จร.จัดสัมมนาผลการศึกษาโครงการจัดตั้งตลาดกลางค้าส่งและส่งออกของกัมพูชาภายใต้แผนความร่วมมือทางเศรษฐกิจไทยกับกัมพูชา

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 27, 2004 11:08 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

        กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ   กระทรวงพาณิชย์  จัดสัมมนาเรื่อง “ ผลการศึกษาโครงการเพื่อจัดตั้งตลาดกลางค้าส่งและส่งออกของกัมพูชา ”   ในวันที่  26 กรกฎาคม  2547  ณ  โรงแรมอิมพีเรียลควีนส์ปาร์ค  โดยมีนางศรีวิชชา  รักจำรูญ รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ  เป็นประธานกล่าวเปิดการสัมมนา   
การสัมมนาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ในการนำเสนอรายงานผลการศึกษาโครงการเพื่อจัดตั้งตลาดกลางค้าส่งและส่งออกของกัมพูชา ซึ่งจัดทำโดย บริษัท จี เบส แอ็ลไลแอ็นซ์ จำกัด เพื่อระดมความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญในทุกสาขาที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งตลาดกลางค้าส่งและส่งออกของกัมพูชา เพื่อที่ผู้ทำการศึกษาจะได้นำความเห็นเหล่านั้นไปปรับปรุงและแก้ไขรายงานการศึกษาฯ ให้มีความถูกต้องและสมบูรณ์ยิ่งขึ้น อันจะเป็นประโยชน์ในการใช้ประกอบการพิจารณาจัดตั้งตลาดกลางค้าส่งและส่งออก ณ ประเทศกัมพูชา ในอนาคต
กัมพูชาเป็นประเทศเกษตรกรรม แม้ว่าโครงสร้าง GDP ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาจะสะท้อนให้เห็นถึงการเคลื่อนย้ายจากภาคเกษตรและเกษตรอุตสาหกรรมไปสู่ภาคอุตสาหกรรมและบริการมากขึ้น อย่างไรก็ดี ภาคเกษตรกรรมยังคงมีบทบาทสำคัญและมีศักยภาพในการขยายตัวอีกมากหากแต่ขาดปัจจัยการสนับสนุนในการพัฒนาดังกล่าว ทั้งนี้ การจัดตั้งตลาดกลางค้าส่งและส่งออกจะเป็นกลไกสำคัญ และปัจจัยเร่งการพัฒนาในระบบตลาดเสรี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งภาคเกษตรกรรมมีความสำคัญมากต่อระบบเศรษฐกิจ เนื่องจากผลผลิตการเกษตรจำเป็นต้องมีช่องทางระบายและกระจายผลผลิตได้รวดเร็ว ซึ่งจะช่วยยกระดับรายได้ของเกษตรกร
ประเทศไทยได้เล็งเห็นถึงความต้องการและความจำเป็นนี้ ตลอดจนประโยชน์ที่จะขยายการค้าและการลงทุนระหว่างกัน จึงได้ให้การสนับสนุนงบประมาณในการจัดทำการศึกษาโครงการเพื่อจัดตั้ง ตลาดกลางค้าส่งและส่งออกของกัมพูชา ภายใต้แผนความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับกัมพูชาระยะเร่งด่วน ที่คณะกรรมการร่วมไทย-กัมพูชา ได้ประชุมพิจารณาจัดลำดับความสำคัญให้มีการดำเนินการทันที โดยมีสำนักพัฒนาพื้นที่เชื่อมโยงทางเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้านและพื้นที่ชายแดน (สพช.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นหน่วยงานกลาง (Focal Point) รับผิดชอบกรอบความร่วมมือในภาพรวมทั้งหมด และกระทรวงพาณิชย์รับผิดชอบสาขาการอำนวยความสะดวกทางการค้า
จากการรวบรวมข้อมูลภาคสนามซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 11 จังหวัดในประเทศกัมพูชา และ 17 จังหวัดในประเทศไทย รวมถึงการสอบทานข้อมูลและประสบการณ์กับผู้ประกอบการในสินค้าแต่ละกลุ่ม ผลการศึกษาสรุปได้ว่า การจัดตั้งตลาดกลางค้าส่งและส่งออกของกัมพูชาจะเป็นกลไกในการเร่งให้ภาคเกษตรกรรมของกัมพูชามีการพัฒนาในทุกมิติ กล่าวคือ ปริมาณการผลิต และการค้าจะเพิ่มขึ้นเนื่องจากมีช่องทางระบายและกระจายผลผลิตได้รวดเร็วและมากช่องทางขึ้น คุณภาพของผลผลิตจะได้รับการพัฒนาให้ตรงกับความต้องการของผู้ซื้อต่างประเทศได้ดีขึ้นกว่าเดิม และระดับราคาของผลผลิตการเกษตรจะมีเสถียรภาพมากขึ้น รายได้และความเป็นอยู่ของเกษตรกรดีขึ้น สำหรับในส่วนของประเทศไทย ผู้ผลิตและผู้ประกอบการไทยจะสามารถซื้อวัตถุดิบมาใช้ในการผลิตและแปรรูปได้ในราคาถูก ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิต และทำให้สินค้ามีโอกาสที่จะแข่งขันในตลาดโลกได้ดีขึ้น
เมื่อพิจารณาจากสภาพทางกายภาพปัจจุบันและระบบสาธารณูปโภคของกัมพูชาซึ่งรวมตัวกันอยู่มากในบริเวณเมืองหลวง และเมืองใหญ่ ตลาดกลางค้าส่งและส่งออกผลผลิตการเกษตรจึงควรตั้งอยู่ภายในรัศมี 10-15 กิโลเมตร ของกรุงพนมเปญ และควรจะให้ตลาดทั้งสองแห่งนี้อยู่ภายในพื้นที่เดียวกัน เพื่อให้เกิดการเกื้อกูลกัน และใช้สิ่งอำนวยความสะดวกร่วมกัน ขนาดของตลาดกลางค้าส่งและส่งออก ควรมีพื้นที่ประมาณ 35-80 เฮกตาร์ เพื่อรองรับการขยายตัวได้อย่างน้อยใน 15 ปี ข้างหน้า
ตลาดค้าส่งบริวารเป็นสิ่งจำเป็นในการเสริมสร้างให้ตลาดกลางค้าส่งและส่งออกผลผลิตการเกษตรของกัมพูชาดีขึ้น ให้โครงสร้าง กลไก และเครือข่ายของการพัฒนาระบบตลาดสำหรับภาคเกษตรกรรมมีเสถียรภาพ และมีอัตราการเจริญที่เต็มศักยภาพของประเทศ ทำเลที่มีศักยภาพสูง สำหรับการจัดตั้งตลาดค้าส่งบริวารในระยะแรกนี้มีอยู่ 2 แห่ง คือ Kampong Cham ซึ่งมีศักยภาพทางการผลิตสูง และ Poipet ซึ่งได้มีการลงทุนในด้านต่างๆโดยภาคเอกชนไปบ้างแล้ว การจัดตั้งตลาดค้าส่งบริวารใน Poipet จะส่งเสริมและเพิ่มปริมาณการค้าระหว่างไทยและกัมพูชาให้มากยิ่งขึ้น
ปัจจุบัน กัมพูชาเป็นคู่ค้าอันดับที่ 31 ของไทย ในขณะที่ไทยเป็นคู่ค้าอันดับที่ 23 ของกัมพูชา และในกลุ่มประเทศอาเซียน กัมพูชาเป็นคู่ค้าอันดับที่ 7 ของไทย รองจากสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และสหภาพพม่า โดยการค้ารวมระหว่างไทยกับกัมพูชาในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมา (ปี 2542 - 2546) มีมูลค่าเฉลี่ยปีละ 486.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้ากับกัมพูชามาโดยตลอด และในปี 2547 (ม.ค.-เม.ย.) การค้ารวมมีมูลค่า 235.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 25 โดยไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้า 219.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปยังกัมพูชา ประกอบด้วย น้ำมันสำเร็จรูป รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องดื่ม ปูนซิเมนต์ และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น ในขณะที่ สินค้านำเข้าสำคัญจากกัมพูชา ประกอบด้วย สินแร่โลหะอื่นๆ และเศษโลหะ รถยนต์โดยสารและรถบรรทุก เครื่องจักรใช้ในอุตสาหกรรม หนังดิบและหนังฟอก และแทรกเตอร์ เป็นต้น
ข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ ผอ.พูลศรี คุลีเมฆิน และนางนิชาภา ศรีสังข์ โทร.0-2507-7231, 0-2507-7239
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (66) 2282-6171-9 แฟกซ์ (66) 2280-0775
-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ