21 ล้านบาท
ประเทศที่เข้ามาลงทุนสุทธิในประเทศไทยมากที่สุดในเดือนเมษายนและพฤษภาคม คือ ประเทศสิงคโปร์มีเงินลงทุนสุทธิ3,517 ล้านบาท รองลงมาคือ ประเทศสหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา มีเงินลงทุนสุทธิ 1,797 ล้านบาท และ1,065 ล้านบาท ตามลำดับ
สำหรับการลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริม การลงทุน (BOI) พบว่า ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2548 การลงทุนจากต่างประเทศที่ได้รับอนุมัติ การส่งเสริมการลงทุนจาก BOI มีจำนวนทั้งสิ้น 577 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุน 333,800 ล้านบาท โดยเป็นโครงการที่ลงทุนจากต่างประเทศ 100 % จำนวน 183 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุน 55,100 ล้านบาท เป็นโครงการร่วมทุนระหว่างไทยและต่างประเทศ 200 โครงการ เป็นเงินลงทุน 121,900 ล้านบาท
(ยังมีต่อ)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ