ร่างพระราชบัญญัติประมง พ.ศ. ... ฉบับมกราคม 2547 ของกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 22, 2004 13:19 —สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ความเห็นและข้อเสนอแนะ
เกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติประมง พ.ศ. ... (ฉบับมกราคม 2547 ของกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์)
1. วัตถุประสงค์ของการศึกษาและการให้ความเห็นและข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุง “ร่างพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ...”
เนื่องด้วยพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490 ฉบับปัจจุบัน ซึ่งรัฐใช้เป็นเครื่องมือหนึ่งในการบริหารจัดการทรัพยากรประมงของประเทศ มีอายุถึง 57 ปีแล้ว และมีบทบัญญัติส่วนใหญ่ที่ล้าสมัยไม่เหมาะสมกับสภาวะการประมงและสภาวะของทรัพยากรสัตว์น้ำในปัจจุบัน ทำให้เกิดปัญหาในการบริหารจัดการ การอนุรักษ์ การฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำที่ไม่เหมาะสมในการทำประมงเพื่อการยังชีพ การทำอาชีพประมงตั้งแต่ขนาดเล็กถึงขนาดใหญ่ การทำประมงนอกน่านน้ำ การทำประมงในน่านน้ำสากล การทำอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากการประมงและประชาชนผู้บริโภค
กอปรกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ฉบับปัจจุบัน ได้บัญญัติถึงสิทธิของประชาชน ในการมีส่วนร่วมในทรัพยากรธรรมชาติมาตรา 46, 56, 59, 60, 76, 79 และ 84 สิทธิเสรีภาพของประชาชนมาตรา 26, 27, 28 และ 29 เสรีภาพในการประกอบอาชีพมาตรา 50 สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เห็นว่า “ร่างพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ...” ฉบับเดือนมกราคม พ.ศ. 2547 ซึ่ง ร่างโดยข้าราชการกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์อยู่ขณะนี้ จะเป็นพระราชบัญญัติที่เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการ การอนุรักษ์ การฟื้นฟู ทรัพยากรสัตว์น้ำ การส่งเสริมและพัฒนา การกระจายอำนาจและการให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากร อาชีพประมง รวมทั้งอาชีพที่ต่อเนื่องและเกี่ยวข้องกับการประมงได้อย่างเหมาะสมและยั่งยืน ถ้าประชาชนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการร่างหรือแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในเนื้อหาที่สำคัญได้ถูกนำมาเป็นประโยชน์และใช้ในการร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว
2. การดำเนินการของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
การประมงเป็นเรื่องของเศรษฐกิจซึ่งเป็นผลประโยชน์ของชาติและประชาชน ประเทศไทยมีผลผลิตสัตว์น้ำประมาณ 4,700,000 ตันต่อปี รายได้จากการส่งออกมากกว่า 200,000 ล้านบาทต่อปี มูลค่าทรัพย์สิน (เรือประมง) ประมาณ 80,000 ล้านบาท มูลค่าทรัพย์สิน (โรงงาน) ประมาณ 100,000 ล้านบาท โดยมีโรงงานอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องประมาณ 2,000 แห่ง มีการจ้างงานมากกว่า 2 ล้านคน เขตพื้นที่เกี่ยวข้องด้านประมงทะเลและประมงน้ำกร่อยมีจำนวน 24 จังหวัด ชายทะเล และเขตพื้นที่เกี่ยวข้องด้านประมงน้ำจืดมีเกือบทุกจังหวัดทั่วประเทศ
สภาที่ปรึกษาฯ ได้เล็งเห็นความสำคัญของการประมงของประเทศ ซึ่งยังคงมีปัญหาต่างๆอยู่มากมาย และ “ร่างพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ....” ซึ่งกรมประมงและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินการร่างอยู่ในขณะนี้ จะเป็นพระราชบัญญัติที่มีความสำคัญอย่างมาก ในการที่จะใช้เป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหา การลดปัญหา การพัฒนา การส่งเสริมสนับสนุน การกระจายอำนาจและการให้ชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากร การสร้างความ มั่นใจของมาตรฐานด้านสุขอนามัยและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำทุกประเภท ทั้งที่ ใช้บริโภคในประเทศ และส่งออกจำหน่ายต่างประเทศ
ดังนั้นสภาที่ปรึกษาฯ จึงได้ดำเนินการหลายวิธีเพื่อรวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่างๆ รับฟังความเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยการดำเนินการของสภาที่ปรึกษาฯ ประกอบด้วย
การศึกษาร่างพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ... และศึกษาข้อมูลจากเอกสารของภาครัฐเช่น นโยบายพัฒนาการประมงแห่งชาติ (พ.ศ. 2545-2549) โดยศึกษาทั้งฉบับเดิม และฉบับปรับปรุงโดยสภาที่ปรึกษาฯ ซึ่งได้เสนอคณะรัฐมนตรีไปแล้ว เอกสาร รายงาน บทความวิชาการของภาคเอกชน และองค์กรประมง
การจัดการสัมมนาและเสวนาในระดับภาคและระดับประเทศ โดยเชิญชาวประมง ผู้ประกอบกิจการอุตสาหกรรมต่อเนื่องการประมง ในท้องถิ่น ผู้นำองค์กรประมงระดับตำบลและอำเภอ ผู้นำองค์กรประมงระดับสหกรณ์และระดับจังหวัด เช่น ประธานสหกรณ์การประมง นายกสมาคมประมงจังหวัด ผู้นำองค์กรประมงระดับภาค ผู้นำองค์กรประมงระดับประเทศ เช่น ประธานกรรมการสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย นายกสมาคมการประมงนอกน่านน้ำไทย ผู้แทนกรมประมง ผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นักวิชาการ สมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ และผู้ที่สนใจเข้าร่วมเสวนาเพื่อรวบรวมความคิดเห็น
สภาที่ปรึกษาฯ ได้ดำเนินการศึกษาและพยายามรวบรวมข้อมูลและความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้มากพอสมควรในระดับหนึ่ง เพื่อใช้ในการวิเคราะห์ สังเคราะห์ และประมวลเป็นความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของสภาที่ปรึกษาฯ โดยได้พบว่ามีประเด็นสำคัญหลายมาตราควรจะต้องได้รับการการทบทวนและการแก้ไข ทั้งในเรื่องหลักการและรายละเอียดเพื่อให้ถูกต้องเหมาะสมและสอดคล้องกับวัตถุประสงค์หลักของร่างพระราชบัญญัติการประมงฉบับนี้
3. ประเด็นพิจารณาของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ร่างพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ... ซึ่งกรมประมงและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ปรับปรุงครั้งสุดท้ายฉบับ มีนาคม 2546 ประกอบด้วยเนื้อหาจำนวน 13 หมวด 139 มาตรา ครอบคลุม 5 ด้านใหญ่ดังนี้
1. ด้านการจัดการทรัพยากรประมง
2. ด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
3. ด้านการมีส่วนร่วมของชุมชน
4. ด้านการประมงนอกน่านน้ำไทย
5. ด้านการสุขอนามัยของสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ
โดย 139 มาตราของ พ.ร.บ. การประมงฉบับนี้มีเนื้อหามากมาย ทั้งคำจำกัดความ กรอบโครงสร้าง อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการประมงระดับชาติ คณะกรรมการประมงระดับจังหวัดและท้องถิ่น คณะกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำระดับชาติ คณะกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำระดับจังหวัดและ ท้องถิ่น การแบ่งเขตการประมงเป็นเขตประมงชายฝั่ง เขตประมงพาณิชย์ เขตประมงน้ำจืด และเขตคุ้มครอง การจัดการประมงโดยชุมชน การประมงนอกน่านน้ำไทย การประมงของต่างชาติ ในน่านน้ำไทย กองทุนพัฒนาการประมง ตลอดจนบทกำหนดโทษต่างๆ ซึ่งมีสาระที่สำคัญมากเกี่ยวข้องกับภาครัฐและประชาชนส่วนใหญ่
ในช่วงกลางปี พ.ศ.2544 ถึงปัจจุบัน (ตุลาคม พ.ศ.2546) กรมประมงและคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.การประมง ฉบับนี้เป็นลำดับ โดยชาวประมง องค์กรการประมง องค์กรอุตสาหกรรมต่อเนื่อง การประมงและประชาชนผู้ที่เกี่ยวข้อง มิได้มีส่วนร่วมในการปรับปรุงในช่วงเวลาดังกล่าว (หลังจากที่ได้มีส่วนร่วมออกความเห็นและร่วมปรับปรุงก่อนช่วงเวลาดังกล่าวข้างต้นบ้างแล้ว) ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ น่าจะได้จัดการรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของ ภาคประชาชนรวมทั้งนักวิชาการเอกชนที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เพื่อจะได้นำข้อคิดเห็นทั้งปวงมาปรับปรุง ร่าง พ.ร.บ.การประมงฉบับนี้ให้มีความเหมาะสมมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยต้องให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันด้วย ก่อนที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะได้เสนอร่าง พ.ร.บ.การประมง ฉบับนี้ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา
4. ความเห็นและข้อเสนอแนะของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มีความเห็นและข้อเสนอแนะดังนี้
4.1 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ควรจะดำเนินการจัดให้มีการสัมมนาครั้งใหญ่ระดับชาติโดยเร็ว เพื่อรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมในการปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติการประมงฉบับนี้ของประชาชนที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ซึ่งอาจจะประกอบด้วย ชาวประมงทุกระดับ ผู้แทนองค์กรประมงทุกระดับ นักธุรกิจอุตสาหกรรมต่อเนื่อง การประมงทุกระดับ ผู้แทนองค์กรอุตสาหกรรมต่อเนื่องการประมงทุกระดับ นักวิชาการ สื่อมวลชน องค์กรพัฒนาเอกชน หน่วยงานของรัฐทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง อาจรวมทั้งตัวแทนคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ ของวุฒิสภา และสภาผู้แทนราษฎร์ด้วย เพื่อเป็นการระดมสมองครั้งใหญ่ทำให้ร่างพ.ร.บ.การประมงฉบับนี้เหมาะสมและสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
4.2 หลังการสัมมนาครั้งใหญ่ระดับชาติตามข้อ 4.1 แล้ว ควรให้ผู้แทนสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ผู้แทนสมาคมการประมงนอกน่านน้ำไทย ผู้แทนสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย ผู้แทนสมาคมซึ่งเป็นตัวแทนผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ผู้แทนองค์กร ชาวประมงพื้นบ้านและชุมชน นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ และอื่นๆ มีส่วนร่วมกับ “คณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์”ในการปรับปรุงร่างพ.ร.บ.การประมงฉบับนี้อีกครั้งหนึ่งให้เหมาะสมและสมบูรณ์ที่สุดโดยเร็วก่อนเสนอต่อคณะรัฐมนตรี
4.3 หมวดที่ 13 บทกำหนดโทษ ซึ่งประกอบด้วยมาตรา 124-138 นั้น สภาที่ปรึกษาฯ มีความเห็นว่า หลักเกณฑ์ในการลงโทษประชาชนชาวไทยและชาวต่างชาติ ควรต้องอยู่บนพื้นฐานความเสมอภาคกัน เช่น มาตราที่ 135 ถ้ากฎหมายไทยปัจจุบันไม่สามารถจำคุกชาวต่างชาติ หรือให้ศาลริบเรือประมงของชาวต่างชาติ ซึ่งกระทำความผิดได้ เพียงแต่มีความผิดต้องระวางโทษปรับเป็นเงินเท่านั้น ก็ควรใช้หลักเกณฑ์นี้กับประชาชนชาวไทยด้วยเช่นกัน
ที่มา: สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
www.nesac.or.th, โทร.02-612-9222 ต่อ 118, 119 โทรสาร.02-612-6918-9

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ