จร.จัดสัมมนาโครงการศึกษาการจัดทำ FTA ไทย-เม็กซิโก

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 22, 2004 14:47 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

        นางสาวชุติมา  บุณยประภัศร  รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่ากรมฯได้ว่าจ้างบริษัท พีดับบลิวซี คอนซัลติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด เป็นที่ปรึกษาโครงการศึกษาความเป็นไปได้ โอกาสและผลกระทบในการจัดตั้งเขตการค้าเสรีระหว่างไทยกับเม็กซิโก ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการศึกษาจนใกล้จะสมบูรณ์แล้ว จึงได้จัดให้มีการประชุมสัมมนาระดมข้อคิดเห็นในการเสนอร่างรายงานผลการศึกษาฉบับสมบูรณ์ ในวันพุธที่ 21 กรกฎาคม 2547 ณ โรงแรมอโนมา เวลา 9.00-16.00 น. โดยได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาต่างๆร่วมให้ข้อคิดเห็น
รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวต่อด้วยว่า การจัดทำเขตการค้าเสรีระหว่างไทยกับเม็กซิโก เกิดขึ้นจากการหารือร่วมกันระหว่างฯพณฯนายกรัฐมนตรี ดร.ทักษิณ ชินวัตร กับประธานาธิบดีเม็กซิโก H.E. Mr. Vicente Fox เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2545 ในระหว่างการประชุม International Conference on Financing for Development ณ เมืองมอนเทอร์เรย์ ประเทศเม็กซิโก ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้ตกลงที่จะจัดตั้งเขตการค้าเสรีระหว่างกัน
ทั้งนี้ เม็กซิโก เป็นประเทศที่เจริญที่สุดในกลุ่มประเทศลาตินอเมริกา มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่กว่าไทยประมาณ 4 เท่า และมีรายได้ประชาชาติต่อหัวประมาณ 5,070 เหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 202,800 บาทต่อปี ในขณะที่ไทยมีเพียง 2,000 เหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 80,000 บาทต่อปี เม็กซิโกเริ่มเปิดประเทศในระยะ 20 ปีที่ผ่านมา และใช้นโยบายการค้าเป็นหัวหอกในการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยเม็กซิโกได้จัดทำความตกลงการค้าเสรีแล้วจำนวน 11 ข้อตกลง เข้าถึงตลาด 42 ประเทศ และเป็นประเทศแรกที่มีภาคการผลิตสินค้าเกษตรกรรมที่สามารถสรุปผลการเจรจาเขตการค้าเสรีกับญี่ปุ่นได้ และคาดว่าจะลงนามในความตกลงภายในปีนี้
รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า การค้าระหว่างไทยกับเม็กซิโกยังมีมูลค่าไม่มาก แต่มูลค่าเพิ่มขึ้นสม่ำเสมอ โดยในปี 2546 เม็กซิโกเป็นประเทศคู่ค้าอันดับที่ 34 ของไทย การค้าระหว่างกันมีมูลค่า 24,293 ล้านบาท แยกเป็นมูลค่าส่งออก 17,106 ล้านบาท และมูลค่านำเข้า 7,187 ล้านบาท โดยไทยเป็นฝ่ายเกินดุลการค้าตั้งแต่ปี 2541 เป็นต้นมา
“การจัดตั้งเขตการค้าเสรีระหว่างไทยกับเม็กซิโก จะเป็นอีกหนึ่งยุทธศาสตร์เชิงรุกในการขยายการค้าระหว่างกัน อย่างไรก็ตาม การจัดทำเขตการค้าเสรีย่อมมีทั้งโอกาส และผลกระทบ ซึ่งจำเป็นต้องศึกษาอย่างรอบคอบ ” รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าว
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (66) 2282-6171-9 แฟกซ์ (66) 2280-0775
-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ