ซาอุดิอาระเบียยอมให้นำเข้าปลาทูน่ากระป๋องและซอสถั่วเหลืองของไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 30, 2004 16:21 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

        ซาอุดิอาระเบียยอมให้นำเข้าปลาทูน่ากระป๋องรวมทั้งซอสถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของซอสถั่วเหลืองของไทยเข้าได้แล้ว จากที่เคยอ้างว่ามีสารปฏิชีวนะ และสาร 3 MCPD ตกค้างและได้ห้ามนำเข้ามา ตั้งแต่ปี 2546 โดยจะยังคงสุ่มตรวจตัวอย่างเป็นระยะๆ หากไม่พบสารตกค้างอีกในเวลาที่กำหนดก็จะยกเลิกการห้ามนำเข้าเป็นการถาวร   
การอนุญาตให้นำเข้าปลาทูน่ากระป๋องและซอสถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของซอสถั่วเหลือจากไทยในครั้งนี้เกิดจากแรงกดดันของคณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลกต่อกรณีที่ซาอุดิอาระเบียสมัครเป็นสมาชิก WTO ซึ่งขณะนี้กระบวนการดังกล่าวอยู่ในระยะสุดท้ายซึ่งซาอุดิอาระเบียจำเป็นต้องแก้ไขกฎระเบียบต่างๆ ให้สอดคล้องกับความ ตกลง WTO
ซาอุดิอาระเบียได้ประกาศห้ามนำเข้าปลาทูน่ากระป๋องจากโรงงานไทยบางรายเนื่องจากตรวจพบสารปฏิชีวนะ(คลอแรมฟินิคอลและในโตรฟูแรน) ตกค้างรวมทั้งห้ามนำเข้าซอสถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของซอสถั่วเหลืองจากไทยโดยอ้างว่ามีส่วนผสมของสาร 3 MCPD ตั้งแต่ปี 2546 ฝ่ายไทยได้เจรจาให้ซาอุดิอาระเบียยกเลิกประกาศดังกล่าวมาตามลำดับเพราะเห็นว่ามาตรการของซาอุดิอาระเบียก่อให้เกิดอุปสรรคทางการค้าเกินความจำเป็นในการปกป้องสุขภาพผู้บริโภคตามที่องค์การการค้าโลกได้มีข้อยกเว้น โดยซาอุดิอาระเบียกำหนดระดับของสารตกค้างระดับต่ำมากจนไม่สามารถปฏิบัติตามในเชิงอุตสาหกรรม ได้เพราะต้นทุนจะเพิ่มสูงขึ้นมาก และล่าสุดคณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลกได้เจรจากับซาอุดิอาระเบียในระหว่างวันที่ 16-17 มิถุนายน 2547 ซึ่งเป็นช่วงที่องค์การการค้าโลกได้จัดประชุมคณะทำงานว่าด้วยการเข้าเป็นสมาชิก WTO ของซาอุดิอาระเบียเพื่อผลักดันให้ซาอุดิอาระเบีย แก้ไขปัญหาอย่างจริงจังฝ่ายซาอุดิอาระเบียแจ้งว่ายอมให้นำเข้าปลาทูน่ากระป๋องรวมทั้งซอสถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของซอสถัวเหลือง โดยจะทำการสุ่มตรวจเป็นรายๆ ไป และหากไม่พบสารปฏิชีวนะและสาร 3MCPD ตกค้างอีกภายในเวลาที่กำหนดก็จะถอนรายชื่อโรงงานของไทยที่ถูกห้ามนำเข้าเป็นการถาวร รวมทั้งรับที่เร่งแก้ไขปัญหาความล่าช้าของกระบวนการภายในในการอนุญาตนำเข้าสินค้าดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ 3MCPD เป็นสารที่เกิดขึ้นจากกระบวนการหมักถั่วเหลืองเพื่อทำซีอิ๊วาหากผู้บริโภคได้รับสารหนี้ในปริมาณที่สูงมากอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งได้
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (66) 2282-6171-9 แฟกซ์ (66) 2280-0775
-ชพ/พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ