การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจ ครั้งที่ 4/35 (SEOM 4/35) และการประชุม SEOM กับประเทศคู่เจรจา

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 26, 2004 15:54 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

        การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจ ครั้งที่ 4/35 (SEOM 4/35) และการประชุม SEOM กับประเทศคู่เจรจา วันที่ 27-31 กรกฎาคม 2547 ณ เมืองเว้  ประเทศเวียดนาม 
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ จะเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเดินทางไปเข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจของอาเซียน (Senior Economic Official Meeting: SEOM) ครั้งที่ 4/35 ซึ่งเวียดนามจะเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นระหว่างวันที่ 27-31 กรกฎาคม 2547 ณ เมืองเว้ ประเทศเวียดนาม โดยในการประชุมครั้งนี้มีประเด็นสำคัญที่ SEOM จะพิจารณา ดังนี้
1. การเร่งรัดการรวมกลุ่มสินค้าและบริการสำคัญ 11 สาขาของอาเซียน สืบเนื่องจากการประชุมสุดยอดอาเซียนเมื่อปลายปี 2546 ณ เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ผู้นำอาเซียนได้ลงนามแถลงการณ์ Bali Concord II และเห็นชอบการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) ภายในปี 2020 (พ.ศ. 2563) โดยอาเซียนจะมีตลาดและฐานการผลิตร่วมกัน รวมทั้งมีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน เงินทุน และแรงงานฝีมืออย่างเสรี ซึ่งผู้นำได้เห็นชอบให้เร่งรัดการรวมกลุ่มสินค้าและบริการสำคัญ 11 สาขา (priority sectors) เป็นสาขานำร่อง และกำหนดให้มีสมาชิกรับผิดชอบในแต่ละสาขา ได้แก่ การท่องเที่ยว การบิน (ไทย) สินค้าเกษตร สินค้าประมง (พม่า) ยานยนต์ ผลิตภัณฑ์ไม้ (อินโดนีเซีย) ผลิตภัณฑ์ยาง สิ่งทอ (มาเลเซีย) อิเล็กทรอนิกส์ (ฟิลิปปินส์) เทคโนโลยีสารสนเทศ ผลิตภัณฑ์ และบริการด้านสุขภาพ (สิงคโปร์) โดยมอบหมายให้เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียน (SEOM) เจรจาหาข้อสรุปการจัดทำ Roadmaps และร่างความตกลงฯ ดังกล่าว
ในการประชุมครั้งนี้ ที่ประชุม SEOM จะได้พิจารณาประเด็นสืบเนื่องที่ยังไม่สามารถตกลงกันได้จากการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียน สมัยพิเศษ เมื่อวันที่ 1-7 กรกฎาคม 2547 ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย โดยมีประเด็นที่สำคัญ ได้แก่
1) การเร่งขจัดภาษีสินค้าในกลุ่ม priority ให้เร็วขึ้นอีก 3 ปีจากกรอบระยะเวลา AFTA เดิม (ในปี 2010 สำหรับสมาชิกเดิมเป็นปี 2007 และปี 2015 สำหรับสมาชิกใหม่อาเซียนเป็นปี 2012)
2) การพัฒนาการยอมรับมาตรฐานซึ่งกันและกัน (MRA) ในด้านต่างๆ และปรับปรุงกฎเกณฑ์/กฎระเบียบ/ข้อกำหนดสำหรับผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้มีความสอดคล้องกันมากยิ่งขึ้น
3) การจัดทำความตกลงเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางให้แก่นักธุรกิจ อาทิ การจัดทำ ASEAN Business Card และการเร่งพัฒนาจัดทำมาตรฐานการยอมรับร่วมกันในสาขาวิชาชีพ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้ามาประกอบวิชาชีพของผู้เชี่ยวชาญ ผู้ประกอบวิชาชีพ แรงงานมีฝีมือ และผู้มีความสามารถพิเศษภายในอาเซียน
นอกจากนี้ ที่ประชุมจะได้พิจารณาร่างกรอบความตกลง (framework agreement) ที่จะให้ผู้นำอาเซียนลงนาม และพิธีสารสำหรับ Roadmaps ในแต่ละสาขาซึ่งจะลงนามโดยรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ในการประชุมสุดยอดอาเซียนที่จะจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2547 ณ กรุงเวียงจันทน์ ประเทศลาว
2. การปรับปรุงกลไกการยุติข้อพิพาทของอาเซียน ที่ประชุมจะพิจารณาแนวทางการจัดทำบัญชีรายชื่อคณะผู้พิจารณาและองค์กรอุทธรณ์ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนที่พิธีสารแก้ไขความตกลงยุติข้อพิพาทของอาเซียนจะมีผลบังคับใช้ โดยคณะทำงานเฉพาะกิจ Dispute Settlement Mechanism มีกำหนดจะหารือในรายละเอียดเป็นครั้งสุดท้าย ระหว่างวันที่ 11-12 สิงหาคม 2547 ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ก่อนเสนอร่างพิธีสารแก้ไขความตกลงฯ ดังกล่าว ให้เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียนพิจารณา เพื่อเสนอต่อรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนให้การรับรองและลงนามในเดือนกันยายน 2547
3. ความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้าอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจของอาเซียนจะหารือกับเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจของประเทศคู่เจรจา ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ (CER) อินเดีย และสหภาพยุโรป เพื่อติดตามความคืบหน้าและกำหนดแนวทางความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างกัน โดยคาดว่าจะมีประเด็นการหารือที่สำคัญ ดังนี้
3.1 อาเซียน-จีน ความคืบหน้าของการเจรจาเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน ซึ่งขณะนี้มีความคืบหน้าไปมากแล้ว โดยจะมีการหารือในเรื่องการลดภาษีสินค้าปกติระหว่างอาเซียนและจีนที่ฟิลิปปินส์ขอความยืดหยุ่นมากเป็นพิเศษ และรายละเอียดของการลดภาษีสินค้าอ่อนไหว ซึ่งในชั้นนี้ สามารถตกลงกันได้ในหลักการแล้ว
3.2 อาเซียน-ญี่ปุ่น การเร่งรัดการดำเนินงานของคณะกรรมการพันธมิตรทางเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น (ASEAN-Japan Committee on Comprehensive Economic Partnership: AJCCEP) โดยให้เริ่มดำเนินการกิจกรรมที่สามารถเริ่มต้นได้ทันทีก่อนเพื่อสนับสนุนให้ความร่วมมือและการอำนวยความสะดวกภายใต้กรอบความร่วมมือนี้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว
3.3 อาเซียน-เกาหลี ที่ประชุมจะหารือเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินการภายหลังจากการศึกษาเพื่อจัดทำความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดระหว่างอาเซียน-เกาหลีเสร็จสิ้นแล้ว ซึ่งอาจจัดทำร่างแถลงการณ์ร่วม หรือประกาศปฏิญญา หรือกรอบความตกลง เพื่อนำเสนอต่อผู้นำให้ความเห็นชอบก่อนที่จะนำไปสู่กระบวนการเจรจาเปิดเสรีระหว่างกันต่อไป
3.4 อาเซียน-ออสเตรเลีย/นิวซีแลนด์ (CER) การเตรียมการสำหรับการประกาศเปิดการเจรจาจัดทำเขตการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย/นิวซีแลนด์ ในเดือนพฤศจิกายน 2547 โดยจะหารือเกี่ยวกับเอกสารที่ใช้ประกอบการเริ่มต้นการเจรจาที่คณะ AFTA-CER CEP Implementation and Coordination Group (ACCICG) ได้ยกร่างขึ้นแล้ว เพื่อประสานท่าทีของฝ่ายอาเซียนและออสเตรเลีย/นิวซีแลนด์ก่อนนำเสนอรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนพิจารณาให้ความเห็นชอบในเดือนกันยายน 2547
3.5 อาเซียน-อินเดีย ผลักดันให้การเจรจาในรายละเอียดวิธีการลดภาษีสินค้าใน Early Harvest Programme (EHP) และกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า ภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน-อินเดีย เป็นไปตามกำหนดเวลา คือ ภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2547 และจะได้หารือเกี่ยวกับพิธีสารแก้ไขกรอบความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดระหว่างอาเซียน-อินเดีย ให้รวมเรื่องวิธีการลดภาษีสินค้า EHP และกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้าไว้ด้วย
3.6 อาเซียน-สหภาพยุโรป การดำเนินงานตามกรอบความร่วมมือด้านการค้าระหว่างอาเซียน-สหภาพยุโรปภายใต้ TREATI (Trans-Regional EU-ASEAN Trade Initiative) โดยส่งเสริมกิจกรรมความร่วมมือในสาขาต่างๆ ให้มีความก้าวหน้า โดยเฉพาะกิจกรรมที่จะช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการที่เป็น SMEs ของอาเซียน
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (66) 2282-6171-9 แฟกซ์ (66) 2280-0775
-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ