1. สรุปผลการประชุมการเปิดตลาดสินค้าอุตสาหกรรมภายใต้เขตการค้าเสรีไทย-สหรัฐฯ
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้จัดให้มีการประชุมหารือในเรื่อง การเปิดตลาดสินค้าอุตสาหกรรมภายใต้เขตการค้าเสรีไทย-สหรัฐฯ ในวันจันทร์ที่ 16 สิงหาคม 2547 เวลา 9.30 น. ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 6 กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ โดยมีคุณกมล ตันติวณิชย์ คุณสุชาติ จันทรานาคราช คุณปนัดดา ดีหยาม คุณเกริกชัย รายณสุขวงศ์ คุณกิตติพงษ์ วุฒิรงค์ คุณสวัสดิ์ โพธิ์สินสมวงศ์ และคุณนารีรัตน์ เจริญนภัสกุล เป็นผู้แทนสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยเข้าร่วมประชุม ซึ่งสรุปประเด็นหารือที่สำคัญได้ ดังนี้
1. การประชุม FTA ไทย-สหรัฐฯ ครั้งที่ 1 ณ ฮาวาย
1) สหรัฐฯจัดให้รายการสินค้าเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่มและสิ่งทอต่างๆอยู่ในกลุ่มสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งแยกจากกลุ่มอุตสาหกรรม และให้รายการประมงอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรม
2) เสนอให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลการค้าและข้อมูลภาษีย้อนหลัง 3 ปี
3) สหรัฐฯกำหนดแนวทางการเจรจา โดยการเจรจารอบที่สองเป็นเรื่องรูปแบบการลดภาษีสินค้า (modality) รอบที่สามเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลและการยื่นข้อเสนอที่สนใจ (offer) และรอบที่สี่เป็นการเรียกร้องในสิ่งที่ต้องการ (request)
4) ไทยกำหนด Base rate ในการเจรจาลดภาษีสินค้าทุกประเภท คือ วันที่ 1 มิ.ย. 2547 และสหรัฐฯกำหนดใช้อัตราภาษีที่เป็นจริง ณ เวลาที่เจรจา
2. การเปิดตลาดสินค้าอุตสาหกรรมภายใต้เขตการค้าเสรีไทย-สหรัฐฯ
1) แบ่งกลุ่มการลดภาษีสินค้าเหลือร้อยละศูนย์ของไทยอออกเป็น 4 กลุ่มใหญ่ๆ คือ กลุ่มการลดภาษีทันที กลุ่มการลดภาษีภายใน 5 ปี กลุ่มการลดภาษีภายใน 6-10 ปีและกลุ่มการลดภาษีที่ยังไม่กำหนดกรอบเวลา
2) จำนวนรายการสินค้าอุตสาหกรรมของไทยปัจจุบัน ในกลุ่ม S มี 55 รายการ กลุ่ม N มี 1,455 รายการ กลุ่ม U มี 1,141 รายการ กลุ่ม R มี 2,035 รายการ กลุ่ม X มี 11 รายการ และกลุ่ม Specific request มี 398 รายการ
3) ภาคเอกชนได้แจ้งขอปรับท่าทีการลดภาษีสินค้าจาก N เป็น R จำนวน 4 รายการ คือ เครื่องซักผ้า (8450.12, 8450.19,8450.20) และเทอร์โมสแตต (9032.10) และขอปรับท่าทีของแป้น แผงคอนโซล โต๊ะ ตู้ ฐานรองสำหรับ 85.37 (8538.10) จาก S เป็น R
4) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยได้เสนอเพิ่มรายการสินค้าใน Specific request ของไทย คือ รายการ Automobile’s floor mat (5703.2010) ซึ่งสหรัฐฯมีอัตราภาษีนำเข้าร้อยละ 5.8
3. ภาคเอกชนได้ให้ข้อคิดเห็นประเด็นต่างๆ ดังนี้
1) สินค้ากลุ่ม X ควรจะระบุรายการสินค้าและระยะเวลาในการลดภาษีสินค้าเหลือร้อยละศูนย์
2) กลุ่มสินค้าที่ไทยสามารถลดภาษีเป็นศูนย์ได้ทันที ควรกำหนดรายการสินค้าที่จัดเป็นกลุ่ม U และ R ให้ชัดเจน
3) มีความเป็นไปได้น้อยมากที่สหรัฐฯจะลดภาษีสินค้าทุกพิกัดในกลุ่มสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเหลือร้อยละศูนย์ทันที และแม้ว่าสหรัฐฯยอมลดภาษีแต่มีการกำหนดระยะเวลา 10-20 ปี ก็ไม่เป็นประโยชน์ต่อไทย
4) กลุ่มสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มจะลดภาษีแลกเปลี่ยนระหว่างกลุ่มเดียวกัน โดยไม่นำไปลดภาษีแลกเปลี่ยนกับกลุ่มสินค้าอื่น
5) กลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ สหรัฐฯได้กำหนดการคำนวณแหล่งกำเนิดสินค้าด้วยวิธี NAFTA ซึ่งมีความยุ่งยาก
6) กลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับของไทยไม่มีปัญหาในเรื่องของเกณฑ์แหล่งกำเนิดสินค้า
7) สหรัฐฯให้ความสนใจรายการสินค้าของไทยในกลุ่มเกษตรกรรมเป็นส่วนใหญ่ และรายการ Register product ในกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม
2. สรุปการประชุมระดมความคิดเห็นการเจรจาเขตการค้าเสรีไทย-สหรัฐฯด้านทรัพย์สินทางปัญญา ครั้งที่ 2/2547
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กำหนดจัดประชุมระดมความคิดเห็นการเจรจาเขตการค้าเสรีไทย-สหรัฐฯ ด้านทรัพย์สินทางปัญญา ครั้งที่ 2/2547 ในวันพฤหัสบดีที่ 5 สิงหาคม 2547 เวลา 14.00-16.30 น. ณ ห้องประชุม 30314 (3/1) ชั้น 3 สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยมีคุณบัณฑูร วงศ์สีลโชติ และคุณพนิดา ปัญญางาม เป็นผู้แทนสภาหอการค้าแห่งประเทศเข้าร่วมประชุม สรุปประเด็นหารือที่สำคัญได้ ดังนี้
1. การเจรจา FTA ด้านทรัพย์สินทางปัญญากับสหรัฐฯในการเจรจารอบแรก
1) ประเด็นที่ไทยให้ความสนใจ อยู่บนพื้นฐานภายใต้ความตกลง TRIPS ใน WTO รวมทั้งสิทธิในการใช้มาตรการแก้ไขปัญหาการเข้าถึงยาภายใต้ WTO ใน Doha Declaration โดยมีประเด็นที่สำคัญ คือ การคุ้มครองภูมิปัญญาท้องถิ่น การคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ การขยายความคุ้มครองในสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์และความร่วมมือในการพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญา
2) สหรัฐฯให้ความสนใจในเรื่องของการยกมาตรฐานการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาให้เท่าเทียมสหรัฐฯภายใต้ความตกลง TRIPS Plus ซึ่งสูงกว่าความตกลง TRIPs และ WIPO โดยมีประเด็นดังนี้
(1) สิทธิบัตร สหรัฐฯต้องการให้ขยายการคุ้มครองสิทธิบัตรให้รวมถึงพืช สัตว์และข้อมูลการทดลองเกี่ยวกับความปลอดภัยและประสิทธิภาพของยา (Test data) และการขยายเวลาการคุ้มครองเพื่อชดเชยกรณีที่ออกสิทธิบัตรล่าช้า
(2) ลิขสิทธิ์ สหรัฐฯต้องการขยายเวลาการคุ้มครองลิขสิทธิ์จากตลอดอายุของผู้สร้างสรรค์บวก 50 ปีเป็น 70 ปี การป้องกันการนำสัญญาณดาวเทียมที่ถ่ายทอดมาไปใช้ประโยชน์โดยไม่ได้รับอนุญาต และการยกระดับการคุ้มครองมาตรการทางด้านลิขสิทธิ์ให้สอดคล้องกับการพัฒนาการทางด้านเทคโนโลยีให้มากยิ่งขึ้น
(3) เครื่องหมายการค้า สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์และ Domain Name สหรัฐฯต้องการให้ขยายการคุ้มครองเครื่องหมายการค้าที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตา เช่น กลิ่นและเสียง การใช้เครื่องหมายรับรองเพื่อคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ และการระงับข้อพิพาททางโดเมนเนมของ ICANN มาใช้ในการระงับข้อพิพาทเกี่ยวกับการจดทะเบียน Domain Name ระดับประเทศ
(4) การบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา สหรัฐฯต้องการให้ไทยออกกฎหมายควบคุมการผลิตซีดี การให้เจ้าหน้าที่ตำรวจมีอำนาจดำเนินคดีละเมิดลิขสิทธิ์ได้โดยไม่ต้องมีการร้องทุกข์ การกำหนดค่าเสียหายทางเพ่งล่วงหน้า (โดยกฎหมาย) และการจับและทำลายของกลางในคดีเพ่ง
(5) การเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศด้านทรัพย์สินทางปัญญา เช่น WIPO Copyright Treaty (WCT), WIPO Performance and Phonograms Treaty (WPPT), Patent Cooperation Treaty (PCT), และอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV) เป็นต้น
3) สหรัฐฯต้องการให้ประเด็น CVD อยู่ในเรื่องสิ่งแวดล้อมแต่ไทยต้องการให้อยู่ในเรื่องลิขสิทธิ์
2. ภาคเอกชนได้ให้ข้อคิดเห็นประเด็นต่างๆ ดังนี้
1) การยอมรับเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาตามหลักเกณฑ์การทำเกณฑ์ของสหรัฐฯ-ออสเตรเลียและสหรัฐฯ-สิงค์โปร์ จะทำให้ไทยต้องแก้ไขกฎหมายสาระบัญญํติและกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาของไทยหลายประเด็น
2) ประเด็นการขยายเวลาการคุ้มครองลิขสิทธิ์ ต้องเจรจาให้ชัดเจนว่าการคุ้มครองมีขึ้นในผลิตภัณฑ์ที่ผลิตหลังจากวันที่สัญญามีผลบังคับใช้ หรือสิทธิ์การคุ้มครองครอบคลุมถึงผลิตภัณฑ์เดิมที่ยังไม่หมดลิขสิทธิ์ด้วย
3) สมาคมแคสปาของสหรัฐฯ เน้นความสำคัญในเรื่องการละเมิดการถ่ายทอดสัญญาณโดยการเอาภาพยนต์หรือรายการโทรทัศน์มาเผยแพร่โดยไม่ได้รับอนุญาติ ซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญาควรประสานงานกับสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ให้ทราบและเข้าใจอย่างละเอียดแรื่องลิขสิทธิ์
4) การคุ้มครองลิขสิทธิ์ ต้องยกเว้นในกรณีการทำซ้ำและการทำซ้ำชั่วคราวเพื่อการศึกษา
5) การนำ Business process เข้าไปรวมในเรื่องการจดลิขสิทธิ์ จะมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมซอฟแวร์ในการคิดพัฒนาและเปลี่ยนแปลงผลิตภัณฑ์
6) ไทยไม่ควรเข้าเป็นสมาชิกภาคีสนธิสัญญา UPOV 1991 ตามข้อเสนอของสหรัฐฯ และควรยืนยันในกฎหมายการคุ้มครองพันธุ์พืชและสัตว์ของไทยว่ามีความเข้มงวดมากกว่าอนุสัญญา UPOV 1991
7) ข้อเสนอของสหรัฐฯที่ให้ไทยเข้าเป็นสมาชิกภาคีสนธิสัญญาต่างๆก็เพื่อผลประโยชน์ของสหรัฐฯ โดยมีบางภาคีที่สหรัฐฯไม่ได้เป็นสมาชิกเนื่องจากไม่ได้รับประโยชน์ แต่อาจมีประโยชน์ต่อไทยในกรณีที่ทั้งสองประเทศได้เข้าเป็นสมาชิกร่วมกัน ไทยต้องศึกษาหลักเกณฑ์ของแต่ละภาคีสนธิสัญญาอย่างละเอียดโดยให้เหมาะสมกับไทยซึ่งเป็นประเทศกำลังพัฒนา
8) การคุ้มครองสิทธิบัตรพืชและสัตว์แยกเป็นการคุ้มครองพันธุ์พืชภายใต้ UPOV 1991 และการคุ้มครองสิทธิบัตรแก่พืชและสัตว์ รวมถึงสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น ๆ ด้วย เช่น จุลินทรีย์ เป็นต้น
9) สิทธิบัตรได้รับการคุ้มครองนับตั้งแต่วันที่ยื่นขอจดสิทธิบัตร จึงไม่ควรมีการรขยายเวลาการคุ้มครองสิทธิบัตร
10) TRIPs Article 39.3 ไม่ได้คุ้มครองเรื่อง Test data และ Data Exclusivity แต่คุ้มครองในเรื่อง Test Secret
11) สหรัฐฯนำประเด็น Data Exclusivity รวมกับ Test data เพื่อป้องกัน generic ไม่ให้มีสิทธิใช้ข้อมูลเกี่ยวกับยาชนิดนั้นและไม่สามารถผลิตยานั้นได้ และประเด็น 2 เรื่องนี้ไม่เพียงมีผลใช้กับสินค้ายาเท่านั้น แต่มีผลครอบคลุมถึงสินค้าอื่นด้วย
12) การยอมรับกฎเกณฑ์เรื่องสิทธิบัตรยา สหรัฐฯอาจใช้เป็นข้ออ้างโดยยึดเป็นหลักเกณฑ์ในการทำสนธิสัญญาในระดับทวิภาคีกับประเทศอื่นได้
13) UPOV เป็นการคุ้มครองพันธุ์พืช ส่วน FTA เป็นการคุ้มครองสิทธิบัตรทั้งพืชและสัตว์ซึ่งมีผลกระทบต่อการวิจัยและพัฒนาพันธุ์พืชและสัตว์ของไทยอย่างมาก
14) FTA ระหว่างสหรัฐฯและสิงค์โปร์ มีการจำกัดเงื่อนไขอย่างมากในการใช้ Compulsory Licensing โดยประเด็นนี้มีความสำคัญต่อไทย รัฐควรศึกษาถึงกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐฯอย่างละเอียดและควรปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของ Doha Declaration เท่านั้น
15) สหรัฐฯผลักดันเรื่องการใช้เครื่องหมายรับรองในการคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เพื่อให้ได้รับประโยชน์จากสิทธิของผู้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายแรก อย่างเช่นที่เกิดขึ้นในกรณีข้าวหอมมะลิของไทย
16) ไทยไม่ควรยอมรับประเด็นการขยายการคุ้มครองเครื่องหมายการค้าที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตา เช่น กลิ่น ซึ่งมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมน้ำหอม เครื่องสำอางค์ สปาและอาหารที่สังเคราะห์กลิ่นเลียนแบบกลิ่นผลไม้และอาหารเมืองร้อน เนื่องจากไทยจะเสียประโยชน์จากการที่มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์และการพัฒนาทรัพยากรเหล่านี้เพื่อใช้ประโยชน์ด้านต่างๆ ในกรณีที่ประเทศอื่นสามารถนำไปจดเป็นเครื่องหมายการค้าได้และจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าก่อนไทย
17) ควรหาประเทศในแถบอาเซียนในการเป็นประเทศแนวร่วมกับไทย เพื่อกำหนดแนวทางให้เป็นอย่างเดียวกันในการทำเขตการค้าเสรีกับสหรัฐฯ
18) สิทธิทางศีลธรรมควรแยกออกจากสิทธิทางเศรษฐกิจ โดยเจ้าของสิทธิในผลิตภัณฑ์เมื่อได้โอนสิทธิให้ผู้อื่นแล้วย่อมยังเป็นเจ้าของสิทธิทางศีลธรรมอยู่
19) ปัจจุบันผู้ที่ขอจดสิทธิบัตรเป็นชาวต่างประเทศโดยส่วนมาก ซึ่งไทยอาจจะคิดค่าธรรมเนียนด้วยอัตราสูงในการขอยื่นจดสิทธิบัตรในไทย และจัดตั้งกองทุนให้คนไทยที่ต้องการขอจดสิทธิบัตร
3. สรุปผลการสัมมนา FPRI-FTA SEMINAR SERIES 2 “ ยกที่ 1 FTA ไทย-สหรัฐฯ ”
สถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง (สวค.) โดย ดร. ณรงค์ชัย อัครเศรณี ในฐานะที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ และประธานคณะทำงานติดตามผลการเจรจา กำหนดจัดการสัมมนาเรื่อง “ ยกที่ 1 FTA ไทย-สหรัฐฯ ” ในวันศุกร์ที่ 30 กรกฎาคม 2547 เวลา 08.30 — 14.00 น. ณ. Convention Hall ชั้น 1 โรงแรม รามา การ์เด้น กรุงเทพฯ เพื่อระดมความคิดเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องรวมถึงผู้มีส่วนได้เสียจากการทำ FTA ดังกล่าว อันจะนำไปสู่แนวทางและมาตรการรองรับผลกระทบจากการทำ FTA และมาตรการแก้ไข โดยมีคุณพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล คุณพรวิทย์ พัชรินทร์ตนะกุล และดร.ปิยะนุช มาลากุล ณ อยุธยา เป็นผู้แทนเข้าร่วมสัมมนาดังกล่าว สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
1. การเจรจาเขตการค้าเสรีไทย-สหรัฐฯ เป็นข้อตกลงที่สำคัญที่สุดที่ไทยต้องเตรียมความพร้อมให้มากที่สุด เรื่องสำคัญที่ต้องระวัง คือ การค้าบริการ การลงทุน การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ โดยเฉพาะในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาที่สหรัฐฯมีความต้องการให้ไทยปฎิบัติตาม เป็นเรื่องที่เกินความสามารถของไทย ไทยจะรับเท่าที่รับได้เท่านั้น
2. เน้นการเจรจาที่สมบูรณ์ที่สุด โดยมีความโปร่งใส เปิดเผยให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมมากขึ้น
3. การเจรจาเขตการค้าเสรีไทย-สหรัฐฯ อาจส่งผลให้ไทยต้องกลับมาแก้ไขหรือออกกฎหมายใหม่หลายฉบับ เช่น กฎหมายศุลกากร กฎหมายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ กฎหมายด้านการเงินการธนาคาร เป็นต้น
4. การเปิดเสรีธุรกิจธนาคารกับสหรัฐฯ ธนาคารไทยจะเหลือเพียง 4-5 แห่ง นับว่าเป็นเรื่องยากที่จะคุ้มครองไม่ให้เกิดการผูกขาดโดยธนาคารต่างชาติได้ การเจรจาเปิดเสรีการเงินรูปแบบที่สหรัฐฯใช้ คือ เปิดหมดทุกสาขา โดยระบุส่วนที่ไม่เปิด (Nagative Listing Approach) ทำให้ไม่สามารถคาดเดาได้ว่าในอนาคตสหรัฐฯจะมีสินค้าตัวใหม่ ๆ ประเภทใด ซึ่งทำให้ไทยไม่สามารถระบุสาขาที่ไม่เปิดให้ครอบคลุมได้ จึงเกิดความเสี่ยงสูง ดังนั้น การเจรจาควรเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป และพยายามพัฒนาระบบภายในประเทศให้มากขึ้นเพื่อรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น
5. การจัดทำเขตการค้าเสรี ขอให้มองว่าเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย
ที่มา: หอการค้าไทย ศูนย์ข้อมูลธุรกิจ www.thaiechamber.com
-ดท-